Tuesday, 22 April 2025
คิงส์คัพ

การแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน 'คิงส์คัพ' ครั้งที่ 48 ประจำปี 2565

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน 2565 ที่ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายพาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย และนางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ร่วมกันแถลงข่าวการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน "คิงส์คัพ" ครั้งที่ 48 ประจำปี 2565 ซึ่งสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กำหนดจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 22 และวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2565 ณ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จังหวัดเชียงใหม่ 

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  กล่าวว่า ในโอกาสที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน คิงส์คัพ ครั้งที่ 48 จังหวัดเชียงใหม่มีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งทั้งสนามแข่งขันที่เคยจัดการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติมาแล้วรวมถึงความพร้อมทางด้านการคมนาคม โรงแรมที่พัก แหล่งท่องเที่ยวตลอดจนร้านอาหารต่างๆ มากมาย  การแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน “คิงส์คัพ” ครั้งที่ 48 ครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ และกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะข้าวซอย ที่ถือเป็น SOFT POWER อาหารไทยที่เผยแพร่ไปสู่นานาชาติ ขอขอบคุณที่ได้มอบหมายให้จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันฟุตบอลในรายการสำคัญนี้ และจังหวัดเชียงใหม่พร้อมแล้วที่จะเป็นเจ้าภาพที่ดี ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลคิงส์คัพครั้งที่ 48 ณ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปีต่อไป

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าในนามของประธานอำนวยการจัดการแข่งขัน ที่ได้ขอรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 48 ในครั้งนี้ โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ รับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฯ พร้อมด้วยส่วนราชการต่างๆ องค์กรภาครัฐและเอกชนภายในจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมแล้วที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลในรายการสำคัญนี้ และขอขอบคุณทุกภาคส่วนในจังหวัดเชียงใหม่ที่ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในรายการนี้ ในนามขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ต้องขอขอบคุณสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ที่ได้ให้โอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในรายการนี้ และทางเจ้าภาพพร้อมแล้วที่จะจัดการแข่งขันให้บรรลุเป้าหมายและเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนไทยทั่วประเทศ แฟนบอลในภาคเหนือ และแฟนบอลในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้าร่วมชมการแข่งขันฟุตบอลรายการนี้ได้อย่างทั่วถึง และร่วมเชียร์นักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทยต่อไป

‘มาดามแป้ง’ ลั่นใส่เต็มร้อยเดินหน้าคว้าแชมป์ ‘คิงส์คัพ’ มั่นใจภาคใต้ใจรักฟุตบอล แห่เข้าชมล้นสนาม

(7 ต.ค. 67) ฟุตบอลทีมชาติไทย ชุดใหญ่เดินทางมารายงานตัว ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 เพื่อเตรียมพร้อมก่อนออกเดินทางไป จังหวัด สงขลา เพื่อทำการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน คิงส์ คัพ ครั้งที่ 50 ระหว่างวันที่ 11-14 ตุลาคม 2567 

การรายงานตัวครั้งนี้นำโดย "มาดามแป้ง" นวลพรรณ ล่ำซำ นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ พร้อมด้วย มาซาทาดะ อิชิอิ หัวหน้าผู้ฝึกสอน ทีมชาติไทย และนักเตะทั้ง 23 คนที่เดินทางมารายงานตัวโดยพร้อมเพรียง นำโดย ชนาธิป สรงกระสินธ์ กัปตันทีม

ก่อนการเดินทาง "มาดามแป้ง" นวลพรรณ ล่ำซํา นายกสมาคม กล่าวว่า "คิงส์ คัพ เมื่อสองครั้งที่ผ่านมาที่แป้งเป็นผู้จัดการทีม เราไปเล่นที่เชียงใหม่ เราพลาดแชมป์มา และเมื่อวันศุกร์ที่แป้งไลฟ์มีคำถามถามว่าเป็นอาถรรพ์หรือเปล่าเพราะคิงส์คัพไปเล่นต่างจังหวัดจะไม่ได้แชมป์ แต่ครั้งนี้แป้งคิดว่าภายใต้การนำทัพของมาซาทาดะ อิชิอิ และ ชนาธิป(สรงกระสินธ์) กัปตันทีม คงจะให้ความมั่นใจได้ว่าเราต้องการเป็นแชมป์ รวมถึงได้ไปเล่นที่ภาคใต้ซึ่งมีสถิติแฟนบอลเยอะด้วยก็คิดว่าจะเข้ามากันเต็มสนาม และปีนี้เป็นปีมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระชนมายุ 72 พรรษา ทำให้คิงส์คัพปีนี้มีความสำคัญยิ่งกว่าเดิม"

"กระแสแฟนบอลที่สงขลาถือว่าเยอะขึ้น มีแฟนบอลรอซื้อบัตรที่มีการเอาออกมาจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆ วันที่ 14 เหลือบัตรอีกประมาณ 3,000 ใบ คาดว่าเมื่อนักเตะเดินทางไปถึงสงขลาและการเปิดให้แฟนบอลเข้าชมการฝึกซ้อมในวันที่ 7 และ วันที่ 8 ตุลาคม จะทำให้กระแสยิ่งเพิ่มมากขึ้นจนมีแฟนบอลเข้ามาเต็มสนาม" 

จับตา ‘สงขลา’ ก้าวสู่เมืองกีฬาภูมิภาค โมเดลใหม่ถอดด้าม พัฒนาเศรษฐกิจเมือง

(11 ต.ค. 67) เวลา 19.30 น. ของวันนี้จะเป็นนัดแรกของการแข่งขันคิงส์คัพ ครั้งที่ 50 ที่จะจัดฟาดแข้งกันที่ ‘สนามติณสูลานนท์’ จังหวัดสงขลา 

เป็นครั้งแรกของการเปิดสงขลาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันคิงส์คัพ ถือเป็นการซ้อมย่อย ๆ ก่อนที่ในปีหน้าจะรับอีกหนึ่งบทบาทคือการเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน ‘ซีเกมส์’ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่ 

2 มหกรรมกีฬาที่ใช้สงขลาเป็นรังเหย้าติด ๆ กัน น่าจะทำให้เห็นเค้าโครงของการเป็นเมืองกีฬามากยิ่งขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อพูดถึงเมืองกีฬาภาพแรกที่คิดถึงจะเป็น ‘บุรีรัมย์’

แต่การเป็นเมืองกีฬาของสงขลานั้นมีโมเดลเป็นของตัวเอง ไม่ใช่การลงทุนมหาศาล

ส่วนใหญ่ใช้การปรับปรุงสนามเดิม หรือพื้นที่เดิมให้มีมาตรฐานระดับสากล คล้ายกับกีฬาโอลิมปิกที่จัดที่ปารีส เพราะที่ผ่านมามีหลายบทเรียนให้เห็นว่าการลงทุนสร้างโครงสร้างมหาศาลสุดท้ายถูกทิ้งร้างอย่างน่าเสียดาย

แล้วเรื่องนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขนาดไหน นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในนามประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ชิงถ้วยพระราชทาน 'คิงส์คัพ' ครั้งที่ 50 ประจำปี 2567 กล่าวไว้ว่า

"จังหวัดสงขลามีความเชื่อมั่นว่า การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ชิงถ้วยพระราชทาน 'คิงส์คัพ' ครั้งที่ 50 ประจำปี 2567 ในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ต้นกล้าเด็ก เยาวชนสงขลามีแรงบันดาลใจในการเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ ส่งเสริมและพัฒนากีฬาฟุตบอลในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง การจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ สงขลาครั้งนี้ 

จะช่วยตอบโจทย์ด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ อันได้แก่ จังหวัดสงขลา นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล พัทลุง และนครศรีธรรมราช โดยในช่วงการแข่งขันวันที่ 11 และ 14 ตุลาคม 2567 จังหวัดสงขลาคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย สิงคโปร์เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ในพื้นที่จังหวัดสงขลาหลายหมื่นคน จะสามารถกระตุ้นระบบเศรษฐกิจที่ซบเซาในพื้นที่ได้หลายร้อยล้านบาท และรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว เจ้าภาพการแข่งขันจะมอบให้แก่กลุ่ม ชมรม สมาคมที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาใน 16 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความสำเร็จ 'สงขลาเมืองกีฬา' ส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นระบบเศรษฐกิจในพื้นที่"

สุดท้ายที่อยากเห็นคือรัฐบาล และทุก ๆ ภาคส่วนต้องลงมาวางแผนชี้นำเศรษฐกิจที่ใช้กีฬานำ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรม MICE อย่างจริงจัง 

ย้อนตำนาน ‘สนามติณสูลานนท์’ จ.สงขลา สนามแห่งความประทับใจของคนไทยทั้งชาติ

(15 ต.ค. 67) ค่ำวานนี้คนไทยทุกคนคงมีความสุขใจไปกับผลการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน หรือ คิงส์คัพ ครั้งที่ 50 ที่ทีมชาติไทยสามารถคว้าถ้วยพระราชทานมาไว้ในมือได้ อีกทั้งตัวผู้เล่นที่เฮดโค้ชทีมชาติไทยจัดลงสนามต่างโชว์ความสามารถได้อย่างเต็มที่

อีกทั้งยังเชื่อมโยงเอา 2 ยุคสมัยที่แสดงสัญญะผ่าน ‘พลุ’ และ ‘โครน’ ที่แปรขบวนน้อมรำลึกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ยิ่งสร้างความอิ่มเอมใจให้กับคนไทยทั้งชาติอีกไม่น้อย ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นที่ ‘สนามติณสูลานนท์’ สนามที่สร้างความประทับใจทั้งหมดนี้

The States Times จะพาทุกท่านย้อนถึงตำนานของสนามติณสูลานนท์ สนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้

สนามกีฬาติณสูลานนท์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา มีความจุประมาณ 35,000 ที่นั่ง สร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมกีฬาของจังหวัดและใช้จัดการแข่งขันกีฬาระดับชาติและนานาชาติ

สนามกีฬาติณสูลานนท์ถูกสร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2530 ในสมัยที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ชาวสงขลาให้ความเคารพและนับถือ ได้ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย สนามกีฬานี้ถูกตั้งชื่อตามท่านเพื่อเป็นการให้เกียรติและระลึกถึงคุณูปการของท่านต่อจังหวัดสงขลาและประเทศไทย

นายนิพนธ์ บุญญามณี ในขณะดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาได้ขอรับการถ่ายโอนสนามกีฬาติณสูลานนท์จากการกีฬาแห่งประเทศไทย มาเป็นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาและได้สานต่อการปรับปรุงและพัฒนาสนามกีฬาติณสูลานนท์อย่างเป็นรูปธรรมในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.) โดยการปรับปรุงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2558 เพื่อให้สนามกีฬาได้มาตรฐานและสามารถรองรับการแข่งขันระดับประเทศและนานาชาติได้อย่างเต็มที่

การปรับปรุงสนามกีฬาครั้งนี้ใช้งบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.) และการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยมีงบประมาณรวมในการพัฒนาสนามอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน, ที่นั่งผู้ชม, ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการแข่งขันกีฬาในระดับสากล

ด้วยความมุ่งมั่นให้สนามกีฬาติณสูลานนท์เป็นสนามกีฬาที่มีมาตรฐานสากล พร้อมรองรับการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ เช่น การแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ, การแข่งขันฟุตบอลไทยลีก และกิจกรรมกีฬาอื่น ๆ ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้จังหวัดสงขลากลายเป็นศูนย์กลางด้านกีฬาของภาคใต้

และค่ำวานนี้คือบทพิสูจน์ที่สำคัญครั้งหนึ่งของ ‘สนามติณสูลานนท์’


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top