Wednesday, 23 April 2025
ขาดแคลนครู

‘ส.บ.ม.ท.’ จี้!! ‘ศธ.-กพฐ.’ เร่งแก้ปัญหาขาดครู หลังคืนอัตราเกษียณฯ แนะ พื้นที่ไหนขาดแคลนให้เปิดสอบทันที โดยไม่ต้องรอกำหนดการ

(9 ต.ค.66) นายณรินทร์ ชำนาญดู ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ ในฐานะนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงเรียนต่างๆ กำลังประสบปัญหาขาดแคลนครูอย่างหนัก เนื่องจากมีผู้เกษียณอายุราชการกว่า 15,000 อัตรา ซึ่งแม้จะได้รับการคืนอัตราเกษียณมาทั้งหมดแต่กลับไม่มีครูที่พร้อมสำหรับการบรรจุทดแทนอัตราว่าง โดยที่ผ่านมาจะเรียกบรรจุจากบัญชีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. (ว14) แต่การสอบเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีผู้สอบผ่านน้อย เช่นเดียวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ (ว16) ซึ่งยังมีอัตราว่างเหลืออยู่อีกกว่า 1,200 อัตรา ทำให้เกิดปัญหาเพราะแม้จะมีอัตราและตำแหน่ง แต่ก็ไม่สามารถเรียกบรรจุแต่งตั้งได้ เพราะมีผู้ที่สอบขึ้นบัญชีไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงอยากให้ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) คนใหม่ เร่งแก้ปัญหาดังกล่าว

“ปัญหาขาดแคลนครูถือเป็นเรื่องสำคัญที่อยากให้รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ในฐานะที่กำกับดูแล สพฐ. และว่าที่ร้อยตรีธนุ เร่งหาทางแก้ไข หากเป็นไปได้อยากเสนอให้กระจายอำนาจลงไปให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สามารถจัดสอบครูผู้ช่วย ว14 และ ว16 ได้มากกว่าปีละ 1 ครั้ง เช่น หากเขตพื้นที่ใดขาดแคลนครู ก็สามารถเปิดสอบได้ทันที โดยไม่ต้องรอปฏิทินสอบจาก สพฐ. คิดว่าแนวทางดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครูได้อย่างแน่นอน ส่วนข้อกังวลเรื่องการทุจริตนั้น หาก สพฐ.มีมาตรการลงโทษที่รุนแรง ก็เชื่อว่าจะไม่มีใครกล้าที่จะทำการทุจริต หรือหากมีก็เป็นจำนวนที่น้อยมาก” นายณรินทร์กล่าว

นายณรินทร์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังขอเร่งรัดให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เร่งตรวจผลงานของผู้ที่ยื่นขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ ตามหลักเกณฑ์เดิม ว17 ซึ่งยื่นไปตั้งแต่ปี 2564 และยังค้างอยู่กว่า 600 คน และตอนนี้บางคนเกษียณไปแล้วทำให้เสียสิทธิ เพราะไม่สามารถที่จะปรับปรุงผลงานได้ ดังนั้นจึงขอให้ ก.ค.ศ.มีกรอบเวลาการพิจารณาที่ชัดเจน ทั้งนี้ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าสาเหตุที่ ก.ค.ศ.พิจารณาผลงานล่าช้าเป็นเพราะเหตุใด หากเพราะคณะกรรมการประเมินไม่เพียงพอก็อยากให้เพิ่มคณะกรรมการ เช่นเดียวกับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือเกณฑ์ PA (ว 9/2564) ซึ่งมีความล่าช้าในช่วงแรก แต่เมื่อเพิ่มคณะกรรมการประเมินแล้ว ก็ทำให้สามารถพิจารณาได้เร็วขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top