Sunday, 20 April 2025
ครูไทย

‘แม่มณี’ วิเคราะห์ปัญหาการศึกษาไทย ‘ครู-เด็กไทย’ ได้เวลาต้องปรับเปลี่ยน

จากรายการ THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 23 ก.ย.66 ได้พูดคุยกับ คุณมณีรัตน์ ลิมป์รัตนกาญจน์ หรือ ‘แม่มณี’ อดีตคณะทำงานรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ดีกรีนักกฎหมายจาก King’s College London, นักธุรกิจมากความสามารถ, นักขับเคลื่อนงานด้านประชาสังคม พ่วงบทบาทในแวดวงการเมืองร่วม 10 ปี และอดีตผู้สมัครผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย ได้พูดคุยในมุมมองปัญหาการศึกษาไทย กับ การนำสื่อดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาด้านการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจ ว่า... 

“ปัญหาการศึกษาไทยควรลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาไทย” คุณมณีรัตน์ เริ่มบทสนทนา พร้อมทั้งกล่าวต่อว่า ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเด็กประถม หรือมัธยม ที่อยู่ในต่างจังหวัดห่างไกล ค่อนข้างเข้าถึงคุณครู หรือแม้แต่เนื้อหาต่างๆ ได้ยากกว่าเด็กที่อยู่กรุงเทพมหานคร หรือตามหัวเมืองใหญ่ๆ ขณะเดียวกันความน่าสนใจในการสอนก็เป็นอีกปัญหาที่ทำให้การซึมซับและเรียนรู้ลดลง ซึ่งถ้าเด็กเหล่านี้ได้เรียนกับครูที่มีสไตล์การสอนที่ดึงดูดอย่างน่าสนใจ เนื้อหาเข้มข้นหลากหลาย จะสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเด็กเหล่านี้อย่างเท่าเทียม 

คุณมณีรัตน์ กล่าวว่า “ทางออกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี โดยให้ครูหรือติวเตอร์ชื่อดัง สอนผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อให้เด็กต่างจังหวัดได้มีโอกาสเรียนกับครูเก่งๆ แทนที่จะหวังแต่ผลิตครูเก่งๆ ซึ่งเอาจริงๆ ก็สามารถทำควบคู่กันได้ แต่อาจใช้ระยะเวลานานกว่า นี่คือทางแก้ในส่วนของเด็ก

“ขณะเดียวกัน ในส่วนของปัญหาการขาดแคลนบุคลากรครูทั้งจำนวนและคุณภาพ ก็เป็นเรื่องที่น่าห่วง โดย คุณมณีรัตน์ มองว่า การสอนของครูในปัจจุบันอาจต้องปรับแนวคิดการสอนให้มีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงวัยของนักเรียน ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลทั้งคุณภาพของนักเรียนและคุณภาพของครูไปพร้อมๆ กัน”

เมื่อถามถึงอีกปัญหาสำคัญของเด็กไทยที่ยังอ่อนภาษาอังกฤษ? คุณมณีรัตน์ ชี้ว่า “เนื่องจากปัจจุบันเราอาจยึดติดกับการสอนภาษาอังกฤษแบบเดิมๆ (เรียนไปไม่ได้ใช้จริง) ซึ่งหากเรามองตัวอย่างหลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนต่างชาติ เขาจะมีหลักสูตรการสอนไม่เหมือนเรา เราอาจะต้องปรับรูปแบบการสอนและหลักสูตรให้เด็กรักการอ่านมากขึ้น หรือสร้างแพลตฟอร์มการศึกษาผ่านออนไลน์ โดยใช้ Big Data ที่รวบรวมทุกหลักสูตร แบ่งเป็นวิชา เนื้อหา แล้วให้นักเรียนมีโอกาสได้นำมาศึกษาด้วยตัวเองควบคู่ไปด้วย”

คุณมณีรัตน์ เสริมอีกด้วยว่า “รูปแบบของหลักสูตรต่อจากนี้ ก็อย่ายึดหลักแบบที่เป็นอยู่เท่านั้น แต่ควรมีหลักสูตรอื่นๆ เช่น การฝึกพูดภาษาอังกฤษ, การบริหารธุรกิจ, การเล่นดนตรี, การทำอาหาร ฯลฯ จากผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ทั้งจากไทยและต่างประเทศ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษามากขึ้นเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต” 

เมื่อถามถึงการศึกษากับความสอดคล้องต่อตลาดแรงงาน? คุณมณีรัตน์ มองว่า “ควรถึงเวลาส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา เรียนจบมาได้ทำงานที่ตรงสายกับที่เรียนมา และสอดคล้องกับตลาดแรงงาน ส่งเสริมการฝึกอาชีพระหว่างเรียน ทำให้เกิดทักษะวิชาชีพ ได้พัฒนาในหลายๆ ด้านและมีรายได้จริง”

เมื่อถามถึงในอนาคต AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) จะเข้ามามีบทบาทในตลาดแรงงานมากขึ้น จนทำให้หลายคนกลัวว่า AI จะมาแย่งงานมนุษย์แค่ไหน? คุณมณีรัตน์ กล่าวว่า “จริงๆ แล้วเราควรมองว่าทำอย่างไรให้แรงงานไทยทำงานร่วมกับ AI ได้ในอนาคต ควรฝึกเด็กทำงานร่วม AI กันตั้งแต่ตอนเรียน เมื่อทำงานจริงก็สามารถทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างไม่มีรอยต่อ”

คุณมณีรัตน์ ยังให้มุมคิดต่อผู้เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบต่ออนาคตของชาติไว้อย่างน่าสนใจทิ้งท้ายด้วยว่า ควรส่งเสริมให้เด็กมีความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) และ ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ควบคู่กันไป โดยเฉพาะครอบครัวและสถานศึกษาต้องช่วยกันปลูกฝังให้เด็กโตมามีความฉลาดทางอารมณ์ รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ควบคุมอารมณ์ได้อย่างมีทิศทางที่ถูกต้องเป็นพลังบวก 

หากเดินหน้ากระบวนทัศน์เหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษาไทยสู่อนาคตได้อย่างยั่งยืน จนกลายเป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศชาติได้ต่อไป

‘ส.บ.ม.ท.’ จี้!! ‘ศธ.-กพฐ.’ เร่งแก้ปัญหาขาดครู หลังคืนอัตราเกษียณฯ แนะ พื้นที่ไหนขาดแคลนให้เปิดสอบทันที โดยไม่ต้องรอกำหนดการ

(9 ต.ค.66) นายณรินทร์ ชำนาญดู ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ ในฐานะนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงเรียนต่างๆ กำลังประสบปัญหาขาดแคลนครูอย่างหนัก เนื่องจากมีผู้เกษียณอายุราชการกว่า 15,000 อัตรา ซึ่งแม้จะได้รับการคืนอัตราเกษียณมาทั้งหมดแต่กลับไม่มีครูที่พร้อมสำหรับการบรรจุทดแทนอัตราว่าง โดยที่ผ่านมาจะเรียกบรรจุจากบัญชีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. (ว14) แต่การสอบเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีผู้สอบผ่านน้อย เช่นเดียวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ (ว16) ซึ่งยังมีอัตราว่างเหลืออยู่อีกกว่า 1,200 อัตรา ทำให้เกิดปัญหาเพราะแม้จะมีอัตราและตำแหน่ง แต่ก็ไม่สามารถเรียกบรรจุแต่งตั้งได้ เพราะมีผู้ที่สอบขึ้นบัญชีไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงอยากให้ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) คนใหม่ เร่งแก้ปัญหาดังกล่าว

“ปัญหาขาดแคลนครูถือเป็นเรื่องสำคัญที่อยากให้รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ในฐานะที่กำกับดูแล สพฐ. และว่าที่ร้อยตรีธนุ เร่งหาทางแก้ไข หากเป็นไปได้อยากเสนอให้กระจายอำนาจลงไปให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สามารถจัดสอบครูผู้ช่วย ว14 และ ว16 ได้มากกว่าปีละ 1 ครั้ง เช่น หากเขตพื้นที่ใดขาดแคลนครู ก็สามารถเปิดสอบได้ทันที โดยไม่ต้องรอปฏิทินสอบจาก สพฐ. คิดว่าแนวทางดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครูได้อย่างแน่นอน ส่วนข้อกังวลเรื่องการทุจริตนั้น หาก สพฐ.มีมาตรการลงโทษที่รุนแรง ก็เชื่อว่าจะไม่มีใครกล้าที่จะทำการทุจริต หรือหากมีก็เป็นจำนวนที่น้อยมาก” นายณรินทร์กล่าว

นายณรินทร์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังขอเร่งรัดให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เร่งตรวจผลงานของผู้ที่ยื่นขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ ตามหลักเกณฑ์เดิม ว17 ซึ่งยื่นไปตั้งแต่ปี 2564 และยังค้างอยู่กว่า 600 คน และตอนนี้บางคนเกษียณไปแล้วทำให้เสียสิทธิ เพราะไม่สามารถที่จะปรับปรุงผลงานได้ ดังนั้นจึงขอให้ ก.ค.ศ.มีกรอบเวลาการพิจารณาที่ชัดเจน ทั้งนี้ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าสาเหตุที่ ก.ค.ศ.พิจารณาผลงานล่าช้าเป็นเพราะเหตุใด หากเพราะคณะกรรมการประเมินไม่เพียงพอก็อยากให้เพิ่มคณะกรรมการ เช่นเดียวกับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือเกณฑ์ PA (ว 9/2564) ซึ่งมีความล่าช้าในช่วงแรก แต่เมื่อเพิ่มคณะกรรมการประเมินแล้ว ก็ทำให้สามารถพิจารณาได้เร็วขึ้น

‘อนุทิน’ จ่อชงครม. ‘ยกเลิกครูอยู่เวร’ หลังครูถูกทำร้าย ชี้!! ‘สวัสดิการ-ความปลอดภัย’ สำคัญเหนือสิ่งของ

(23 ม.ค.67) จากกรณีครูถูกทำร้ายร่างกาย จากการอยู่เวรเฝ้าโรงเรียนวันหยุดที่จังหวัดเชียงรายตามที่ปรากฏเป็นข่าวจนเกิดการเรียกร้องให้ยกเลิกการอยู่เวรของครูทั่วประเทศนั้น ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการอยู่ด้วยได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตนจะสนับสนุนให้มีการยกเลิกมติครม.ปี 42 หรือออกมติครม.ใหม่ มายกเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับการอยู่เวรรักษาการณ์ของหน่วยงานราชการ ตามหลักเกณฑ์ที่ออกมาในเดือนกรกฎาคม ปี 42 โดยเฉพาะในส่วนของโรงเรียนทั่วประเทศ เพราะข้าราชการไม่ควรต้องมารับผิดชอบต่อความเสียหายของทรัพย์สินของทางราชการที่เกิดจากอาชญากรรม หากมีอาชญากรรมเกิดขึ้น เป็นหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงที่จะต้องดูแลไม่ว่าจะป้องกันหรือปราบปราม ไม่ใช่หน้าที่ครู

“นี่คือสิ่งที่ง่ายที่สุดในการคืนครูสู่ห้องเรียนและทำได้ทันที สวัสดิภาพและความปลอดภัยของครูมีความสำคัญเหนือสิ่งของ ต้องไม่มีเงื่อนไขใดมาเป็นอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นการอ้างงบประมาณหรือกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างใดๆ เมื่อไม่มีครูเวรแล้ว ต่อให้ยังไม่มียามหรือกล้องวงจรปิด ถ้ามีการโจรกรรมก็ไม่ใช่ความผิดของครู ต้องเป็นความรับผิดชอบของอาชญากรและหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องความมั่นคง หากจะฝากโรงเรียนไว้กับใคร ต้องฝากกับตำรวจ หรือ อส.ของฝ่ายปกครอง ไม่ใช่ครู” นายอนุทินกล่าว

‘หนุ่ม’ ตัดพ้อ!! ครูดีๆ หมดโอกาสเพราะสอบไม่ผ่าน แนะ!! ควรใช้วิธีอบรมแทน ด้านชาวเน็ตแห่แย้งสนั่น

(5 ก.พ.67) ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ลงกลุ่มเตรียมสอบใบประกอบวิชาชีพครู ระบุว่า

“คะแนนสอบไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าจะเป็นครูที่ดีได้หรือเปล่า ครูที่สอบคะแนนสูงๆ เป็นครูที่ไม่ได้เรื่องเยอะแยะ ครูดีๆ ต้องหมดโอกาสเป็นครูเพราะสอบไม่ผ่าน ยุคนี้แล้วไม่ควรตัดสินคนผ่านคะแนนสอบนะ ผมว่าเราควรเปลี่ยนจากสอบเป็นอบรมแทน”

จากโพสต์ดังกล่าว ทำเอาวงการครูสั่นสะเทือน โดยชาวเน็ตแสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน เช่น

- สอบดีแล้วค่ะ แค่นี้การศึกษาก็แย่มากพอแล้ว อย่าลดคุณภาพอีกเถอะค่ะ
- แล้วทำไมต้องกดคนที่สอบผ่านด้วยคะงง555555 ครูดีๆ ต้องหมดโอกาสเป็นครู เพราะสอบไม่ผ่าน คนสอบผ่าน = ไม่ดี?
- อย่าพยายามเป็นคนดีก่อนครับ ให้พยายามเป็นคนเก่งก่อนครับ จะได้รู้ว่าอะไรดีไม่ดีครับ
- สู้ ๆ นะครับ ครูต้องเก่งครับ
- ต้องเรียนวิชาการวัดและการประเมินนะครับ จะได้เข้าใจ
-  จากที่อ่านวนๆ 2-3 รอบ ดีแล้วที่คัดด้วยการสอบค่ะ
- ถ้ารู้ว่าเรียนมาแล้วสอบไม่ผ่านแสดงว่ามาตรฐาน ตัวเองมีปัญหาแล้วล่ะแล้วอีกอย่างนะครูมันต้องเริ่มจากเก่งก่อน
- ถ้าบอกว่าเป็นล่ะ? คะแนนสอบวัดถึง IQ หรือแม้กระทั่ง EQ มันบ่งบอกตั้งแต่การสอบเข้าเรียนละ มหาวิทยาลัยที่ Top ทำไมนักศึกษาครูมีคุณภาพกว่านักศึกษาที่มหาวิทยาลัยกลางๆ - ล่างๆล่ะ มันก็เหมือนกับการสมัครสอบเข้าทำงานนั้นแหละ ถึงแม้จะเอาเกณฑ์เดิมที่เรียนได้ใบเลย แต่คุณก็ต้องไปสอบบรรจุเองนะ

‘ครูสาว’ ซี 8 พ้อ!! วันลา-วันสายเกิน 1 ครั้ง โดนประเมินไม่ได้ขึ้นเงินเดือน พร้อมเผยเหตุผลความจำเป็น วอนเห็นใจตนไม่ได้หนีสอน-โกงเงินหลวง

(27 พ.ค. 67) ครูสาวสังกัดสถาบันอาชีวะแห่งหนึ่งใน จ.อุดรธานี โพสต์ตัดพ้อ มาสาย 10 ครั้ง ครั้งละ 1-2 นาที ไม่ได้ปรับขึ้นเงินเดือนครู เผยสาเหตุ เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องทำงานเสริมร้องเพลงกลางคืน ซึ่งโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

"ผลของการสาย สาย 10 ครั้ง (เกิน 1 ครั้ง) ลา 8 ครั้ง 9 วัน (ลาเกิน 1 ครั้ง) ตามระเบียบการพิจารณาการขึ้นเงินเดือนของข้าราชการ = 0 ผลที่ได้เหมือนละทิ้งหน้าที่ เหมือนหนีสอน เหมือนไปโกงเงินหลวง ติดแฮชแท็ก #คนไม่ชอบทำอะไรก็ไม่ใช่ #ทำบุญวันวิสาขบูชา"

ทั้งนี้ ล่าสุด เมื่อวานนี้ 26 พ.ค.67 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปพบกับครูโอ๋ (นามสมมุติ) อายุ 38 ปี เจ้าของโพสต์ดังกล่าว ได้นำหนังสือร้องทุกข์ และขอความเป็นธรรม ที่ส่งถึง ประธานคณะกรรมการ อ.ก.ค.ศ. และนายยศพล เวณุโกเศศ. เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มาให้ผู้สื่อข่าวดู มีเนื้อหาใจความว่า

"ตามเอกสารบันทึกข้อความที่ส่งมาด้วย เมื่อข้าพเจ้าได้มาตรวจสอบเอกสารพบว่าไม่ถูกต้องและไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำให้เกิดการเสียขวัญ และกำลังใจในการทำงาน วันลาจำนวน 8 ครั้ง รวม 8.5 วัน และมาปฏิบัติงานสาย จำนวน 10 ครั้ง ไม่ถูกต้องตามเอกสารสรุปวันลาของบุคลากรวิทยาลัยฯ ซึ่งมีวันลา 8 ครั้ง รวม 8.5 วัน จริง แต่มาปฏิบัติงานสาย 9 วัน

เมื่อพิจารณาจากวันลา และวันปฏิบัติงานสาย วันลาเกิน 1 ครั้ง เนื่องจากครั้งสุดท้าย ในวันที่ 28 มี.ค. 2567 นั้น ข้าพเจ้าเกิดอุบัติเหตุตกบันได มีอาการปวดหลังไม่สามารถมาปฏิบัติงานได้ และเข้ารับการรักษาจริง มีเอกสารใบรับรองแพทย์แนบใบลา ซึ่งก่อนหน้าจะเกิดอุบัติเหตุข้าพเจ้าทราบดีว่าข้าพเจ้าลาไปแล้ว 7 ครั้ง รวม 7.5 วัน

แต่การลาครั้งสุดท้ายเป็นการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ทำให้ข้าพเจ้าลาเกิน ไป 1 ครั้ง ทั้งนี้ผู้บังคับบัญชาไม่ได้มีการให้ข้าพเจ้าทำบันทึกข้อความชี้แจงเหตุผลแต่อย่างใด และมีการพูดโน้มน้าวให้ข้าพเจ้า ลงลายมือชื่อรับทราบให้เป็นผู้ถูกงดการเลื่อนเงินเดือน

ข้าพเจ้าจึงขอร้องทุกข์ ขอความเป็นธรรมและความเมตตา ประธานอนุกรรมการ อ.ก.ค.ศ. การอาชีวศึกษา และเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้พิจารณา อนุโลมเลื่อนเงินเดือนของข้าพเจ้า และไม่เป็นผู้ถูกงดการเลื่อนเงินเดือนในครั้งนี้"

ครูโอ๋ กล่าวอีกว่า ตนเองเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นครูซี 8 รับราชการมา 13 ปี ด้วยภาระที่ต้องดูแลลูกและครอบครัว ลำพังเงินเดือนไม่พอใช้ เพราะไปกู้สมัยอยู่กับสามีคนเก่าแล้วต้องเลิกรากันไป ต้องรับภาระคนเดียว จึงต้องไปหาร้องตามผับ และร้านอาหาร ตอนนี้ไม่สบายใจเพราะไม่ได้ขึ้นเงินเดือนแม้แต่บาทเดียว เพราะทางวิทยาลัยฯ ประเมินออกมาว่า นับวันลาวันสายเกินคือ สาย 1 ครั้ง ลาเกิน 1 ครั้ง จึงประเมินไม่ขึ้นเงินเดือนให้ครั้งนี้ คือเท่ากับ 0

ที่ผ่านมาไม่เคยตั้งใจที่จะให้ขาดงานหรือมาสายเลย มันมีเหตุเพราะต้องไปส่งลูกไปโรงเรียน แล้วต้องขับรถมาวิทยาลัยระยะกว่า 10 กม. แต่ยอมรับลาเกินมา 1 ครั้ง ส่วนสายก็เกิน 1 ครั้ง แต่สายเพียง 1-2 นาทีเท่านั้น ไม่ใช่มาสายเป็นชั่วโมง หรือหลายชั่วโมง

ครูโอ๋ เล่าต่ออีกว่า ในวงดนตรีของตนเองมีครูโรงเรียนอื่น เพื่อน ๆ พี่ ๆ เขาบอกว่าทางโรงเรียนและวิทยาลัยเข้าใจ ไม่เคยปรับขึ้นเงินเดือนเท่ากับ 0 เลย อย่างต่ำก็ 2.4 ตนอยากให้เห็นใจ อะลุ้มอล่วยให้บ้าง กับการลาและมาสายเกิน 1 ครั้ง

ปกติเขาสอนกันไม่เกิน 20 คาบต่อสัปดาห์ แต่ตนเองสอนไปเกือบ 40 คาบ น่าจะเอามาถัวเฉลี่ยให้บ้าง แต่นี่จะเล่นให้กันให้ตาย ไม่ขึ้นเงินเดือนให้เลย ตนไม่ได้ทำอะไรผิด ไปเป็นนักร้องตามผับและร้านอาหาร เรื่องนี้ทางวิทยาลัยได้ส่งหนังสือไปกรุงเทพฯ เรื่องการปรับเงินเดือนเท่ากับ 0 ทางสถาบันอาชีวฯ ก็ทำหนังสือมา ทางผู้บริหารก็ยืนยัน ยังไงก็ไม่ขึ้นเงินเดือนให้

"หรือว่าผู้บริหารไม่ชอบหนู เห็นครูไปร้องเพลง เพราะ ผอ.เคยตำหนิว่า ทำแบบนี้ผิดจรรยาบรรณและจริยธรรม แล้วที่ผู้บริหารไปกินเหล้าด้านหลังวิทยาลัยฯ คืออะไร เหมาะสมไหม อยากให้เห็นใจหนูด้วย หนูไม่ได้ฆ่าคนตาย ไม่ได้หนีสอน ไม่ได้โกงเงินหลวงสักหน่อย" ครูโอ๋ กล่าว 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top