Friday, 25 April 2025
การรับรู้

‘ดร.พิริยะ’ มอง!! ไม่ควรใส่ใจ กับการจัดอันดับของ World Population Review ชี้!! เป็นเรื่องของ ‘การรับรู้’ มากกว่าการใช้ ‘ข้อมูลทางสถิติ’ ที่เชื่อถือได้

(23 มี.ค. 68) ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ การจัดอันดับของ World Population Review โดยมีใจความว่า ...

‘อย่าไปซีเรียสมากกับการจัดอันดับของ World Population Review’

ทุกครั้งที่มีหน่วยงานไหนจัดอันดับการศึกษาของโลกออกมา และพบว่าประเทศไทยเราอยู่ในอันดับต่ำ (หรือต่ำกว่าประเทศที่เราคิดว่าเราน่าจะสูงกว่า) ก็จะมีสื่อต่างๆ ออกมาประกาศและซ้ำเติมระบบการศึกษา (โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาไทย) เราอยู่บ่อยครั้ง ล่าสุดจากการที่นักข่าวไปขุดผลการจัดอันดับการศึกษาของ World Population Review ที่รายงานว่าประเทศไทยเรามีอันดับการศึกษาที่อันดับ 107 (จาก 203 ประเทศ) โดยต่ำเป็นอันดับ 8 ของอาเซียน (และทีี่ข่าวเอามาขยี้ที่สุดคือต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านเราอย่าง สปป.ลาว และเหนือกว่าพม่าและกัมพูชาแต่เล็กน้อยเท่านั้น) https://worldpopulationreview.com/.../education-rankings...
แต่เพื่อความแฟร์แล้ว ในฐานะของนักวิจัย เราควรที่จะต้องไปหาดูก่อนว่า ตัดชี้วัดที่จัดอันดับดังกล่าวนั้นมาจากไหน มันเป็นวิธีการวัดที่น่าเชื่อถือและถูกต้องเพียงใด และมันมี "ความคลาดเคลื่อน (Error) ที่อาจจะเกิดขึ้นในประเด็นใดได้บ้าง 

เท่าที่พยายามเข้าไปดูถึงวิธีการคำนวณอันดับคร่าวๆ พบว่า World Population Review "ไม่ได้เป็นหน่วยงาน"ที่ทำการคำนวณอันดับดังกล่าว แต่จะไปเอาข้อมูลจากสองแหล่งได้แก่ 1) US News Best Countries report และ 2) the nonprofit organization World Top 20 (หรือพูดง่ายๆ ก็คือ World Population Review ก็เหมือนกับสำนักข่าวเราดีๆ นี่แหละ ไม่ได้ทำเอง แค่เอาที่เขาประกาศมาทำเป็น graphic สวยๆ และเขียนวิเคราะห์คร่าวๆ เฉยๆ)

โดยถ้าเข้าไปดูในส่วนของ US News Best Countries Report (ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลหลัก) เป็นรายงานที่ทำในปี 2024 https://www.usnews.com/.../best-countries-for-education ซึ่งเป็นการสำรวจมิติของประเทศในด้านต่างๆ ได้แก่ Quality of Life, Heritage, Adventure, Citizenship, Open for Business, Entrepreneurship, Social Purpose, และ Cultural Influence (คล้ายๆ กับการสำรวจ Soft Power Index ของ Brandfinance) โดยข้อมูลที่ได้มาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้คน 17000 คนจากประเทศต่างๆ ใน 78 ประเทศ จากนั้นจัดอันดับประเทศเหล่านั้นตามการตอบแบบสำรวจ ส่วนในด้านการศึกษาของแบบสำรวจนั้น ผู้ตอบแบบสำรวจจะถูกถามคำถามที่ประเมินปัจจัยต่างๆ เช่น

1) คุณภาพของระบบการศึกษาของรัฐ: ผู้ตอบแบบสำรวจจะประเมินว่าระบบการศึกษาของรัฐในแต่ละประเทศนั้นพัฒนาและมีประสิทธิภาพเพียงใด

2) ความน่าสนใจในการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย: ผู้ตอบแบบสำรวจจะประเมินว่าประเทศนั้นๆ มีความน่าสนใจในการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยมากน้อยเพียงใด

3) คุณภาพของการศึกษาโดยรวม: ผู้ตอบแบบสำรวจจะประเมินว่าประเทศนั้นๆ มีการให้การศึกษาที่มีคุณภาพสูงเพียงใด
หลังจากนั้นรายงานได้รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจและนำมาถูกนำมาวิเคราะห์และประมวลผลและทำการใส่น้ำหนักของแต่ละปัจจัย เพื่อให้ได้คะแนนรวมสำหรับแต่ละประเทศ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การจัดอันดับที่ได้นั้นจึงเป็นการจัดอันดับที่เกิดจาก "การรับรู้ (Perception)" ของคนประเทศต่างๆ เกี่ยวกับระบบการศึกษาของประเทศนั้น โดยอาศัยคำถามที่เจาะจงเกี่ยวกับคุณภาพและความน่าสนใจของการศึกษาในแต่ละประเทศ โดยการสำรวจได้จัดทำขึ้นระหว่างเดือน มีนาคม-พฤษภาคมปี 2023

จากข้อมูลคร่าวๆ นี้ก็พอสรุปได้ว่า "เราไม่ควรจะต้องไปใส่ใจกับอันดับที่ World Population Review นี้รายงานออกมา" เพราะมันเป็นเรื่องของ Perception มากกว่าการใช้ข้อมูลทางสถิติที่เชื่อถือได้

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าคุณภาพการศึกษาของเรา ‘ยังไม่ดี’ จริงๆ ซึ่งปัญหามันก็เหี่ยวกับกระทรวงศึกษาเพียงส่วนหนึ่ง แต่ยังมีอีกหลายบริบทมากๆๆๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งถ้าให้เขียนต่อมันก็จะยาวมากๆ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top