Tuesday, 29 April 2025
คอมมิวนิสต์

สี จิ้นผิงเชือดคนสนิท! เชื่อคลื่นใต้น้ำพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีอยู่จริง! | THE STATES TIMES Y WORLD EP.5

เปิดแผลมังกร!! 'สี จิ้นผิง' เชือด 2 คนสนิท
สะท้อนให้เห็นว่า 'คลื่นใต้น้ำ' ในพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นมีอยู่จริง!!

ติดตามสาระดีๆ ได้ใน THE STATES TIMES Y WORLD
ใครที่สนใจเรื่องใดเป็นพิเศษ อยากให้เรานำมาเล่าก็คอมเมนต์ไว้ใต้คลิปกันได้เลย!

ครั้งหนึ่ง 'โรบินฮู้ด' ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะวีรกรรมปล้นคนรวยมาแจกคนจนดันถูกใจพี่หมี

เชื่อไหมว่าประเทศที่เปี่ยมไปด้วยเสรีภาพทุกตารางนิ้วอย่างอเมริกา ชี้หน้ากล่าวหาตัวละครอย่างโรบินฮู้ดว่าเป็น 'คอมมิวนิสต์'  

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เพราะมีการประกาศ 'แบน' หนังสือโรบินฮู้ดอย่างเป็นทางการทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในรัฐอินเดียน่าเลยทีเดียว

ย้อนความ...สาเหตุที่ทำให้โรบินฮู้ดและสหายโด่งดัง ก็เพราะพฤติกรรมปล้นคนรวยเอามาแจกคนจน ทำให้หลายคนสงสัยว่าโรบินฮู้ดมีตัวตนจริง หรือเป็นแค่เรื่องเล่า     

โดยต้นเรื่องนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 12-14 คืออาจจะเป็นใครก็ได้ในช่วงนั้น ส่วนป่าเชอร์วู้ดอันเป็นพำนักพักอาศัยของโรบินฮู้ดและผองเพื่อนมีอยู่จริง  

(ป่าเชอร์วู้ดมีพื้นที่ 32 กิโลเมตรในมณฑลนอตติงแฮมเชียร์ พื้นที่เป็นทุ่งราบและป่าทึบ สมัยก่อนพื้นที่ทุกตารางนิ้วในป่าเชอร์วู้ดเป็นพื้นที่ป่าสงวนให้กษัตริย์และราชวงศ์ใช้ล่าสัตว์)

ทีนี้ทำไมอยู่ ๆ โรบินฮู้ดถึงถูกอเมริกากล่าวหาว่าเป็นคอมมี่ไปได้?

นั่นก็เพราะสืบเนื่องมาจากวีรกรรมของโรบินฮู้ดเป็นถูกอกถูกใจพี่หมีขาวโซเวียต ในยุคที่ลัทธิคอมมิวนิสต์ขยายตัวไปบางส่วนของโลกหรือยุคสงครามเย็น เลยยกโรบินฮู้ดให้เป็นวีรบุรุษต้นแบบของระบอบคอมมิวนิสต์ จนนำไปเป็นตัวเอกในหนังชวนเชื่อยุค 1970s - 1980s   

พอพี่หมีขาวรัสเซียเนียนเอาโรบินฮู้ดมาเป็นตัวเอกในหนังโฆษณาชวนเชื่อก็เป็นเรื่อง อเมริกาพ่อทุกสถาบันเห็นเข้าก็ตัวสั่นเร่า ประกาศแบนทันที และรัฐที่ประกาศปังดังลั่นคือ รัฐอินเดียน่า 

ในปี 1953 คณะกรรมการหนังสือเรียนของรัฐอินเดียน่าออกคำสั่ง 'แบน' หนังสือโรบินฮู้ดทุกเล่มทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วทั้งรัฐ โดยให้เหตุผลว่า พฤติกรรมของโรบินฮู้ดที่ปล้นคนรวยไปช่วยคนจนนั้น ดูแล้วมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ที่มุ่งยึดทรัพย์สินและบ้านช่องนายทุนเอามาให้ชนชั้นกรรมาชีพ โถ..ลูกอีช่างโยง

คงต้องขอเล่าประวัติศาสตร์อเมริกาช่วงสงครามเย็นให้ฟัง แล้วจะเห็นภาพว่าทำไม?...ทำไมรัฐอินเดียน่าถึงกล่าวหาโรบินฮู้ดแบบนี้

อเมริกาขับเคี่ยวกับทั้งพี่หมีขาวและพญามังกรจีนอย่างถึงพริกถึงขิงในยุคสงครามเย็น เป็นการต่อสู้กันระหว่างสองค่ายการปกครองระหว่างเสรีประชาธิปไตยกับลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งลุงแซมต่อต้านอย่างสุดตัวสุดตีน จนเข้าข่ายบ้าคลั่งในบางครั้ง

ช่วงสงครามเย็นที่ว่านี่แหละเกิดการล่าแม่มด โดยกล่าวหาว่าคนนั้นคนนี้มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เรียกว่าใครเกลียดใครหรืออยากล้างแค้นใคร แค่บอกทางการว่าไอ้นั่นอีนี่เป็นคอมมิวนิสต์รับรองถูกลากไปสอบสวนหมด เลยโดนกันทั่วหน้า ไม่ว่าเป็นนักการทูต นักเขียน กองทัพ รวมไปถึงบุคลากรในวงการภาพยนตร์

กลุ่มสุดท้ายนี่ถูกล่าอย่างหนัก เพราะคณะกรรมการของรัฐสภายุคนั้นเชื่อว่า ผู้กำกับหรือผู้สร้างหนัง สามารถชี้นำมวลชนให้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ผ่านทางภาพยนตร์เพื่อล้างสมอง หลายคนถูกสอบสวนอย่างหนัก ถูกขึ้นบัญชีดำ หรือถูกบีบให้คายชื่อเพื่อนหรือคนรู้จักที่เข้าข่ายเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งบางก็เอาตัวรอดด้วยการซัดทอดคนบริสุทธิ์

โดยจุดเริ่มต้นของการล่าแม่มดคอมมิวนิสต์มาจาก ลัทธิแม็คคาร์ธี (McCarthyism) ที่มาจากชื่อวุฒิสมาชิกโจเซฟ แม็คคาร์ธี แห่งพรรครีพับลิกัน ซึ่งอีตาแม็คคาร์ธีนี่ขวาจัดแบบชนิดที่เรียกว่าสุดโต่ง เกลียดคอมมิวนิสต์ชนิดสุดติ่งทิงนองนอย เลยกลายเป็นไล่ล่ากวาดล้างบรรดาคนที่มีแนวโน้มจะเป็นคอมมิวนิสต์ในอเมริกา

ช่วงนั้นทุกคนโดนไล่ล่าไม่เว้น แม้กระทั่งประธานาธิบดีเฮนรี เอส. ทรูแมน ยังโดนแม็คคาร์ธีกล่าวหาว่า อ่อนข้อให้กับพวกคอมมิวนิสต์และปกป้องสายลับโซเวียต 

ย้อนอดีต!! ‘มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช’ นายกฯ ของไทย เดินทางไปเยือนประเทศจีน ลั่น!! เลื่อมใส ‘ประธานเหมา’ ข้าพเจ้ามิใช่คอมมิวนิสต์ แต่ข้าพเจ้ามาหาเพื่อน

(2 มี.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Nitipat Bhandhumachinda’ โพสต์ข้อความระบุว่า ...

๕๘ นาที ที่พลิกประวัติศาสตร์

จากเหตุการณ์ที่ปรากฏแก่สายตาชาวโลกเมื่อวานนี้ ทำให้ผมระลึกถึงเรื่องหนึ่งซึ่งเคยเป็นเรื่องที่คอขาดบาดตายมากๆสำหรับผมในวัยเด็ก คือตอนนั้นประเทศเพื่อนบ้านเราฝั่งตะวันออกทั้งแถบเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ อีกทั้งสหรัฐฯซึ่งเคยเป็นกำลังหลักในการต่อต้านลัทธิดังกล่าวในภูมิภาคนี้ ก็เปลี่ยนนโยบายของตน โดยลดและถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ ซึ่งก็ทำให้ประเทศไทยสุ่มเสี่ยงต่อการรุกรานจากประเทศเพื่อนบ้านและกองกำลังคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยเองอย่างที่สุด

ซึ่งวิกฤติดังกล่าวก็ได้สร้างวีรบุรุษที่คนสมัยนี้อาจจำกันไม่ได้หรือไม่เคยได้รับรู้มาก่อน

นั่นคือการหาญกล้าของนายกฯไทยที่ได้กัดฟันเดินทางไปสร้างสานสัมพันธ์กับเจ้าลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มีอิทธิพลสูงสุดในย่านนี้ด้วยตนเอง หลังจากที่มีการประสานงานอย่างแข็งขันผ่านนโยบายทางการทูต ในวันที่ ๓๐ มิถุนายน พศ. ๒๕๑๘ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกฯของไทยสมัยนั้นและคณะ ก็เดินทางไปเยือนประเทศจีน ซึ่งเป็นการไปเยือนของผู้นำไทยเป็นครั้งแรกหลังจากที่จีนเปลี่ยนการปกครอง ในตอนนั้นท่านโจวเอินไหล นายกฯของจีนเองก็กำลังป่วยหนัก แต่ก็ฝืนความเจ็บป่วยมาต้อนรับและร่วมลงนามแถลงการณ์ร่วม สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับไทยอย่างเป็นทางการ

แต่ทุกๆคนก็ย่อมทราบดีว่าความสำคัญที่สุดก็ยังอยู่ที่ว่าท่านเหมา ประธานใหญ่จะมีท่าทีกับความสัมพันธ์นี้อย่างไร และตอนคณะของไทยเดินทางไปนั้น ก็ไม่ได้มีกำหนดวันเวลาชัดเจนว่า จะได้พบกับท่านเหมาเมื่อไหร่
ซึ่งขณะที่ท่านคึกฤทธิ์และคณะกำลังพบปะชาวเผ่าต่างๆในวันที่ ๒ กรกฎาคมอยู่ดีๆ ก็มีรถคันหนึ่งพุ่งปรู๊ดเข้ามาแล้วบอกว่า ได้เวลาไปพบท่านประธานฯแล้ว

ท่านคึกฤทธิ์ซึ่งตอนนั้นแต่งตัวลำลองก็วิ่งหน้าตื่นกลับไปแต่งตัวใหม่ใส่สูทให้สุภาพ แล้วก็เดินทางอย่างรีบร้อนไปที่นัดพบอย่างรวดเร็ว เมือ่ไปถึงนั้น ท่านก็พบท่านประธานเหมาซึ่ง เป็นชายร่างใหญ่ยืนตะหง่านอยู่ และเมื่อท่านประธานเห็นท่านก็เปล่งเสียงดังคล้ายให้ท่านเดินเข้าไปหา ตอนนั้นล่ามก็ยังมาไม่ถึง ท่านนายกฯเราก็หันไปหาคุณชาติชาย ชุณหะวัณ รมว. ต่างประเทศ ว่าเอาไงดี คุณชาติชายก็บอกว่าเดินเข้าไปเลยครับ ท่านคึกฤทธิ์เล่าในภายหลังว่าเมื่อไปยืนใกล้ๆ ท่านประธานฯก็จับมือมาเขย่าแรงๆและพูดเสียงดังๆ ที่ท่านคึกฤทธิ์เล่าว่า คล้ายเสียงเสือคำราม เมื่อล่ามวิ่งหน้าตั้งเข้ามาแล้ว ท่านคึกฤทธิ์ก็ได้รับเชิญให้ไปนั่งข้างๆท่านประธานฯ ซึ่งท่านคึกฤทธิ์ก็เล่าว่าท่านก็นั่งที่ขอบเก้าอี้และประสานมืออย่างนอบน้อม ซึ่งท่านประธานเห็นก็แสดงสีหน้าชื่นชมพอใจ

การสนทนานั้นก็มีความน่าสนใจหลายอย่าง เช่นท่านประธานก็ถามเปิดการสนทนากันตรงๆว่า "ท่านนายกฯ มาหาคอมมิวนิสต์อย่างข้าพเจ้า ไม่รู้สึกกลัวหรือ”

ซึ่งท่านคึกฤทธิ์ก็ตอบได้อย่างชาญฉลาดว่า "“หามิได้ ข้าพเจ้าเลื่อมใสท่านประธานเหมามานานแล้ว ข้าพเจ้ามิใช่คอมมิวนิสต์ แต่ข้าพเจ้ามาหาเพื่อน" และท่านประธานเหมาก็เอ่ยขำๆว่าท่านเป็นผู้ร้ายหมายเลขหนึ่งของโลกเชียวนะ และก็พูดสนทนากันไปเรื่อยๆ ท่านก็บ่นว่านี่ก็ป่วยกระเสาะกระแสะ คงจะใกล้ตายเข้าไปทุกวันแล้ว

ท่านคึกฤทธิ์ก็ตอบขำๆกลับไปว่า "ท่านยังตายไม่ได้นะครับ เพราะโลกยังต้องการผู้ร้ายหมายเลขหนึ่งอยู่"

ซึ่งก็ทำให้ท่านประธานปล่อยก๊ากออกมา สร้างความเฮฮา และชื่นมื่นกันแบบถูกปากถูกคอเป็นที่สุด

ในประเด็นคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่สุดนั้น ท่านประธานก็ให้ข้อคิดไว้ว่า จะปราบปรามลัทธิในประเทศไทย ก็ต้องทำให้ชาวบ้านชาวเมืองเขามีกินมีใช้ อย่าไปกลัวเล คอมมิวนิสต์ จริงๆก็มีไม่กี่คนหรอก ก็ดูซิ ท่านเป็นประธานคอมมิวนิสต์มาตั้งกี่สิบปี ยังไม่เคยเห็นคอมมิวนิสต์ไทย คนไหนมาแสดงความเคารพท่านสักคนเลย ซึ่งท่านคึกฤทธิ์ก็ตอบกลับไปขำๆอีกว่า "ท่านประธานฯอยากพบเจอไหม ผมจะส่งมาให้พบท่านทีละสี่คนเลย" ปรกติท่านประธานเหมาจะใช้เวลาในการพบปะใครสั้นมากๆ แต่ท่านใช้เวลาสนทนาอย่างสนุกสนานอยู่กับท่านคึกฤทธิ์นานกว่าการเจรจากับใครๆ คือใช้เวลาคุยไปหัวเราะไปกันได้ตั้ง ๕๘ นาที

และการพบปะครั้งประวัติศาสตร์นั้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นของสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองประเทศ เป็นการลดแรงกดดันมหาศาลจากการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย เปลี่ยนแปลงโชคชะตาของประเทศ

และยุติการเสียเลือดเนื้อจากการฆ่าฟันกันเองของคนไทยได้ในที่สุด

ก็อย่างที่บอกนะครับ ผมคงไม่วิจารณ์การพบปะกันของผู้นำประเทศไหนๆที่ใดทั้งนั้น แต่ก็อยากจะเล่าว่า ในประวัติศาสตร์ของชาติเรานั้น มีอัศจรรย์ที่จะมีวีรบุรุษโผล่ขึ้นมาในหน้าประวัติศาสตร์ อย่างพอเหมาะพอดีต่อทุกสถานการณ์ได้ทุกครั้ง

จริงๆนะครับ

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#15 ปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ที่สุด ในสงครามเวียตนาม

การรุกตรุษญวน (Tet Offensive) เป็นปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในสงครามเวียตนาม เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 30 มกราคม 1968 โดยกองกำลังเวียตกง (VC) และกองทัพประชาชนเวียตนามเหนือ (PAVN) กับกองกำลังเวียตนามใต้ สหรัฐอเมริกา และพันธมิตร เป็นการรบแบบการจู่โจมต่อที่ตั้งของกองบัญชาการทหารและพลเรือน ตลอดจนศูนย์ควบคุมและสั่งการทั่วประเทศเวียตนามใต้ การรุกนี้ได้ชื่อจากวันหยุดตรุษญวน (Tết) ด้วยกำลังผสมของกองกำลังเวียตกงและกองทัพประชาชนเวียตนามเหนือประมาณ 5 แสนนาย เปิดฉากการบุกโจมตีพร้อมกันหลาย ๆ จุดในหลาย ๆ เมืองของเวียตนามใต้ จนเป็นการสู้รบที่ดุเดือดต่อเนื่องยาวนานหลายเดือนไปจนถึงวันที่ 23 กันยายน 1968

ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้มีการตระเตรียมกำลังพลถึง 1 ใน 3 (กว่าสี่แสนนาย) ของกองทัพประชาชนเวียตนามเหนือ (PAVN) และระดมกำลังพลของเวียตกงอีกประมาณ 70,000 คน โดยผู้บัญชาการทหารของฝ่ายเวียตนามเหนือ พลเอกโวเหงียนเกี๊ยบได้เลือกเอาวันที่ 31 มกราคม ซึ่งเป็นวันปีใหม่ในปฏิทินจันทรคติของชาวเวียตนามเป็นการเปิดฉากจู่โจมในครั้งดังกล่าว โดยพลเอกเกี๊ยบได้วาดหวังผลทางยุทธศาสตร์เอาไว้ว่า การบุกจู่โจมดังกล่าวจะสามารถพิชิตกองทัพของฝ่ายเวียตนามใต้ (ARVN : Army of the Republic of Vietnam) ลงได้ ทั้งยังจะสามารถสร้างความวุ่นวายและปลุกปั่นกระแสต่อต้านรัฐบาลเวียตนามใต้ได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เขายังต้องการที่จะกระตุ้นตอกย้ำรอยร้าวของความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงระหว่างรัฐบาลเวียตนามใต้กับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อให้สหรัฐฯ หาทางเจรจาและต้องถอนกำลังทหารออกไปจากเวียตนามใต้

ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ทำการโจมตีเป็นระลอกในกลางดึกของวันที่ 30 มกราคมในเขตยุทธวิธีที่ 1 และที่ 2 ของกองทัพเวียตนามใต้ การโจมตีช่วงแรกนี้ไม่นำไปสู่มาตรการป้องกันอย่างกว้างขวาง เมื่อปฏิบัติการหลักของคอมมิวนิสต์เริ่มในเช้าวันรุ่งขึ้น การรุกก็ลามไปทั่วประเทศและมีการประสานงานอย่างดี จนสุดท้ายมีกำลังคอมมิวนิสต์กว่า 80,000 นายเปิดฉากโจมตีเมืองต่าง ๆ กว่า 100 แห่ง ซึ่งรวมเมืองหลักของ 36 จาก 44 จังหวัด เขตปกครองตนเอง 5 จาก 6 แห่ง เมืองรอง 72 จาก 245 แห่ง และกรุงไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียตนามใต้ ในเวลานั้น การโจมตีครั้งนี้เป็นปฏิบัติการทางทหารใหญ่ที่สุดของทั้งสองฝ่าย การโจมตีในระยะแรกทำให้กองทัพสหรัฐฯ และเวียตนามใต้สับสนจนเสียการควบคุมในหลายเมือไปชั่วคราว แต่ที่สุดก็สามารถจัดกำลังใหม่จนสามารถต่อต้านการโจมตีและตีโต้จนฝ่ายคอมมิวนิสต์ต้องล่าถอยกลับไป 

แผนการบุกจู่โจมของฝ่ายคอมมิวนิสต์เริ่มขึ้นตรงตามที่ได้มีการวางวางแผนไว้ ในกรุงไซง่อนซึ่งเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐเวียตนาม ที่มั่นของฝ่ายรัฐบาลเวียตนามใต้ เช่น สถานทูตสหรัฐฯ ถูกก่อวินาศกรรมโดยหน่วยกล้าตายเวียตกงประมาณ 19 นาย หน่วยจู่โจมดังกล่าวปะทะกับทหารเวียตนามใต้และสหรัฐฯ และสามารถยึดที่มั่นสำคัญของฝ่ายเวียตนามใต้แห่งนี้ได้นานถึง 6 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกกราดยิงจากเฮลิคอปเตอร์ของฝ่ายเวียตนามใต้และสหรัฐฯ จนเสียชีวิตหมด หน่วยกล้าตายเวียตกงอีกหน่วยสามารถบุกไปยังทำเนียบประธานาธิบดี สถานีวิทยุ ศูนย์กลางกองทัพเรือ กองพลทหารพลร่ม ศูนย์กลางตำรวจ รวมถึงคลังน้ำมันที่ 4, 5. 6, 7, 8 ในกรุงไซง่อน ความสำเร็จในการบุกจู่โจมกรุงไซง่อนของเวียตกงได้แสดงให้ถึงสถานการณ์ที่แท้จริงของสงครามว่า ฝ่ายคอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำอย่างที่ทางรัฐบาลสหรัฐฯ เคยบอกตลอดมา นอกจากนี้ความจริงดังกล่าวยังเป็นการทำลายขวัญกำลังใจของทหารอเมริกัน ในวันเดียวกันของการเริ่มปฏิบัติการที่เมืองเว้ ฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถบุกยึดเมืองดังกล่าวได้สำเร็จ และปล่อยนักโทษที่ถูกฝ่ายตรงข้ามคุมขังให้เป็นอิสระได้ถึง 2,000 คน

ในกรุงไซง่อนการขับไล่กองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ของทหารเวียตนามใต้และอเมริกันเป็นไปด้วยความยากลำบาก หน่วยจู่โจมฝ่ายคอมมิวนิสต์แทรกซึมอยู่ทั่วกรุงไซง่อนมาหลายสัปดาห์แล้ว อาศัยเสบียงที่พอจะประทังชีวิตได้ รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ กองทัพอเมริกันได้โต้กลับด้วยวิธีการที่รุนแรงด้วยการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดและปืนใหญ่เข้าทำลายพื้นที่ทั้งหมดในทั้งกรุงไซง่อนและพื้นที่อื่น ๆ ที่มีกำลังของฝ่ายคอมมิวนิสต์อยู่ ระหว่างยุทธการที่เมืองเว้มีการสู้รบอย่างดุเดือดกินเวลาถึงหนึ่งเดือน ทำให้กองกำลังสหรัฐต้องทำลายเมืองเว้จนเสียหายอย่างหนัก และระหว่างการยึดครองเมืองเว้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ได้ประหารชีวิตประชาชนหลายพันคน (เหตุการณ์การสังหารหมู่ที่เมืองเว้) 

ขณะเดียวกัน ยังมีการสู้รบบริเวณรอบ ๆ ฐานทัพสหรัฐฯ ที่เคซานต่อมาอีกสองเดือน แม้ว่าปฏิบัติการจู่โจมดังกล่าวจะไม่ได้ประสบกับความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ ทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ต้องสูญเสียกำลังพลมหาศาล และถือเป็นความพ่ายแพ้ทางทหารสำหรับฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่กลับสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อรัฐบาลสหรัฐฯ เพราะทำให้สาธารณชนชาวอเมริกันต้องตกตะลึงจากความเชื่อซึ่งถูกผู้นำทางการเมืองและการทหารบอกว่า ฝ่ายคอมมิวนิสต์กำลังปราชัย และไม่สามารถดำเนินความพยายามขนาดมโหฬารเช่นนี้ได้ การสนับสนุนสงครามของสาธารณชนชาวอเมริกันจึงลดลงเรื่อย ๆ และในที่สุดสหรัฐฯ ต้องแสวงหาการเจรจาเพื่อยุติสงคราม

การรุกในวันตรุษญวนทำให้ทหารของกองทัพประชาชนเวียตนามเหนือ (PAVN) และเวียตกง (VC) เสียชีวิตกว่า 1 แสนนาย ทหารของกองทัพสหรัฐฯ เวียตนามใต้ และพันธมิตรเสียชีวิตกว่า 10,000 นาย เหตุการณ์นี้กองกำลังทหารไทยในเวียตนามใต้ได้มีส่วนร่วมในการสู้รบด้วย แม้ว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์จะได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่การรุกในวันตรุษญวนส่งผลในทางจิตวิทยาเป็นอย่างมาก โดยเป็นการแสดงศักยภาพด้านการทหารของฝ่ายคอมมิวนิสต์ เป็นการจุดกระแสต่อต้านสงครามเวียตนามในสหรัฐฯ จนติด และนำไปสู่การถอนทหารสหรัฐฯ จากเวียตนามใต้ และที่สุดนำไปการล่มสลายของเวียตนามใต้ (สาธารณรัฐเวียตนาม) ในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ.1975

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#17 สหรัฐฯ ถอนทหารออกจาก เวียตนามใต้

หลังจากให้ความช่วยเหลือทางการทหารทางอ้อมโดยรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นเวลาสองทศวรรษ ในปี 1961 ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี แห่งสหรัฐฯ ได้ตัดสินส่งกำลังทหารสหรัฐฯ จำนวนมากชุดแรกในฐานะ “ที่ปรึกษาทางทหาร” ไปสนับสนุนระบอบเผด็จการที่ไร้ประสิทธิภาพของเวียตนามใต้ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์เหนือ สามปีต่อมา เมื่อรัฐบาลเวียตนามใต้ล่มสลาย ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสันจึงสั่งโจมตีเวียตนามเหนือด้วยการทิ้งระเบิดในจำนวนจำกัด หลังจากรัฐสภาสหรัฐฯ อนุมัติการใช้กำลังทหารโดย “มติอ่าวตังเกี๋ย” ในปี 1965 การรุกคืบของเวียตนามเหนือทำให้ประธานาธิบดีจอห์นสันต้องเลือกระหว่างเพิ่มจำนวนทหารสหรัฐฯ หรือถอนทัพ ประธานาธิบดีจอห์นสันตัดสินใจเลือกสั่งอย่างแรก และในไม่ช้าจำนวนกำลังทหารสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 300,000 นาย แล้วกองทัพอากาศสหรัฐฯ เริ่มต้นปฏิบัติการทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ในช่วงไม่กี่ปีต่อมา สงครามเวียตนามที่ยาวนาน ทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และการเปิดเผยการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในอาชญากรรมสงคราม เช่น การสังหารหมู่ที่หมู่บ้านไมไล จึงทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากออกมาประท้วงต่อต้านสงครามเวียตนาม กอปรกับการรุกช่วงเทศกาลตรุษญวนของฝ่านคอมมิวนิสต์ในปี 1968 ทำลายความหวังของสหรัฐฯ ที่จะยุติความขัดแย้งโดยเร็ววัน และกระตุ้นให้ชาวอเมริกันจำนวนมากต่อต้านสงคราม คะแนนนิยมของประธานาธิบดีจอห์นสันลดลงจาก 48% เหลือเพียง 36% เพื่อเป็นการตอบสนองมติมหาชน ประธานาธิบดีจอห์นสันได้ประกาศในเดือนมีนาคม 1968 ว่าเขาจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีก โดยอ้างถึงสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นความรับผิดชอบของเขาในการสร้างความแตกแยกในระดับชาติอันน่ากลัวเกี่ยวกับเวียตนาม นอกจากนี้ เขายังอนุมัติให้เริ่มการเจรจาสันติภาพอีกด้วย 

ในฤดูใบไม้ผลิของปี 1969 ขณะที่การประท้วงต่อต้านสงครามทวีความรุนแรงขึ้นในสหรัฐฯ กำลังทหารของสหรัฐฯ ในเวียตนามใต้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามแห่งนี้ถึงจุดสูงสุดที่เกือบ 550,000 นาย ริชาร์ด นิกสันประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จึงเริ่มสั่งให้มีการถอนทหาร และ “ทำให้เวียตนามเป็นเวียตนาม”  ในความพยายามทำสงครามในปีนั้น แต่เขากลับเพิ่มการทิ้งระเบิด การถอนทหารจำนวนมากของสหรัฐฯ ยังคงดำเนินต่อไปในช่วงต้นทศวรรษ 1970 เมื่อประธานาธิบดีนิกสันขยายการปฏิบัติการทางอากาศและทางบกเข้าไปในกัมพูชาและลาวเพื่อพยายามปิดกั้นเส้นทางส่งกำลังบำรุงของคอมมิวนิสต์ตามแนวชายแดนเวียตนาม การขยายสงครามครั้งนี้ให้ผลเชิงบวกเพียงเล็กน้อย แต่กลับนำไปสู่การประท้วงระลอกใหม่ในสหรัฐอเมริกาและที่อื่น ๆ

ในที่สุด ในเดือนมกราคม 1973 ผู้แทนของสหรัฐฯ เวียตนามใต้ เวียตนามเหนือ และเวียตกงได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพที่กรุงปารีส ยุติการมีส่วนร่วมทางทหารโดยตรงของสหรัฐฯ ในสงครามเวียตนาม สานะสำคัญ ได้แก่ การหยุดยิงทั่วทั้งเวียตนาม การถอนกำลังทหารของสหรัฐฯ การปล่อยเชลยศึก และการรวมเวียตนามเหนือและใต้เข้าด้วยกันโดยสันติวิธี รัฐบาลเวียตนามใต้จะคงอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ และกองกำลังของเวียตนามเหนือในเวียตนามใต้จะต้องไม่รุกคืบต่อไปหรือได้รับการเสริมกำลังอีก การยุติสงครามทำให้สหรัฐฯ สามารถถอนตัวออกจากสงคราม และนำเชลยศึกชาวอเมริกันกลับบ้าน ประธานาธิบดีนิกสันได้รับรับรองว่าจะให้การสนับสนุนเวียตนามใต้ข้อตกลงผ่านจดหมายทางการทูตหลายฉบับในกรณีที่เวียตนามเหนือละเมิดข้อตกลง

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงท่าทีเพื่อรักษาน้ำใจของรัฐบาลสหรัฐฯ เท่านั้น ก่อนที่กองทหารสหรัฐฯ ชุดสุดท้ายจะออกเดินทางในวันที่ 29 มีนาคม ฝ่ายเวียตนามทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว โดยเวียตนามเหนือได้ละเมิดข้อตกลงหยุดยิงจึงทำให้สงครามยังคงดำเนินต่อไป และในช่วงต้นปี 1974 สงครามเต็มรูปแบบก็ได้กลับมาปะทุอีกครั้ง ช่วงปลายปี 1974 ทางการเวียตนามใต้รายงานว่าทหารและพลเรือนของตนเสียชีวิตจากการสู้รบถึง 80,000 นาย ทำให้เป็นปีที่สูญเสียมากที่สุดในสงครามเวียตนาม

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 1973 หน่วยทหาร สหรัฐฯ ชุดสุดท้าย ออกจากเวียตนามเมื่อถึงเวลานั้น ฝ่ายคอมมิวนิสต์และเวียตนามใต้ได้เปิดฉากสงครามที่นักข่าวเรียกกันว่า "สงครามหลังสงคราม" โดยทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าอีกฝ่ายละเมิดข้อตกลงสันติภาพอย่างต่อเนื่องสหรัฐฯ ยังคงดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่เวียตนามใต้อย่างเต็มที่ แต่ความสามารถในการมีบทบาทต่อเหตุการณ์ในเวียตนามของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกจำกัดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่สถานะส่วนตัวของประธานาธิบดีนิกสันพังทลายลงจากการเปิดเผยกรณี “วอเตอร์เกต” ทำให้รัฐสภาสหรัฐฯ เคลื่อนไหวเพื่อขัดขวางความเป็นไปได้ใด ๆ ของการดำเนินการทางทหารเพิ่มเติมในเวียตนาม ในช่วงฤดูร้อนของปี 1973 รัฐสภาฯ ได้ผ่านมาตรการห้ามปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในหรือเหนืออินโดจีนหลังจากวันที่ 15 สิงหาคม รัฐสภาฯ ได้ดำเนินการอีกขั้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน 1973 เมื่อเพิกถอนการยับยั้งของประธานาธิบดีนิกสันในการผ่านรัฐบัญญัติอำนาจสงคราม ซึ่งตามทฤษฎีแล้วกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ประธานาธิบดีต้องหารือกับรัฐสภาก่อนที่จะส่งกองกำลังสหรัฐฯ ไปประจำการนอกสหรัฐฯ

วันที่ 30 เมษายน 1975 ชาวอเมริกันกลุ่มสุดท้ายที่ยังอยู่ในเวียตนามใต้ถูกเคลื่อนย้ายออกจากประเทศโดยเฮลิคอปเตอร์ในขณะที่กรุงไซง่อนถูกกองกำลังคอมมิวนิสต์ยึดครองได้สำเร็จ พันเอกบุ้ยตินแห่งเวียตนามเหนือ ซึ่งยอมรับการยอมแพ้ของเวียตนามใต้ในเวลาต่อมา กล่าวว่า “คุณไม่ต้องกลัวอะไรเลย ระหว่างเวียตนามไม่มีผู้ชนะและพ่ายแพ้ มีแต่ชาวอเมริกันเท่านั้นที่พ่ายแพ้” สงครามเวียตนามเป็นสงครามต่างประเทศที่ยาวนานที่สุดและไม่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิต 58,000 ราย ทหารและพลเรือนเวียตนามทั้งเหนือและใต้เสียชีวิตมากถึง 2 ล้านคน

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียตนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#18 ‘ซวนล็อก’ สมรภูมิสุดท้ายของ ‘กองทัพเวียตนามใต้’

เมื่อสงครามเวียตนามใกล้จะสิ้นสุดมีการรบที่ดุเดือดที่สุด แต่แทบจะไม่มีการกล่าวถึงเลย ด้วยหลังจากการรบครั้งนั้น 9 วัน เวียตนามใต้ก็ล่มสลายเมื่อกองกำลังเวียตนามเหนือและเวียตกงเข้ายึดครองกรุงไซ่ง่อนได้สำเร็จ “สมรภูมิซวนล็อก (Battle of Xuân Lộc)” เป็นการสู้รบใหญ่ครั้งสุดท้ายในสงครามเวียตนาม โดยตั้งแต่ต้นปี 1975 กองทัพประชาชนเวียตนาม (PAVN) ได้ปฏิบัติการกวาดล้างกองกำลังเวียตนามใต้ (Army of the Republic of Vietnam : ARVN) ในจังหวัดทางตอนเหนือของเวียตนามใต้บริเวณที่ราบสูงตอนกลาง ทำให้กองพลที่ 2 ของกองทัพบกเวียตนามใต้ถูกทำลายอย่างย่อยยับในขณะที่พยายามเคลื่อนพลไปยังพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง การรบที่เมืองเว้และดานัง กองกำลังเวียตนามใต้นั้นละลายโดยแทบจะไม่มีการต่อต้าน ความพ่ายแพ้อย่างหนักของกองทัพบกแห่งสาธารณรัฐเวียดนาม (ARVN) ทำให้สมัชชาแห่งชาติเวียดนามใต้ตั้งกระทู้ถามกับประธานาธิบดีเหงียนวันเทียวถึงกรณีดังกล่าวจนทำให้ประธานาธิบดีเหงียนวันเทียวต้องลาออกจากตำแหน่ง

หลังจากการล่มสลายของกองพลที่ 1 และ 2 ของกองทัพบกเวียตนามใต้ กองทัพปลดปล่อยเวียตนาได้เคลื่อนพลเข้าสู่กรุงไซง่อน โดยมีกองพลทหารราบที่ได้รับการเสริมกำลังอย่างหนักจำนวน 15 กองพล โดยกองพล 3 กองพลได้เข้าโจมตีเมือง “ซวนล็อก” ซึ่งอยู่ห่างจากไซง่อนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือบนทางหลวงหมายเลข 1 ประมาณ 30 ไมล์ กองกำลังเวียตนามใต้เคลื่อนกำลังที่เหลือเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกองพลทหารราบที่ 18 ภายใต้พลจัตวา Lê Minh Đảo เพื่อป้องกันเมือง "ซวนล็อก" อันเป็นสี่แยกยุทธศาสตร์ ด้วยหวังที่จะชะลอการบุกของกองทัพประชาชนเวียตนาม การสู้รบครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ถึง 21 เมษายน 1975 และจบลงเมื่อกองทัพประชาชนเวียตนามสามารถยึดครองเมืองนี้ โดยกำลังพลจากกองทัพน้อยที่ 4 นำโดยพลตรี Hoàng Cầm เมือง "ซวนล็อก" ถือเป็นแนวป้องกันด่านสุดท้ายของกองทัพภาคที่ 3 ของเวียตนามใต้ให้การคุ้มกันแนวรบทางตะวันออกของกรุงไซ่ง่อนเมืองหลวงของเวียตนามใต้ ด้วยเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อเมือง Bình Dương ฐานทัพอากาศ Bien Hoa, เมือง VũngTàu, เมือง Long An และ เมือง lynchpin อันมีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง "ซวนล็อก" ซึ่งกำลังทหารเวียตนามใต้ได้ร่วมกันในความพยายามทำหน้าที่ครั้งสุดท้ายเพื่อป้องกันกรุงไซ่ง่อนและปกป้องเวียดนามใต้ ประธานาธิบดีเหงียนวันเทียวได้สั่งให้กองพลทหารราบที่ 18 รักษาเมือง "ซวนล็อก" ให้ได้ด้วยทุกวิธี 

กองกำลังเวียตนามใต้ทำการป้องกันกรุงไซ่ง่อน โดยครอบคลุมถนนสายหลักทั้ง 5 ที่นำไปสู่กรุงไซ่ง่อน ทางตอนเหนือของไซ่ง่อน กองพลที่ 5 ป้องกันการโจมตีของศัตรูบนทางหลวงหมายเลข 13 ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลวง กองพลที่ 18 ป้องกันเมือง "ซวนล็อก" ครอบคลุมทางหลวงหมายเลข 1 และเมือง Bình Dương และฐานทัพอากาศ Bien Hoa ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงไซ่ง่อน ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบินและกองกำลังจู่โจม (ซึ่งทั้งหมดมีศักยภาพในการรบเหลือประมาณ 50 %) และทางหลวงหมายเลข 15 ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงไซ่ง่อน กองพลที่ 22 ป้องกันทางหลวงหมายเลข 4 เส้นทางหลักจากสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงไปยังกรุงไซ่ง่อนและตะวันตกเฉียงเหนือ กองพลที่ 25 ป้องกันเส้นทางหมายเลข 1 ระหว่างเมือง Tay Ninh และกรุงไซ่ง่อน

กองทัพน้อยที่ 4 ของกองทัพประชาชนเวียตนามได้รับคำสั่งให้ยึด "ซวนล็อก" เพื่อเปิดประตูสู่กรุงไซ่ง่อน ในช่วงเริ่มต้นของการรบกองพลทหารราบที่ 18 สามารถเอาชนะกองทัพน้อยที่ 4 ของกองทัพประชาชนเวียตนามได้ ทหารเวียตนามใต้ต่อสู้ด้วยความกล้าหาญท่ามกลางอุปสรรคมากมาย กองทัพอากาศของเวียตนามใต้ให้การสนับสนุนด้วยเฮลิคอปเตอร์และการโจมตีทางอากาศ รวมถึงการใช้ระเบิดคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ และระเบิด "เดซี่คัตเตอร์" และระเบิดเพลิงอบบ CBU-55B ซึ่งเป็นระเบิดเพลิงอากาศแบบแรกที่ใช้ในการสู้รบ จนทำให้ทหารของกองทัพประชาชนเวียตนามหนึ่งกองพลต้องล่าถอยด้วยความสูญเสียอย่างหนัก เพื่อยึดครองเมือง "ซวนล็อก" ให้สำเร็จ ผู้บัญชาการกองทัพน้อยที่ 4 จึงได้เปลี่ยนแผนการรบ แต่แล้วในวันที่ 19 เมษายน 1975 กองกำลังของพลจัตวา Đảo ได้รับคำสั่งให้ถอนตัวหลังจากเมือง "ซวนล็อก" ถูกโดดเดี่ยวเกือบทั้งหมด โดยหน่วยของเวียตนามใต้ที่เหลือทั้งหมดถูกทำลายอย่างย่อยยับ ความพ่ายแพ้ครั้งนี้เป็นจุดสิ้นสุดของอาชีพทางการเมืองของประธานาธิบดีเหงียนวันเทียว โดยที่เขาลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 เมษายน 1975 ด้วยประโยคที่ว่า "ผมขอลาออก แต่ผมจะไม่หนี" แล้ว 5 วันต่อมา เขาก็ขึ้นเครื่องบินลำเลียง C-118 หนีไปไต้หวันพร้อมด้วยกระเป๋าที่หนักอึ้งเป็นจำนวนมาก

ทหารฝ่ายป้องกันของเวียดนามใต้ต่อสู้ด้วยความกล้าหาญท่ามกลางอุปสรรคมากมาย Xuan Loc ได้รับการปกป้องโดยกองพลที่ 18 ของเวียดนามใต้ ซึ่งประกอบด้วยกรมทหารราบ 3 กรม ได้แก่ กรมที่ 43 กรมที่ 48 และกรมที่ 52 นอกจากนี้ยังมีกองพลยานเกราะอีก 5 กองพัน กองกำลังภูมิภาคอีก 4 กองพัน (กองพันที่ 340 กองพันที่ 342 กองพันที่ 343 และกองพันที่ 367) หน่วยปืนใหญ่ 2 หน่วย (กองพันปืนใหญ่ที่ 181 และ 182) พร้อมปืนใหญ่ 42 กระบอก และกองกำลังป้องกันตนเองของประชาชนอีก 2 กองร้อย  ในวันที่ 12 เมษายน ยังได้รับการเสริมกำลังด้วยกองพลทหารราบทางอากาศที่ 1 กองพลยานเกราะ 3 กองพล (กองพลยานเกราะที่ 315, 318 และ 322) กองกำลังเฉพาะกิจที่ 8 จากกองพลที่ 5 และกองพันทหารพรานที่ 33 การสนับสนุนทางอากาศมาในรูปแบบของกองพลอากาศโยธินอีก 2 กองพล ได้แก่ กองพลอากาศโยธินที่ 5 ประจำการที่ฐานทัพอากาศเบียนฮัว และอากาศโยธินที่ 3 ฐานทัพอากาศเตินเซินเญิ้ต นอกจากนี้ยังมีกองทัพอากาศของเวียดนามใต้ให้การสนับสนุนทางเฮลิคอปเตอร์และการโจมตีทางอากาศ รวมถึงการใช้ระเบิดคลัสเตอร์ขนาดใหญ่และระเบิด "เดซี่คัตเตอร์" และระเบิดเชื้อเพลิงอากาศ CBU-55B ซึ่งเป็นระเบิดเชื้อเพลิงอากาศลูกแรกที่เคยใช้ในการสู้รบ เนื่องจากกองกำลังเวียตนามใต้ที่ทำหน้าที่ป้องกันสูญเสียกำลังพลไป 30% 

วันที่ 23 เมษายน 1975 กองพลที่ 18 ได้เคลื่อนพลถอยไปยังกรุงไซง่อนบนทางหลวงหมายเลข 2 โดยที่หน่วยสนับสนุนและปืนใหญ่ยังคงอยู่ครบถ้วน ทำให้เมือง “ซวนล็อก” ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังคอมมิวนิสต์ในวันเดียวกัน แม้ว่าครั้งหนึ่ง กองทัพสหรัฐฯ จะไม่ให้การยอมรับทหารกองพลที่ 18 แต่ภายใต้การนำของพลจัตวา Lê Minh Đảo กองพลนี้ได้กลายเป็นหน่วยที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันกรุงไซง่อน สมรภูมิ "ซวนล็อก" สิ้นสุดลงลงในวันที่ 21 เมษายน 1975 โดยกองทัพน้อยที่ 4 ของเวียตนามเหนือสามารถเอาชนะกำลังผสมชุดสุดท้ายของกองทัพภาคที่ 3 ของเวียตนามใต้ แล้วอีก 9 วันต่อมาเมื่อรถถัง T-54 ของกองทัพประชาชนเวียตนามชนผ่านประตูทำเนียบประธานาธิบดีเวียตนามใต้ในวันที่ 30 เมษายน 1975 จึงเป็นการสิ้นสุดสงครามเวียตนามอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียตนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top