Tuesday, 22 April 2025
ขายตรงออนไลน์

‘กบ ไมโคร’ แฉเดือด ‘ธุรกิจเครือข่ายดัง’ ยอมรับ!! โง่ - ไม่ทันเกม ทำสูญเงินนับล้าน

(9 ต.ค. 67) กบ ไมโคร เดือดปม ธุรกิจเครือข่ายดัง แทบเจ๊งสูญนับล้าน ลั่นรู้อยู่แก่ใจ ชี้อันตรายมากกว่าธุรกิจ 18 มงกุฎ

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา นายไกรภพ จันทร์ดี หรือ กบ ไมโคร นักร้องรุ่นใหญ่ออกมาโพสต์ระบุข้อความว่า ดูเหมือนจะมีคนบาดเจ็บรวมกันในนี้ไม่น้อย เกาะกลุ่มแอดเพื่อนเอาไว้นะครับ เผื่อกระจัดกระจายแล้วจะรวมตัวกันยาก

ผมอยากบอกว่า “ผมโง่เอง ไม่ทันเกมเอง” ไม่เคยค้าขายเลยไม่เข้าใจรูปแบบธุรกิจ กว่าจะต่อภาพจบก็ทำไปปีครึ่ง ผมเข้าไปช่วงพีเรียดสุดท้ายก่อนหมดโควิด (ในช่วงที่หางานที่สองทำ) ผมไม่ได้เป็นพรีเซนเตอร์หรือรับค่าจ้างใดๆ ทั้งสิ้น

ผมกับภรรยาเปิดบิลไป 7 ดีลเลอร์ (คูณสองแสนกว่า) กับลงขันยิงแอดด้วยประมาณล้านนึง สุดท้ายเลิกทำเพราะได้คุยกับ ผู้สูงวัยหลาย ๆ คนที่เอาเงินก้อนสุดท้ายมาลง เอาบ้านรถที่ดินไปเปลี่ยนเป็นเงินมาลง จนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว มีมากมายที่เครียดจนสโตรค สามีขอเลิก ลูกไม่คุยด้วย ครอบครัวแตกแยก ผมทำใจไปต่อไม่ได้จริงๆ (คนพวกนี้รอส่งเสียงให้สังคมได้ยินอยู่นะครับ)

ถึงตรงนี้บอกเลยว่าไม่มีใครเอาผิดเขาได้หรอก ผมเองก็ไม่สามารถเอาผิดเขาได้ เพราะเขาสร้างเงื่อนไขไว้รัดกุมมาก เลยได้แต่บอกว่า “เขาไม่ผิดหรอก-ผมมันโง่เอง” หากวันนั้นรู้ว่าเปิดบิลสองแสนห้า แล้วพูดมาตรงๆ ว่าเตรียมค่าลงขันยิงแอดอีกห้าแสน คงไม่มีใครเปิดแน่ แต่การบิ้วให้เป็นแบบนี้มันเกิดหลังการเข้าไปอยู่ข้างใน เมื่อเขาเช็ค DNA เราจนมั่นใจ เขาถึงจะ “คายตะขาบ” กว่าจะเข้าใจก็มีคนตามไปหมดตัวไม่รู้กี่พันคน (เอาแค่คูณด้วยสองแสนก็พอนะ)

ถ้าพวกเราออกมาพูดได้ ไม่ได้พูดว่าเขาผิดอย่างไร แค่พูดว่าเราบาดเจ็บแค่ไหน แค่นี้ก็น่าจะช่วยให้คนอีกมากมีโอกาสพูด และคนอีกมหาศาลที่ไม่ต้องล้มละลาย และช่วยให้สังคมไทยเข้าใจมากขึ้นว่า ธุรกิจที่ไม่ผิดกฎหมายอะไรเลยแต่กลับมีคนสูญเสียมากมายนั้น อันตรายมากกว่าธุรกิจ 18 มงกุฎ และที่ไม่มีสื่อหรือหน่วยงานใดโฟกัสเรื่องนี้

เพราะคนผิดที่แท้จริงนั้นคือเจ้าทุกข์ที่ไม่ทันเกมที่เรียกว่า “ขายออนไลน์” เอง ผมรู้ว่าคนของพวกบอสเห็นคอมเมนต์ของผม ฝากไปบอกว่าบุญส่วนบุญ บาปส่วนบาป เอามาทดแทนกันไม่ได้ อะไรที่ทำแล้วดีก็ขอให้รุ่งเรือง อะไรที่เลวร้ายที่รู้อยู่แก่ใจ ขอให้เป็นไปตามกฎแห่งกรรม

THE STATES TIMES สำรวจความหมาย ‘แชร์ลูกโซ่’ พบระหว่างปี 57-63 เสียหายรวม 3 แสน 9 หมื่นล้าน

(9 ต.ค. 67) แชร์ลูกโซ่ คือหนึ่งในการหลอกลวงที่พบเห็นได้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่แชร์แม่ชม้อยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน The States Times ขอพาผู้อ่านสำรวจถึงความหมาย และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการคดโกงที่เรียกว่า ‘แชร์ลูกโซ่’

แชร์ลูกโซ่ คือ การหลอกให้คุณนำเงินไปร่วมลงทุนกับธุรกิจหรืออะไรก็ตามโดยขายฝันความร่ำรวยที่เกินจริงด้วยวิธีการต่างๆ ที่ซับซ้อน เช่น 

- การเปิดระดมทุนไม่อั้น และชวนทุกคนมาร่วมลงทุนด้วย
- บอกว่าผลกำไรในการลงทุนนั้นสูงมาก แต่ตรวจสอบข้อมูลการลงทุนไม่ได้ 
- ถูกคะยั้นคะยอให้รีบตัดสินใจลงทุน
- มีการจัดอบรมสัมมนาใหญ่โต พร้อมทั้งอ้างคนที่มีชื่อเสียงมาร่วมลงทุนเพื่อหว่านล้อมเราอีกด้วย เป็นต้น

ด้านกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้เผยแพร่ผลการวิจัยเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ซึ่งพบว่า ผู้เสียหายในคดีแชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่ ร้อยละ 85 รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าเป็นลงทุนแชร์ลูกโซ่ แต่ก็ยังลงทุนเพราะผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับนั้นสูงมาก มีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น ที่ไม่รู้เลยจริงๆ ว่าที่ตนเองนำเงินไปลงทุนนั้นเป็นการลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่

สำหรับความเสียหายที่เกิดจากแชร์ลูกโซ่นั้น สำนักงานกิจการยุติธรรม ได้มีการเผยแพร่สถิติ I ปี 2563 ไว้ว่า 

สถิติระหว่าง 2557 - 2563
- มีเรื่องมากกว่า 1,290 เรื่อง 
- จำนวนผู้เสียหายกว่า 38,800 คน 
- รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3 แสน 9 หมื่นล้านบาท


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top