Monday, 20 May 2024
ข้าว

'ปชป.’ เหน็บ!! 'ภูมิธรรม' กินข้าวโชว์ก็เปลี่ยนคำพิพากษาไม่ได้ ถาม? ช้อนซื้อที่ไหน ตักติดแต่กับไม่ค่อยติดข้าว 

(7 พ.ค.67) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้ออกมายืนยันว่า โกดังข้าว 10 ปียังกินได้ว่า...

เรื่องนี้คงไม่มีใครขัดข้องถ้าข้าวที่เก็บไว้ในโกดังยังมีคุณภาพดี สามารถบริโภคได้ หุงได้ กินได้ แต่ดูจากข้อเท็จจริงแล้วเจ้าหน้าที่นำข้าวสารไปเตรียมการหุง ก่อนหุงข้าว ซาว 13-15 น้ำ นั้น น้ำซาวข้าวมีมอดลอยอยู่เป็นจำนวนมาก ย่อมแสดงให้เห็นว่าข้าวไม่ได้คุณภาพอย่างแท้จริง นายภูมิธรรมควรเอาข้าวในโกดังดังกล่าวไปหุงให้รัฐมนตรีได้กินกันทั้งคณะในทุกวันอังคารที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ต้องแนะนำแม่บ้านที่หุงข้าวไม่อยากให้ซาวน้ำหลายครั้งเพราะถ้าซาวน้ำมากกว่า 3 ครั้ง อาจจะทำให้สูญเสียสารอาหารและกลิ่นหอมในข้าวได้ ก็จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและประหยัดค่าใช้จ่ายได้

นายราเมศกล่าวต่อไปว่า กระบวนการตรวจคุณภาพของข้าวว่ามีคุณภาพสามารถบริโภคได้หรือไม่ มีกระบวนการหลักการอยู่ มีหลายหน่วยงานที่สามารถเข้ามาช่วยกันได้เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ว่าบริโภคได้แน่ เพราะถ้าหากข้าวที่ไม่มีคุณภาพหลุดออกไปประชาชนผู้บริโภคคือผู้รับกรรม การตักข้าวใส่ปากกินโชว์ของรองนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่มาตรฐานการตรวจวัดคุณภาพข้าว และภาพมันฟ้องว่าแม้แต่ตัวรองนายกเองก็ไม่มีความกล้าเต็มร้อย เพราะเน้นกับไม่เน้นข้าว มีคนฝากถามช้อนซื้อที่ไหนตักติดแต่กับไม่ค่อยติดข้าว และอีกอย่างที่รองนายกรัฐมนตรีมีความประสงค์จะสื่อสารคือโครงการรับจำนำข้าวไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งการมากินข้าวโชว์ก็เช่นกันที่ไม่สามารถมาลบล้างเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาในคดีทุจริตรับจำนำข้าวได้แม้แต่บรรทัดเดียว 

‘นักวิชาการ’ ชี้!! ข้าวเก่าค้าง 10 ปี เชื้อราเพียบ ใครที่ไปร่วมชิมเป็นสักขีพยานรับเคราะห์เต็มๆ

(8 พ.ค.67) รศ.พันทิพา พงษ์เพียจันทร์ อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิย์ กินข้าวค้างสต๊อก 10 ปีโชว์ว่ายังนุ่มนวลพร้อมนำออกประมูล ว่า…

จากกรณีที่เอาข้าวเก่า ค้าง 10 ปี มาหุงรัปทานโชว์กัน ขอบอกว่าท่านได้รับสารพิษจากเชื้อราไปแล้วไม่น้อย หลายตัวหลายชนิดด้วย และใครที่ไปร่วมชิมเป็นสักขีพยานว่า ข้าวนั้นทานได้ ก็รับเคราะห์ไปด้วยค่ะ

1.ปกติอาหารสัตว์ เราจะเก็บพวกธัญเมล็ดต่าง ๆ (รวมถึงข้าว) ได้อย่างมาก 1 ปี ที่อุณหภูมิห้อง เช่นเดียวกับที่โรงสีที่โชว์เก็บ แต่ก่อนเก็บนอกจากรมควันแล้ว ความชื้นในเมล็ดธัญพืชจะต้องไม่เกิน 12% เพราะพวกนี้สามารถดูดซึมน้ำกลับได้ ซึ่งสภาพการเก็บของโรงสีที่เห็น ใส่ในกระสอบป่าน โอกาสดูดซึมน้ำกลับ ทำให้ความชื้นของเมล็ดข้าวสูงขึ้นแน่นอน

หากจะเก็บไว้นานกว่านี้ต้องเก็บในสภาพเย็นแบบแห้ง (Cold dry processing)* อุณหภูมิต้องไม่เกิน 13 °C ทำให้แมลงไม่ฟักออกเป็นตัว*

2.กระสอบป่านที่เก็บข้าว สภาพที่เห็น วางทับซ้อนกันสูงมาก อากาศไม่ถ่ายเท ส่งเสริมการดูดซึมน้ำกลับ ความชื้นในเมล็ดข้าวสูงขึ้น ส่งเสริมการเจริญของมอดแมลงต่าง ๆ
3.แม้จะรมยาแต่สถาพการวางทับกระสอบ รมยาไม่ทั่วถึงแน่นอน เพราะข้าวที่เอามาหุงแสดง ขณะล้างฟ้องอยู่แล้วว่ามีมอดข้าว ด้วง
4.การที่เมล็ดข้าวมีความชื้น ส่งเสริมการเติบโตของมอด แมลงต่าง ๆ* หลักฐานประจักษ์ขณะซาวข้าว (15 ครั้ง ตามข่าว ซึ่งข้าวปกติเราล้างไม่ถึง 3 ครั้ง)
5. การมีมอดแมลง มูลของแมลงเหล่านี้นำมาซึ่งการเจริญของเชื้อรา และแบคทีเรีย* ทำให้เน่าได้รับสารพิษโดยไม่รู้ตัว
6.จากสภาพข้าวที่หุงออกมา จะมีข้าวจำนวนไม่น้อย ที่มีสีน้ำตาลตรงปลายเมล็ด นั่นคือเม็ดข้าวที่ขึ้นรา อย่างน้อยต้องตรวจพบสารพิษอะฟลา 1 ตัว ตรวจง่าย ๆ โดยใช้เทคนิค บี จี วาย ฟลูโอเรสเซนท์ (Bright Greenish-Yellow Fluorescent) **ซึ่งสารนี้ทนอุณหภูมิได้ถึง 250°C** และยังจะมีสารพิษอื่น ๆ ตามมาอีกหลายตัว อุณหภูมิข้าวที่เราหุงน้ำเดือด 100°C ไม่สามารถทำลายพิษจากเชื้อราได้ อาจได้แค่แบคทีเรียจากมูลของแมลง

เห็นเจตนาดีของท่านที่จะหาเงินกลับคืน ขอแนะนำว่า…

1.อย่าขายให้คนหรือสัตว์นำไปบริโภค ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะเราจะมีคนป่วยด้วยมะเร็งมากขึ้น สำหรับผู้บริโภคโดยตรง
2.กรณีนำไปเลี้ยงสัตว์ เราจะได้ผลิตภัณฑ์ เนื้อ นม ไข่ ที่มีสารพิษจากเชื้อราตกค้างในอาหาร ทำให้เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น
3.การนำไปขายให้แอฟริกา ชื่อเสียงข้าวเน่าเสียของไทยจะกระจายไปทั่วโลก คู่แข่งเราจะได้เปรียบ กว่าเราจะกู้ชื่อเสียงกลับคืนมาคงหลายปี เสียตลาดข้าวให้คู่แข่ง โดยเขาไม่ต้องออกแรงเลย และที่สำคัญบาปตกอยู่กับผู้คิด ผู้ขาย แน่นอน
4.ขอแนะนำให้นำข้าวเหล่านี้ ไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์ หรือน้ำส้มสายชู จะดีกว่า สอบถามนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การอาหารต่อไปค่ะ

หมายเหตุ : การตรวจสอบสารพิษเหล่านี้ มีตามมหาวิทยาลัยที่มีห้องแลปตรวจอาหารทั่วไปหรือกรมปศุสัตว์หรือบริษัทรับตรวจสารพิษในอาหาร

'คุณหมอ' เฉลย!! 'อะฟลาท็อกซิน' พิษร้ายจากเชื้อรา ต้ม 260 องศา ถึงจะตาย ฟาก WHO เตือน!! เป็นสารก่อมะเร็งตับ กินเพียงน้อยนิด ก็เสี่ยงมะเร็ง

(10 พ.ค.67) นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางสมองระบบประสาท ผู้นำเสนอเกร็ดความรู้ด้านสุขภาพผ่านยูทูบช่อง 'Dr.V Channel' ได้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับ ‘ข้าวค้าง 10 ปี’ โดยระบุว่า…

ข้าว 10 ปี กินได้รึเปล่า? คําตอบสั้น ๆ ตอนนี้ สําหรับหมอที่เป็นห่วงทุกท่าน คือ ‘กินไม่ได้’ เหตุผลเพราะว่าข้าวที่เก็บมานาน ๆ มันจะมีความชื้นอยู่ และเมื่อมีความชื้น ‘เชื้อรา’ จะขึ้น ฉะนั้นถ้าเราเอาข้าวที่มีตัวเชื้อรามาล้าง มาต้ม หรือมาประกอบอาหาร โดยส่วนใหญ่บอกว่าเชื้อราตาย ซึ่งอันนี้ก็เรื่องจริง แต่ปัญหาก็คือเชื้อราจะ ‘ทิ้งพิษ’ เอาไว้…

ดังนั้น พิษของเชื้อราตัวนี้ เขาชื่อว่า ‘อะฟลาท็อกซิน’ (Aflatoxin) โดยเป็นพิษของเชื้อรา ซึ่งต้มไม่ตาย ต้มไม่หาย… และการจะทําลายพิษอะฟลาท็อกซินเราต้องใช้อุณหภูมิถึง 260 องศา ซึ่งการหุงข้าวหรือต้มข้าวธรรมดา ไม่มีทางที่อุณหภูมิจะถึง 260 องศา เพราะฉะนั้นบอกได้เลยว่าสารพิษนี้ยังอยู่

ทั้งนี้ สารพิษนี้มีเป็น ‘สารก่อมะเร็ง’ อย่างชัดเจน โดยองค์การอนามัยโลกได้มีการขึ้นทะเบียนอะฟลาท็อกซินว่าเป็นสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ เพราะฉะนั้นคนที่กินเข้าไปแม้แต่เพียงปริมาณเล็กน้อย ท่านจะมีความเสี่ยงมาก ๆ ที่จะเป็นมะเร็งตับ…

ฉะนั้นแล้ว อย่ากินข้าวค้าง 10 ปีเด็ดขาด ด้วยความปรารถนาดี 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top