Monday, 21 April 2025
การแพทย์

‘BOI’ ชี้!! ลงทุนสุขภาพ ปี 67 เติบโตก้าวกระโดด รับ ‘เทรนด์สูงวัย-โรคอุบัติใหม่-ท่องเที่ยวการแพทย์’

(21 ม.ค. 67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพในปีนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน อาทิ กระแสการดูแลสุขภาพ การเข้าสู่สังคมสูงวัย อัตราการเจ็บป่วยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและเป็นโรคที่ซับซ้อนมากขึ้น การเกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ รวมทั้งการขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์

โดยในช่วงที่ผ่านมามีกลุ่มการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ส่วนใหญ่สนใจเข้ามาในกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์และอาหารทางการแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่จากประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน สหรัฐและยุโรป

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ เป็นสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นผู้นำของภูมิภาค ด้วยจุดแข็งในด้านคุณภาพการรักษาพยาบาลเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ความพร้อมของโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน JCI กว่า 60 แห่ง มากเป็นอันดับ 4 ของโลก อันดับ 1 ของอาเซียน รวมทั้งมีค่ารักษาพยาบาลที่แข่งขันได้

ดังนั้น อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพจึงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอให้ความสำคัญ โดยมีแพ็กเกจให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนแบบครบวงจร ทั้งด้านการผลิตและการให้บริการ ทั้งในรูปแบบสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนา

รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งจะใช้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุน เช่น สิทธิในการถือครองที่ดินเพื่อประกอบกิจการ การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เป็นต้น

โดยสิทธิประโยชน์จะครอบคลุมกิจการ ตั้งแต่การผลิตเครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยา อาหารทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมถึงการให้บริการทางการแพทย์ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์การแพทย์แผนไทยหรือแผนไทยประยุกต์ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ตลอดจนการวิจัยทางคลินิก (Clinical Research) และการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันทางการแพทย์

โดยในปี 2566 มีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ จำนวน 65 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 16,000 ล้านบาท ในแง่เงินลงทุน ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการโรงพยาบาล 10 โครงการ เงินลงทุน 9,000 ล้านบาท รองลงมาเป็นกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์และชิ้นส่วน 24 โครงการ 2,700 ล้านบาท กิจการศูนย์การแพทย์เฉพาะทางต่างๆ เช่น โรคไต โรคมะเร็ง และจิตเวช 9 โครงการ 1,600 ล้านบาท และกิจการผลิตยา 12 โครงการ 1,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน บีโอไอได้มีการประชุมหารือกับบุคลากรในวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอ ให้มีการปรับปรุงนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในอนาคตอาจมีการพิจารณาเพิ่มประเภทกิจการใหม่ที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาให้เกิดการต่อยอดในอุตสาหกรรมการแพทย์ และหากเป็นกิจการเฉพาะ (นิช มาร์เก็ต) ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ จะช่วยสนับสนุนการสร้าง Ecosystem ที่จำเป็นต่อการเป็น Medical Hub ของประเทศไทย เช่น กิจการบริการเดลิเวอรี่ทางการแพทย์ การผลิตไบโอพอลิเมอร์สำหรับการแพทย์ เป็นต้น

‘จีน’ เดินหน้าปรับปรุง ‘บริการทางการแพทย์’ เพื่อผู้ป่วย ครอบคลุมขั้นตอนนัดหมาย - หนุนการดำเนินงานของรพ.

(9 พ.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สิงรั่วฉี รองหัวหน้าสำนักบริหารการแพทย์ สังกัดคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า หน่วยงานสาธารณสุขของจีนให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ป่วยขณะเข้ารับการดูแลทางการแพทย์ และมีการดำเนินสารพัดมาตรการเกี่ยวกับเรื่องนี้

สิงรั่วฉีกล่าวว่า มีการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น ปรับปรุงกระบวนการนัดหมายทางการแพทย์เพื่อลดระยะเวลารอของผู้ป่วย และสนับสนุนโรงพยาบาลจัดสรรการบริการบำบัดรักษาแบบสหวิทยาการ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้ป่วย โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลให้บริการแบบสหวิทยาการกว่า 2,400 แห่ง

ขณะเดียวกันโรงพยาบาลเหล่านี้กำลังใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการฯ ดำเนินโครงการปรับปรุงการบริการดูแลและรักษาพยาบาลเพื่อรับรองผู้ป่วยและตอบสนองความต้องการทางคลินิกได้ดียิ่งขึ้นในปีที่ผ่านมา

สิงรั่วฉีเสริมว่า ปัจจุบันมีสถาบันการแพทย์มากกว่า 3,000 แห่ง ให้บริการที่เกี่ยวข้องตามบ้านของผู้ป่วย ขณะหลายภูมิภาคอย่างปักกิ่ง ซานตง และเจียงซู ดำเนินการปฏิรูปและปรับใช้ทรัพยากรจากสังคมเพิ่มเติมเพื่อให้บริการดูแลรักษาพยาบาลแก่ประชาชนสูงอายุ

'บีโอไอ' เผยผลสำเร็จไทยเยือนซาอุฯ ยอดเจรจาธุรกิจ 100 คู่ จ่อลงทุนไทย ขนเงินลุย 'แลนด์บริดจ์-เกษตร-อาหารแปรรูป-การแพทย์-พลังงานสะอาด'

(15 ก.ค.67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการจัดคณะหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทย นำโดยนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 13 – 15 กรกฎาคม 2567 พร้อมเป็นประธานเปิดสำนักงานบีโอไอ ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย อย่างเป็นทางการในวันที่ 14 กรกฎาคม 2567 ว่า...

การจัดงานประชุมภาคธุรกิจ 'Thai – Saudi Investment Forumอ และการเจรจาจับคู่ธุรกิจ ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างดี ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจไทยและซาอุดีอาระเบีย รวมถึงนักธุรกิจจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เข้าร่วมงานอย่างคับคั่งกว่า 300 คน จากกว่า 200 บริษัท/หน่วยงาน และเกิดการเจรจาธุรกิจกว่า 100 คู่ 

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านความร่วมมือทางธุรกิจรวม 11 ฉบับ ในหลากหลายสาขา เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร, อาหาร, ชิ้นส่วนยานยนต์, วัสดุก่อสร้าง, การจัดอีเวนต์และเทศกาล, เกมและอีสปอร์ต, การผลิตน้ำหอม และธุรกิจที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับบริษัทเอกชนของไทยที่เข้าร่วมกิจกรรม Investment Forum และการเจรจาธุรกิจในครั้งนี้ ถือเป็นบริษัทชั้นนำในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ (โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล้วยน้ำไท สมิติเวช และพระราม 9) อุตสาหกรรมพลังงาน (บริษัท ปตท. บ้านปู และกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร (กลุ่มซีพี บริษัท เบทาโกร และสหฟาร์ม) อุตสาหกรรมบริการสนับสนุนการท่องเที่ยว (ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล) สถาบันการเงิน (ธนาคาร EXIM และธนาคารอิสลาม) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้บริหารจากหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมคณะด้วย 

โดยจากการเจรจาธุรกิจกว่า 100 คู่ พบว่า นักลงทุนซาอุดีฯ หลายรายให้ความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป สุขภาพและการแพทย์ พลังงานสะอาด ชิ้นส่วนยานยนต์ และธุรกิจบริการ 

คณะฯ ยังได้เข้าพบกับบริษัทชั้นนำของซาอุดีอาระเบีย เพื่อหารือแผนการลงทุนในประเทศไทยและการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น บริษัท Saudi Agricultural and Livestock Investment Company (SALIC) ผู้นำด้านการเกษตรและปศุสัตว์ ได้หารือแผนการลงทุนในไทยในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น การเกษตร ปศุสัตว์ การประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บริษัท CEER Motors ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกองทุน Public Investment Fund (PIF) ของซาอุดีฯ Foxconn จากไต้หวัน และ BMW จากเยอรมนี โดยฝ่ายไทยได้เชิญชวนให้บริษัทพิจารณาการลงทุนในประเทศไทยและร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของทั้งสองประเทศ รวมทั้งหารือถึงโอกาสที่ผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยจะไปลงทุนที่ซาอุดีอาระเบียเพื่อป้อนชิ้นส่วนยานยนต์ให้ตลาดตะวันออกกลางในอนาคต

นอกจากนี้ ในการประชุมทวิภาคีระหว่าง นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ H.E. Mr. Khalid Abdulaziz Al-Falih รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนแห่งซาอุดีอาระเบีย ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะผลักดันความร่วมมือไทย - ซาอุดีอาระเบียใน 4 ด้าน ได้แก่...

1) ความมั่นคงทางอาหารและเกษตร 2) ความมั่นคงทางพลังงาน รวมถึงพลังงานสะอาด 3) ความมั่นคงทางมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และ 4) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่การผลิตของโลก (Global Supply Chain) 

ทั้งนี้ ทางรัฐบาลไทยและซาอุดีอาระเบียต่างเห็นพ้องที่จะช่วยอำนวยความสะดวกเพื่อให้ภาคเอกชนเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านธุรกิจและการลงทุน โดยซาอุดีอาระเบียนับเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในขณะที่ไทยเป็นประตูสู่ทวีปเอเชีย มีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์สามารถเชื่อมโยงตะวันออกกลางให้เข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ในอาเซียน เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกที่มีประชากรรวมกว่า 4,000 ล้านคน โดยอาศัยจุดแข็งของทั้งสองประเทศ 

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยและซาอุดีอาระเบียอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Bilateral Investment Treaty: BIT) เพื่อสนับสนุนความสัมพันธ์ด้านการลงทุนระหว่างกัน นอกจากนี้ ไทยและซาอุดีอาระเบียยังมีกำหนดจัดการประชุมสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 โดยการประชุมดังกล่าวจะเป็นเวทีหารือในประเด็นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างกันในทุกมิติต่อไป

ความสำเร็จในการเยือนซาอุดีฯ ครั้งนี้ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างสองประเทศ รวมถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจในการเร่งผลักดันความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และถือเป็นโอกาสของไทยในการเข้าไปมีส่วนร่วมในแผนส่งเสริมการลงทุนครั้งสำคัญของซาอุดีฯ เพื่อสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน รวมถึงการพัฒนาสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ตามวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 (Saudi Vision 2030) ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ของรัฐบาลไทย

การเปิดสำนักงานบีโอไอ ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นสำนักงานในต่างประเทศแห่งที่ 17 ของ  บีโอไอ และเป็นแห่งแรกในภูมิภาคตะวันออกกลาง จะเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง เช่น คูเวต กาตาร์ บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และตุรกี ซึ่งซาอุดีฯ ให้ความสนใจในการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการลงทุนและเป็นฮับแห่งใหม่ของซาอุดีฯ ในภูมิภาคนี้ โดยบีโอไอพร้อมใช้เครื่องมือสิทธิประโยชน์และบริการด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาตั้งฐานการผลิต การจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค หรือการร่วมกับธุรกิจไทย

BDMS ขยายความร่วมมือกลุ่มเฮลท์แคร์ยักษ์ใหญ่จากรัสเซีย เพิ่มการเข้าถึงการแพทย์คุณภาพสูงระหว่างสองประเทศ

(4 ก.ย. 67) ณ กรุงมอสโก บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด มหาชน (BDMS) และ MEDSI Group ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างสองผู้ให้บริการด้านสุขภาพเอกชนรายใหญ่ที่สุดของไทยและรัสเซีย ณ MEDSI Group สำนักงานใหญ่ กรุงมอสโก โดยมี มร. เอ จี โซโคลอฟ (Mr. A.G. Sokolov) ประธาน MEDSI Group และนายบุรณัชย์ ลิมจิตติ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส ส่วนการตลาดต่างประเทศ โฆษณาและประชาสัมพันธ์ของ BDMS เป็นตัวแทนลงนามในข้อตกลง

MOU ฉบับนี้ ขยายขอบเขตความร่วมมือทั้งด้านทางการแพทย์ การให้บริการคำปรึกษาทางไกล การให้บริการความเห็นที่สอง การดูแลอย่างต่อเนื่อง และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์คุณภาพสูงระหว่างทั้งสองประเทศ สำหรับผู้ป่วยชาวรัสเซียทั้งที่พำนักอยู่ในประเทศไทย และเมื่อกลับไปรัสเซีย

ในฐานะผู้ให้บริการด้านสุขภาพเอกชนรายใหญ่ที่สุดของไทย ด้วยจำนวนโรงพยาบาลในเครือฯ ถึง 58 แห่ง พร้อมคลินิกสุขภาพและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง BDMS มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยชาวรัสเซียทั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และกลุ่มนักท่องเที่ยว ด้วยมาตรฐานของเครือข่ายที่แข็งแกร่งในจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของชาวรัสเซีย ทั้งกรุงเทพฯ, ภูเก็ต, พัทยา และเกาะสมุย

นอกจากการดูแลกลุ่มผู้ป่วยที่รอการรักษาแล้ว BDMS ยังมีเครือข่ายศูนย์ช่วยเหลือฉุกเฉินเอกชนที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งหมายถึงความพร้อมทั้งด้านความต้องการทางการแพทย์เร่งด่วน และกรณีฉุกเฉินที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ผู้ป่วยจึงสามารถมั่นใจได้ว่า BDMS สามารถให้บริการได้ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม 

นอกจากนี้ BDMS ยังมีศูนย์เคลื่อนย้ายฉุกเฉิน (BDMS Medevac Center) ที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง โดยสามารถติดต่อได้ที่หมายเลข 1724 ซึ่งไม่เพียงแต่ดูแลประสานงานเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น แต่ยังสามารถดำเนินการส่งตัวผู้ป่วยกลับไปยังภูมิลำเนาได้ในกรณีที่จำเป็น

MEDSI Group เป็นเครือข่ายโรงพยาบาลและคลินิกเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศรัสเซีย โดยให้บริการทางด้านสุขภาพแบบครบวงจร ตั้งแต่การดูแลทางการแพทย์เบื้องต้น เคสฉุกเฉิน ตลอดจนการวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง การรักษาด้วยศัลยกรรมที่ซับซ้อน และการฟื้นฟูทางการแพทย์ MEDSI Group ประกอบด้วยโรงพยาบาลและคลินิกจำนวน 148 แห่งในประเทศรัสเซีย โดยตั้งอยู่ในกรุงมอสโกและพื้นที่ใกล้เคียงจำนวน 69 แห่ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยหลัก ศูนย์วินิจฉัยทางคลินิก คลินิกเด็ก โรงพยาบาลคลินิก คลินิกดิจิทัล SmartLab นอกจากนั้น อีก 79 แห่งตั้งอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของรัสเซีย และมีบริการให้คำปรึกษาทางไกล ปัจจุบัน MEDSI Group มีพนักงานมากกว่า 15,000 คน และมีบุคลากรทางการแพทย์กว่า 5,000 คน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top