Saturday, 10 May 2025
คุณธรรมศรีอีสาน

สมาคมเครือข่ายสื่อฯ ภาคอีสาน มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ 'คุณธรรม ศรีอีสาน' รองโฆษกรัฐบาล เผยเป็นแบบอย่างที่ดีในมิติด้านคุณธรรม ควรค่าแก่การยกย่อง

(26 มี.ค.66) ที่ห้องภูผาม่าน โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมาย ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพสื่อท้องถิ่น เสวนาเรื่อง 'ร่วมหาทางออกวิทยุชุมชน หลังปี 2567' ซึ่ง พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน และคณะกรรมการสมาคมได้ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้น โดยได้มีพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ 'คุณธรรม ศรีอีสาน' จาก ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้แก่ผู้ที่มีความประพฤติดี มีคุณธรรม และจริยธรรม ตระหนักในความสำคัญของการสื่อสาร ส่งเสริมจริยธรรม มาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน และเป็นแบบอย่างในการเสียสละ ในการทำประโยชน์ให้กับสังคม 

โดยมี พระครูโกศลสิกขกิจ หรือหลวงพ่อพุฒ วายาโม ประธานมูลนิธิหลวงปู่สรวง และเจ้าอาวาสวัดไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ,นายสำรวย เกษกุล ผวจ.ศรีสะเกษ ,รศ.นพ.ภัทรพงษ์ มกรเวส ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ,นายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ ,นางสาว พิมพ์กานต์ วงษ์ภูดร หัวหน้าวนอุทยานภูหัน-ภูระงำ และผู้มีเกียรติ รวมจำนวน 20 ราย ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการของสมาคม เข้ารับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณในครั้งนี้ด้วย จากนั้น ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล ได้บรรยายพิเศษเรื่อง บทบาทวิทยุภาคประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และมีการเสวนาเรื่อง ร่วมหาทางออกวิทยุชุมชนหลังปี 2567 โดยมี พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุและสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน เป็นผู้กล่าวรายงาน คณะกรรมการสมาคม ผู้เข้ารับมอบโล่ และผู้เข้าร่วมเสวนา ร่วมพิธีและให้การต้อนรับ

พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุและสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน กล่าวว่า วิทยุภาคประชาชน หรือวิทยุชุมชน ในประเทศไทย เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงที่มีกระบวนการปฏิรูปการเมืองระหว่างปี พ.ศ.2539-2540 ภายหลังจากที่ภาครัฐและภาคธุรกิจได้ครอบครองสื่ออย่างครบวงจร ข้อมูลข่าวสารจึงถูกปกปิด และสื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ตลอดจนการสร้างกระแสทางสังคม โฆษณาชวนเชื่อ และโฆษณาขายสินค้า โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีบทบาทในการทำงานวิทยุอย่างอิสระเท่ากับเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เมื่อมีกระแสการปฏิรูปการเมืองภายหลังเหตุการณ์ทางการเมืองในปี พ.ศ.2535 จึงทำให้เกิดแนวคิดการปฏิรูปสื่ออย่างจริงจัง นำไปสู่การกำหนดหลักการด้านสิทธิเสรีภาพด้านการสื่อสาร ในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 มาตรา 40 ดังนี้ การกำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ การกำหนดให้มีองค์กรอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยการดำเนินการต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น และจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ และการกำหนดหลักประกันสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน โดยให้มีมาตรการป้องกันการควบรวม การครองสิทธิข้ามสื่อหรือการครอบงำสื่อมวลชน

พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันคลื่นความถี่และการประกอบกิจการของสื่อ ยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มธุรกิจสื่อมวลชนทั้งสิ้น ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะมีการนำสื่อมาใช้ประโยชน์เพื่อประชาชนในทุกด้าน ดังนั้น สมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพสื่อท้องถิ่น ในประเด็น 'ร่วมหาทางออกวิทยุชุมชน หลังปี2567' ขึ้น เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้ผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ได้ตระหนักรู้ ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ปรับตัวและวางบทบาทการทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการป้องกันการแทรกแซงสื่อจากอำนาจรัฐ และกลุ่มทุน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top