Tuesday, 20 May 2025
การลงทุน

How to invest คุยเรื่องลงทุนกับ 'อรวดี ศิริผดุงธรรม' 'หุ้น-ทอง-อสังหาฯ' ในห้วงเวลาที่ต้องคลิกให้ถูกจังหวะ

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณอรวดี ศิริผดุงธรรม Senior Investment Advisory เมื่อวันที่ 3 ส.ค.67 ในประเด็น 'เกาะติดการลงทุนไทย' ว่า...

ช่วงนี้หากมองการลงทุนในตลาดหุ้น คงต้องพิจารณาให้รอบด้าน เนื่องจากมีแรงเทขายหุ้นจากต่างชาติตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา แต่ก็ไม่ได้ทิ้งหุ้นไทยทั้งหมด เพียงแต่เปลี่ยนการลงทุนไปยังอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโต เช่น ยานยนต์, การแพทย์ และสื่อสาร 

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวมองว่า นักลงทุนควรมองหาโอกาสการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า เช่น กลุ่มที่มีหนี้เป็นสกุลเงินต่างประเทศ, โรงไฟฟ้า, สายการบิน, สินค้านำเข้า เป็นต้น 

ต่อมา คาดกันว่าในเดือนกันยายนนี้ หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติลดดอกเบี้ย ก็จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจและสินทรัพย์เสี่ยงในอนาคต ซึ่งจะเป็นโอกาสของนักลงทุนเช่นกัน 

ส่วนนักลงทุนมือใหม่ที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นช่วงนี้ ก็อยากให้เริ่มต้นด้วยการสำรวจตัวเองก่อนว่า สามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน? แนะนำให้ลองกรอกแบบฟอร์มประเมินความเสี่ยงก่อนลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก จากนั้นควรศึกษาข้อมูลของบริษัทที่สนใจลงทุนอย่างละเอียด เช่น ข้อมูลพื้นฐานของบริษัท, ผู้บริหาร, ธรรมาภิบาล, สินค้าและบริการตอบโจทย์ผู้บริโภคหรือไม่ 

คุณอรวดี ให้คำแนะนำในส่วนนี้เพิ่มด้วยว่า "การเล่นหุ้น จำเป็นต้องมองภาพใหญ่ของประเทศให้ออก ว่ากำลังเดินไปในทิศทางไหน เช่น รัฐบาลกำลังมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศแบบใด แล้วหุ้นตัวไหนที่มีได้อานิสงส์จากโครงการนี้ เช่น ห้างสรรพสินค้า, โรงแรม หรือ ร้านค้าปลีก เข้าข่ายไหม จากนั้นก็ค่อย ๆ ทยอยซื้อเก็บไปเรื่อย ๆ พอในระยะยาว เราก็อาจจะสามารถเอาชนะตลาดได้"

เมื่อถามถึงการลงทุนในตลาดทองคำ? คุณอรวดี เผยว่า ปัจจุบันมีผลงานวิจัยรายงานว่าทองคำบนโลกอาจมีให้ขุดได้อีกไม่เกิน 20 ปีเท่านั้น หมายความว่าปริมาณทองคำจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ สวนทางกับความต้องการที่มีมากขึ้น ภายใต้จุดเด่นที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ซึ่งได้รับความนิยมสูง สามารถจับต้องได้ และมูลค่าของทองคำไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ย

ทว่า ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่นิยมลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ แต่ไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ เพื่อทำกำไรมากกว่า แต่กลับกันถ้าเศรษฐกิจขาลง นักลงทุนจะหันกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำมากขึ้น 

ดังนั้น การลงทุนทองคำสามารถลงทุนได้เรื่อยๆ แต่ต้องรู้กลยุทธ์ว่าจะลงทุนในรูปแบบใด ระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว ถ้าลงทุนในระยะยาวมีโอกาสทำกำไรได้สูง 

เมื่อถามถึงการลงทุนในส่วนของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย? คุณอรวดี กล่าวว่า ในปัจจุบันอสังหาฯ เหมาะกับนักลงทุนที่มีเงินเย็นมากกว่า เพราะถ้าลงทุนไปแล้ว ไม่สามารถปล่อยเช่า หรือขายได้ ต้นทุนจะสูงขึ้น เนื่องจากต้องจ่ายค่าเสื่อมและค่าส่วนกลางตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันความต้องการอสังหาฯ ในไทยไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนเมื่อก่อน อาจต้องรอนโยบายจากรัฐบาลมาสนับสนุน เพื่อให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์กลับมาคึกคักอีกครั้ง 

'สถานทูตจีน' เผย!! บทสรุปการลงทุนในประเทศไทยช่วง 2 ปีหลัง ลงทุน 7 พันล้านเหรียญ-รายได้ท่องเที่ยวเข้าไทย 3.5 แสนล้านบาท

(4 ก.ย. 67) สถานทูตจีนประจำประเทศไทย เปิดเผยถ้อยแถลงการณ์เกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศจีนกับประเทศไทย มีทั้งหมด 5 ข้อ ระบุว่า...

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สื่อมวลชนไทยติดต่อกับสถานทูตจีนประจำประเทศไทยเพื่อสัมภาษณ์ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-ไทย โดยทางสถานทูตจีนได้รวบรวมประเด็นและตอบคำถามต่าง ๆ ที่น่าสนใจไว้ดังนี้...

1.นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันเป็นอย่างไร?

จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และเป็นตลาดหลักและประเทศที่มีอุตสาหกรรมการผลิตใหญ่ของโลก ประเทศจีนดำเนินตามยุทธศาสตร์การเปิดประเทศที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ที่สำคัญจีนมีส่วนร่วมต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ประมาณ 30% มานานกว่า 10 ปีติดต่อกัน

จีนมุ่งมั่นที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมที่มีคุณภาพสูง และเปิดกว้าง เพื่อบรรลุถึงความทันสมัยอย่างครอบคลุม โลกในปัจจุบันอยู่ในภาวะสับสนวุ่นวาย จีนยินดีที่จะเพิ่มเสถียรภาพให้กับโลกด้วยการพัฒนาอย่างสันติ และเสนอโอกาสใหม่ ๆ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของโลกด้วยการพัฒนาแบบเปิดกว้างของตัวเอง โดยทำงานร่วมกับประเทศอื่น ๆ เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติ

2. ท่านประเมินผลความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีนอย่างไร?

จีนและไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดี เปรียบเหมือนเป็นญาติที่ดีที่มีความใกล้ชิดทางสายเลือด เป็นหุ้นส่วนที่ดีที่มีอนาคตร่วมกัน ประชาชนทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดดุจพี่น้อง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน

ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรของไทยที่สำคัญ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยมากกว่า 40% เฉพาะทุเรียนเพียงรายการเดียวก็มีมูลค่า 4,566 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา

กิจการต่าง ๆ ของจีนยังเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง จากสถิติเบื้องต้นพบว่า บริษัทจีนลงทุนในไทยมากกว่า 1,000 แห่ง โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการยื่นโครงการการลงทุน 588 โครงการ มูลค่าการลงทุนเกือบ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานใหม่ และการผลิตสมัยใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาของประเทศไทยเป็นอย่างมาก มีส่วนสนับสนุนที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในไทย การจ้างงาน การเก็บภาษี การฝึกอบรมบุคลากร สวัสดิการสังคม และด้านอื่น ๆ

ไทยยังเป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวจีน ก่อนการระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเยือนประเทศไทยสูงถึง 11 ล้านคน ในปีนี้ทางการไทยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะสูงถึง 8 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 350,000 ล้านบาท

จีนมีความเชื่อมั่นว่า การพัฒนาของจีนจะยังประโยชน์ให้ไทย โดยจีนยังคงตั้งเป้าหมายที่จะสร้างความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนความทันสมัยอย่างครอบคลุม จีนกลายเป็นตลาดหลักของโลก ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ไทย-จีนมีการเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการปรับปรุง แก้ไข กฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับระบบเศรษฐกิจ และการค้า เราเชื่อว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและไทย จะมีอนาคตขยายตัวมากยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองมากยิ่งขึ้น

3. ท่านมองความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างไทยและจีนในปัจจุบันอย่างไร?

การค้าระหว่างจีนและไทยมีโครงสร้างที่ชดเชยซึ่งกันและกัน เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันและได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยก่อนปี 2562 จีนขาดดุลและไทยเกินดุล แต่หลังจากปี 2563 ได้เปลี่ยนเป็นจีนเกินดุลและไทยขาดดุล เป็นผลมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจและการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่การขาดดุลหรือเกินดุลไม่สามารถมองอย่างง่าย ๆ ว่า ใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ สิ่งสำคัญคือ ขึ้นอยู่กับว่าการค้าที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับความต้องการ และโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ จีนมีตลาดที่ใหญ่มาก แต่ไม่เคยตั้งเป้าว่าจะต้องเกินดุลการค้ากับไทย จีนยินดีเปิดตลาดให้ไทยส่งออกไปยังจีนมากขึ้น และได้อำนวยความสะดวก ออกมาตรการการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากจากสื่อท้องถิ่นและในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าจีนมายังประเทศไทย ความจริง เกือบ 80% สินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีน เป็นสินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง ซึ่งถูกนำมาผลิต เพิ่มมูลค่า ก่อนการส่งออกในท้ายสุด

ส่วนสิ่งที่เรียกว่าสินค้าราคาถูกที่ดึงดูดความสนใจของประชาชน ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาหาร สินค้าเพื่อสุขภาพ เสื้อผ้าและเครื่องประดับ เป็นต้น ซึ่งมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ของยอดมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีน หรืออีกแง่สินค้าเหล่านี้มีมูลค่าแค่ครึ่งเดียวของสินค้าเกษตรของไทยที่ส่งออกไปจีน โดยสินค้าเกษตรเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เสริมความต้องการของประชาชนในแต่ละประเทศ เช่น ทุเรียนไทย ส่งออกไปจีน ส่วนส้มและผลไม้เขตอบอุ่นของจีนบางชนิดส่งเข้ามาไทย

จากรายงานของสื่อ สินค้าจีนในบางส่วนมีปัญหาไม่ได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์อาหารและยาของไทย (อย.) หรือไม่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของไทย (สมอ.) รวมถึงไม่ได้มาตรฐานอื่น ๆ เป็นต้น รัฐบาลจีนเรียกร้องให้บริษัทจีนและชาวจีนดำเนินกิจการตามกฎหมาย ข้อบังคับในต่างประเทศอย่างเคร่งครัดโดยตลอด เราสนับสนุนรัฐบาลไทยให้เข้มงวดในการกำกับดูแลตามกฎหมาย แก้ไข ปราบปรามการละเมิดกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมากิจการขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอีของไทย เผชิญกับการแข่งขันจากสินค้าจีน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อประกอบกับปัจจัยเชิงลบอื่น ๆ ทำให้กิจการเอสเอ็มอี ประสบความยากลำบาก เราตระหนักดีถึงความสำคัญของกิจการเหล่านี้ เข้าใจถึงความยากลำบากที่เกิดขึ้น เราเชื่อว่ากิจการเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุน ช่วยเหลือ และเรายินดีที่จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ช่วยเหลือ พัฒนา ภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างยั่งยืนระหว่างจีนและไทย

4. ท่านมองบทบาทของวิสาหกิจจีนในไทยต่อการพัฒนาของประเทศไทยอย่างไร?

บริษัท หัวเว่ย เป็นบริษัทไฮเทคของจีนที่เพื่อนชาวไทยคุ้นเคย เมื่อท่านเดินเข้าไปในอาคารบริษัท หัวเว่ย ในประเทศไทย จะได้เห็นข้อความสะดุดตาว่า ‘Grow in Thailand, Contribute to Thailand’ หรือ ‘เติบโตในไทย และมีส่วนช่วยเหลือประเทศไทย’ ปรากฏอยู่ในสายตา สะท้อนให้เห็นแนวความคิดร่วมกันของบริษัทจีนมากกว่า 1,000 แห่งที่มาลงทุนและตั้งโรงงานในประเทศไทย เพื่อสร้างเครือข่ายการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ในอีกด้านก็เป็นความปรารถนาดีของกิจการของจีนที่ต้องการช่วยเหลือ ยกระดับการพัฒนาของไทย ตอบสนองต่อความสัมพันธ์จีน-ไทยที่ว่า ‘จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน’

เรามั่นใจว่าการลงทุนของวิสาหกิจจีนช่วยให้ไทยพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำ 5G มาใช้เชิงพาณิชย์ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอยู่ในแนวหน้าในภูมิภาค ซึ่งทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิทัลของจีนหลายแห่ง เช่น หัวเว่ย, ZTE และ China Mobile ไทยกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานใหม่และผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว จีนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและมีบทบาทสำคัญในกระบวนการการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์  มูลค่าผลผลิตรวมของนิคมอุตสาหกรรมระยองไทย-จีนมีมูลค่ามากกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 80% ของผลผลิตเหล่านั้นส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ

วิสาหกิจจีนที่มาลงทุนในไทย มุ่งมั่นที่จะพัฒนาแบบบูรณาการ เชื่อมโยงกับกิจการของไทย ในการสร้างห่วงโซ่การผลิต ห่วงโซ่อุปทานโดยใช้วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตในไทย เพื่อส่งเสริมพัฒนากิจการของคนไทย โดยสินค้าที่ผลิตและส่งออก มีการใช้ปัจจัยการผลิตของไทยมากกว่า 40% และมีการขยายสัดส่วนการใช้ปัจจัยการผลิตของไทยอย่างจริงจัง บริษัท Xinyuan Energy Thailand มีซัพพลายเออร์ในไทย 459 ราย บริษัท China Resources Thailand มีซัพพลายเออร์ในไทยมากกว่า 700 ราย และบริษัท SAIC Motor-CP มีซัพพลายเออร์ในไทยมากกว่า 100 ราย รวมถึงวิสาหกิจจีนในประเทศไทยยังปฏิบัติตามกฎระเบียบว่าด้วยใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเคร่งครัด

วิสาหกิจจีนยังช่วยเพิ่มการจ้างงานและอบรมบุคลากร ไทยยังมีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยต้องจ้างพนักงานไทย 4 คน ถึงจะยื่นขอใบอนุญาตทำงานพนักงานต่างชาติได้ 1 คน บริษัทจีนที่ลงทุนในไทยทำเกินกว่ากฎระเบียบเหล่านี้มาก สัดส่วนของพนักงานคนไทยของบริษัท SAIC Motor-CP อยู่ที่ระดับ 97.5% ของบริษัท Haier Thailand คือ 94% และของบริษัท Zhongce Rubber Thailand อยู่ที่ 92% คาดว่าบริษัทจีนได้สร้างงานกว่า 300,000 ตำแหน่ง พนักงานเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีค่าจ้างที่ค่อนข้างมั่นคง แต่ยังได้รับการฝึกอบรมทักษะที่ดี เป็นบุคลากรที่มีทักษะเพิ่มขึ้นอีกด้วย การอบรมเพิ่มศักยภาพเหล่านี้ยังเปิดกว้างให้คนไทย ให้สังคมไทยอีกด้วย บริษัทหัวเว่ยได้จัดตั้ง Huawei ASEAN Academy (Thailand) ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรการอบรมแก่คนไทยไปแล้ว 96,200 คน

วิสาหกิจจีนในไทยมีความกระตือรือร้นกับสวัสดิการสาธารณะ ดำเนินการการกุศล และสนับสนุนการศึกษาสายอาชีพ การแพทย์และการดูแลสุขภาพ เพื่อทำประโยชน์ต่อสังคมไทย ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) ให้ทุนสนับสนุนการศึกษาอักษรเบรลล์ สำหรับผู้พิการทางสายตา SANY Heavy Industry (Thailand) บริจาคทุนทรัพย์ให้กับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า Sinohydro (Thailand) บริจาคกองทุนป่าชายเลนให้กับกรุงเทพมหานคร และ Haier Thailand ให้การสนับสนุนทางการเงินก่อสร้างโรงเรียนประถมศึกษาในท้องถิ่น วิสาหกิจจีนหลายแห่งได้รับรางวัลที่มอบโดยหน่วยงานรัฐบาลไทย เช่น รางวัลความสำเร็จด้านความรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่น / รางวัลสถานประกอบการด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการดีเด่น และ รางวัลนายจ้างดีเด่น

จากรายงานของสื่อและคดีที่เกี่ยวข้องที่ทางตำรวจไทยสอบสวน ชาวจีนบางคนได้เข้าร่วมในธุรกิจการบริการในประเทศไทย โดยมีคนเป็นจำนวนน้อยเกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อลามก การพนัน และยาเสพติด และบางคนได้หลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางกฎหมายโดย ‘ให้คนอื่นถือหุ้นแทน’ สำหรับปัญหาการละเมิดกฎหมายของท้องถิ่นที่ต้องสงสัยเหล่านี้ จีนสนับสนุนไทยในการสืบสวนและปราบปรามการกระทำเหล่านี้ตามกฎหมาย และรักษาความสงบเรียบร้อยของตลาดที่มีความเป็นธรรม และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย ความจริงแล้ว หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของทั้งสองประเทศได้ดำเนินการความร่วมมือที่ดีในการป้องปราบธุรกิจสีดำและสีเทามาโดยตลอด

5. ท่านมองปัญหาใหม่ที่เกิดจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติอย่างไร?

แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ประเทศต่าง ๆ ต่างก็กำลังเผชิญกับปัญหาในการพัฒนาแพลตฟอร์มเหล่านี้ โดยอีคอมเมิร์ซช่วยลดขั้นตอนทางธุรกิจ ประหยัดต้นทุนการทำธุรกรรม และนำเสนอทางเลือกที่สะดวกมากขึ้นแก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบพิเศษของตนเอง ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น ทำให้รูปแบบธุรกิจแบบดั้งเดิมต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านการแข่งขันที่รุนแรง และเกิดความท้าทายใหม่ ๆ โดยเฉพาะการควบคุมดูแลด้านการบริหาร คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การคุ้มครองสิทธิผลประโยชน์ของร้านค้าและผู้บริโภค 

ดังนั้น เราต้องมีมาตรการรับมือ เพื่อเพิ่มจุดแข็งและหลีกเลี่ยงจุดอ่อน แสวงหาข้อได้เปรียบ หลีกเลี่ยงข้อเสีย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาของเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือการใช้ประโยชน์จากอีคอมเมิร์ส โดยก่อนหน้านี้ไทยได้การถ่ายทอดสดอีคอมเมิร์ซเพื่อนำสินค้าไปขายให้จีน ซึ่งขายได้สำเร็จถึง 4,000 ล้านบาทภายในสองวัน และยังได้ใช้การถ่ายทอดสดทางอีคอมเมิร์ซเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งมีผู้เข้าชมมากกว่า 20 ล้านคน มียอดการทำธุรกรรมถึง 100 ล้านบาท จีนยินดีและส่งเสริมให้ไทยใช้ประโยชน์จากรูปแบบอีคอมเมิร์ซใหม่ ๆ เพื่อขยายตลาดจีน ยินดีที่จะกระชับความร่วมมือในการพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัล แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการกำกับดูแลตลาดอีคอมเมิร์ซ และร่วมกันใช้โอกาสใหม่ของยุคอินเทอร์เน็ต

'พิชัย' หารือ รมต.เกษตรรัสเซีย เร่งเจรจา FTA ไทย-ยูเรเซีย(EAEU) เปิดประตูการค้า-ลงทุนกับกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย 5 ประเทศ

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการหารือกับนายเซอร์เกย์ เลวิน (H.E. Mr. Sergey Levin) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรสหพันธรัฐรัสเซีย เมื่อช่วงเย็นวันที่ 30 ต.ค.2567 ที่ผ่านมา ณ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาแนวทางในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และเชิญชวนให้รัสเซียซื้อสินค้าเกษตรของไทย อาทิ ข้าว เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ พร้อมเร่งเจรจา FTA ระหว่างไทยและกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย 5 ประเทศ ที่ประกอบด้วย รัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และอาร์เมเนีย ซึ่งจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพของไทยต่อไป

นายพิชัย กล่าว่า โดยที่ปัจจุบัน มูลค่าการค้าระหว่างไทยและรัสเซียยังมีปริมาณไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือเพื่อขยายการค้า-การลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้น โดยไทยได้ขอให้รัสเซียพิจารณาเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสาขาที่รัสเซียมีความเชี่ยวชาญ เช่น เทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีการลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) และการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) ในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยให้การลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งอุตสาหกรรมดิจิทัล และเทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ ไทยมีความพร้อมเป็นศูนย์กลางสินค้าอาหารเพื่อความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ของโลก จึงขอให้รัสเซียพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าข้าวและสินค้าอาหารจากไทย ขณะที่ ฝ่ายรัสเซียได้ขอให้ไทยพิจารณาการนำเข้าสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์นม รวมทั้งผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์จากรัสเซียด้วยเช่นกัน

นายพิชัย ระบุว่า ตนได้แจ้งความพร้อมของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-รัสเซีย ครั้งที่ 5 ซึ่งจะเป็นการประชุมในระดับรัฐมนตรีและเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจในสาขาต่าง ๆ ของทั้งสองประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถจัดการประชุมดังกล่าวได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2568

นอกจากนี้ ไทยและรัสเซียเห็นพ้องถึงประโยชน์ในการจัดทำความตกลง FTA ระหว่างไทยและสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union: EAEU) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และอาร์เมเนีย ซึ่งจะเป็นช่องทางในการเพิ่มศักยภาพในตลาดของทั้งสองประเทศ รวมไปถึงขยายมูลค่าการค้าและการลงทุนและสามารถช่วยลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างไทยกับรัสเซีย 

ในปี 2566 รัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 37 ของไทยในโลก และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ในปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยและรัสเซียมีมูลค่าการค้ารวม 1,188.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.26 ของการค้าไทยในตลาดโลก โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 32.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปยังรัสเซีย มูลค่ารวม 610.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล การนำเข้าจากรัสเซียมูลค่ารวม 578.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์

'พิชัย' ถกทูตเกาหลีใต้ เดินหน้าเจรจาจัดทำ FTA ไทย - เกาหลีใต้ ตั้งเป้าปิดดีลในปี 2568 ชวนเปิดตลาดสินค้าเกษตรไทย ดึงดูดนักลงทุนเพิ่มขึ้น

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการพบหารือกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย (นายปาร์ค ยงมิน) ณ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเร่งเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ไทย – เกาหลีใต้ ให้ได้ข้อสรุปภายในปี 2568 และรื้อฟื้นการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าที่ห่างหายไปกว่า 20 ปี และกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

นายพิชัย กล่าวว่า ไทยและเกาหลีใต้อยู่ระหว่างเจรจาจัดทำ FTA โดยใช้ชื่อว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ หรือ EPA ไทย – เกาหลีใต้ ซึ่งจะเป็นการต่อยอดการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุนเพิ่มเติมจากความตกลงที่ไทยกับเกาหลีใต้เป็นภาคีร่วมกันอยู่แล้ว ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - เกาหลีใต้ (AKFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) รวมทั้งขยายความร่วมมือในเรื่องใหม่ ๆ เช่น การค้าดิจิทัล และห่วงโซ่การผลิต เป็นต้น โดยตนได้ขอให้เกาหลีใต้พิจารณาเปิดตลาดสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงของไทย อาทิ สินค้ากลุ่มผลไม้เมืองร้อน เช่น มะม่วง มังคุด และสับปะรด กุ้งสดและแปรรูป เนื้อไก่สดและแปรรูป และยังได้แสดงความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเจรจาความตกลง EPA ไทย–เกาหลีใต้ รอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 17 – 19 ธันวาคม 2567 นี้ โดยไทยและเกาหลีใต้เห็นพ้องให้มีการรื้อฟื้นกลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ JTC ระดับรัฐมนตรีที่ห่างหายไปกว่า 20 ปี เพื่อใช้เป็นเวทีหารือแนวทางการส่งเสริมการค้าและการลงทุน ตลอดจนแก้ไขปัญหาอุปสรรคการค้า การลงทุน และอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน โดยตนได้แสดงความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JTC ในช่วงต้นปี 2568

นายพิชัย เพิ่มเติมว่า ในด้านการลงทุน ถึงแม้ว่าเกาหลีใต้จะลงทุนในไทยเป็นอันดับ 6 ของอาเซียน แต่ล่าสุด บริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้อยู่ระหว่างเตรียมเข้ามาลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอร์รี่ในประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเครื่องสำอางของเกาหลีใต้เตรียมเข้ามาตั้งโรงงานในไทยอีกด้วย และยังได้ถือโอกาสเชิญชวนนักธุรกิจเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ อาทิ อุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ แผงวงจรพิมพ์ (PCB) การแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพ ดิจิทัล AI ดาต้าเซนเตอร์ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และคอนเทนต์ ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่เกาหลีใต้มีศักยภาพสูง โดยเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้กล่าวสนับสนุนเนื่องจากปัจจุบันเกาหลีใต้ต้องการกระจายการลงทุนในหลายประเทศมากขึ้น

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า สถานการณ์ประชาธิปไตยในเกาหลียังมีความมั่นคง สามารถยืนหยัดรักษาต่อไปได้ ขณะที่ รมว. พาณิชย์ก็แสดงความเชื่อมั่นเช่นเดียวกันว่า สถานการณ์ประชาธิปไตยในไทยก็จะมีความมั่นคงเช่นเดียวกับเกาหลี 

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2566 เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 12 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 14,744 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ 6,073 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้ 8,671ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค. –ต.ค.) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 12,960 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออก 5,040 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้า 7,920 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

'พิชัย' โชว์วิชั่นบนเวทีอาเซียน-ญี่ปุ่น ดึงดูดการค้า-ลงทุน ให้ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนเบอร์ 1 ต่อเนื่อง ย้ำไทยพร้อมเป็นฮับการผลิต PCB - Data Center - AI - ยานยนต์ยุคใหม่ ของอาเซียน

(20 ธ.ค.67) เวลา 11.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกล่าวเปิดงาน 'ASEAN-Japan Economic Co-Creation Forum 2024' ตามคำเชิญของ Mr. MUTO Yoji (นายมูโตะ โยจิ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น เป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ มุมมองและแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน โดยมี Mr. Nguyen Hong Dien (นายเหงียน ห่ง เตี้ยน) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม เลขาธิการอาเซียน ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น(JCCI) ผู้แทนจากทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ตลอดจนคณะผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญจากทั้งอาเซียนและญี่ปุ่นร่วมงานกว่า 300 ราย

นายพิชัยกล่าวว่า ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีกันมาอย่างต่อเนื่อง เรามีรัฐประหารในปี 2014 การลงทุนจากต่างชาติลดลงต่อเนื่อง แต่เมื่อเรากลับมามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งการลงทุนก็กลับมา วันนี้เราอยากเห็นญี่ปุ่นกลับมาลงทุนในไทยเป็นเบอร์หนึ่งของไทยต่อไป ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ PCB เซมิคอนดักเตอร์ ดิจิทัล AI ยานยนต์ยุคใหม่ และพลังงานสะอาด 

ไทยมีความพร้อมในการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ โดยมีการส่งเสริมการลงทุนและการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ ยานยนต์ยุคใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยยังพร้อมเป็นฮับ PCB ของภูมิภาคด้วย ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับ UAE ในการทำ Intelligence center และร่วมกับบริษัท  Microsoft และ Google สร้างการลงทุนขนาดใหญ่  พร้อมที่จะเป็นฐานการผลิตและที่ตั้งของ Data Center ของอาเซียน 

“วันนี้ขอต้อนรับนักลงทุนจากทั่วโลกที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยไทยมีแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติที่ครอบคลุมแนวทางในการพัฒนาและการรับมือต่อความท้าทายด้าน AI ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการพัฒนาพลังงานสะอาดซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทย” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย ระบุเพิ่มเติมว่า อาเซียนและญี่ปุ่นเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนร่วมกัน จึงได้จัดทำข้อริเริ่ม “การออกแบบอนาคตและแผนปฏิบัติการสำหรับการร่วมสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนของความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น” เมื่อปี 2566 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและรับมือกับความท้าทายทางสังคมระหว่างกัน โดยเตรียมจัดทำแผนแม่บทสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคต่อไประหว่างอาเซียน - ญี่ปุ่น และแผนการดำเนินการร่วมสร้างสรรค์ต่อนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2568 เพื่อให้ความเห็นชอบทั้งสองแผนดังกล่าวในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 31 ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2568 อันจะนำไปสู่การพัฒนาให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกยานยนต์ยุคใหม่ รวมถึงการนำดิจิทัลและ AI มาปรับใช้ในการขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคอาเซียนและญี่ปุ่นในทศวรรษต่อไป

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ในปี 2566 การค้าระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น มีมูลค่า 241,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของอาเซียน ขณะที่ญี่ปุ่นมีการลงทุนโดยตรงในอาเซียน เป็นมูลค่า 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งถือว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลงทุนในอาเซียนมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ขณะที่การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในปี 2566 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 55,789 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่น 24,594ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล แผงวงจรไฟฟ้า และไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น 31,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top