Saturday, 5 April 2025
ก๊าซธรรมชาติ

'พีระพันธุ์' นั่งหัวโต๊ะ กบง.ไฟเขียวพยุงราคาขายปลีก NGV 3 เดือน หลังมองเกม!! ราคาก๊าซธรรมชาติช่วงปลายปีมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

เมื่อวานนี้ (31 ก.ค.67) นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยว่า

ที่ประชุม กบง. ซึ่งมี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติให้นำส่วนต่างต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดจากผลการดำเนินการตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566

โดยในการปรับหลักเกณฑ์การคิดราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ มาช่วยลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานให้กับประชาชนผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) โดยการนำส่วนต่างราคาดังกล่าวมาช่วยพยุงราคาขายปลีก NGV ไม่ให้มีการปรับขึ้นอย่างทันทีจากราคาก๊าซธรรมชาติในช่วงปลายปีที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 16 สิงหาคม - 15 ตุลาคม 2567 โดยมอบหมายให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รับไปดำเนินการและให้รายงานผลการดำเนินการให้ กบง. ทราบต่อไป

นายวีรพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้ากลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 - 2573 เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพลังงานสะอาด

โดยมีการทบทวนและปรับหลักการสำหรับผู้ยื่นคำเสนอที่ผ่านหลักเกณฑ์ในรอบแรกที่ไม่ได้รับการคัดเลือก จะได้รับการพิจารณารับซื้อเป็นลำดับแรกในปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานลม และไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับโควตาส่วนที่เหลือจากการเปิดรับซื้อข้างต้น ให้เป็นการเปิดรับซื้อเป็นการทั่วไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอหลักการการปรับเลื่อนกำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 - 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งทุเลาของศาลปกครองกลาง จำนวน 22 โครงการ ทำให้โครงการต้องชะลอการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ กกพ. ไปพิจารณาปรับกรอบระยะเวลาการเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และปรับเลื่อนกำหนด SCOD สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมดังกล่าวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของแต่ละโครงการได้ตามสมควร

ทั้งนี้ ไม่ให้เกินกรอบภายในปี พ.ศ. 2573 เพื่อให้ไม่กระทบต่อแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดของประเทศตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ 30-40% (Nationally Determined Contribution: NDC) ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)

‘วินท์ สุธีรชัย’ ชี้!! ไฟไหม้รถบัสลามเร็วเหตุจากถังก๊าซอยู่ใต้รถ ยกเคสต่างประเทศส่วนใหญ่ติดตั้งไว้ด้านบนตัวรถ ช่วยให้ปลอดภัยกว่า

(2 ต.ค.67) นายวินท์ สุธีรชัย คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่า รถบัสมรณะ ต้องไม่เกิดขึ้นอีก!! พร้อมตั้งคำถามถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เหตุใด เปลวไฟถึงลามจากกลางรถ? 

ทำไม…ไฟถึงลามด้วยความรวดเร็ว? ทำไม…ไฟถึงเริ่มติดจากประตูกลางรถทำให้เด็กและครูหนีออกจากประตูกลางรถไม่ได้?

โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่า ก๊าซธรรมชาติ ที่เรียกกัน NGV หรือ CNG เป็นก๊าซที่เบากว่าอากาศ ทำให้เวลาเผาไหม้ก๊าซธรรมชาติจะลอยขึ้นบน ยิ่งเวลามีแรงดันอัดเข้าไปในถังแรงดันจะทำให้ก๊าซเผาไหม้ไฟจะพ่นออกมาเป็นแท่งไฟที่สูงเหมือนจากเครื่องบินเจ็ท

เนื่องจากรถที่เกิดเหตุติดถังก๊าซอยู่ใต้รถ เมื่อเกิดอุบัติเหตุไฟจึงเริ่มต้นลามจากใต้ห้องผู้โดยสารและลามไปสู่ข้างบนซึ่งเป็นห้องผู้โดยสารที่คุณครูและเด็กๆนั่งอยู่ ยิ่งถังติดใกล้ประตูทางออกยิ่งทำให้หนีออกจากรถไม่ได้

ในต่างประเทศ รถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่จะติดถังเก็บก๊าซธรรมชาติไว้ด้านบนของตัวถังรถ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ ไฟก็จะพุ่งไปบนฟ้าไม่ใช่พุ่งไปห้องโดยสาร

ดังนั้น รถบัสที่ติดก๊าซธรรมชาติควรจะพิจารณาได้แล้วว่า ควรเปลี่ยนการติดตั้งไปอยู่ด้านบนรถหรือไม่? หรือเราจะใช้ชีวิตเหมือนนั่งอยู่บนเตาแก๊สแบบเดิม?!?!

“ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับเหตุการณ์สลดที่เกิดขึ้น หวังว่าทุกหน่วยงาน ทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องจะบูรณาการความปลอดภัยเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก”

'ทรัมป์' เล็งเพิ่มขุดเจาะน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ หนุนส่งออกพลังงาน ไม่แคร์สิ่งแวดล้อม

(11 ธ.ค.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมกรุยทางให้บริษัทและนักลงทุนขนาดใหญ่สามารถขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ และส่งออกก๊าซธรรมชาติได้ โดยประกาศว่าจะเร่งอนุมัติการผ่อนปรนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ที่ลงทุนเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 33,730 ล้านบาท) ในประเทศ

ทรัมป์ได้โพสต์ข้อความลงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียผ่าน Truth Social โดยระบุว่าจะเร่งอนุมัติใบอนุญาตให้แก่บุคคลหรือนิติบุคคลที่ลงทุนในสหรัฐฯ จำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์หรือมากกว่า รวมถึงการอนุมัติด้านสิ่งแวดล้อมที่จำเป็น

"บุคคลหรือบริษัทที่ลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์หรือมากกว่านั้นในสหรัฐฯ จะได้รับการอนุมัติใบอนุญาตอย่างเร่งด่วนเต็มรูปแบบ รวมถึงการอนุมัติด้านสิ่งแวดล้อมที่จำเป็น ซึ่งโดยปกติแล้วต้องใช้เวลานาน เตรียมตัวให้พร้อม!!!"

แหล่งข่าวใกล้ชิดกล่าวกับรอยเตอร์ว่า ทรัมป์ต้องการผลักดันการอนุมัติการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันทั้งในดินแดนและนอกชายฝั่งสหรัฐฯ เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการส่งออกพลังงาน

แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่าทรัมป์จะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการอิสระ เช่น คณะกรรมการกำกับกิจกรรมพลังงานส่วนกลาง (FERC) ที่ต้องการทบทวนด้านสิ่งแวดล้อมในโครงการก๊าซ LNG

นอกจากนี้ ทรัมป์และพรรครีพับลิกันยังมีแผนที่จะเพิกถอนข้อจำกัดและกฎหมายสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมบางประการของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เช่น เครดิตภาษีรถยนต์ไฟฟ้า และมาตรฐานโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่มุ่งยกเลิกการใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ บีบให้ยุโรปซื้อ ‘น้ำมัน - ก๊าซ’ จากสหรัฐฯ หากไม่อยากเจอ!! มาตรการลงโทษ ขึ้นภาษีศุลกากร

(21 ธ.ค. 67) ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตนเองว่า เขาได้แจ้งกับสหภาพยุโรป (อียู) ว่าอียูจะต้องลดช่องว่างการขาดดุลการค้ากับสหรัฐด้วยการซื้อน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้น อียูอาจต้องเผชิญการขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐเป็นรายต่อไป 

"ผมบอกกับสหภาพยุโรปว่าพวกเขาต้องชดเชยการขาดดุลมหาศาลกับสหรัฐ ด้วยการซื้อน้ำมัน และก๊าซในปริมาณมาก มิฉะนั้นจะต้องเจอภาษีศุลกากร” ทรัมป์โพสต์ข้อความทาง Truth Social 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของทางการสหรัฐระบุว่า สหรัฐขาดดุลการค้าสินค้า และบริการกับอียูถึง 1.313 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2022

ทางด้านนักการทูตอาวุโสรายหนึ่งในอียูเปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไรกับท่าทีของทรัมป์ในครั้งนี้ และมองว่าพลังงานเป็น ‘ทางเลือกที่ดี’ หากจะต้องซื้อสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น  

ขณะที่แหล่งข่าวนักการทูตอีกรายหนึ่งเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอล์ซ ของเยอรมนี ได้พูดคุยกับทรัมป์ในเรื่องนี้เมื่อคืนวันพฤหัสบดี ที่ผ่านมา หลังจากที่บรรดาผู้นำประเทศในอียูได้ประชุมร่วมกันเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้เกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอียู

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (5) : ‘ก๊าซธรรมชาติ’ เชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของไทย

บอกเล่าเรื่องของ ‘ค่าไฟฟ้า’ ก็ต้องพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเชื้อเพลิงพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยด้วย ซึ่งในปัจจุบันเราใช้ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า เพราะสมัยก่อนมีการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ด้วยคุณสมบัติของ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ ซึ่ง ถูกและสะอาดกว่าน้ำมัน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีพิษ ในสถานะปกติมีสภาพเป็นก๊าซ หรือไอที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศ โดยมีค่าความถ่วงจำเพาะต่ำกว่าอากาศ จึงเบากว่าอากาศ เมื่อเกิดการรั่วไหลจะฟุ้งกระจายไปตามบรรยากาศอย่างรวดเร็ว จึงไม่มีการสะสมลุกไหม้บนพื้นราบ และเมื่อเผาไหม้จะเป็นเชื้อเพลิงสะอาดและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมันและถ่านหิน จัดว่าเป็นพลังงานที่มีความปลอดภัยสูงสุดอย่างหนึ่งในปัจจุบัน

ประเทศไทยได้มีการสำรวจพบแหล่ง ‘ก๊าซธรรมชาติ’ 2 แหล่ง คือ ในทะเลบริเวณอ่าวไทย และบนบก อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จึงได้นำมาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 โดยการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า และในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนการใช้ถ่านหินและน้ำมันเตา ซึ่งมีราคาสูงและต้องนำเข้าจากต่างประเทศในแต่ละปีมหาศาล และขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญความผันผวนของราคาน้ำมันตลาดโลกซึ่งเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านพลังงาน การนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยขึ้นมาใช้ จึงเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการพึ่งพาพลังงานที่มีอยู่ภายในประเทศของเราเองอย่างเป็นรูปธรรม และเนื่องด้วยก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด คุณภาพดีและราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ ทำให้ปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติของไทยสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ผู้รับสัมปทานสำรวจและผลิตก๊าซจึงได้เสาะแสวงหาแหล่งก๊าซใหม่ ๆ เพื่อนำก๊าซจากแหล่งที่มีอยู่ขึ้นมาใช้ให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ได้พยายามนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด นอกเหนือจากการนำไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมและยานพาหนะ โดยให้การสนับสนุนพิเศษในการนำก๊าซธรรมชาติ มาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ที่เรียกว่า ‘CNG (Compressed Natural Gas)’ หรือ ‘NGV (Natural Gas for Vehicle)’ นั่นเอง

ปัจจุบันประเทศไทยใช้ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ จากแหล่งอ่าวไทย ราว 63.5% ซึ่งกำลังจะหมดไป และนำเข้าจากเมียนมา ราว 16% (จากแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติยาดานา และแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเยตากุน) ภายใต้สัญญาซื้อขาย 30 ปี ซึ่งจะครบสัญญาในปี พ.ศ. 2571 และ 2574 การนำเข้า ‘ก๊าซธรรมชาติ’ จากเมียนมาถือเป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงานของไทย ด้วยย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2558 เมียนมาต้องซ่อมบำรุงแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ จนต้องหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติให้ไทย ซ้ำในปัจจุบันเองเมียนมาก็มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในจนอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการจ่าย ‘ก๊าซธรรมชาติ’ เข้ามาในประเทศไทยได้ จึงต้องเพิ่มการนำเข้า ‘ก๊าซธรรมชาติ’ ในรูปของ ‘ก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas : LNG) ซึ่งก็คือ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ ที่ถูกทำให้กลายเป็นของเหลวโดยผ่านกระบวนการทำให้เย็นลง เพื่อสามารถบรรจุในถังเก็บเพื่อการขนส่งได้

เมื่อ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ จากแหล่งเดิมที่ไทยใช้ในการผลิตไฟฟ้าเริ่มผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ต้องนำเข้า LNG จากประเทศผู้ผลิตทั่วโลก (ราว 20.5%) แต่เมื่อเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนขึ้นใน ปี พ.ศ. 2565 ประเทศสมาชิกองค์การ NATO ซึ่งเคยนำเข้า LNG จากรัสเซียเพื่อใช้เป็นพลังงานในครัวเรือน ยกเลิกการซื้อ LNG จากรัสเซีย จึงทำให้ LNG ในแหล่งผลิตต่าง ๆ มีราคาพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่นั้นมา ราคา LNG ในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่านั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการคำนวณ ‘ค่าไฟฟ้า’ ของไทยด้วย โดยเฉพาะ ‘ค่าไฟฟ้าผันแปร’ หรือ ‘ค่า Ft (Fuel Adjustment Charge (at the given time))’ ซึ่งใช้ในการคำนวณเพื่อปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ โดยเป็น ‘ค่าไฟฟ้า’ ในส่วนที่มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลงเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่การไฟฟ้าฯไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้พิจารณาปรับค่า Ft ทุก 4 เดือน (แต่จนถึงทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานเป็นผู้ที่กำหนดราคาค่าไฟฟ้า) 

แต่เดิมการนำเข้า ‘ก๊าซธรรมชาติ’ ของไทยนั้นถูกผูกขาดโดย ปตท. ทั้งจากแหล่งในอ่าวไทยและเมียนมา และ LNG ก็เช่นกัน พึ่งจะไม่นานมานี้เองที่ ‘ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าเอกชน’ สามารถจะนำเข้า LNG ได้เอง ปัญหาความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงานของไทยจากการใช้ ‘ก๊าซธรรมชาติ’ และ LNG เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้านั้น กำลังได้รับการแก้ไขโดย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ด้วยการจัดตั้ง ‘ระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve : SPR)’ เพื่อให้รัฐสามารถถือครองสำรองน้ำมันและก๊าซสำรองให้เพียงพอใช้ในประเทศได้ถึง 90 วัน ปัจจุบันการสำรองดังกล่าวดำเนินการโดยผู้ค้า ‘ก๊าซธรรมชาติ’ และ LNG มีการสำรองในปริมาณที่ค่อนข้างน้อยมาก ด้วยปริมาณที่สำรองที่มีอยู่จึงต้องแบกรับความเสี่ยงจากผลกระทบทั้งด้านปริมาณและราคาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

สำหรับตอนต่อไปจะได้บอกเล่าถึงเรื่องของ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ด้วยการกำหนดให้มี ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ในปริมาณที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ตามบริบทของการใช้ไฟฟ้าในขณะที่เป็นอยู่นั้น จะเป็นปัจจัยที่ (1)ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น เนื่องจาก กฟผ. จะต้องเสีย ‘ค่าพร้อมจ่าย (ค่า AP)  มากขึ้น และ (2)เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า หาก ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ไม่เพียงพอต่อการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านไฟฟ้าของประเทศที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ในปัจจุบัน ยังมีข้อถกเถียงโต้แย้งถึงความถูกต้องเหมาะสมของปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ที่ประเทศไทยอย่างมากมาย

‘ปตท.’ ยืนยัน!! แผ่นดินไหวเมียนมา ไม่กระทบพลังงานไทย ตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติการทั้งระบบแล้ว ยังเดินเครื่องได้ตามปกติ

(29 มี.ค. 68) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ยืนยันเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ กลุ่ม ปตท. มั่นใจสามารถรองรับความต้องการใช้พลังงานของประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำพันธกิจสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ

กลุ่ม ปตท. ได้ตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติการทั้งหมด ตั้งแต่แท่นผลิตก๊าซธรรมชาติ ระบบรับส่งก๊าซธรรมชาติในทุกพื้นที่ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า คลังน้ำมันและคลังปิโตรเลียมทั่วประเทศ ตลอดจนสถานีบริการน้ำมันและสถานีบริการ NGV โดยได้รับยืนยันว่าสามารถเดินเครื่องดำเนินงานและให้บริการได้ตามปกติ และไม่ได้รับความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและส่งจ่ายพลังงาน

ทั้งนี้ ปตท. ให้ความสำคัญในการดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยและการบริหารความเสี่ยง มีแผนบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรักษาความเสถียรของระบบพลังงานของประเทศ ปตท. จะติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้อย่างมั่นคงต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top