Saturday, 18 May 2024
คนไทย

‘สธ.’ กังวล!! เยาวชนป่วย ‘ซึมเศร้า’ พุ่ง เล็งพัฒนา ‘หมอพร้อม-AI’ ช่วยคัดกรอง

(16 ม.ค. 67) กระทรวงสาธารณสุข ห่วงปัญหาสุขภาพจิตคนไทย ‘เยาวชน’ มีภาวะซึมเศร้าสูง 2,200 ต่อประชากรแสนคน เผยผลสำเร็จใช้ปัญญาประดิษฐ์ DMIND เชื่อมโยงระบบ ‘หมอพร้อม’ ช่วยคัดกรองภาวะซึมเศร้าได้สะดวกรวดเร็วเกือบ 2 แสนคน พบภาวะเสี่ยงรุนแรง 8.7% เตรียมพัฒนาระบบเชื่อมข้อมูลสายด่วน 1323 เพื่อการดูแลกลุ่มวิกฤตเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ทันท่วงที 

2 วัฒนธรรมการกินที่แตกต่างกันระหว่าง ‘คนไทย-คนยุโรป’

เป็นเรื่องธรรมดาที่วัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ของแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน และทำให้คนที่เดินทางข้ามประเทศเกิดภาวะ ‘Culture Shock’ หรือ ‘ภาวะตื่นตระหนกทางวัฒนธรรม’ ซึ่งเป็นอาการที่จะเกิดขึ้นเมื่อสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมเปลี่ยนไปจากวัฒนธรรมเดิมที่คุ้นชิน 

วันนี้ THE STATES TIMES ชวนมาดู 2 วัฒนธรรมเกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่แตกต่างกันระหว่างคนไทยและคนยุโรป จะต่างกันอย่างไร มาดูกัน!!

‘สาวไทย’ สุดภูมิใจ!! ถือพาสปอร์ตไทยโชว์ทุกครั้งที่เยือนต่างประเทศ ตั้งใจ!! ‘แต่งตัวสวย-พูดเพราะ’ โชว์ความงามแบบไทย ให้ต่างชาติจดจำ

(25 ม.ค. 67) เพจ ‘ประเทศไทยต้องชนะ’ ได้แชร์เรื่องราวน่าประทับใจที่สาวไทยเจ้าของเพจ ‘The Diceland : เรื่องเล่าของไดซ์’ ออกมาระบุว่าภูมิใจที่ได้ถือพาสปอร์ตไทย และจะถือโชว์ทุกครั้งที่ไปต่างประเทศ โดยระบุว่า…

พลัง Soft Power ไทย!! 🇹🇭 สาวสุดภูมิใจ เวลาเที่ยวต่างประเทศ มักถือพาสปอร์ตไทยโชว์ตลอด อยากให้คนรู้ว่า “นี่แหละคนไทย”

สาวไทยเจ้าของเพจดังรายหนึ่งได้โพสต์ข้อความเล่าเรื่องระหว่างที่เธอเดินทางไปต่างประเทศ ผ่านเพจ The Diceland : เรื่องเล่าของไดซ์ ระบุข้อความว่า “ช่วงนี้มีสิ่งที่ชอบทำอย่างหนึ่ง อยู่สนามบินยุโรป ชอบถือพาสปอร์ตไทยโชว์หลาตลอดไม่เก็บเข้ากระเป๋า ยิ่งคนมองยิ่งชอบมากกกกก ภูมิใจอยากให้เขารู้ว่าสวย ๆ แบบนี้อะเป็นผู้หญิงไทย #พลังSoftPowerไทย”

ทั้งนี้ ยังระบุอีกว่า “ไดซ์จะแต่งตัวดี ถูกกาลเทศะ และพูดเพราะเสมอ ส่งต่อเป็นนัย ๆ ว่าประเทศไทยมีแต่คนสวย ๆ อยากให้เขามาเที่ยวกันเยอะ ๆ”

นอกจากนี้เธอยังคอมเมนต์ใต้โพสต์ของเธอเองเอาไว้ด้วยอีกว่า “หากใครใช้ Reels จะบอกว่าตอนนี้เรื่องท่องเที่ยวและ Thai Accent การพูดภาษาอังกฤษสำเนียงแบบไทย และหางเสียงบ้านเราดังมากนะ เช่น ok naa , thank you ka แบบไปนั่งอ่าน เขาบอกน่ารัก เป็นเรื่องความทรงจำ มันทำให้ฝรั่งคิดถึงเมืองไทย”

'นักเขียน' แชร์!! โดนคนอ่านด่าว่า 'เขียนคำผิด' ทั้งที่คนด่าไม่รู้คำศัพท์ สะท้อน!! คลังศัพท์ของคนยุคนี้เข้าขั้นวิกฤต แถมไม่ใฝ่ความถูกก่อนติ

(9 ก.พ.67) กลายเป็นไวรัลขึ้นมาทันที หลังจากมีกรณีสาวรายหนึ่งได้แชร์คอมเมนต์จากนักอ่านที่มาคอมเมนต์ในนิยายของเธอว่า..."แก้คำผิดหน่อยนะคะ มันคือ 'ประกอบ' ค่ะ ไม่ใช่ 'กอปร' คนละคำเลยนะคะ ไม่เคยเห็นคำนี้ด้วย ไม่รู้ว่าไม่ได้ตรวจสอบดูก่อนหรอ เห็นผิดหลายจุดมาก เนื้อเรื่องกำลังสนุก พอมีคำผิดนี่อ่านแล้วหงุดหงิดค่ะ"

ทั้งนี้ โพสต์ของเธอมีคนชมในแพลตฟอร์ม X กว่า 5.6 ล้านครั้ง และถูกแชร์ไปยังโซเชียลอื่นๆ มากมาย ซึ่งคอมเมนต์จากหลายคนไม่ได้แปลกใจที่นักอ่านไม่รู้คำศัพท์ แต่แปลกใจที่ไม่หาข้อมูลก่อนต่อว่าคนอื่นมากกว่า เช่น มีผู้คอมเมนต์คนหนึ่งเข้ามาแชร์ว่า "ตัวเองก็ไม่รู้จักคำว่า กอปร เหมือนกัน แต่พออ่านเจอก็ไปหาข้อมูล หาความหมายจนได้รู้ว่าแปลว่าอะไร"

ส่วนบางคนที่เป็นนักเขียนเหมือนกัน ก็เข้ามาแชร์ประสบการณ์พีกๆ จากคนอ่านในลักษณะที่คล้ายๆ กันด้วย เช่น...

'ทว่า' คิดว่าเราสะกดผิดจาก 'ว่า'

'แก้มตอบ' ไม่เข้าใจ แก้มมันจะพูดตอบได้ยังไง!!

'กัน' คิดว่าพิมพ์ผิดมาจาก 'ฉัน' ซึ่งจริงๆ 'กัน' เป็นภาษาเก่าแปลว่าฉันนี่แหละ

'ถ้าจะไม่มีรอยย่นต้องเกิดเป็นงู' = ไล่ให้ไปเป็นงูจริงๆ

'เชค' เป็นชื่อประเทศ ไม่ได้ไล่ให้ไป 'เช็กข้อมูล' เป็นต้น

อาจเรียกได้ว่า คลังคำศัพท์ ของคนไทยยุคปัจจุบัน เข้าข่ายขั้นวิกฤตแล้วจริงๆ เพียงแต่สมัยนี้ ก็ยังมีสิ่งที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ต สามารถค้นหาความรู้ได้ง่ายดายแค่ปลายนิ้ว หากไม่รู้ก็เพียงแค่หาข้อมูลก่อนเท่านั้นเอง

‘คนไทยในสหรัฐฯ’ อวยสังคมมะกันไม่มี ‘กับดักความกตัญญู’ ถ่มถุย ‘สังคมไทย’ พ่อแม่ไม่รู้จักพอ ต้องรอเงินจากลูกๆ ทุกเดือน

เมื่อไม่นานมานี้ จากเพจ ‘SAM Motoring’ ได้นำเสนอคลิปจาก ‘ครูเดวิด วิลเลียม’ ซึ่งเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ที่พูดถึงกรณีคนไทยในสหรัฐฯ ได้กล่าวถึงประเด็น ‘กับดักความกตัญญูของสังคมไทย’ ไว้ว่า… 

‘สิ่งนี้คือความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง ‘สังคมอเมริกัน’ และ ‘สังคมไทย’ นั่นก็คือที่อเมริกาจะไม่มีวัฒนธรรมเกี่ยวกับดักความกตัญญู ซึ่งก็คือเรื่องการส่งเงินให้กับพ่อแม่ในทุก ๆ เดือนนั่นเอง โดยพ่อแม่นั้นจะไม่มานั่งขอเงินหรือเอาเงินจากลูก ๆ ซึ่งเป็นเพราะว่าพวกเขาก็มีเงินเก็บจากการทํางานอยู่แล้ว และพวกเขาได้มีการวางแผนทางการเงินมาตั้งแต่หนุ่มสาว ซึ่งมันจะต่างจากสังคมไทยโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะหลาย ๆ ครอบครัวที่ลูกจะต้องส่งเงินให้พ่อแม่ทุก ๆ เดือน แล้วพ่อแม่บางคนลูกให้เงินแล้วแต่ก็คือยังไม่รู้จักพอ…’

ซึ่งด้าน ‘ครูเดวิด วิลเลียม’ ได้แสดงว่าคิดเห็นและมุมมองต่อคลิปนี้ว่า…

สิ่งแรกที่อยากจะพูดคือต้องขออนุญาตเห็นต่างจากคลิปนี้โดยสิ้นเชิง เริ่มข้อแรกต้องถามก่อนว่า ‘ความกตัญญู’ เป็น ‘กับดัก’ ขนาดนั้นเลยเหรอ? ดังนั้นสิ่งที่เราอาจจะต้องมาทําความเข้าใจกันก่อนก็คือ…การที่คุณจะดูแลมนุษย์คนนึงตั้งแต่เด็กจนโต อย่างการส่งเขาเรียนหนังสือ การดูแลเอาใจใส่ต่าง ๆ ดังนั้น นี่จึงเป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่มาก และเป็นสิ่งที่ไม่ได้ง่ายเลย

พร้อมยอมรับว่าแนวคอนเทนต์ที่ไม่ชอบที่สุดมันเริ่มเยอะขึ้นมาก ๆ ซึ่งก็คือการที่คนชอบบอกว่าฝรั่งมันเริศ ดีมาก ดีทุกอย่าง ส่วนทางคนเอเชีย ซึ่งขออนุญาตเน้นคํานี้ก่อนว่า ‘ความกตัญญู’ ไม่ได้เป็นสิ่งที่คนไทยทําหรือนิยมกันเท่านั้น คือถ้าคุณทําการบ้านดี ๆ สิ่งที่คุณจะเข้าใจก็คือความกตัญญูตัวนี้มันอยู่ทั่วทวีปเอเชียเลย ไม่ว่าจะเป็นคนเกาหลี คนไทย คนอินโดนีเซีย หรือประเทศไหนก็แล้วแต่ เขานิยมเรื่องความกตัญญูเป็นอย่างยิ่ง

ซึ่งจุดที่ไม่ชอบที่สุดในคลิปดังกล่าวก็คือตอนที่พูดประมาณว่าพ่อแม่คนไทยเก็บเงินไม่เป็นกันเลย แล้วคนอเมริกันเขาเก็บเงินได้ เขาตั้งใจ เขาดูแลชีวิตตัวเอง เลยไม่ค่อยไปลําบากลูก ซึ่งเหตุผลดังกล่าวถือเป็นการเหมารวมคนไทยหรือพ่อแม่คนไทยที่ไม่น่ารักเลย ทั้ง ๆ ที่คนไทยหลายคนซึ่งมีลูกพวกเขาทํางานกันหนักมาก ทํางานแทบตาย แต่ว่าโอกาสในการหาเงินถามว่าเยอะมหาศาลไหม? คำตอบคือไม่… และไม่ว่าเขาจะเหนื่อยแค่ไหน ทำงานกี่ชั่วโมงแค่ไหนก็ตามสุดท้ายก็หาเงินได้ไม่เยอะอยู่ดี…ดังนั้น คุณอย่าลืมคํานี้เลยนะว่าชีวิตมันไม่แฟร์ โอกาสของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน จุดเริ่มต้นของแต่ละคนไม่เท่ากัน แล้วการเหมารวมคนเอเชียหรือคนไทยแบบนี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่โอเคเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น คุณต้องจําคํานี้เอาไว้นะ นี่คือบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผม คุณจะไม่มีวันเสียดายกับการให้กับคน คุณจะไม่มีวันเสียดายกับการเป็นคนใจดีหรือว่าช่วยเหลือคนซึ่งช่วยคุณมา สำหรับใครที่ออกมาบอกว่าเราจะสําเร็จถ้าเราไม่ให้พ่อแม่ เราจะสําเร็จถ้าไม่ช่วยใคร ต้องเห็นแก่ตัวอย่างเดียว ซึ่งคนที่พูดอย่างนี้ไม่สําเร็จอย่างแน่นอน เพราะสิ่งที่คุณจะเข้าใจเมื่อคุณโตขึ้นแล้วก็คือการช่วยเหลือคนอื่น การเป็นคนใจดี เป็นคนซื่อสัตย์ เป็นคนน่ารัก มันมักจะดึงพลังงานอะไรดี ๆ เข้าตัวคุณตลอด แล้วมันจะดึงความสําเร็จเข้าตัวคุณอย่างแน่นอน 

หากถามว่ามันยังมีพ่อแม่บางคนหรือไม่ที่ไม่รักลูกตัวเอง ที่เอาเปรียบลูกตัวเองตลอด ที่เอาเงินจากลูกตัวเองแบบเกินเหตุ ถามว่ามีไหม? ตอบคือมี แล้วในกรณีแบบนี้เราควรที่จะให้เขายังต่อเนื่องไหม? คําตอบคือไม่…แต่ในวันนี้หากคุณมีพ่อแม่ที่รักและเอ็นดูคุณจริง ๆ มาโดยตลอด และคุณมั่นใจสิ่งนี้ 100% ก็จงให้เขาไปเถอะ เพราะเวลาที่คุณเหลือกับเขาน้อยกว่าที่คุณคิดตั้งหลายเท่า…

‘สาวไทย’ แชร์ประสบการณ์ หลังเจอ ‘ตม.เกาหลี’ ซักละเอียดยิบ ถามยัน!! ข้าว 3 มื้อจะกินอะไร พอตอบไม่เคลียร์ อดเข้าประเทศ

(23 ก.พ. 67) หญิงสาวรายหนึ่งใช้เฟซบุ๊ก โพสต์ข้อความลงในกลุ่ม กลุ่มคนชอบตะลอนเที่ยวเกาหลี ที่มีสมาชิก 2.2 แสนคน แชร์ประสบการณ์ในการพบกับ ตม.เกาหลี โดยระบุว่า… 

ขออนุญาตแชร์คำถามที่เราเจอนะค้า (ทุกคนเราเข้าใจว่าอ่านเเล้วอาจจะจิตตก ขออภัยมาก ๆ เลย เเต่ขออนุญาตจริง ๆ ค่ะ เผื่อคนที่ซวยต้องเข้าห้องเย็น อาจจะช่วยให้เตรียมตัวตอบคำถามได้บ้าง อยากให้ทุกคนรอดผ่านออกมาได้เที่ยวอย่างมีความสุข)

เนื่องจากมีคนทักหลังไมค์​มาถามเยอะ​เกี่ยวกับคำถามที่ต้องเจอ​ เราเลยพยายามนึก​คำถามที่เราเจอ​ ทั้งหมด​ 3 ด่าน​ เผื่อเป็นเเนวทาง​คนที่ต้องเข้าห้องเย็น​นะค้าจะได้เตรียมตัวไว้

>> ด่านเเรก (ถาม-ตอบ​ Eng) ผู้ชาย

- คุณมากี่วัน
- คุณมากับใคร​ = บอกมากับเพื่อน​ ผ่านออกไปแล้ว​ รอเราอยู่​ ตม.​ ให้เขียนชื่อเพื่อนส่ง​ ตม.​ บอกไม่มีคนชื่อนี้ผ่านออกไป​ ยกพาสปอร์ต​ เรียกเข้าห้อง

>> ด่านสอง​ (ถาม-ตอบ​ Eng)​ ผู้ชาย

- มากี่วัน
- มากับใคร​ กี่คน
- พักโรงแรมอะไร​ เเถวไหน
- มีตั๋ว​ไป​กลับไหม

ตอบได้หมด​ พร้อมยื่นเอกสาร​และเชิญเราไปด่าน 3​ พร้อมเอกสาร​ ให้กรอกข้อมูลส่วนตัว

>> ด่านสาม​ (มีล่ามไทย​ ขอพูด ​Eng ไม่ยินยอม)​ ผู้ชาย

- ทำไมถึงมาที่นี่
- มากับใคร​ กี่คน
- ตอนนี้เพื่อนอยู่ที่ไหน
- มาอยู่กี่วัน​
- เคยมาเกาหลีมาก่อนไหม
- โสดหรือเเต่งงาน
- เคยไปประเทศไหนมาบ้าง​ พร้อมยืนพาสปอร์ตเล่มเก่า
- พูดภาษาอังกฤษได้ไหม
- พักโรงเเรมอะไร​ เเถวไหน​ ยื่นเอกสารจองรร.
- ตั๋วไป-กลับ​ มาวันไหน​ กลับวันไหน​ สายการบินอะไร​ ​เวลากลับขึ้นเครื่องกี่โมง
- keta​ ลงเองไหม​ ลงวันใหน​ อนุมัติวันไหน
- ล่ามบอก​ ห้ามหยิบโทรศัพท์​ จนกว่าเจ้าหน้าที่จะสั่ง
- ทำงานอะไร​ ตำแหน่งอะไร​ ทำมากี่ปี​ เงินเดือนเท่าไหร่​ พร้อมยื่นเอกสารการทำงาน
- ขอโทรศัพท์ไปดู​ เปิด Line, Facebook และ​ Google​ ว่าเราค้นหาอะไรบ้าง
- วันนี้คุณจะไปไหน​ = ตอบกังนัม
- ไปทำไม​กังนัม มีอะไร​ = ตอบ จะไปถ่ายรูปกับรูปปั้นมือไขว้​ พร้อมทำท่าให้ดู​ เเละไปห้างโคเอ็ก​และห้องสมุด
- จากสนามบิน​เดินทางไปโรงแรมยังไง​ ใช้เวลาเท่าไหร่​ ต่อรถไฟสายไหน​ ค่ารถกี่บาท​ รถประเภทอะไร​ เดินออกช่องทางไหน
- คุณจองตั๋วเครื่องบินมากี่บาท
- จองตั๋วเครื่องบินผ่านช่องทางไหน
- คุณจองโรงเเรมมากี่บาท​ ผ่านช่องทางไหน​ จ่ายเงินเเล้วใช่ไหม
- โรงแรม เช็กอินกี่โมง​ เช็กเอาท์กี่โมง
- จะไปทำไมห้องสมุด​ นั่นมันของคนเกาหลี​
- แล้วจะมากินอะไร​ (ตอบได้เพราะติ่งอาหารเกา)​

- ไปห้องสมุดแล้วไปไหนต่อ​ = เราบอกวัด​พงอึนซา นางถามย้ำวัดอะไรนะ​ ตอบชื่อวัดไม่ได้เหรอ​ ไม่รู้หรือว่าชื่ออะไร​ เราก็บอก​ พงอึนซา​ สะกดถูกไหม
- เดินทางจากโคเอ็กไปวัดยังไง​ เราบอกเดิน​ แล้วเดินกี่นาที​ ระยะเวลายังไง
- เอาเงินมากี่บาท​ บัตรเครดิตมีไหม​ ขอดู
- แล้วตอนเย็นจะไปกินอะไร​ เราบอกปิ้งย่าง​ เราแคปไว้ในโทรศัพท์เเล้ว​ นางถามต่อไปยังไง​ เลยบอกฉันแคปแผนที่ไว้ในมือถือแล้ว​ แค่ดูว่าร้านอยู่แถวไหนฉันก็นั่งรถไฟไปลงและเปิด​ Map
- นางถามต่อ​ ร้านอยู่ที่ไหน​ ทำไมถึงเลือกไปร้านนี้
- คุณไม่เช็กอินเหรอ​ เราบอก​โรงแรม​ มีที่ฝากกระเป๋า​ เช็กกี่โมงก็ได้​ แต่เปิดให้เช็ก​ 15.00 น.
- กินมื้อเย็นเสร็จและไปไหนต่อ​ เราตอบไปโซลทาวเวอร์​ นางถาม​ ไปยังไง
- แล้วจะนอนกี่โมง​ พรุ่งนี้จะตื่นกี่โมง ​และไปไหนต่อ​ บอกแพลนคุณมา
- วันที่ 2​ จะไปไหน​อธิบายมา
- ไหนเปิดในมือถือคุณให้ดูว่าแคปอะไรเกี่ยวกับการมาเที่ยวเกาหลีบ้าง​

คำถามด้านบน เราตอบได้หมดจริง ๆ ค่ะ คือเป็นคนทำแพลน + ชอบอ่านการเดินทางไปที่ต่าง ๆ + กับจองจ่ายเองหมด ยอดเงินก็ตอบได้ประมาณค่าโรงแรม 9000 กว่า ๆ เกือบหมื่น อาจไม่ได้เป๊ะแบบตัวเลขแม่น ๆ ค่ะ แต่คำตอบไม่น่าเกลียดแน่นอนค่ะ

(คิดว่ามีคำถามอีกอะ​ เขาถามเยอะมาก​ เเต่นี่คือเท่าที่คิดออก​ว่าเขาถามอะไรมา​ เพราะคุยนานมาก)

>> คำถามที่ปิดจบบทสนทนา

- มาอยู่ 3 วันใช่ไหม คุณคิดไว้ไหมว่า​ ‘มื้อเช้า-กลางวัน-เย็น’​ จะไปกินร้านอาหารร้านไหน

เราบอกเจอร้านไหนน่ากินก็แวะเลย​ ไม่เคยมาลอง กินได้ทุกร้าน​ และจะกินสตรีทฟู้ดด้วย​ ไก่ทอดร้าน​ BHC เบเกอรี่​ Onion

นางพูดว่า​ ฉันถามว่า​ คุณจะกินร้านอาหารอะไร​ ใน 3 วัน​ 3 มื้อ​ ตอบไม่ได้ใช่ไหม​ (นางย้ำ)​

เราบอก​ เราตอบไปเเล้ว​ ว่าเจออะไรก็กิน​ ต้องการลองทุกอย่าง​ โอเค​ สรุปว่าคุณยังไม่พร้อมเข้าประเทศเรา​ ไม่มีความพร้อมมากพอ​ ปฎิเสธการเข้าประเทศ​ พร้อมยื่นเอกสาร​ ใบยินยอม

เราไม่ยอม​ ขอร้องว่า​ มาเที่ยวจริง ๆ​ เอกสารมีครบฉันไม่ได้มาทำงาน​ ฉันดูเหมือนคนมาทำงานเหรอ

นางบอกคุณตอบคำถามไม่ได้​ (คำถามร้านอาหาร​ 3 มื้อ​ 3 วัน)

เราเลยย้อนถาม​ คุณตอบได้เหรอ​ บอกไปแล้วกินอะไรก็กินได้​ ไม่ได้ฟิกขนาดนั้นว่าต้องกินร้านไหนเวลาไหน​ นางบอกถ้านางมาไทย​ นางจะตอบได้หมดว่ากินร้านไหนที่ไหนยังไงในทุกมื้อ

(ไม่ได้ใส่ร้าย ตม. นะคะ อันนี้เจอเองจริง ๆ ไม่โอเวอร์เเน่นอน ยังจำได้ดีเพราะเพิ่งผ่านไปไม่กี่วัน เลยอยากให้คนที่ชื่นชอบเกาหลี เตรียมตอบไว้ ในกรณีต้องเข้าห้องเย็นจริง ๆ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่คิดว่าจะเจอคำถามขนาดนี้ ถ้าตอบได้หมดจน ตม.เหนื่อยจะถาม อาจปล่อยออกมาก็ได้ค่ะ)

‘สื่ออาวุโส’ ชี้!! ‘คนไทย’ นี่แหละ Soft Power ที่คนญี่ปุ่นตระหนัก พร้อมเปิดรับวัฒนธรรมใหม่ ‘ปรับตัว-ประยุกต์’ สร้างโอกาสต่อยอดเก่ง

(26 ก.พ.67) เถกิง สมทรัพย์ สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า…
 

สวัสดีบัดดี้… เวลาบัดดี้ไปญี่ปุ่น เคยเห็นสิ่งที่เรียกว่า ‘Soft Power’ ของไทยในบ้านเมืองเขาไหม…

พี่มีข้อคิดสนุกๆ มาแลกเปลี่ยนกับบัดดี้และเพื่อนๆ ในเพจ ดังนี้…

1.) เราไปเที่ยวญี่ปุ่นเพราะต้องการเสพความสุขจาก Soft Power ของญี่ปุ่น ทั้งอาหาร สินค้า ทิวทัศน์ ฤดูกาล วัฒนธรรม ผู้คน ความทันสมัยของบ้านเมือง และวิธีการบริหารต่างๆ ของญี่ปุ่น

2.) Soft Power ของญี่ปุ่นบดขยี้จิตใจของคนไทยให้อ่อนไหว หลงรัก เสพติด และยินยอมตกเป็นทาสอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

3.) ไม่เพียงแต่คนไทยจะโบยบินไปเสพ Soft Power ถึงประเทศญี่ปุ่นแบบไปแล้วไปอีก เขาบอกว่ามีอะไรใหม่ๆ ก็ไปกันแล้วไปกันเล่า

4.) แม้แต่ในบ้านเมืองของไทย Soft Power ของญี่ปุ่นก็ยกทัพมาให้เราเสพถึงบ้าน…

5.) ในกรุงเทพ ในต่างจังหวัด ในอำเภอ ในตำบล ในหมู่บ้าน เราจะเห็นอิทธิพลทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเต็มไปหมด ทั้งร้านอาหาร เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้… และคนไทยที่เคยเดินทางไปญี่ปุ่นกันมาแล้ว จะมีอยู่แทบจะทุกอำเภอในประเทศไทย

6.) ในทางกลับกัน Soft Power ของไทยในประเทศญี่ปุ่น… แทบจะหาไม่เจอ

7.) ร้านอาหารไทยแทบจะไม่มี ร้านนวดไทยไม่มี มีแต่สาวไทยไปบริการนวดในญี่ปุ่น ซึ่งมีแค่ในเมืองใหญ่ๆ

8.) ดาราไทย เพลงไทย หรือเพลงฝรั่งที่คนไทยร้อง… ไม่มีในญี่ปุ่น

9.) แม้คนญี่ปุ่นจะบินมาอยู่มาเที่ยวเมืองไทยมากมายหลายล้านคน แต่เขาไม่เคยขนเอา Soft Power ไทยกลับไปเผยแพร่ในญี่ปุ่น อย่างที่คนไทยขนมาให้คนไทยด้วยกันเสพสุข

10.) แต่ แต่… ในอีกมุมหนึ่ง

11.) Soft Power ของไทย ที่คนญี่ปุ่นต้องการที่สุด คือ ‘คนไทย’

12.) เพราะคนไทยมี ‘อำนาจซื้อ’ มหาศาล… จับจ่ายใช้สอยกันอย่างมีความสุขในญี่ปุ่น

13.) ในเวลาเดียวกัน… คนไทยจำนวนมากได้ไอเดียทำมาหากิน ทำมาค้าขาย มาจากการไปเที่ยวญี่ปุ่น

14.) Soft Power ญี่ปุ่นที่มากระจายทั่วทุกถนนในเมืองไทย… ส่วนใหญ่ก็เพราะคนไทยมีความสนใจ ได้เรียนรู้ ใฝ่รู้ เสาะหา มาใช้ทำมาค้าขาย จนได้รับความสำเร็จ

15.) การไปญี่ปุ่นของคนไทยทุกคนคือ ‘ทัศนศึกษา’ คือ การเรียนรู้นอกห้องเรียน การซึมซับโลกาภิวัฒน์ในภาคปฏิบัติ

16.) การไปญี่ปุ่น สำหรับพี่แล้ว… เทียบเท่าการไปยุโรปหรืออเมริกา เพราะความเจริญในทุกด้านของญี่ปุ่นเหนือกว่าหลายประเทศในโลกนี้

17.) คนไทยเราได้มีโอกาสไปเปิดหูเปิดตาในญี่ปุ่น พี่ถือว่า นี่คือการไปเรียนเมืองนอกในแบบกระทัดรัด…

18.) คนไทยส่วนใหญ่ไปญี่ปุ่น กลับมาพร้อมกับโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น และหลายคนได้ ‘แรงบันดาลใจมหาศาล’ มาพัฒนาตัวเอง

19.) และความเป็นคนไทยของเราที่มีจิตใจที่ ‘เปิดรับวัฒนธรรมใหม่ๆ’ ทำให้เราซึมซับนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน 

20.) เช่นเดียวกับ ความหลงใหลในเกาหลี, จีน, ยุโรป, อเมริกา ที่เรานำมาคลุกเคล้าในเบ้าหลอมขนาดใหญ่ที่มี ชื่อว่า ‘ประเทศไทย’

21.) เหลือเพียงว่า เราจะก้าวข้ามไปถึงการนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ปรับใช้จนเป็นสินค้า Soft Power ที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเองหรือไม่ 

22.) ดังเช่นการเข้ามาของ 7-11 ในยุคแรกๆ ส่งผลให้คนไทยนำรูปลักษณ์การค้าขายแบบนั้นไปประยุกต์ใช้จนเกิด ‘มินิมาร์ทของคนไทย’ ไปทั่วบ้านทั่วเมือง และสิ้นสุดยุคร้านค้าแบบ ‘โชว์ห่วย’... แม้เจ้าของร้านค่าส่วนใหญ่ในสมัยนั้นจะยังไม่เคยไปญี่ปุ่นเลย แต่เห็นระบบการบริหารจัดการของญี่ปุ่นผ่านร้านค้าอย่าง 7-11 

23.) ในช่วงเวลา 10 กว่าปีที่คนไทยได้รับโอกาสเดินทางไป… ญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น… และมีปรากฏการณ์เช่นนี้… พี่คิดว่าน่าพอใจมาก

คนไทยนี่แหละ คือ ‘Soft Power’ ที่แท้จริง…

เราจะส่งเสริมให้เขาเรียนรู้ดูดซับความรู้ต่างๆ มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเองและสังคม ในเชิงบวกมากขึ้นไปอีกอย่างไร??

'หนุ่ย พงศ์สุข' อึ้ง!! คำค้นหายอดนิยมในไทยที่ทั่วโลกเห็น หลายคำเห็นแล้วควรกลับมาปรับปรุงศึกษาในเชิงพฤติกรรม

เมื่อวานนี้ (27 ก.พ. 67) จากกรณีที่มีการเปิดเผย Digital Trends ปี 2024 จาก We Are Social ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการจัดอันดับเว็บไซต์ที่คนไทยเข้ามากที่สุด 20 อันดับแรก พบว่ามีการค้นหาเว็บที่ไม่เหมาะสมกับเยาวชนเป็นอันดับต้น ๆ 

ล่าสุดพิธีกรด้านไอทีชื่อดังอย่าง ‘หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์’ ได้อัปเดตผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์’ พูดถึงประเด็นเรื่อง คีย์เวิร์ด หรือ คำค้นหา ยอดนิยมของคนไทย ระบุข้อความว่า 

"รายงานนี้ไปทั่วโลก … ‘รายงานการใช้อินเทอร์เน็ตของไทย’ ประเทศอื่นผมยังไม่ได้อ่านรายงาน แต่ประเทศไทยเรา มีผลค้นหาคำว่า ‘xี’ เป็น Top Google Searches อันดับ 15 เรามี ‘เว็บโป๊’ อยู่ใน Top10 และมีถึง 2 เว็บใน Top 20… ใครไม่อาย ผมอาย ! จะอ่านเพื่ออายไปด้วยกันหรือศึกษาในเชิงพฤติกรรม น่ารู้ทั้งนั้นครับ ปรับใช้กับการงานเราได้ เมื่อรู้รายละเอียดพฤติกรรมต่าง ๆ นี้ 

https://www.beartai.com/news/itnews/1363460 ภาพ Info ทุกช่องในบทความนี้สไลด์ขวาเพื่อซูมดูได้หมดทั้งรายงาน

ป.ล. ตั้งแต่ยุคแรกที่มีการเปิดเผยรายงานอินเทอร์เน็ตไทย ยุคนั้นเพื่อนผมผู้จัดทำรายงาน (โดยอีกบริษัทหนึ่ง) เพื่อนเปิดเผยว่าเขาต้อง ‘ตัดออกหลายคำค้น’ เพราะเผยแพร่ไปคงไม่ดี ยุคนี้กล้าเปิดเผยกันแล้ว… พฤติกรรมการค้นหาเรายังไม่ต่างจากการใช้อินเทอร์เน็ตยุคแรกนัก 

xี น่าอาย แต่ไม่น่าห่วงเท่า พนัน ครับ"

'องค์กรระดับโลก' ชี้!! ทักษะ 'การอ่าน' ของคนไทยต่ำกว่าเกณฑ์  อยู่ในระดับไม่สามารถอ่านและทำความเข้าใจข้อความสั้นๆ ได้

เมื่อไม่นานมานี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ ธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยรายงานเรื่อง Fostering Foundational Skills in Thailand ซึ่งทำการสำรวจ ‘ทักษะทุนชีวิต’ (Foundational Skills) ของเยาวชนและแรงงานไทยเป็นครั้งแรก โดยทำการสำรวจ 3 ทักษะที่สำคัญ ได้แก่ 1.ทักษะการรู้หนังสือการอ่าน 2.ทักษะด้านทุนดิจิทัล และ 3.ทักษาะทางด้านอารมณ์และการเข้าสังคม

โดยผลสำรวจประชากร ช่วงอายุ 15 - 64 ปี จำนวน 7,300 คนจากทั่วประเทศทุกภูมิภาค พบว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติทักษะทุนชีวิต โดยเยาวชนและผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มีทักษะทุนชีวิตที่ ‘ต่ำกว่าเกณฑ์’ กล่าวคือพวกเขาไม่สามารถอ่านและทำความเข้าใจข้อความสั้นๆ ได้ ไม่สามารถใช้งานเครื่องมือดิจิทัลแบบง่ายๆ ได้ เช่นเดียวกับไม่มีแนวโน้มที่จะคิดริเริ่มทางสังคมหรือมีความกระตือรือร้นอยากรู้อยากเห็น

เกือบ 2 ใน 3 ของเยาวชนและผู้ใหญ่ในประเทศไทย หรือ 64.7% มีทักษะด้านการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์ แปลว่าพวกเขาไม่สามารถอ่านและทำความเข้าใจข้อความสั้นๆ เพื่อแก้ปัญหาได้ เช่น การอ่านและทำตามฉลากยา เป็นต้น

ผลสำรวจ 3 ใน 4 หรือ 74.1% มีทักษะทุนชีวิตด้านดิจิทัลที่ต่ำกว่าเกณฑ์ แปลว่าพวกเขาไม่สามารถใช้อุปกรณ์ชี้ตำแหน่ง (เมาส์) และแป้นพิมพ์ (คีย์บอร์ด) บนคอมพิวเตอร์พกพา เพื่อใช้ทำงานง่ายๆ ได้ เช่น การหาราคาที่ถูกต้องของสินค้าบนเว็บไซต์ซื้อขายของออนไลน์ เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น 30.3% ของเยาวชนและผู้ใหญ่ในไทย มีทักษะรากฐานทางอารมณ์และสังคมที่ต่ำกว่าเกณฑ์ หรือพวกเขาไม่มีแนวโน้มที่ชัดเจนในการริเริ่มทางสังคม หรือมีความกระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น และมีจินตนาการ

วิกฤตทักษะทุนชีวิตที่สังคมไทยกำลังเผชิญ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ​ (Gross Domestic Product หรือ GDP) หายไปประมาณ 20.1% หรือคิดเป็นเงินประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท ในปี 2022 กล่าวคือเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์ “มีรายได้น้อย” กว่ากลุ่มคนที่มีทักษะสูงกว่าเกณฑ์ หรือมีรายได้แตกต่างมากถึง 6,324 บาทต่อเดือน ซึ่งถือเป็นความแตกต่างที่เยอะมาก 

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่าประเทศไทยมีเยาวชนและผู้ใหญ่เกือบ 1 ใน 5 หรือ 18.7% ที่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เนื่องจากขาดทักษะทุนชีวิตทั้ง 3 ด้าน ซึ่งหมายถึงพวกเขาเหล่านั้นแทบจะไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง และมีแนวโน้มที่จำเป็นต้องพึ่งพาคนอื่นเพื่อชดเชยวิกฤตด้านทักษะ

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยเสนอ 5 ข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลไทย เพื่อพัฒนาคุณภาพและสมรรถนะทางการศึกษาสำหรับการเสริมสร้างทักษะทุนชีวิต ดังต่อไปนี้ 

- ปรับปรุงคำแนะนำเชิงกลยุทธ์สำหรับนักการศึกษา เพื่อทำความเข้าใจและตอบสนองต่อวิกฤตทักษะทุนชีวิต
- เพิ่มประสิทธิภาพและความครอบคลุมเรื่องการส่งมอบการเรียนรู้แบบกระจายอำนาจ
- ปรับใช้เครื่องมือที่เป็นนวัตกรรม เพื่อช่วยปรับปรุงการเรียนการสอน
- เสริมสร้างการประกันคุณภาพ
- ใช้ประโยชน์จากพลังของแคมเปญการให้ความรู้และข้อมูลต่างๆ 

ชื่นชม!! ‘พ่อค้าร้านบะหมี่’ วิ่งสับขาคืนเงิน ‘ลูกค้าชาวจีน’ หลังกดโอนผิดมา 3 แสนบาท พร้อมขอไม่รับสินน้ำใจ

เมื่อวานนี้ (6 มี.ค. 67) จากเฟซบุ๊ก ‘Jo Montanee’ ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า…

จากโพสต์พี่โจวันก่อน ที่เล่าเรื่องจริงว่าพี่โจลืมกระเป๋าเงินใส่มือถือพร้อมเงินสดนับ 10,000 บาท ไว้ในห้องน้ำห้างเซ็นทรัล แล้วมีน้องผู้หญิงเก็บได้ และไม่ยอมรับเงินสินน้ำใจจากพี่โจ
แล้วก็มีคอมเมนต์บอกว่าพี่โจโชคดีบ้าง หรือตัวเขาเองลืมแบบนี้แต่ไม่ได้คืนบ้าง

เพจริงไซด์การเมือง เพิ่งลงเรื่องจริงของคุณพี่เจ้าของร้านบะหมี่ ที่ลูกค้านักท่องเที่ยวชาวจีนสี่คนมาทานบะหมี่ที่ร้าน แล้วโอนเงินผ่านแอปฯ ด้วยจำนวนตัวเลขที่ผิด แทนที่จะโอน 210 บาทกลับโอนถึง 333,000 บาท!

คุณพี่เจ้าของร้านรีบวิ่งไปตามลูกค้าเพื่อจะคืนเงินให้ แม้ลูกค้าชาวจีนจะซาบซึ้งและต้องการมอบสินน้ำใจตอบแทน แต่คุณพี่เจ้าของร้านก็ไม่รับค่ะ คุณลูกค้าจึงวางเงิน 1,000 บาทให้แทน พร้อมกับนำความรู้สึกสำนึกคุณอย่างลึกซึ้งหอบกลับแดนมังกรไปด้วย

เรื่องจริงนี้พี่โจนำมาลงเพื่อจะบอกแฟนๆ สองเรื่อง

1. สังคมต้องการชูเรื่องแบบนี้เยอะๆ จนกลายเป็นกระแสหลักว่า...ใครที่ไหนก็ทำความดีแบบนี้ได้ทั้งนั้น ทุกที่ทุกคน เป็นเรื่องธรรมดาของคนไทย และ

2. จริงอยู่เมืองไทยคนไม่ดีมีอยู่ทุกที่แต่… คนดีก็มีอยู่ทุกที่เช่นกัน ในจำนวนมากกว่า
มันอยู่ที่ “เราเลือกเชื่อและปลูกฝังทัศนคติแบบไหน” หมาป่าดำหรือหมาป่าขาวค่ะ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top