Friday, 18 April 2025
คอร์รัปชัน

เจ้าแม่อสังหาริมทรัพย์ ผู้เขย่าสถาบันการเงินเวียดนาม โกงมโหฬาร 4 แสนล้านบาท มหาศาลที่สุดในอาเซียน!!

‘เวียดนาม’ ประเทศที่ถูกมองว่าเป็นดาวรุ่งที่น่าจับตาที่สุดในอาเซียน แต่ก็ยังมีสิ่งที่ยังฉุดรั้งเศรษฐกิจของเวียดนาม นั่นก็คือ ‘การคอร์รัปชันในระบบ’

และเมื่อไม่นานมานี้ ก็เกิดคดีอื้อฉาวเขย่าภาพลักษณ์เวียดนามอีกครั้ง เมื่อมีการเปิดโปงคดีคอร์รัปชัน ยักยอกทรัพย์ในสถาบันการเงินของเวียดนาม ด้วยยอดเงินสูงถึง 1.24 หมื่นล้านเหรียญ (ประมาณ 4.4 แสนล้านบาท) ทุบสถิติทุกคดีคอร์รัปชันในเคยเกิดขึ้นในย่านอาเซียน ซึ่งมากกว่าคดีอื้อฉาวการยักยอกเงินจากกองทุน 1MDB ของมาเลเซีย ที่มีมูลค่าความเสียหายราว 4 พันล้านเหรียญ ชนิดไม่เห็นฝุ่น

ซึ่งวงเงินมหาศาลนี้ ถูกยักย้ายถ่ายเทโดยเศรษฐินีผู้ทรงอิทธิพลของเวียดนามเพียงคนเดียว และทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี โดยไม่มีใครตรวจสอบจนกระทั่งวันนี้

ไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์นี้ เกิดจากความฉลาดมากของเจ้าสัวหญิง หรือความฉลาดน้อยของเจ้าหน้าที่รัฐฯ แต่วันนี้ กระทรวงความมั่นคงสาธารณะได้ออกคำสั่งจับกุม ‘Trương Mỹ Lan’ (เจือง หมี ลาน) อภิมหาเศรษฐินีเวียดนาม ประธานบริษัท Van Thinh Phat Group หนึ่งในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ในข้อหายักยอกเงินจากธนาคาร ‘Saigon Commercial Bank’ (SCB) กว่า 1.24 หมื่นล้านเหรียญ มาตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี

‘Trương Mỹ Lan’ ถือเป็นนักธุรกิจสาวชาวเวียดนาม เชื้อสายจีน ปัจจุบัน อายุ 67 ปี เคยขึ้นทำเนียบเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเวียดนาม ครอบครัวของเธอประกอบธุรกิจหลากหลายประเภท ทั้งร้านอาหาร โรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ มีบริษัทจดทะเบียนในเครือกว่า 1,000 แห่ง และได้ทำสินเชื่อไว้กับ Saigon Commercial Bank ในวงเงินสูงถึง 4.3 หมื่นล้านเหรียญ 

แต่ทั้งนี้ Trương Mỹ Lan และ บริษัทของเธอเริ่มมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวพันกับการคอร์รัปชัน และให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐฯ หลายครั้ง โดยเริ่มตัังแต่ปี 2014 มีข่าวว่าเธอได้จ่ายสินบนให้แก่อดีตรัฐมนตรีกระทรวงความมั่งคงสาธารณะถึง 1 ล้านเหรียญ เพื่อขอสิทธิพิเศษในการใช้พื้นที่ท่าเรือแห่งใหม่ในไซง่อน 

ต่อมาปี 2016 ชื่อของเธอ และ ‘Eric Chu Nap Kee’ สามีชาวฮ่องกงของเธอ มีชื่ออยู่ในเอกสาร ‘Panama Paper’ แฟ้มคดีเปิดโปงการฉ้อโกง และหลบเลี่ยงภาษีระดับโลก จากการจดทะเบียนบริษัทแต่ในนามชื่อ ‘EurAsia ID Concept Group’ ในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน

และเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2022 Trương Mỹ Lan ก็ถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีฉ้อโกง พร้อมกับเหล่าผู้บริหารด้านการเงินของบริษัทในเครือ Van Thinh Phat Group อีกจำนวนหนึ่ง จากกรณีการออกหุ้นกู้ของบริษัท Van Thinh Phat Group ตั้งแต่ช่วงปี 2008 - 2020 จำนวน 25 ฉบับให้แก่นิติบุคคล และประชาชนทั่วไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ทางการเวียดนามก็ได้ตั้งข้อหาอภิมหาเศรษฐินีแห่งเวียดนามอีกหลายกระทงในข้อหาฉ้อโกง และยักยอกเงินจากธนาคาร Saigon Commercial Bank 1.24 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งเทียบเท่ากับ GDP ของประเทศเวียดนามถึง 6% และถือเป็นคดีฉ้อโกงครั้งใหญ่ที่สุดในย่านอาเซียน

มหากาพย์การยักยอกเงินจากธนาคารของเธอ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2011 เมื่อ Trương Mỹ Lan เริ่มซื้อหุ้นของธนาคารเวียดนาม 3 แห่งมาสะสมไว้ ได้แก่ Saigon Commercial JSC, Vietnam Tin Nghia และ De Nhat ผ่านนอมินีถึง 27 ราย และถือครองในนามของตนเองเพียง 4% ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ว่า “บุคคลธรรมดาสามารถถือหุ้นของธนาคารได้ไม่เกิน 5%”

หลังจากนั้นเพียง 1 ปี เธอควบรวมกิจการ 3 ธนาคารเข้าไว้ด้วยกันภายใต้ชื่อธนาคาร ‘Saigon Commercial Bank’ (SCB) โดยรักษาระดับหุ้นในนามตัวเองเพียง 4% แต่หากรวมหุ้นในส่วนที่ถือผ่านนอมินีแล้ว เท่ากับว่า Trương Mỹ Lan ถือหุ้นของ SCB ไว้ถึง 91.5% 

หลังจากนั้น เธอเริ่มใช้อำนาจผ่านหุ้นที่เธอมีแต่งตั้งคนใกล้ชิดเข้าไปนั่งในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร ที่ทำให้บริษัทในเครือ Van Thinh Phat Group ของเธอได้วงเกินกู้จากธนาคารอย่างไม่จำกัด และไม่มีการตรวจสอบเอกสารใดๆ แม้กระทั่งการเบิกเงินจากเช็คที่ไม่มีที่มา หรืออนุมัติวงเงินกู้เกินกว่าราคาประเมินโครงการก่อสร้าง หรือออกเงินกู้ให้แก่บริษัทผี ที่จดทะเบียนแต่ในนาม ทั้งในและต่างประเทศหลายแห่ง

ว่ากันว่า เมื่อใดก็ตามที่เธอต้องการเงินก้อนใหญ่ เธอจะเรียกผู้บริหารระดับสูงออกมาประชุมนอกสำนักงานใหญ่ของธนาคาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติ หรือเพียงแค่ต่อสายตรงไปที่ผู้จัดการธนาคาร ก็สามารถกู้เงินฉุกเฉินได้ทันทีโดยไม่ต้องมีเอกสารหลักฐานใดๆ 

และพบว่า ช่วงปี 2012 - 2022 เธอได้กู้เงินจากธนาคารที่เธอเข้าไปถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นสัดส่วนถึง 93% ของวงเงินสินเชื่อที่ธนาคารปล่อยกู้ในช่วงเวลานั้น โดยเธอได้จ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางเวียดนาม เพื่อให้เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ กับรายงานบัญชีอันผิดปกติของธนาคาร SCB

แต่แล้วพฤติกรรมของเจ้าแม่อสังหาริมทรัพย์ก็ถูกขุดคุ้ยและเปิดโปง จากผลพวงของแคมเปญกวาดล้างคอร์รัปชันของรัฐบาลเวียดนาม มีการสั่งปลด ลงโทษข้าราชการระดับสูง และคนระดับรัฐมนตรีมากมายในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จนนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดี Trương Mỹ Lan ด้วยข้อหาคอร์รัปชันและฉ้อโกงครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในภูมิภาคอาเซียน

อีกทั้งยังเผยให้เห็นถึงจุดอ่อนและความหละหลวมของระบบธนาคาร และการตรวจสอบอย่างเข้มงวดโดยภาครัฐ จนเกิดความเสียหายหลักแสนล้านบาท แต่ที่เสียหายหนักกว่านั้น คือความศรัทธาต่อสถาบันการเงินทั้งระบบของเวียดนาม ที่อาจต้องชำระและล้างบางเป็นการด่วน

‘รอยยิ้มกังฉิน’ สิ้นชื่อ!! เมื่อชาวเน็ตจีนลุกฮือล้วงอดีตฉาว สะท้อน!! คอร์รัปชันเหนือความดี แม้กฎหมายจะแรง...แต่กล้าเสี่ยง

เหตุการณ์นี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2012 ที่มณฑลซานซี ประเทศจีน เมื่อมีการเผยแพร่ภาพถ่ายของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ยืน ‘ยิ้ม’ ท่ามกลางสาธารณชนอยู่ในบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุรถชนครั้งใหญ่ ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุดังกล่าวมากถึง 36 ราย ใบหน้ายิ้มแย้มของเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวจึงทำให้ชาวเน็ตชาวจีนที่มี ‘อารมณ์อ่อนไหว’ ได้พากันเร่งรีบตรวจสอบประวัติส่วนตัวของเจ้าหน้าที่รายนี้

ในเวลาไม่ถึง 5 วัน ชาวเน็ตชาวจีนได้รวบรวมนาฬิกายี่ห้อต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นคนนี้สวมใส่ในที่สาธารณะ รวมทั้งหมด 11 ยี่ห้อ โดยมีราคาตั้งแต่ 10,000 หยวนถึง 500,000 หยวน ซึ่งเป็นราคาที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนทั่วไปไม่น่าที่จะซื้อหามาครอบครองได้

2 วันต่อมา นักศึกษาวิทยาลัยในท้องถิ่นได้ยื่นคำร้องขอการเปิดเผยข้อมูลของรัฐบาลต่อกรมการคลังของจังหวัด โดยขอรายการเงินเดือนประจำปี 2011 และการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของ ‘เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นผู้ยิ้มแย้ม’ จากอุบัติเหตุรถชนครั้งใหญ่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ยิ้มแย้มได้ปฏิเสธ โดยอ้างว่านาฬิกาทั้งหมดของเขาซื้อโดยใช้รายได้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย (นั่นคือตอนที่รัฐบาลกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง)

หลังจากที่ ‘เจ้าหน้าที่ผู้ที่มีใบหน้ายิ้มแย้ม’ ถูกตัดสินจำคุก 14 ปี ผู้คนจึงได้ตระหนักว่าเขามีใบหน้าที่ยิ้มแย้มโดยธรรมชาติ รอยยิ้มของเขาเป็นการแสดงออกบนใบหน้าตามปกติธรรมชาติของเขาอยู่แล้ว ชายคนนี้เป็นที่รู้จักในประเทศจีนในนามของ ‘ไอ้หนุ่มนาฬิกา’

ภาพนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่คิดว่าเป็นภาพถ่ายที่ดีที่สุดของการทุจริตของรัฐบาล เมื่อ ‘หลี่เค่อเฉียง’ นายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีนเดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดยมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในพื้นที่ร่วมเดินทางไปด้วย การแสดงออกของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นผู้นี้เป็นการบอกว่า "ไม่ ผมไม่ได้ใส่นาฬิการาคาแพง" ซึ่งทำให้ชาวเน็ตจีนก็พากันขุดเอาภาพเก่า ๆ ของเขาขึ้นมา และพบว่าเขามีนาฬิการาคาแพงจริง ๆ หลายเรือน ต่อมาชายคนนี้ก็ถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีเช่นกัน ซึ่งเขาเป็นที่รู้จักในประเทศจีนในนามของ ‘ไอ้หนุ่มไม่มีนาฬิกา’

หากแบ่งแบบคร่าว ๆ แล้ว การทุจริตคอร์รัปชันที่พบได้ทั่วไปในประเทศจีน มีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ การทุจริต / การแสวงหาผลประโยชน์ และ การยักยอกเอาทรัพย์สินของชาติ (หาผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่)

>> การทุจริตเป็นพฤติกรรมที่พบบ่อยที่สุด ประกอบไปด้วย การติดสินบน คือ การให้สินบนที่ผิดกฎหมาย / การยักยอกทรัพย์และการขโมยเงินของรัฐ / การทุจริตเกี่ยวข้องกับสิ่งของมีค่าที่มอบให้และยอมรับโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อจุดประสงค์ที่ไม่ซื่อสัตย์หรือผิดกฎหมาย ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ใช้จ่ายเงินของรัฐอย่างฉ้อฉลหรือใช้เงินของรัฐเพื่อประโยชน์ของตนเอง

>> ส่วนการแสวงหาผลประโยชน์ หมายถึง พฤติกรรมทุจริตทุกรูปแบบ โดยบุคคลที่มีอำนาจผูกขาด-เจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้รับ ‘ส่วย’ ซึ่งเป็นรายได้เพิ่มเติมอันเป็นผลจากตลาดที่ถูกจำกัด ด้วยการให้ใบอนุญาตหรือการผูกขาดแก่ลูกค้า และการแสวงหาผลประโยชน์จะเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่มอบค่าเช่าให้กับผู้ที่สนับสนุนพวกเขา ซึ่งกรณีนี้จะคล้ายกับการคอร์รัปชันของจีน ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นทั้งผู้หาผลประโยชน์และผู้แสวงหาผลประโยชน์ โดยทั้งคู่จะมีลักษณะของการสร้างโอกาสในการหาผลประโยชน์ให้กับผู้อื่น และแสวงหาโอกาสดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของตนเอง ซึ่งอาจรวมถึงการแสวงหากำไรโดยเจ้าหน้าที่หรือบริษัทของเจ้าหน้าที่ การกรรโชกในรูปแบบของการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ผิดกฎหมาย

>> การหาผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ หมายถึง เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะได้รับสิทธิพิเศษและ

ผลประโยชน์ผ่านตำแหน่งนั้น ด้วยตำแหน่งหน้าที่ทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งมีสิทธิได้รับค่าเช่าหรือการชำระเงินสำหรับกิจกรรมจริงหรือปลอม และองค์กรต่าง ๆ จะถูกเปลี่ยนจากสถานที่ทำงานเป็น ‘ธนาคารทรัพยากร’ ซึ่งบุคคลและกลุ่มต่าง ๆ แสวงหาผลประโยชน์ของตนเอง คอร์รัปชันนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางการเงิน แต่รวมถึงการแย่งชิงสิทธิพิเศษของทางการ การทำข้อตกลงลับ การอุปถัมภ์ การเล่นพรรคเล่นพวก การใช้เส้นสาย

ต้องขอบคุณอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียที่ทำให้ชาวเน็ตจีนยังคงเฝ้าติดตามการทุจริตต่อไป

ทรัมป์จ่อเลิกเอาผิดคนอเมริกันติดสินบนต่างชาติ อ้างช่วยธุรกิจอเมริกันแข่งเวทีโลก

(11 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ว่า เขามีแผนลงนามในคำสั่งบริหารที่กำหนดให้กระทรวงยุติธรรมหยุดการดำเนินคดีต่อชาวอเมริกันที่ถูกกล่าวหาว่าติดสินบนเจ้าหน้าที่ต่างชาติในการขยายธุรกิจในประเทศอื่นๆ โดยคำสั่งนี้มีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกำหนดให้บังคับใช้กฎหมายต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศ (FCPA) ปี 1977 อย่างมีความสมเหตุสมผล

กฎหมาย FCPA ถือว่าเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงหากมีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ต่างประเทศเพื่อขอรับประโยชน์ทางธุรกิจ รวมถึงการไม่มีกระบวนการบัญชีหรือระบบควบคุมภายในองค์กรที่ถูกต้อง ซึ่งถือเป็นการละเมิดทางอาญาที่สำคัญ

เอกสารที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า คำสั่งบริหารนี้จะให้แพม บอนดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมระงับการบังคับใช้กฎหมาย FCPA จนกว่าจะมีการทบทวนกรอบคำแนะนำการบังคับใช้กฎหมายเพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันของอเมริกา

ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายในการปกป้องบรรดาบริษัทสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย FCPA ที่เข้มงวดเกินไป ซึ่งทำให้บริษัทเหล่านี้ไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศอย่างเท่าเทียมกับคู่แข่งจากประเทศอื่น

คำสั่งนี้ยังอ้างถึงความสำคัญของการมีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ในแหล่งทรัพยากรสำคัญทั่วโลก เช่น แร่ธาตุ ท่าเรือน้ำลึก และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมความมั่นคงของสหรัฐฯ

ในปี 2024 กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย FCPA ใน 26 คดี และมีบริษัทอย่างน้อย 31 แห่งที่อยู่ภายใต้การสืบสวนจนถึงช่วงปลายปี

หรือประเทศไทยจะเป็น “แผ่นดินแห่งการคอร์รัปชัน” ไม่เว้นแม้แต่องค์กรที่เป็น “ผู้พิทักษ์ทรัพย์สินของแผ่นดิน”

(17 เม.ย. 68) มีผู้คนจำนวนมากพูดไปในทิศทางเดียวกันว่า ถ้าแผ่นดินไม่ไหวหนักเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา คนไทยทั้งประเทศก็จะไม่ทราบว่าตึก 30 ชั้นซึ่งเป็นที่ทำการใหม่ของ “สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน” ที่กำลังก่อสร้างอยู่ และได้ถล่มลงมาราบคาบในไม่กี่นาที มีความไม่ชอบมาพากลซุกซ่อนอยู่ในนั้นมากมาย  

เงินภาษีของประชาชนเกิน 2,000 ล้านบาท ลอยหายไปในอากาศพร้อมฝุ่นควันแห่งความสงสัย

ภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ คงไม่มีใครไปตั้งคำถาม แต่การที่ทั้งประเทศไทยกลับมีตึกใหญ่สร้างใหม่อยู่เพียงตึกเดียวล้มครืนลงมาทับผู้คนจนล้มตาย จึงเป็นเรื่องที่ชวนสงสัยถึงมาตรฐานการสร้าง เป็นไปได้อย่างไรที่การใช้งบประมาณมากมายขนาดนี้ ยังไร้คุณภาพ ที่สำคัญนี่คือตึกสำนักงานของ “นักตรวจสอบกลโกง” โดยตรง ถ้าสืบค้นลึกลงไปแล้วพบว่าเบื้องหลังมี “ผู้ใหญ่แห่ง สตง.” บางคนทุจริต หรือรู้เห็นเป็นใจกับผู้รับเหมาให้มีการลดสเปควัสดุในการสร้าง ตึกถล่มครั้งนี้ก็จะกลายเป็นตึกแห่งการโกงกินของ "ผู้พิทักษ์ทรัพย์สินของแผ่นดิน" เสียเอง

แม้ส่วนลึกจะไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น ก็ยากเหลือเกินที่จะหาคำตอบอื่นได้

แต่ไม่ว่าจะมีการโกงกินภายในหรือไม่ คนไทยตาดำ ๆ แบบเราก็ยากจะหวังพึ่งพิงองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบทั้งหน่วยงานเพื่อให้เกิดความโปร่งใสแห่งนี้ได้อีกต่อไป เพราะเห็นชัดว่าขาดความละเอียดรอบคอบในการใช้เงินภาษีของประชาชน

หลังตึกถล่มนอกจากจะช้าเป็นเต่าในการออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต ยังเต็มไปด้วยคำพูดที่ฟอกตนเอง หนีปัญหา และไร้คำขอโทษใด ๆ ทำราวกับว่าประชาชนคนไทยรับประทานหญ้าเป็นอาหาร การที่บอกไม่รู้ ไม่เห็น ก็เท่ากับเป็นการสะท้อนคุณภาพ ศักยภาพ นิสัย และตัวตนของ "ผู้ใหญ่แห่ง สตง." อย่างหมดเปลือก

ผมเชื่อว่า "คน สตง." ระดับอื่นมีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพ มีอุดมการณ์ มีมาตรฐานในการทำงานตรวจสอบที่สูง คนเหล่านี้จะพลอยเสียหายและหมดกำลังใจจากคำพูดของ "ผู้ใหญ่แห่ง สตง." ไม่กี่คน ช่างไม่แฟร์กับคนเหล่านี้เลย

คนระดับ "หัวหน้าขององค์กรอิสระของชาติ" ที่ประชาชนจะฝากชีวิตและความหวังไว้ กลับชักช้า ตื้นเขิน ไร้ความกล้าหาญ และจริงใจ ท่านหาอาชีพอื่นทำเถอะครับ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top