Tuesday, 20 May 2025
คาร์บอนเครดิต

'ดร.ก้องเกียรติ' เตือน!! อีก 20 ปี ภาวะโลกเดือด อาจพามนุษย์ล้มตายครั้งใหญ่ ชู!! คาร์บอนเครดิต ทางออกรักษ์โลกที่มีเงินมาช่วยดึงดูดทุกภาคส่วน

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ 'ดร.ก้องเกียรติ สุริเย' ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต และประธานกรรมการ บริษัท จีอาร์ดี เทค จำกัด ในประเด็นปัญหาโลกร้อน (Global Warming) สู่ปัญหาโลกเดือด (Global Boiling) ในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 6 เม.ย.67 โดยมีเนื้อหาดังนี้ ว่า...

ปัญหาทุกวันนี้เกิดจากก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ซึ่งมีหน้าที่สะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ เพื่อควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้ร้อนจัดหรือเย็นจัด หรือเปรียบเสมือนเป็นผ้าห่มคลุมโลกของเราอยู่นั่นเอง แต่เนื่องจากมนุษย์ได้ดำเนินกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดการปล่อยควัน ปล่อยก๊าซพิษต่าง ๆ ตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมเรื่อยมา เช่น ควันไอเสียจากรถยนต์ มลพิษที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ก๊าซเรือนกระจกที่เปรียบเสมือนผ้าห่มคลุมโลกมีความหนามาก จนมาแตะโลก จึงทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็เกิดปรากฏการณ์ Monster Asian Heatwave อากาศร้อนจัดอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อประเทศในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะจังหวัดตากของประเทศไทย

นอกจากนี้ โลกร้อนยังส่งผลกระทบให้เกิดปัญหา PM 2.5 อีกด้วย เนื่องจากเมื่อสภาพอากาศร้อนจัด ฝุ่น PM 2.5 จะลอยตัวขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ แต่เมื่อกระทบกับก๊าซเรือนกระจกที่ปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น ฝุ่นก็ไม่สามารถลอยขึ้นไปได้ เมื่อฝุ่นนิ่งไม่เคลื่อนไหวจึงทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 เมื่อหายใจเข้าไปอาจส่งผลอันตรายและเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรัง 

ส่วนสำคัญของปัญหาเหล่านี้ มาจากในปัจจุบันมนุษย์มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีล้ำหน้าไปมาก แต่ก็อยากรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งมันสวนทาง ก็เลยเกิดกฎเกณฑ์ใหม่อย่าง คาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) และคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ขึ้น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการดำเนินกิจกรรมหรือการกระทำต่าง ๆ ของมนุษย์ เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน 

ปัจจุบันในระดับโลกให้ความสำคัญเรื่องนี้ โดยมีการจัดประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ซึ่งมีเป้าหมายใน ค.ศ. 2030 ที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องช่วยกันลดความหนาของก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 45%-50% ด้วยการหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือปลูกต้นไม้เพื่อดักจับคาร์บอน (Carbon Capture) ภายใต้คำเตือนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่หากประเทศต่าง ๆ ยังนิ่งเฉย ภาวะโลกร้อนนี้ ก็จะทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ขึ้นได้อีกด้วย

เมื่อถามว่า ถ้าวันนี้ทุกคนไม่คิดจะทำอะไรเลย ปัญหาโลกร้อนจะเป็นอย่างไร? ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า โลกจะเย็นลงและอาจจะเกิดหายนะขึ้นได้ เช่น น้ำท่วมโลก ปรากฏการณ์พายุรุนแรง ฝุ่น PM 2.5 เพิ่มมากขึ้น จนทำให้มนุษย์ล้มตายจำนวนมาก คล้าย ๆ กับทฤษฎีการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ก็เป็นได้ 

ทั้งนี้ ดร.ก้องเกียรติ ได้แนะอีกด้วยว่า หลักการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดในตอนนี้ คือ การนำปัญหานี้มาเป็นธุรกิจ สร้างธุรกิจรักษ์โลก ที่ได้เงิน หรือก็คือการใช้กลไก คาร์บอนเครดิต หมายถึง ถ้าเราช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือลดความหนาของผ้าห่มคลุมโลกได้เท่าไหร่ แล้วนำปริมาณนั้นมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้ สร้างมูลค่าเพิ่มได้ ด้วยการทำกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีองค์กรกลางในการตรวจสอบรับรอง จึงจะสร้างแรงจูงใจให้ทุกภาคส่วนลดการปล่อยคาร์บอนลงได้ 

สุดท้าย ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า การรักษ์โลกต่อจากนี้ อาจไม่ใช่การทำ CSR (Corporate Social Responsibility) เพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างให้เป็นธุรกิจได้จริงเสียที

อ.พงษ์ภาณุ ชี้!! 'ก๊าซเรือนกระจก-คาร์บอน' กำลังมีค่าเสมือนทองคำ แนะรัฐบาลเร่งส่งเสริมสังคมไทยเปลี่ยนคาร์บอนให้กลายเป็นเงิน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'เปลี่ยนคาร์บอนให้เป็นเงิน' เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

วันนี้คาร์บอนฯ ไม่ได้เป็นเพียงของเสียที่ทำให้โลกร้อนอีกต่อไป...

ความพยายามของประชาคมโลกในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอิงกลไกตลาดในการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ได้ทำให้ก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งคาร์บอนมีคุณค่าเสมือนทองคำ หน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ของประเทศไทย มีการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการเปลี่ยนสภาพคาร์บอนให้เป็นเงินตราและ/หรือหลักทรัพย์

เป็นที่น่ายินดีที่วันนี้เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมได้ช่วยให้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เทคโนโลยีดูดกลับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage-CCS) ได้แสดงให้เห็นศักยภาพในการลดคาร์บอนในปริมาณมาก แม้จะยังคงมีต้นทุนค่อนข้างสูงอยู่ บริษัท ปตท.สผ. ได้ลงทุนจำนวนมหาศาลจัดทำระบบ CCS ที่แท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ แหล่งอาทิตย์ กลางอ่าวไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดคาร์บอนไดอ็อกไซด์ได้ถึงประมาณ 700,000 ถึง 1 ล้านตันต่อปี นับเป็นโครงการ CCS โครงการแรกของประเทศไทย

โครงการภูมิปัญญาผ้าไทยลดโลกร้อน เป็นอีกโครงการที่สมควรกล่าวถึง ผ้าไทยทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายไทย ที่เกิดจากการถักทอของชาวบ้านทั่วประเทศ จากนี้ไปจะใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดเลิกการใช้สารเคมี และได้รับการรับรอง Carbon Footprint โดย อบก. (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก) จะสามารถนำไปแสดงและวางขายในงานแสดงสินค้าในสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้ ซึ่งจะเป็นช่องทางการตลาดและรายได้ของชาวบ้านอย่างมากมาย นอกจากนี้ กระบวนการถักทอผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสามารถทำเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้เสริมให้ชาวบ้านอีกด้วย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันคาร์บอนแห่งเอเชีย (Asia Carbon Institute-ACI) ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ที่สิงคโปร์ ได้ทำความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท Green Standards เพื่อวิจัยและพัฒนา Biochar ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ผ่านกระบวนการทางเคมี และเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการดูดซับคาร์บอนจากอากาศและสามารถฝังลงใต้ดินเพื่อกักเก็บได้เป็นระยะเวลายาวนาน โครงการนี้นอกจากจะช่วยลดเลิกการเผาซากวัสดุการเกษตร ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาฝุ่น PM 2.5 แล้ว ยังจะช่วยสร้างคาร์บอนเครดิตและรายได้เสริมให้เกษตรกรอีกด้วย

สิงคโปร์ภายใต้ทีมบริหารชุดใหม่ นำโดยนายกรัฐมนตรี Lawrence Wong ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอน (Carbon Trading Hub) ของเอเชีย 

ประเทศไทยซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานในด้านนี้ที่ดีพอสมควร ก็ไม่ควรที่จะรีรอที่จะเดินหน้าสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในเอเชียในเรื่องการลดคาร์บอน รวมทั้งรัฐบาลให้การส่งเสริมในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการลด/ยกเว้นภาษี การให้เงินอุดหนุน รวมทั้งการออกกฎหมายภาคบังคับ และการเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ไทยเดินหน้าไปกับสิงคโปร์ในฐานะ Carbon Hub แห่งเอเชีย

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! ตลาดคาร์บอนเครดิตไทยเริ่มคึกคัก แม้จะเป็นเพียงภาคสมัครใจ แต่โตไวจนน่าผลักแรงๆ

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'เปลี่ยนคาร์บอนเป็นเงิน' เมื่อวันที่ 26 พ.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

พลานุภาพในการเปลี่ยนคาร์บอนเป็นเงิน นับวันจะมีพลังสูงขึ้น เมื่อตลาดและสังคมร่วมกันกดดันให้ธุรกิจลดการปล่อยคาร์บอน แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และตลาดคาร์บอนในไทยยังเป็นเพียงประเภทสมัครใจ แต่ อบก. (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้การรับรองโครงการลดก๊าซเรือนกระจกไปแล้วกว่า 400 โครงการ และรับรองคาร์บอนเครดิตไปแล้วกว่า 16 ล้านตัน

ตลาดคาร์บอนของสหภาพยุโรป หรือ EU Emissions Trading System เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และสภาพคล่องหนาแน่นที่สุด ทางการสหภาพยุโรปจัดสรรสิทธิการปล่อยคาร์บอน (Emissions Allowances) ไปยังธุรกิจสาขาต่างๆ กิจการไหนปล่อยมากกว่าสิทธิที่มี ก็จะต้องหาซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย หรือไม่ก็ต้องเสียภาษีคาร์บอน  ส่วนกิจการไหนที่มีสิทธิส่วนเกินเหลืออยู่ ก็สามารถนำออกขายในตลาดได้ ระบบ Cap and Trade นี้ได้ทำให้ตลาดมีประสิทธิภาพ สิทธิการปล่อยคาร์บอนนี้นับวันจะมีปริมาณลดลงเพื่อให้ประเทศต่างๆบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ตามข้อผูกพัน ซึ่งเมื่อสิทธิลดลง ราคาก็ย่อมสูงขึ้นตามกลไกตลาด 

ตลาด ETS ของสหภาพยุโรป มีปริมาณและสภาพคล่องสูง กำหนดราคาคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้คาร์บอนเป็นสินทรัพย์ (Asset Class) ที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าคาร์บอนได้เป็นสินทรัพย์ทางการเงินซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายเงินที่เป็นสื่อกลางการซื้อขายแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) เข้าไปทุกที

ตลาดคาร์บอนไทย แม้จะยังเป็นเพียงภาคสมัครใจแต่ก็มีการขยายตัวค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่านมา คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คาร์บอนจะเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน เช่นเดียวกับในสหภาพยุโรป และในอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก ตลาดการเงินและสถาบันการเงินในประเทศได้ปรับตัวไปบ้างแล้ว ก.ล.ต. ส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนรวมและกองทรัสต์ที่ลงทุนในที่ดินเพื่อการปลูกป่าและขายคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้หลัก กองทุน ESG ซึ่งลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อเพื่อการลดโลกร้อน

ธุรกิจหลายสาขาก็กำลังแปลงโฉมเป็นธุรกิจคาร์บอนตำ่ ในภาคบริการ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยว น่าจะต้องเร่งปรับปรุงตัวเข้าสู่ความเป็น Net Zero หรืออย่างน้อยความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยเร็ว เพื่อจะไม่พลาดโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจากแนวโน้มใหม่ของโลกนี้

วันนี้ คาร์บอนกลายเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่สำคัญทั่วโลก และนับวันจะมีค่ามากขึ้น อบก. พร้อมที่จะทำงานกับธุรกิจและสังคมทุกภาคส่วน ด้วยวิธีการเปลี่ยนคาร์บอนเป็นเงิน

‘ไทยคม’ ประกาศความสำเร็จแพลตฟอร์ม 'CarbonWatch' ได้รับการรับรองเป็น 'เครื่องมือวัดคาร์บอนเครดิต' รายแรกในไทย

(11 ก.ค. 67) บริษัท บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม 'CarbonWatch' ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ภายใต้โครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนด้วยเทคโนโลยี AI และการสำรวจระยะไกล เป็นครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมทั้งเตรียมให้บริการคาร์บอนเครดิตและขยายความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธานกรรมการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กล่าวว่า อบก.ได้พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต ภายใต้ชื่อ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) เพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน ไทยคมได้รับการรับรองเครื่องมือประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ด้วยเทคโนโลยี AI และการสำรวจระยะไกลจาก อบก. ซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่สามารถใช้ประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ในภาคเหนือและกลาง เครื่องมือนี้เป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นการปลูกฟื้นฟูป่าจากภาคธุรกิจเอกชน สร้างแรงจูงใจในการใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซ มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 โครงการนี้ยังเป็นแรงจูงใจให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมอย่างมีผลบังคับใช้และยั่งยืน

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม กล่าวว่า ไทยคมยินดีที่แพลตฟอร์ม CarbonWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมและ AI ได้รับการรับรองจาก อบก. เป็นรายแรกของประเทศไทย ตอกย้ำความสำเร็จในการนำความเชี่ยวชาญด้านดาวเทียมมาสู่ธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศ ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจโลก ร่วมกับเทคโนโลยี AI และ ML เพื่อประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่าขนาดใหญ่อย่างแม่นยำ รวดเร็ว และตรวจสอบได้ แพลตฟอร์มนี้เป็นส่วนหนึ่งของบริการ Earth Insights ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ESG) ได้รับรางวัล Sustainability Award 2023 และระดับ AAA จาก SET ESG Rating แพลตฟอร์มนี้จะถูกนำไปใช้ในพื้นที่ป่าชุมชนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และเดินหน้าร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาประเทศชาติสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

"ไทยคม ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์จากผู้นำด้านดาวเทียมสู่ผู้นำเทคโนโลยีอวกาศ เน้นความสำคัญของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับโลก โดยใช้เทคโนโลยีสเปซเทคตอบสนองความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการคาร์บอน ไทยคมได้ร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง นำความรู้เรื่องดาวเทียมมาสร้างแพลตฟอร์ม CarbonWatch ซึ่งได้รับการรับรองจาก อบก. ช่วยให้การประเมินการกักเก็บคาร์บอนเป็นไปอย่างถูกต้อง แม่นยำ คุ้มค่า และเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในราคาเริ่มต้นที่ 100-300 บาทต่อไร่ นอกจากนี้ ยังสามารถขยายความสามารถนี้ไปยังต่างประเทศได้ การใช้เทคโนโลยีนี้ไม่เพียงแต่ลดต้นทุนและเพิ่มความแม่นยำเท่านั้น แต่ยังเสริมความโปร่งใสและตรวจสอบได้ สนับสนุนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยอย่างยั่งยืน" นายปฐมภพ กล่าว

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้เริ่มโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าชุมชน 290,000 ไร่ตั้งแต่ปี 2563 และมีแผนขยายไปทั่วประเทศ การประเมินการกักเก็บคาร์บอนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายโครงการนี้ เพื่อสนับสนุนชุมชนต่างๆ มูลนิธิฯ ได้ผนวกความเชี่ยวชาญในภาคสนามกับเทคโนโลยีของไทยคม สร้างเครื่องมือที่ได้รับการรับรองซึ่งมีประสิทธิภาพและแม่นยำ มีความเชื่อมั่นว่าเครื่องมือนี้จะช่วยประเมินการกักเก็บคาร์บอนได้มีประสิทธิภาพและเร่งพัฒนาโมเดลการประเมินมวลชีวภาพในพื้นที่ป่าอื่น ๆ ด้วย ร่วมกันรับมือกับภาวะโลกร้อนและส่งต่อโลกที่ยั่งยืนให้รุ่นหลัง

"โครงการคาร์บอนเครดิตเริ่มต้นจากประสบการณ์การจัดการป่านานกว่า 30 ปี ซึ่งได้พัฒนากระบวนการปลูกและดูแลป่าอย่างยั่งยืน เทคโนโลยีดาวเทียมและ AI ที่นำมาใช้ได้ช่วยปรับปรุงความแม่นยำในการประเมินคาร์บอนให้ถึง 90% ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ทั้งยังสร้างรายได้และความยั่งยืนให้ชุมชนท้องถิ่น โดยการใช้เทคโนโลยีนี้ช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ และเปิดโอกาสให้ไทยเป็นผู้นำในการจัดการคาร์บอนในอาเซียน การร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการดูแลป่าเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงทางภูมิภาค และเป็นโมเดลที่สามารถขยายผลไปยังประเทศอื่นในอนาคตได้" ม.ล.ดิศปนัดดา กล่าว

'อลงกรณ์' ชี้คาร์บอนเครดิตและไบโอเครดิตคือภารกิจที่ท้าทายอนาคตของประเทศไทย

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “คาร์บอนเครดิตและไบโอเครดิต :ภารกิจที่ท้าทายอนาคตของประเทศไทยภายใต้กรมป่าไม้และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม“เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมาซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจจึงเห็นควรนำมาถ่ายทอดผ่านสื่อเพื่อประโยชน์ในการรับรู้ของสาธารณชน

โดยอดีตรัฐมนตรีอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ปัจจุบันเป็นประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า

“…ปัญหาโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจกและปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเป็นปัญหาความยั่งยืนของโลกแต่ขณะเดียวกันก็เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ…“

ประเทศไทยประกาศเป้าหมายจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 30-40 ภายในปี 2030 และเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)
โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมให้ข้อเสนอการมีส่วนร่วมในการลด ก๊าซเรือนกระจก และการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านข้อเสนอการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) 

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มอบแนวคิดว่า

“เราชนะธรรมชาติได้บางอย่าง แต่เราไม่สามารถกำหนดธรรมชาติได้ทุกอย่าง เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับความเป็นจริง ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้คือการเปลี่ยนแปลงและต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากการกระทำของมนุษย์ด้วย” 

“เราต้องเปลี่ยนมุมมองของโลก หลายคนมองว่าการบริหารต้องมีมือดีทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน แต่ตนมองว่าสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนอาศัยอยู่ เพราะอย่างไรเราก็ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม”

จากวิสัยทัศน์ดังกล่าวจึงนำมาสู่ กรอบภารกิจ 6 ด้าน
1.ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่า ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
2.ด้านทรัพยากรน้ำทั้งระบบ
3.ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ขยะ และมลพิษ 
4. ด้านยุทธศาสตร์ แผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5.ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ
6.ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยเฉพาะภารกิจสำคัญและเร่งด่วนคือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนซึ่งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดให้มีพื้นที่สีเขียวทุกประเภท 55% ของพื้นที่ประเทศ ในจำนวนนี้เป็น
พื้นที่ป่า 40% ของพื้นที่ประเทศซึ่งเป็นแหล่งดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ
แบ่งเป็น
1.พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25% 
2.พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 15%

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ราว 102,353,484 ไร่ หรือ 31.64% ของพื้นที่ประเทศจะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าอีก 8.36 %หรือ 26.75 ล้านไร่

ป่าชุมชนเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งในการเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอนโดยมีป่าชุมชนที่ได้รับอนุมัติจัดตั้งเป็นป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 จำนวนรวม 11,327 โครงการ 13,028 หมู่บ้าน มีเนื้อที่รวม 6,295,718 ไร่
ซึ่งแต่เดิมมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ทรัพยากรของป่าชุมชน5 ประการคือ
1. ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชน/พักผ่อนหย่อนใจ
2. เก็บหาของป่า
3. ใช้ประโยชน์จากไม้ เพื่อการยังชีพและสาธารณะประโยชน์
4. ใช้บริการทางนิเวศ เช่น น้ำ
5. ส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

ส่วนแนวทางการพัฒนาใหม่ในการพัฒนาป่าชุมชน (Community Forest) สู่ป่าคาร์บอน (Carbon Forest)เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวลดโลกร้อนอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนกว่า1.1หมื่นแห่งทุกภาคทั่วประเทศให้เป็น
1.แหล่งอาหารชุมชน (Community Food Bank)
2.แหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ(Biodiversity Bank)
3.แหล่งคาร์บอน(Carbon Bank)
4.แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ(Ecological Tourism)
5.แหล่งผลิตอาหารแบบสมาร์ทฟาร์ม(3F’s: Food Farm Forest)
โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการใหม่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคีในพื้นที่ด้วยโมเดล3หุ้นส่วน( 3‘P : Public-Private-People Partnership model)ซึ่งถอดบทเรียนจากโครงการสระบุรี แซนด์บ็อกซ์และโค้งตาบางโมเดล

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาป่าชุมชนแนวใหม่นอกจากจะช่วยตอบโจทย์การลดโลกร้อนยังได้ให้ความสำคัญทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพและไบโอ เครดิต

ประเทศไทยได้เริ่มจัดทำนโยบายและมาตรการระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นกรอบและทิศทางการดำเนินงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในภาพรวมของประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ สอดคล้องกับมาตรา 6 ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ที่กำหนดให้ภาคีจัดทำนโยบายและกลยุทธ์ระดับชาติ เพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้ประเมินว่า GDP ของโลก กว่าครึ่งหนึ่งต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ

ขณะที่รายงานความยั่งยืน(Sustainability Trends 2024 )ระบุว่า Bio-Credits เป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์ การเพิ่มจำนวนความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Net Gain) เพื่อก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพที่ยั่งยืน โดยไบโอเครดิตเป็นเครื่องมือทางการเงินที่สามารถตรวจสอบปริมาณ คุณภาพ ชนิดพันธุ์ ระบบนิเวศ และที่อยู่อาศัยผ่านการซื้อขายหน่วยความหลากหลายทางชีวภาพได้ ทำให้ทราบถึงการเพิ่มจำนวนของความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบัน
 
ทั้งนี้ หลายหน่วยงานได้เริ่มมีความสนใจใน Bio-Credits เช่น สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) เมื่อปี 2565 ได้ริเริ่มโครงการสำรวจศักยภาพของสินเชื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Finance) เพื่อปลดล็อกการจัดหาเงินทุนใหม่สำหรับผลลัพธ์เชิงบวกที่วัดได้สำหรับธรรมชาติและผู้ดูแลธรรมชาติ และสนับสนุนการพัฒนาตลาดสินเชื่อความหลากหลายทางชีวภาพโดยสมัครใจ แต่ก็ยังไม่สามารถทำ Biodiversity Finance ได้เต็มที่ เนื่องจากยังขาดมาตรฐานการออกไบโอเครดิต ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในระดับโลก

ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรเพื่อไบโอเครดิต (Biodiversity Credit Alliance) ขึ้นในปี 2565 โดยมีสมาชิกเป็นองค์กรจากภาคเอกชน องค์กรไม่แสวงหากำไร หน่วยงาน ภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคส่วนอื่นๆ และได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสวีเดน (Sida)

ในส่วนประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) อธิบายถึง Bio-Credits (Biodiversity Credits) หรือ เครดิตความหลากหลายทางชีวภาพ ว่า เป็นหนึ่งนวัตกรรมที่มีการนำกลไกตลาดมาใช้ในการระดมทุนเพื่อดูแลธรรมชาติและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่โดยมีลักษณะการทำงานที่คล้ายกับคาร์บอนเครดิตในตลาดภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Credits) ซึ่งเป็นการซื้อ - ขาย ระหว่างผู้ซื้อที่มีความยินดีในการจ่ายเพื่อปกป้องและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ และผู้ขายที่เป็นผู้ลงทุนดำเนินโครงการที่สามารถปกป้องและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพได้

ซึ่งหลังจากนวัตกรรมของตลาดไบโอเครดิตเกิดขึ้น จะส่งผลให้เกิดการปกป้องหรือฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ โดยสามารถนำผลลัพธ์ที่เป็นข้อมูลเชิงปริมาณมาแสดงเพื่อขอใบรับรอง ว่ามีการดำเนินงานที่เกิดขึ้นได้จริง และผู้ผลิตสามารถนำไบโอเครดิตที่อยู่ในใบรับรองไปขายให้ผู้ซื้อที่ยินดีจ่ายเงินได้
 
สถานการณ์ภัยคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย แบ่งได้ดังนี้
1) พรรณไม้ จำนวนทั้งสิ้น 12,050 ชนิด มีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามจำนวน 999 ชนิด
2) สัตว์มีกระดูกสันหลัง จำนวนทั้งสิ้น 5,005 ชนิด มีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม ประกอบด้วย ชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ใกล้สูญพันธุ์ และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ จำนวน 676 ชนิด
3) จุลินทรีย์ก็อยู่ในภาวะถูกคุกคามเช่นกัน

ความหลากหลายทางชีวภาพกำลังถูกคุกคามและไบโอ เครดิตจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในพื้นที่ทรัพยากรป่าและป่าชุมชนเช่นกรณีตัวอย่าง“ทีมปรับป่าโดย มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้ริเริ่ม โครงการศึกษาความหลากหลาย ขึ้นเพื่อติดตามความสมบูรณ์ของป่าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 – ปัจจุบัน โดยการเก็บข้อมูลและสำรวจพื้นที่ป่าดอยตุงอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะ อยู่ระหว่างดำเนินการโดยมีทีมทำงานเก็บข้อมูลที่เรียกว่า 'ทีมปรับป่า' ที่ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และชุมชนร่วมกันทำงานได้ช่วยต่อยอดภูมิปัญญาของคนบนดอยตุงในการอยู่ร่วมกับผืนป่าอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นหนึ่งในโมเดลตัวอย่าง

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงของโลก แต่ก็ยังมีภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เกิดจากมนุษย์และภัยธรรมชาติในหลายพื้นที่ ไบโอเครดิตจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพื่อประโยชน์ในการปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยให้คงอยู่เป็นมรดกของลูกหลาน

กล่าวโดยสรุป คือ ปัญหาโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจกและปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเป็นปัญหาความยั่งยืนของโลกแต่ขณะเดียวกันก็เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศโดยมีการกำหนดภาษีคาร์บอนเช่นภาษีระบบCBAMของสหภาพยุโรปที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทยและอีกไม่นานก็จะมีมาตรการทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพเช่นเดียวกับภาษีคาร์บอน 
ดังนั้นคาร์บอน เครดิตและไบโอเครดิต จึงเป็นภารกิจที่ท้าทายต่ออนาคตความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของประเทศไทยภายใต้บทบาทและความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งขอชื่นชมกรมป่าไม้ที่ได้พัฒนาบุคคลากรให้เกิดความรู้และทักษะในเรื่องคาร์บอน เครดิตและไบโอ เครดิต เป็นประโยชน์ต่อการลดคาร์บอนและเพิ่มความสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top