Saturday, 19 April 2025
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

‘กกพ.’ ประกาศ ครม.มีมติ ‘ลดค่าไฟ’ เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย มีผลตั้งแต่ ก.ย.66 ชี้ หากจ่ายไปแล้วจะหักในรอบบิลถัดไปแทน

(5 ต.ค.66) นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า บอร์ด กกพ.มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บในงวดเดือนกันยายน - ธันวาคม 2566 ตามที่ผู้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเสนอมาในอัตรา 20.48 สตางค์ต่อหน่วย 

ทั้งนี้ จะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 กันยายน 2566 ซึ่งมีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนกันยายน - ธันวาคม 2566 ในอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลงเหลือในอัตรา 3.99 บาทต่อหน่วย 

โดยให้กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วน ที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง รอบคอบ เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี สำนักงาน กกพ. อยู่ระหว่างดำเนินการส่งหนังสือแจ้งการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (กฟผ. กฟน. และ กฟภ.) เพื่อประกาศค่าเอฟทีค่าใหม่ในรอบเดือนกันยายน - ธันวาคม 2566 

สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่จ่ายค่าไฟฟ้าในรอบเดือนกันยายน 2566 ไปแล้ว จะได้รับการหักส่วนลดค่าไฟฟ้าดังกล่าวในรอบบิลเดือนตุลาคมนี้ต่อไป

"การดำเนินการดังกล่าวอาศัยอำนาจตามมาตรา 64 ประกอบกับมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และข้อ 11 ตามประกาศ กกพ. เรื่อง กระบวนการขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565" 

'กกพ.' เคาะค่าไฟใหม่เป็นทางการ 4.18 บาท กลุ่มเปราะบาง 3.99 บาท หลัง 'พีระพันธุ์' สั่งตรึงราคา จบตัวเลขก่อนหน้าที่จ่อพุ่งแตะ 6 บาท

(31 ก.ค.67) แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมประชุมเห็นชอบค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เรียกเก็บในงวดสุดท้ายของปี ก.ย.-ธ.ค. 67 อย่างเป็นทางการ หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 12-26 ก.ค. 67 ใน 3 กรณี คือ กรณีแรก หน่วยละ 4.65 บาท กรณี 2 หน่วยละ 4.92 บาท และกรณี 3 หน่วยละ 6.01 บาท แต่ละกรณีแตกต่างกันที่การชำระหนี้คงค้างจำนวน 98,495 ล้านบาท ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

อย่างไรก็ตาม แม้ กกพ.จะประกาศ 3 ราคา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นค่าไฟทั้งหมด จากงวดปัจจุบันอยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท แต่ทางนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ได้ขอที่ประชุม ครม.พิจารณาแนวทางการช่วยเหลือประชาชนให้ตรึงราคาค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายไว้เท่าเดิม คือ หน่วยละ 4.18 บาท ซึ่งทาง ครม.วันที่ 23 ก.ค. 67 ได้อนุมัติแนวทางตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการภาระค่าเชื้อเพลิงร่วมกับ กฟผ. และบมจ.ปตท. รวมถึงการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่กรอบไม่เกินลิตรละ 33 บาท โดยใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 67 ซึ่งขณะนี้ทาง กกพ.ได้รับหนังสือยินยอมภาระต้นทุนคงค้าง และจะทยอยคืนทีหลังจาก กฟผ.แล้ว และคาดว่า วันที่ 30 ก.ค. ทาง ปตท.จะส่งหนังสือรับภาระต้นทุนคงค้าง และทยอยจ่ายคืนทีหลังเช่นกัน

ทั้งนี้หากที่ประชุมบอร์ด กกพ. อนุมัติและประกาศเป็นทางการแล้ว คาดว่า ใช้เวลา 1-2 วัน หรืออย่างช้าสุดไม่เกิน 1 สัปดาห์หลังจากบอร์ดเห็นชอบ ส่งผลให้บิลค่าไฟฟ้าเดือน ก.ย.–ธ.ค. 67 อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนทั่วไปจะอยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท ส่วนกลุ่มเปราะบาง ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ยังคงไว้ในอัตราเดิมหน่วยละ 3.99 บาท มีจำนวน 17.7 ล้านครัวเรือนเช่นเดิม โดย ครม.จะนำงบกลางมาชดเชย

อย่างไรก็ตามผลจากการตรึงราคาค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 67 อยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท จากที่ควรต้องปรับขึ้นตามแนวทางที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความคิดเห็น เป็นที่ 4.65-6.01 บาทต่อหน่วย ทำให้ ปตท.และ กฟผ. จะยังไม่ได้รับการคืนต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง หรือเอเอฟก๊าซ ที่ทั้ง 2 หน่วยงานร่วมกันแบกรับภาระแทนประชาชนไปก่อน 15,083.79 ล้านบาท โดย กฟผ.จะได้รับคืนภาระต้นทุนคงค้างที่เกิดขึ้นจริงเพียงหน่วยละ 5 สตางค์ จากภาระต้นทุนคงค้างที่สะสมอยู่จำนวน 98,495 ล้านบาท จะต้องรอทยอยเรียกเก็บคืนจากประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในภายหลัง ซึ่งยังไม่รู้อนาคตว่า งวดแรกของปี 68 (ม.ค.-เม.ย.) จะต้องรับภาระยืดการชำระไปอีกหรือไม่ เนื่องจากทิศทางราคาพลังงานยังมีแนวโน้มผันผวนอย่างต่อเนื่อง

‘กกพ.’ เร่งเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รองรับการลงทุน-พัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ

เมื่อวานนี้ (26 ก.ย. 67) ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2566 (ครั้งที่ 165) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 กำหนดให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบสอง จำนวน 3,668.50 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยประเภทเชื้อเพลิง ดังนี้

(1) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 2,632 เมกะวัตต์ (แบ่งโควตาให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในรอบแรก จำนวน 1,580 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดเชิญชวนรับซื้อทั่วไป จำนวน 1,052 เมกะวัตต์) 

(2) พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ (แบ่งโควตาให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในรอบแรก จำนวน 600 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดเชิญชวนรับซื้อทั่วไป จำนวน 400 เมกะวัตต์) 

(3) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) จำนวน 6.50 เมกะวัตต์ และ 

(4) ขยะอุตสาหกรรม จำนวน 30 เมกะวัตต์ 

ซึ่งปัจจุบัน กกพ. ได้ออกระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากกลุ่มรายชื่อเดิมที่เป็นผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินที่ผ่านความพร้อมทางด้านเทคนิคและได้รับการประเมินคะแนนแล้ว แต่ไม่ได้รับคัดเลือก จำนวน 198 ราย ซึ่งเป็นผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) และได้รับการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) แต่เนื่องจากการจัดหาครบตามเป้าหมายแล้วจึงไม่ได้รับการคัดเลือกในรอบที่ผ่านมา 

ในขั้นตอนต่อไป กกพ. อยู่ระหว่างพิจารณาเตรียมออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed - in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 ภายในเดือนกันยายนนี้ โดยให้สิทธิ์กับกลุ่มรายชื่อเดิม จำนวน 198 ราย มายื่นแบบการแสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมการคัดเลือก 

ทั้งนี้ กกพ. จะพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากผลการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) ที่ได้จัดทำไว้ โดยไม่ต้องปรับปรุงแก้ไข คำเสนอขายไฟฟ้า ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานลม และไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่งคาดว่าสำนักงาน กกพ. จะประกาศผลคัดเลือกได้ภายในสิ้นปี 2567 

ที่ผ่านมา กกพ. ได้ติดตามสถานะโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ได้แก่ (1) ก๊าซชีวภาพ 
(น้ำเสีย/ของเสีย) (2) ลม (3) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน และ 
(4) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่งเป็นไปตามมติ กพช. ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 (ครั้งที่ 158) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 รวมทั้งสิ้นจำนวน 4,852.26 เมกะวัตต์ และโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับขยะอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นไปตามมติ กพช. ในการประชุมครั้งที่ 4/2565 (ครั้งที่ 159) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 รวมทั้งสิ้นจำนวน 100 เมกะวัตต์ หลังจากก่อนหน้านี้ ได้เกิดกรณีฟ้องร้องทางกฎหมายส่งผลให้ศาลปกครองได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโครงการฯ ประเภทเชื้อเพลิงพลังงานลม จำนวน 22 ราย ส่งผลให้การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมออกไป มีผลต่อกระบวนการรับรองไฟฟ้าสีเขียวตามแนวทาง Utility Green Tariff (UGT) ของ กกพ. ที่ต้องอาศัยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในโครงการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวด้วย

“ภายหลังจากที่เกิดข้อพิพาททางปกครอง และศาลปกครองได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโครงการฯ ประเภทเชื้อเพลิงพลังงานลม ทำให้ กกพ. จะต้องชะลอโครงการเพื่อรอความชัดเจนจากผลของการอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับดังกล่าว ซึ่งในระยะเวลาต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยกคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ทุเลาการบังคับตามประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโครงการฯ ดังกล่าวแล้ว และล่าสุดบริษัท วินด์ กาฬสินธุ์ 2 จำกัด ได้ยื่นขอถอนฟ้องคดี โดยศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนคำฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้ว ส่งผลให้ในปัจจุบันกระบวนการรับซื้อไฟฟ้าในรอบใหม่ที่ได้ล่าช้าไปจากกำหนดเดิมสามารถเดินหน้าต่อไปได้” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว

ดร.พูลพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เห็นชอบหลักการการปรับเลื่อนกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) สำหรับโครงการฯ ประเภทเชื้อเพลิงพลังลมที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครอง และมอบหมายให้ กกพ. พิจารณาปรับกรอบระยะเวลาการเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และปรับเลื่อน SCOD ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของแต่ละโครงการได้ตามสมควร ซึ่งต้องไม่ให้เกินกรอบภายในปี 2573 โดยให้ผู้ที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 22 ราย แจ้งความประสงค์การขอปรับเลื่อน SCOD เสนอให้ กกพ. พิจารณาก่อนลงนามสัญญาต่อไป

“ด้วยการเร่งเดินหน้าการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว จะช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการจัดหาพลังงานสะอาดเพื่อรองรับการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission)” ดร.พูลพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

‘กัลฟ์-เอ็กโก-ราช-บาฟส์’ ลงชิง ขายไฟ ‘ลม-โซลาร์เซลล์’ 2.1 พันเมก หลัง ‘กกพ.’ ประกาศรับซื้อไฟฟ้าสะอาดจาก ‘พลังงานหมุนเวียน’

(14 ต.ค. 67) การประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายใต้ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 ได้รับความสนใจจากผู้ผลิตไฟฟ้าอย่างมาก เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนตามเทรนด์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งเป้าหมายสู่ Net Zero 

สำหรับการประกาศรับซื้อรอบแรก 5,000 เมกะวัตต์ มีผู้สนใจยื่นขายไฟฟ้าถึง 15,000 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ภาครัฐประกาศรับซื้อเพิ่มอีก 3,000 เมกะวัตต์ โดยการประกาศรับซื้อรอบล่าสุดประกาศไป 2,100 เมกะวัตต์ ยังเหลืออีกบางส่วนที่รอประกาศเพิ่ม

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ.เปิดเผยว่า สำนักงาน กกพ.กำหนดรายละเอียดการเพื่อประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายใต้ประกาศ กกพ.เรื่องรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 (เพิ่มเติม)

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้เงื่อนไขและระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้าวันที่ 8 ต.ค.2567 โดยการไฟฟ้าประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการ กรอบเวลา 7 วัน จากนั้นสำนักงาน กกพ.ประกาศรายชื่อภายใน 30 วัน และจะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 180 วัน

นายพูลพัฒน์ กล่าวว่า กกพ.กำหนดเงื่อนไขให้สิทธิ์กลุ่มที่เคยยื่นข้อเสนอผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินภายใต้โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ FiT ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงจำนวน 198 ราย รวมปริมาณรับซื้อไฟฟ้า 5,203 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ได้ผ่านเกณฑ์พร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) และได้รับประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) ภายใต้โครงการแต่ไม่ได้รับการคัดเลือกในโครงการดังกล่าว เนื่องจากการจัดหาไฟฟ้าได้ครบตามเป้าหมายแล้ว

สำหรับการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมดังกล่าวรวม 2,180 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานลมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ เป็นลำดับแรก และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ พร้อมยื่นเสนอขายไฟสะอาดรอบ 2 ของสำนักงาน กกพ.โดยคาดว่าจะได้รับโครงการไม่ต่ำกว่า 20% ของจำนวนที่เปิดรับซื้อ โดยเบื้องต้นอาจร่วมมือกับพันธมิตร

นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเปิดรับซื้อไฟสะอาดเฟส 2 กัลฟ์พร้อมเข้าร่วมเสนอราคาและหวังที่จะให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ 

สำหรับการเปิดรับรอบแรก 5,000 เมกะวัตต์ กัลฟ์เป็นผู้ชนะราว 3,000 เมกะวัตต์ โดยภาพรวมรายได้จะเริ่มเห็นในช่วงปีหน้าเป็นต้นไป ส่วนแผนลงทุน 5 ปีวางไว้อยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน 80% หรือที่ระดับ 7.5 หมื่นล้านบาท

“ปัจจุบันกำลังการผลิตรวมกลุ่มกัลฟ์ที่ COD ไปแล้วอยู่ที่ 1.4 หมื่นเมกะวัตต์ โดยหากรวมกำลังการผลิตในต่างประเทศด้วยจะมีอยู่ที่รวม 2.3 หมื่นเมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน 8% และตั้งเป้าหมายปี 2033 จะเพิ่มเป็น36%” นายรัฐพล กล่าว

หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS กล่าวว่า กลุ่มบาฟส์มีธุรกิจโรงงานไฟฟ้า 40 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่ม โดยพร้อมยื่นขอรับสิทธิขายไฟสะอาดเฟส 2 จากสำนักงาน กกพ.แน่นอน โดยจะร่วมมือกับพันธมิตร

“หากชนะการนำเสนอครั้งนี้ จะเพิ่มโอกาสขยายสัดส่วนพลังงานสะอาดในไทย อีกทั้งจะเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน จากการร่วมลงทุนกับ บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ลัคกี้ คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ไบเซล เวสท์ เอ็นเนอร์ยี่ ที่ชนะรอบแรกมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่ จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 9.9 เมกะวัตต์” หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ กำลังศึกษาโครงการ Direct PPA ขนาด 2,000 เมกะวัตต์ และมองว่าตลาดขยายตัวสูงจากนโยบายรัฐบาลพยายามส่งเสริมให้เอกชนได้ซื้อ-ขาย ไฟได้โดยตรง โดยอาจยื่นเองโดยตรงและร่วมกับพันธมิตร เพราะบางโครงการมีความเสี่ยงและบริษัทยังไม่มีเทคโนโลยีและประสบการณ์มากพอ

“เราจะทำโซลาร์เพราะมองว่าความเสี่ยงต่ำ ตอนขึ้นโครงการที่มองโกเลีย เป็นโครงการแรกของกลุ่มบริษัททำโซลาร์และระบบแบตเตอรี่สำรองไฟ จึงมองว่าไทยมีโอกาสจะได้นำมาใช้ ส่วนจำนวนเมกะวัตต์ต้องรอดูก่อน” หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ กล่าว

น.ส.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group เปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมายระยะสั้นเป็นการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2573 ผ่านการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงานสะอาดทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับการลงทุนในประเทศ EGCO Group พร้อมนำโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินกว่า 10 โครงการ ที่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) จากโครงการ RE Big Lot รอบที่ 1 แต่ยังไม่ได้คัดเลือกเพื่อเข้าร่วมโครงการ RE Big Lot ในรอบที่ 2

นอกจากนี้ หาก EGCO Group ได้รับคัดเลือกในรอบ 2 จะช่วยให้บริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในพอร์ตโฟลิโอเพิ่ม และสอดคล้องเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2573

“หากการยื่นสิทธิรอบ 2 ครั้งนี้รวม 2,180 เมกะวัตต์ เรียบร้อยแล้ว สำนักงาน กกพ.ยังมีโควตาพลังงานหมุนเวียนเหลือ 1,488 เมกะวัตต์ ที่จะเปิดรับซื้อเป็นการทั่วไปในรอบที่ 3” น.ส.จิราพร กล่าว

นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราชกรุ๊ป มีความสนใจที่จะร่วมยื่นขายไฟจากพลังงานหมุนเวียนรอบ 2 ของ สำนักงาน กกพ.เช่นเดียวกัน โดยหากเศรษฐกิจดีจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น จึงขอให้รัฐบาลเร่งใช้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2024) ที่รองรับความต้องการใช้พลังงานสะอาดเพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต

ทั้งนี้ ในครึ่งปีหลังของปี 2567 จะลงทุนระดับ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจและเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้ถึง 30% ในปี 2573 และ 40% ในปี 2578 โดยปัจจุบันราชกรุ๊ป มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนรวม 10,817.28 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลรวม 7,842.61 เมกะวัตต์ (72.5%) และกำลังผลิตจากพลังงานทดแทนรวม 2,974.67 (27.5%)

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การเปิดรับซื้อพลังงานหมุนเวียนรอบ 2 รวม 3,668 เมกะวัตต์ แม้สำนักงาน กกพ.อนุมัติกรอบเวลาการรับซื้อไว้แล้ว แต่ยังเหลือไฟสะอาดอีก 1,500 เมกะวัตต์ ที่จะต้องรอคณะกรรมการ กกพ.ชุดใหม่มาบริหารงานตามนโยบายต่อไป

อย่างไรก็ตาม สิ้นเดือน ก.ย.2567 มี กกพ.ครบวาระ 4 คน คือ 1.นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ 2.นายสุธรรม อยู่ในธรรม 3.นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ และ 4.นายสหัส ประทักษ์นุกูล โดยกระทรวงพลังงานควรเสนอชื่อคณะกรรมการสรรหาบอร์ด กกพ.ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่วงหน้า 1 เดือน เพื่อมีเวลาสรรหา แต่ยังไม่ดำเนินการและนายเสมอใจ ประธาน กกพ.มีอายุครบ 70 ปี ต้องพ้นจากตำแหน่ง

“เมื่อประธานพ้นตำแหน่งต้องตั้งรักษาการประธานจะทำให้การทำงานล่าช้า ดังนั้น การเปิดรับซื้อไฟสะอาดรอบ 2 ในส่วนที่เหลืออาจจะต้องรอบอร์ดชุดใหม่ที่มีอำนาจเต็มมาดำเนินการ” แหล่งข่าว กล่าวทิ้งท้าย

‘รสนา’ ชื่นชม!! ‘กกพ.’ ชงลดค่าไฟฟ้า แนะ!! เจรจาลด ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ ด้วย

เมื่อวานนี้ (17 ม.ค. 68) นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า …

มาช้าดีกว่าไม่มา กกพ.จ่อชงนายกฯทบทวนค่าแอดเดอร์พลังงานหมุนเวียน หั่นค่าไฟลง 17 สตางค์ เหลือ 3.98 บาท

ข่าวสื่อมวลชนวันนี้ระบุว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)เตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีให้ทบทวนนโยบายรัฐที่ให้เงินส่วนเพิ่มไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่เรียกว่า แอดเดอร์ (Adder) ทำให้ราคารับซื้อเพิ่มสูง และมีการต่อสัญญาแบบอัตโนมัติทำให้ค่าไฟมีราคาสูงกว่าราคาที่เป็นจริงในปัจจุบันมาก หากมีการทบทวนราคารับซื้อตามต้นทุนจริง จะลดค่าไฟลง 17 สตางค์ เหลือ 3.98 บาท คาดประหยัดค่าไฟได้ 3.3 หมื่นล้านบาทต่อปี

ในการรับฟังความเห็นประชาชนเรื่องการปรับค่าFt ของกกพ.งวด มกราคม -เมษายน 2568 ระหว่างวันที่ 8-22 พฤศจิกายน 2567 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค)ได้เสนอแนวทางการปรับลดราคาค่าไฟไปทั้งหมด 6 ข้อ

หนึ่งใน6 ข้อเสนอของสภาผู้บริโภค ก็คือเสนอให้ยกเลิกนโยบายมาตรการสนับสนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่สูงเกินสมควรจนมีผลกระทบต่อภาระค่าไฟฟ้าทั้งระบบ ซึ่งกกพ. ควรเสนอให้ทบทวนนานแล้ว เอกชนได้ค่าไฟฟ้าส่วนเกินที่ไม่ควรได้รับปีละ 3.3 หมื่นล้านบาท เป็นค่ารับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ที่หมดอายุ 8-10 ปีไปแล้ว แต่กกพ.ก็ยังปล่อยให้ต่อสัญญาโดยอัตโนมัติในราคาสูง โดยประชาชนตาดำๆ ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายนี้ให้เอกชนผ่านค่าไฟฟ้า เป็นภาระค่าไฟแพงของประชาชน แต่ไม่ปรากฎว่ากกพ.จะได้นำข้อเสนอนี้ของสภาผู้บริโภคไปพิจารณาเพื่อลดค่าไฟในงวด มกราคม- เมษายน 2568 แต่ประการใด

อย่างไรก็ตาม มาช้าดีกว่าไม่มา ก็ต้องชื่นชมที่ กกพ.ตัดสินใจทำข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรีให้ทบทวนการให้เงินส่วนเพิ่ม(Adder)ว่าควรยกเลิกได้แล้วเพราะปัจจุบันราคาพลังงานหมุนเวียนมีราคาลดลงมากแล้ว ซึ่งบริษัทเหล่านั้นได้คืนทุนและมีกำไรคุ้มไปนานแล้ว การต่อสัญญาอัตโนมัติจึงควรยกเลิก ซึ่งจะทำให้สามารถลดค่าไฟลงได้ 17 สตางค์/หน่วย ทำให้ค่าไฟลดลงเหลือ 3.98 บาท/หน่วย จากที่กำหนดไว้เดิมที่ 4.15บาท/หน่วย และทำให้ประชาชนได้ปลดแอกบนบ่าถึงปีละ 3.3 หมื่นล้านบาทได้สักที

สิ่งที่กกพ.ควรเสนอนายกรัฐมนตรีเพิ่มอีกอย่างน้อย 1 ข้อ คือให้เจรจาลดค่าความพร้อมจ่ายสำหรับโรงไฟฟ้าที่ได้คืนทุนและมีกำไรพอสมควรแล้ว จากเอกสารของกกพ. ในงวด มกราคม-เมษายน 2568 ค่าความพร้อมจ่ายสูงถึง 19,875 ล้านบาท หากคำนวณทั้งปี จะเป็นเงิน 59,625 ล้านบาท/ปี หากนำมาเฉลี่ยกับหน่วยไฟที่ใช้ทั้งประเทศประมาณ 200,000 ล้านหน่วย/ปี เท่ากับจะลดลงได้ 29-30 สต./หน่วย หากตัดค่าความพร้อมจ่ายส่วนนี้ไปได้ น่าจะลดได้ค่าไฟลงไปได้อีกเกือบ30 สตางค์/หน่วย (ตัวเลขที่นำมาคำนวณจากเอกสารที่เผยแพร่โดย กกพ.ในการรับฟังความเห็นค่า Ft)

แม้ตามสัญญาค่าความพร้อมจ่ายอาจจะตัดไม่ได้ แต่รัฐบาลสามารถใช้ประเด็น ‘เหตุสุดวิสัย’ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐเพื่อลดค่าไฟ เปิดให้มีการเจรจาลดค่าความพร้อมจ่ายในโรงไฟฟ้าที่คืนทุนแล้ว หรือไม่มีการผลิตแต่ยังได้ค่าความพร้อมจ่าย โดยแลกกับการขยายสัญญารับซื้อไฟต่อให้อีกสัก1-2ปีหลังหมดสัญญา และโรงไฟฟ้าใหม่ไม่ควรมีค่าความพร้อมจ่ายอีกแล้ว

กกพ.จึงควรถือเป็นหน้าที่ในการรีดไขมันที่ทำให้ค่าไฟแพงอย่างไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ซึ่งยังมีอีกหลายรายการที่สมควรพิจารณาต่อไปอย่างจริงจัง จะเป็นการช่วยลดภาระที่ประชาชนแบกจนหลังแอ่นมายาวนานมาก และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่มีราคาค่าไฟเหมาะสมจูงใจให้ธุรกิจต่างชาติสนใจจะมาลงทุน

รัฐบาลหัดคิดนโยบายประชานิยมเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรมบ้าง ประชาชนจะได้เงยหน้าอ้าปากอย่างยั่งยืน เลิกใช้วิธีกู้เงินมาหว่านแจกซื้อเสียงแบบฉาบฉวยได้แล้ว!!


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top