Sunday, 20 April 2025
การรถไฟแห่งประเทศไทย

‘การรถไฟฯ’ จัดเดินขบวนพิเศษรถจักรไอน้ำนำเที่ยว ‘กรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา’ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมฯ

(3 มิ.ย.67) การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดเดินขบวนรถจักรไอน้ำพิเศษนำเที่ยว เส้นทางกรุงเทพ – ชุมทางฉะเชิงเทรา - กรุงเทพ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระราชินี 3 มิถุนายน 2567 โดยมีนายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนพิเศษรถจักรไอน้ำนำเที่ยว พร้อมด้วยผู้บริหารฯ เจ้าหน้าที่ ประชาชน และนักท่องเที่ยวเข้าร่วมภายในงาน ณ สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การจัดเดินขบวนพิเศษรถจักรไอน้ำนำเที่ยวเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2567 เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้วยพระราชหฤทัยมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ ในการจัดเดินขบวนพิเศษรถจักรไอน้ำนำเที่ยวครั้งนี้ ยังได้เปิดโอกาสให้ประชาชน ได้ร่วมเดินทางในเส้นทางรถไฟประวัติศาสตร์ กรุงเทพ – ชุมทางฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และร่วมสัมผัสประสบการณ์การเดินทางครั้งสำคัญโดยรถไฟ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 6 โอกาสพิเศษที่การรถไฟฯ ได้นำหัวรถจักรไอน้ำ รุ่นแปซิฟิก หมายเลข 824  และ 850 รุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลิตโดยบริษัท นิปปอน ชาร์เรียว จำกัด  มาเปิดให้บริการแก่ประชาชนในวันสำคัญของทุกปี ประกอบด้วย

1. วันที่ 26 มีนาคม วันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟ เส้นทางกรุงเทพ – อยุธยา – กรุงเทพ

2. วันที่ 3 มิถุนายน วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เส้นทางกรุงเทพ – ชุมทางฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ

3. วันที่ 28 กรกฎาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เส้นทางกรุงเทพ – อยุธยา – กรุงเทพ

4. วันที่ 12 สิงหาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เส้นทางกรุงเทพ – ชุมทางฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ

5. วันที่ 23 ตุลาคม วันปิยมหาราช เส้นทางกรุงเทพ – อยุธยา – กรุงเทพ

6. วันที่ 5 ธันวาคม วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เส้นทางกรุงเทพ – ชุมทางฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ

สำหรับผู้ที่พลาดโอกาสร่วมเดินทางในครั้งนี้ การรถไฟฯ ได้เตรียมจัดกิจกรรมนั่งรถจักรไอน้ำท่องเที่ยวขบวนประวัติศาสตร์ ทริปถัดไป ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 เส้นทางกรุงเทพ -  อยุธยา - กรุงเทพ โดยจะเริ่มเปิดจองตั๋วโดยสารล่วงหน้า ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป ผู้โดยสารสามารถติดตามข่าวสาร และโปรแกรมท่องเที่ยวต่าง ๆ แบบเช้าไปเย็น หรือพักค้างคืนได้ที่เพจเฟซบุ๊กแฟนเพจทีมพีอาร์ การรถไฟแห่งประเทศไทย และสามารถติดต่อซื้อตั๋วและสำรองที่นั่งล่วงหน้าด้วยระบบ D-Ticket หรือสถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง 

‘รฟท.’ เปิดเส้นทางเดินรถไฟ ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์– เวียงจันทน์’ เพื่อ ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ-ส่งเสริมการท่องเที่ยว-ยกระดับโลจิสติกส์’

(8 มิ.ย.67) นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5-8 มิถุนายน 2567 ตนได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทยเดินทางไปร่วมประชุมกับ Mr.DaochindaSIHARATH Managing Director of LAO NATIONAL RAILWAYS (รัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว) เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเดินขบวนรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ที่มีกำหนดเปิดให้บริการเป็นทางการในเดือนกรกฎาคมนี้

ซึ่งจะเป็นการขยายความร่วมมือในการเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชน และขนส่งสินค้าของทั้งสองประเทศ ตลอดจนยกระดับระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาค โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางตามนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาล

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเดินทางไปร่วมประชุมฯ ครั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเดินขบวนรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) เป็นไปตามนโยบายของนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการให้การรถไฟฯ มีการเตรียมความพร้อมขั้นสูงสุดในทุกด้าน ๆ ก่อนที่จะมีเปิดให้บริการเดินรถเต็มรูปแบบในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้

ทั้งนี้ ในการหารือระหว่างการรถไฟฯ กับรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาวได้มุ่งเน้นประเด็นหารือใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 

1.แผนการเปิดเดินรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – อุดรธานี –หนองคาย – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) รวมถึง แผนการทดลองเดินรถเสมือนจริง ซึ่งกำหนดไว้ในระหว่างวันที่ 13 -14 กรกฎาคม 2567

2.แผนพัฒนาตลาดด้านการท่องเที่ยว 

3.แผนการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ 

4. การเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่งสินค้าระหว่าง ไทย – ลาว- จีน 

โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อหารือด้านการขนส่งสินค้าข้ามแดน/ผ่านแดนระหว่างประเทศ ซึ่งการรถไฟฯ ได้ให้ความช่วยเหลือในการให้ความรู้ในการฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาวในด้านปฏิบัติการเดินรถมาโดยตลอด ทั้งด้านพนักงานขับรถ พนักงานสถานี และพนักงานขายตั๋ว

นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังได้ร่วมมือกันทำการทดลองและทดสอบการเดินขบวนรถไฟระหว่างสถานีอุดรธานี-สถานีหนองคาย-สถานีท่านาแล้ง-สถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) แล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 โดยผลการทดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีปัญหาอุปสรรคในการเดินรถใดๆ

นายเอกรัช กล่าวว่า การเปิดเดินขบวนรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – อุดรธานี – หนองคาย – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ในครั้งนี้ จึงนับเป็นการขยายความร่วมมือครั้งสำคัญของทั้ง 2 ประเทศ จากปัจจุบันที่สามารถเปิดเดินรถถึงสถานีท่านาแล้ง (สปป. ลาว) และเมื่อสามารถให้บริการได้เต็มรูปแบบจนถึงสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) จะก่อให้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวอย่างมหาศาล

โดยสามารถรับส่งผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบิน มาลงยังสนามบินอุดรธานี เพื่อเดินทางต่อเข้าไปนครหลวงเวียงจันทน์ได้ โดยไม่ต้องต่อรถโดยสารอื่น ซึ่งเป็นการยกระดับระบบโลจิสติกส์ของทั้งสองประเทศ สอดคล้องกับนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และ โลจิสติกส์ของภูมิภาคอีกด้วย

‘การรถไฟฯ’ จับมือ ‘ททท.’ จัดกิจกรรมการเดินทาง เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ ‘สุขทันทีที่เที่ยวกับรถไฟไทย เดินทางครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม’ ที่สถานีหัวลำโพง

เมื่อวานนี้ (28 มิ.ย. 67) การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ผนึกความร่วมมือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และหน่วยงานพันธมิตรภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ (ประเทศไทย) และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวเปิดตัวกิจกรรม ‘สุขทันทีที่เที่ยวกับรถไฟไทย เดินทางครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม’ โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานร่วมกันในการเปิดกิจกรรม พร้อมด้วยนางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคมการรถไฟแห่งประเทศไทย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้เกียรติเข้าร่วมงานชวนเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ทางรถไฟ 6 เส้นทาง ‘สุขทันทีที่เที่ยวกับรถไฟไทย เดินทางครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม’ ณ สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ Thailand Vision ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ‘IGNITE THAILAND’ เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมายการเป็น Tourism Hub ที่สำคัญของโลก พร้อมกับส่งเสริมการท่องเที่ยว ‘เมืองหลักและเมืองน่าเที่ยว’ โดยเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองใกล้เคียง ผ่านระบบขนส่งสาธารณะของประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางนำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่น และเป็นการสร้างความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยวให้เดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี  

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว และร่วมเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่ Tourism Hub ที่สำคัญของโลกอย่างเป็นรูปธรรม โดยล่าสุดในวันนี้ กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และภาคีพันธมิตรภาคีเอกชน ได้แก่ บริษัทบุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ (ประเทศไทย) และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดตัวกิจกรรมท่องเที่ยวทางรถไฟ ‘สุขทันทีที่เที่ยวกับรถไฟไทย เดินทางครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม’ เพื่อส่งมอบประสบการณ์เดินทางท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ผ่านการเดินทางโดยรถไฟ ที่มีความสะดวกสบาย ความปลอดภัย ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2567 จำนวน 6 เส้นทาง ประกอบด้วย

เดือนกรกฎาคม 2567 กิจกรรมโดยรถไฟ KIHA 183 จำนวน 4 เส้นทาง พร้อมแพ็กเกจท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน ราคา 3,999 บาท ต่อท่าน ได้แก่ 
- เส้นทางที่ 1 กรุงเทพ - ราชบุรี (ภาคกลาง) ในวันที่ 6 – 7 กรกฎาคม 2567 
- เส้นทางที่ 2 กรุงเทพ -สวนสนประดิพัทธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ภาคกลาง) ในวันที่ 13 – 14 กรกฎาคม 2567 
- เส้นทางที่ 3 กรุงเทพ - สุพรรณบุรี (ภาคกลาง) ในวันที่ 20 – 21 กรกฎาคม 2567 
- เส้นทางที่ 4 กรุงเทพ - ปราจีนบุรี (ภาคตะวันออก) ในวันที่ 27 – 28 กรกฎาคม 2567  

เดือนสิงหาคม กิจกรรม ‘สิงหาแม่พาเที่ยว’ 2 เส้นทางรถไฟ ในรูปแบบ One Day Trip ได้แก่ 
- เส้นทางที่ 1 แม่พาลูกเที่ยว ชวนนั่งรถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์ กรุงเทพ - ฉะเชิงเทรา (ภาคตะวันออก) ในวันที่ 12 สิงหาคม 2567 ราคา 799 และ 329 บาทต่อท่าน 
- เส้นทางที่ 2 Royal Blossom รถไฟสายแห่งความสุข กรุงเทพ - กาญจนบุรี ซึ่งเป็นการเปิดให้บริการขบวนรถท่องเที่ยว SRT Royal Blossom เป็นครั้งแรก ในวันที่ 17 สิงหาคม 2567 ราคา 1,799 บาทต่อท่าน 

พร้อมกิจกรรมสุดพิเศษของเดือนสิงหาคม กิจกรรม ‘สิงหาแม่พาเที่ยว’ เฉพาะคุณแม่รับบัตรกำนัล มูลค่าเท่ากับราคาตั๋วโดยสารฟรี 1 สิทธิ์ต่อ 1 ครอบครัว เพียงแสดงบัตรประชาชนของคู่คุณแม่คุณลูก และสำเนาทะเบียนบ้าน (สามารถรับบัตรกำนัลได้ในวันเดินทาง)

นอกจากนี้ ตลอดการเดินทาง ยังได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด สนับสนุนน้ำดื่มทุกทริป และมอบบัตรกำนัลฟรี สำหรับคุณแม่ในกิจกรรมสิงหาแม่พาเที่ยว บริษัท เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มอบเจลอาบน้ำเดทตอลให้กับนักท่องเที่ยวทุกท่าน พร้อมผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคของเดทตอล สำหรับใช้ทำความสะอาดบนขบวนรถไฟนำเที่ยวทุกขบวน ในส่วนของบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) มอบกรมธรรม์ดูแลค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ 50,000 บาท รวมถึงค่ารักษาพยาบาลจากอาหารเป็นพิษให้กับนักท่องเที่ยวทุกท่านอีกด้วย 

ขณะที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ร่วมสนับสนุนนำมัคคุเทศก์มืออาชีพ ช่วยบรรยายความรู้และข้อมูลต่าง ๆ พร้อมจัดกิจกรรมสุดพิเศษเพื่อเพิ่มบรรยากาศแห่งความสุขบนขบวนรถไฟ ตลอดเดือนกรกฎาคม อาทิ เส้นทางราชบุรี พบกับคุณเจ ชลัช นายแบบมากฝีมือที่จะมาร่วมเดิน Fashion Show ผ้าขาวม้าของดีประจำเมืองราชบุรีครั้งแรกบนรถไฟ เส้นทางสวนสนประดิพัทธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบกับอาจารย์อัส มนต์คเนศวร์ สิริปภัสสร ที่จะมาบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์อันทรงคุณค่าด้วย Saxophone ครั้งแรกบนรถไฟ เส้นทางสุพรรณบุรี ที่จะพาทุกท่านร่วมย้อนวันวานกับ ‘น้าโย่ง’ ที่จะมาขับร้องเพลงฉ่อยเรื่องราวการกำเนิดเมืองอู่ทองที่สอดแทรกความเป็นไทย ให้ทุกท่านได้ร่วมสนุกและเพลิดเพลิน และเส้นทางปราจีนบุรี พบกับเคล็ดลับการสักการะท้าวเวสสุวัณ จากซินแสเป็นหนึ่ง วงษ์ภูดร ที่จะพาทุกท่านร่วมมูเตลูกันแบบจัดเต็ม 

นายสุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ คาดหวังว่าจากความร่วมมือในกิจกรรมครั้งนี้ จะช่วยเปิดมิติใหม่ในการเดินทางท่องเที่ยวทางรถไฟ พร้อมกับช่วยสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศได้ตลอดทั้งปี นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่น และทำให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศเติบโตเข้มแข็งมั่นคงต่อไป 

สำหรับ ผู้ที่สนใจจองโปรแกรมท่องเที่ยวทั้ง 6 เส้นทาง สามารถซื้อตั๋วได้ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2567 เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป ที่สถานีรถไฟทั่วประเทศหรือผ่านระบบออนไลน์ D-ticket ของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย 1690

เปิดหวูด!! รถไฟ 'กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์' วันละ 2 ขบวน เชื่อม 'ไทย-สปป.ลาว' 'เพิ่มทางเลือกท่องเที่ยว-ขนส่งโลจิสติกส์' ดีเดย์ขบวนแรก 19 ก.ค.นี้

เมื่อวานนี้ (10 ก.ค.67) นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย บูรณาการความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว เพื่อขยายการให้บริการขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศ เส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) - สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชน และขนส่งสินค้าระหว่างกัน

ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย มีความพร้อมแล้วในการเปิดเดินขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศไทย - สปป.ลาว เส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) - สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

โดยขบวนแรก ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ พร้อมกับเปิดให้ผู้โดยสารจองตั๋วโดยสารได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งเปิดให้บริการไป-กลับ จำนวน 2 ขบวน ประกอบด้วย รถธรรมดา ชั้น 3 (พัดลม) 152 ที่นั่ง, รถนั่งปรับอากาศ ชั้น 2 จำนวน 64 ที่นั่ง และรถนั่งและนอนปรับอากาศ ชั้น 2 จำนวน 30 ที่นั่ง พ่วงไปกับขบวนรถเร็วที่ 133 นอกจากนี้ ยังได้เปิดให้บริการเส้นทางอุดรธานี - เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) - อุดรธานี ไป - กลับ อีก 2 ขบวน รวมเป็น 4 ขบวน/วัน

ทั้งนี้ ผู้ที่ประสงค์เดินทาง สามารถติดต่อซื้อตั๋วโดยสารและสำรองที่นั่งล่วงหน้า (สูงสุด 180 วัน) ที่สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งผู้โดยสารจะต้องมีหนังสือเดินทาง (Passport) หรือ หนังสือผ่านแดน (Border Pass) เพื่อใช้ในการทำพิธีการทางศุลกากร และตรวจคนเข้าเมืองที่สถานีหนองคาย และเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ก่อนการเดินทางข้ามประเทศ ขณะเดียวกันการรถไฟฯ ยังได้รับความร่วมมือจาก สมาคมผู้ประกอบการขนส่งที่เวียงจันทน์ ในการจัดรถโดยสารรับ-ส่ง อำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ อีกด้วย

นายเอกรัช กล่าวว่า การเปิดเดินขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศ ไทย - สปป.ลาว ครั้งนี้ นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนทั้งสองประเทศแล้ว ยังช่วยยกระดับระบบขนส่งโลจิสติกส์ไทย ให้กลายเป็นศูนย์กลางภูมิภาคตามนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาล ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการให้การรถไฟฯ เป็นกำลังหลักในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศ โดยให้เตรียมความพร้อมขั้นสูงสุดในทุกด้าน ๆ ก่อนที่จะมีเปิดให้บริการเดินรถเต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนการค้าชายแดนระหว่างไทย - สปป.ลาว ให้มีการขยายตัวมากขึ้น พร้อมกับขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว Tourism Hub ที่สำคัญของโลก ตามยุทธศาสตร์ เมืองหลักและเมืองน่าเที่ยวของรัฐบาล โดยขบวนรถสามารถรับส่งผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบิน มาลงยังสนามบินอุดรธานี เพื่อเดินทางต่อเข้าไปนครหลวงเวียงจันทน์ได้ โดยไม่ต้องต่อรถโดยสารอื่นอีก ซึ่งจะก่อให้ประโยชน์ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวในอนาคตอีกด้วย

‘รฟท.’ เตรียมเดินรถเส้นทาง ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-เวียงจันทน์’ เปิดขายตั๋วแล้ว ราคาเริ่มต้น 281 บาท ออกวิ่งขบวนแรก 19 ก.ค.นี้

(12 ก.ค. 67) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมเปิดให้บริการขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศไทย-สปป.ลาว เส้นทาง สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ขบวนแรก ในวันที่ 19 ก.ค.2567 ที่จะถึงนี้ เปิดจำหน่ายตั๋วล่วงหน้าให้กับที่ ผู้ต้องการใช้บริการแล้ว

โดยเปิดให้บริการไป-กลับ จำนวน 2 ขบวน ประกอบด้วย

-รถธรรมดา ชั้น 3 (พัดลม) 152 ที่
-รถนั่งปรับอากาศ ชั้น 2 จำนวน 64 ที่นั่ง
-รถนั่งและนอนปรับอากาศ ชั้น 2 จำนวน 30 ที่นั่งขบวนรถเร็วที่ 133

นอกจากนี้ ยังเปิดให้บริการเส้นทางอุดรธานี-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)-อุดรธานี ไป-กลับ อีก 2 ขบวน รวมเป็น 4 ขบวน/วัน

>>สำหรับราคาค่าโดยสารกรุงเทพ-เวียงจันทน์ มีดังนี้
ค่าตั๋วรถไฟ ขบวนรถเร็ว 133/134 กรุงเทพอภิวัฒน์-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)-กรุงเทพอภิวัฒน์

-รถนั่งชั้น 3 ราคา 281 บาท
-รถนั่งชั้น 2 ปรับอากาศ ราคา 574 บาท
-รถนอนชั้น 2 ปรับอากาศ ราคา เตียงบน 784 บาท / เตียงล่าง 874 บาท

ส่วนขบวน รถเร็ว 147/148 อุดรธานี-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)-อุดรธานี
-อุดรธานี-เวียงจันทน์ ราคา รถพัดลม 100 บาท/รถแอร์ 200 บาท

>>ในส่วนของเวลาเดินทาง มีดังนี้
*เที่ยวไป*
ขบวนรถเร็วที่ 133 กรุงเทพอภิวัฒน์-เวียงจันทน์
ออกจาก กรุงเทพอภิวัฒน์ เวลา 21.25 น. ถึง เวียงจันทน์ เวลา 09.05 น.

ขบวนรถเร็วที่ 147 อุดรธานี-เวียงจันทน์
ออกจาก อุดรธานี เวลา 16.00 น. ถึง เวียงจันทน์ เวลา 17.55 น.

*เที่ยวกลับ*
ขบวนรถเร็วที่ 134 เวียงจันทน์-กรุงเทพอภิวัฒน์
ออกจาก เวียงจันทน์ เวลา 18.25 น. ถึง กรุงเทพอภิวัฒน์ เวลา 07.30 น.

ขบวนรถเร็วที่ 148 เวียงจันทน์-อุดรธานี
ออกจาก เวียงจันทน์ เวลา ออก 09.35 น. ถึง อุดรธานี เวลา 11.25 น.

สำหรับผู้โดยสารที่มีความประสงค์ซื้อตั๋วโดยสาร ขบวน 133/134 สามารถติดต่อซื้อตั๋วโดยสารและสำรองที่นั่งล่วงหน้า (สูงสุด 180 วัน) ที่สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ

ซึ่งผู้โดยสารต้องมีหนังสือเดินทาง (Passport) หรือ หนังสือผ่านแดน (Border Pass) เพื่อใช้ในการทำพิธีการทางศุลกากร และตรวจคนเข้าเมืองที่สถานีหนองคาย และเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ก่อนการเดินทางข้ามประเทศ

ขณะเดียวกันการรถไฟฯ ยังได้รับความร่วมมือจาก สมาคมผู้ประกอบการขนส่งที่เวียงจันทน์ ในการจัดรถโดยสารรับ-ส่ง อำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ อีกด้วย 

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเปิดเดินขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศ ไทย-สปป.ลาว ครั้งนี้ นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนทั้งสองประเทศแล้วยังช่วยยกระดับระบบขนส่งโลจิสติกส์ไทย ให้กลายเป็นศูนย์กลางภูมิภาคตามนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาล

ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการให้การรถไฟฯ เป็นกำลังหลักในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศ โดยให้เตรียมความพร้อมขั้นสูงสุดในทุกด้าน ๆ ก่อนที่จะมีเปิดให้บริการเดินรถเต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนการค้าชายแดนระหว่างไทย-สปป.ลาว ให้มีการขยายตัวมากขึ้น พร้อมกับขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว Tourism Hub ที่สำคัญของโลก ตามยุทธศาสตร์ ‘เมืองหลักและเมืองน่าเที่ยวของรัฐบาล’

โดยขบวนรถ สามารถรับส่งผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบิน มาลงยังสนามบินอุดรธานี เพื่อเดินทางต่อเข้าไปนครหลวงเวียงจันทน์ได้ โดยไม่ต้องต่อรถโดยสารอื่นอีก ซึ่งจะก่อให้ประโยชน์ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวในอนาคตอีกด้วย 

‘วีริศ อัมระปาล’ จ่อนั่งผู้ว่าการรถไฟคนที่ 30 หลัง 'บอร์ด ร.ฟ.ท.' ไฟเขียว ชูงานด่วน ดัน'ไฮสปีด 3 สนามบิน-รถไฟไทยจีน-รถไฟทางคู่' ให้แล้วเสร็จ

(26 ก.ค. 67) รายงานข่าวระบุว่า นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (25 ก.ค.67) คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ที่มีนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย บอร์ด ร.ฟ.ท.เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาฯ ได้เสนอผลการพิจารณาผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.

หลังให้ผู้สมัคร 2 รายเข้าแสดงวิสัยทัศน์ เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2567 ซึ่งผลปรากฏว่า นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นผู้มีคะแนนคัดเลือกสูงสุด และพบว่ามีคุณสมบัติเป็นไปตามประกาศของ ร.ฟ.ท.

สำหรับขั้นตอนดำเนินการหลังจากนี้ คณะกรรมการพิจารณาผลตอบแทน จะเป็นผู้เจรจาอัตราผลตอบแทน และนำกลับมาเสนอบอร์ด ร.ฟ.ท. พิจารณาอนุมัติอีกครั้ง ก่อนเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติโดยละเอียด

ทั้งนี้ หากพบว่าไม่มีคุณสมบัติขัดต่อข้อกำหนด ก็จะเสนอมายัง ร.ฟ.ท. เพื่อรายงานผลไปกระทรวงคมนาคม และนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เบื้องต้นประเมินว่ากระบวนการเหล่านี้จะใช้เวลาราว 1 เดือน คาดว่าจะเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติในต้นเดือนก.ย.2567

สำหรับการสรรหาผู้ว่าการรถไฟฯ ครั้งนี้ นับเป็นผู้ว่าการคนที่ 30 โดยนายวีริศ อัมระปาล เปิดเผยภายหลังเข้าแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) สรรหาผู้ว่าฯ โดยระบุว่า ไม่หนักใจกับการเป็นคนนอกเข้ามาสมัคร เพราะมั่นใจว่ามีประสบการณ์บริหารองค์กรใหญ่อย่าง กนอ. ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี

อีกทั้งไม่หนักใจเกี่ยวกับกระแสข่าวที่ตนอาจขัดต่อข้อกำหนดด้านคุณสมบัติ เพราะมาจากหน่วยงานที่เป็นคู่สัญญากับ ร.ฟ.ท. โดยประเด็นนี้ได้ศึกษาข้อกำหนดมาอย่างรอบคอบแล้ว จึงเดินหน้าเข้าสมัครตำแหน่งนี้ 

อย่างไรก็ดี การแสดงวิสัยทัศน์ครั้งนี้ ได้นำเสนอไอเดียเกี่ยวกับการผลักดันแผนฟื้นฟูกิจการของ ร.ฟ.ท.ให้สัมฤทธิผล โดยเชื่อว่าไอเดียนี้สามารถทำได้ และจะทำให้อนาคตของการรถไฟฯ จะเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่มีความสำคัญ และมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ส่วนเรื่องหนี้สะสมของ ร.ฟ.ท. ที่มีมูลค่าหลักแสนล้าน ส่วนตัวไม่มีความกังวล เพราะทุกองค์กรก็จะมีอุปสรรคอยู่แล้ว โดยตนมองว่าหากผลักดันแผนฟื้นฟูให้เป็นรูปธรรม จะแก้ปัญหาหนี้สะสม

“เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ คือ การดำเนินงานโครงการที่ให้เอกชนร่วมลงทุน โครงการพีพีพีต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ถือเป็นโครงการระดับประเทศที่ต้องผลักดันให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งรถไฟไทยจีน รถไฟทางคู่ เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ” นายวีริศ กล่าว

‘สุรพงษ์’ คุยลั่น!! หมดยุค ‘การรถไฟฯ’ ขาดทุน-ติดลบตัวแดง เผย!! มีแผนเพิ่มรายได้ 10 เท่า จาก 2 พันล้าน เป็น 2 หมื่นล้าน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้พบปะกับสมาชิกของ ชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย นำโดย นายณรงค์ ปานนอก ประธานชมรมคอลัมนิสต์ฯ กล่าวถึงภารกิจสำคัญคือ การสร้างรายได้ของ รฟท. ได้ตั้งเป้าผลประกอบการหรืองบดุล จะต้องไม่มีตัวแดง หรือ EBITDA ต้องไม่ติดลบ และต้องเป็นบวก หรือมีกำไร ในปีต่อๆไป โดยให้ปรับแผนงานหารายได้เพิ่มจากธุรกิจทางตรงคือการขนส่งสินค้า เพิ่มส่วนแบ่งการตลาด จาก 3% ที่มีรายได้เพียง 2,000 ล้านบาท/ปี เป็น 30% ซึ่งรายได้จะเพิ่มเป็น 22,000 ล้านบาท/ปี

“เรื่องนี้ถือเป็นการบ้านของ รฟท. ที่จะต้องไปหาวิธีทำอย่างไรเพื่อไปสู่เป้าหมาย ทั้งด้านการขนสินค้าและผู้โดยสาร อาจหามืออาชีพด้านการตลาดมาช่วย การวางแผนจัดสร้างเส้นทางส่วนต่อขยาย เข้าไปในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีความต้องการในการขนส่งสินค้ามาก ๆ เป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ของ รฟท.” รมช.คมนาคม กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของค่าโดยสาร รฟท. ไม่ได้ปรับค่าโดยสารมาตั้งแต่ปี 2538 หรือ 29 ปีแล้ว ซึ่งจะแบ่งผู้โดยสารเป็น 2 ส่วน คือ ด้านบริการเชิงสังคมสำหรับผู้มีรายได้น้อย ที่รัฐต้องดูแลก็ให้แยกออกมา ส่วนบริการรถไฟเชิงพาณิชย์ ชั้น 2 และชั้น 3 ที่พร้อมจะซื้อตั๋วที่ราคาสูงขึ้นได้ จะทำให้สามารถกำหนดราคาที่เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้ ผู้ว่าฯรฟท.ต้องไปทำข้อมูลแยกออกมาว่า มีปริมาณผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ และ ผู้โดยสารรถไฟท่องเที่ยว เพื่อกำหนดแผนได้ตรงกับความต้องการของตลาดผู้โดยสาร

นายสุรพงษ์ ยังกล่าวถึงแผนการปรับปรุงรถไฟไทยว่า ได้ดำเนินการจัดทำรถไฟท่องเที่ยวขบวนรถหรู SRT Royal Blossom ที่จะเปิดบริการเที่ยวแรกในวันที่ 17 สิงหาคม 2567 นี้ นำร่องเส้นทางท่องเที่ยว กรุงเทพฯ -กาญจนบุรี เป็นรถไฟขบวนใหม่ สไตล์ญี่ปุ่น ที่การรถไฟฯ ทำการปรับปรุง หลังได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR Hokkaido) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันปรับปรุงเสร็จสิ้นแล้ว 5 คัน จากจำนวนทั้งหมด 10 คัน ถูกออกแบบสำหรับใช้เดินทางท่องเที่ยวโดยเฉพาะ มีการดีไซน์ด้วยความพิถีพิถันจากฝีมือช่างคนไทย ภายในประกอบด้วยระบบสันทนาการครบครัน เพื่อให้ผู้โดยสารสัมผัสบรรยากาศวิวสองข้างทางอย่างเต็มที่ มีการติดตั้งบันไดทางขึ้น-ลงสำหรับรองรับชานชาลาสูง-ต่ำ และรถวีลแชร์ของผู้พิการตามมาตรฐาน Universal 

ขณะที่ภาพรวมการขนส่งทางราง นายสุรพงษ์ฉายภาพความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 กรุงเทพมหานคร -  นครราชสีมา) ระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร ภาพรวมการดำเนินการก่อสร้างในปัจจุบัน มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 33.48% ซึ่งได้กำชับให้การรถไฟฯ เร่งรัดการก่อสร้าง รวมถึงแก้ไขอุปสรรคต่างๆ อาทิ ปัญหาที่ยังติดขัด 2 สัญญา จาก 14 สัญญา ประกอบด้วย 1.สัญญา 4-1 บางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ระหว่างการแก้ไขสัญญาของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ทันตามแผนงานที่กำหนดไว้ภายในปี 2571 

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 (นครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 356 กิโลเมตร วงเงิน 3.3 แสนล้านบาท ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบและปรับแบบเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ (บอร์ด) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ได้ให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอมายังกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน ก.ย.นี้ และสามารถเปิดประมูลพร้อมเริ่มกระบวนการก่อสร้างภายในปี 2567 คาดว่าพร้อมเปิดให้บริการในปี 2572 

ด้านการพัฒนารถทางคู่ ได้ดำเนินการก้าวหน้าตามลำดับ โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟสายใหม่ ซึ่งสามารถเปิดใช้งานได้แล้วหลายเส้นทาง ได้แก่ โครงการช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย โครงการช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ขณะที่เส้นทางรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ก็สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนเช่นกัน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยเป็นการเปิดให้บริการระหว่างสถานีบ้านคูบัว จ.ราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จ.ชุมพร รวมระยะทาง 348 กิโลเมตร 

จากนั้นมีแผนเปิดใช้ทางคู่เพิ่ม ระหว่างสถานีโพรงมะเดื่อ-บ้านคูบัว ระยะทาง 50 กิโลเมตร และสถานีสะพลี – ด้านเหนือสถานีชุมพร ระยะทาง 12.80 กิโลเมตร ซึ่งตามแผนจะเปิดใช้ทางคู่ตลอดเส้นทาง ช่วงนครปฐม – ชุมพร รวมระยะทาง 420 กิโลเมตร ประมาณช่วงเดือนสิงหาคม 2567 

นอกจากนี้ ในปลายปี 2567 จะเปิดให้บริการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงบันไดม้า-คลองขนานจิตร อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ระยะทาง 29.70 กม. ที่การก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ เพื่อช่วยลดระยะเวลาเดินทางแก่ประชาชน

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ปัจจุบันก้าวหน้าไปแล้ว ร้อยละ 9.695 และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม สัญญา 1 บ้านไผ่ - หนองพอก สัญญา 2 หนองพอก - สะพานมิตรภาพ 3 ก้าวหน้าแล้วร้อยละ 2.578 อีกทั้งยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ที่เตรียมพัฒนาเพิ่มเติมอีก 7 สายทาง ได้แก่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย อยู่ระหว่างเตรียมประกวดราคาก่อสร้าง ส่วนช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย, ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี, ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา และช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการการรถไฟฯ ไปแล้ว อยู่ระหว่างส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคม เสนอขอมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีต่อไป

‘การรถไฟฯ’ ปิดปรับปรุง ทำความสะอาด ‘อุโมงค์ผาเสด็จ-อุโมงค์หินลับ’ ชั่วคราว เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นค้างสะสม เผย!! ทดสอบแล้ว ไม่มีฝุ่น แต่ยังคงมีกลิ่นควันไอเสีย

(12 ส.ค.67) เพจ ‘ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ การขยายเวลาทดสอบ การเดินขบวนรถ ผ่านอุโมงค์ผาเสด็จและอุโมงค์หินลับ ซึ่งเลื่อนจาก 12 สิงหาคม เป็นเดือนกันยายน โดยได้ระบุว่า ...

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟฯ ได้ปิดปรับปรุงทำความสะอาดอุโมงค์ผาเสด็จและอุโมงค์หินลับ ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ เป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นค้างสะสมภายในอุโมงค์ และเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการทดสอบการเดินขบวนรถทดลองผ่านอุโมงค์ผาเสด็จและอุโมงค์หินลับ

ซึ่งจากการทดสอบด้วยเครื่องตรวจวัด พบว่า ไม่พบเศษฝุ่นที่มาจากการก่อสร้าง แต่ยังคงมีกลิ่นควันที่เกิดจากไอเสียของเครื่องยนต์ จึงยังไม่สามารถเปิดเดินขบวนรถภายในอุโมงค์ดังกล่าวได้ จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาในการดำเนินการแก้ไขปัญหา 

โดยในเบื้องต้น คาดว่าจะสามารถดำเนินการปรับปรุง และเปิดให้บริการได้ในช่วงเดือนกันยายน 2567 ในส่วนขบวนรถโดยสารเส้นทางสายอุบลราชธานี ไป-กลับ จำนวน 14 ขบวน ให้ใช้เส้นทางเดิม คือ เส้นทางสถานีมาบกะเบา - ผาเสด็จ - หินลับ – มวกเหล็ก การรถไฟฯ ต้องขออภัยในความไม่สะดวก มา ณ โอกาสนี้ 

ท้ายนี้ การรถไฟฯ ได้เล็งเห็นถึงความปลอดภัยการอำนวยความสะดวก และการให้บริการผู้โดยสารเป็นสำคัญเพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์หมายเลขโทรศัพท์ 1690 หรือ เฟซบุ๊ก แฟนเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

‘อธิบดีกรมที่ดิน’ ยันทำตามกฎหมาย-คำสั่งศาล หลัง ‘คมนาคม’ จ่อยื่นค้านกรณีกรมที่ดินไม่เพิกถอน ‘เขากระโดง’

(13 พ.ย. 67) ‘อธิบดีกรมที่ดิน’ ยันทำตามกฎหมาย-คำสั่งศาล หลัง ‘สุริยะ’ มอบ ‘รฟท.’ จ่อยื่นคัดค้านกรณีกรมที่ดินไม่เพิกถอนสิทธิที่ดิน ‘เขากระโดง’ ลั่นไม่ต้องเคลียร์คมนาคม

12 พฤศจิกายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวถึงกรณี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์จะให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยื่นคัดค้านกรณีที่กรมที่ดินไม่เพิกถอนสิทธิ์ที่ดินเขากระโดง ว่า ทุกอย่างดำเนินการไปตามที่ศาลปกครองสั่ง และในเรื่องการเพิกถอนต้องมีคณะกรรมการในการดำเนินการเพิกถอนตามมาตรา 61 โดยที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการเรียบร้อยแล้ว ส่วนการรังวัดจากที่ได้รับรายงานจากคณะกรรมการ ซึ่งทำตามกระบวนการขั้นตอนเรียบร้อยหมดทุกอย่าง

เมื่อถามถึงกรณีที่กระทรวงคมนาคม จะยื่นคัดค้านกรมที่ดินยกเลิกการเพิกถอนที่ดินเขากระโดง อธิบดีกรมที่ดิน มองว่า การแถลงข่าวตอนแรกอาจจะไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องรังวัด แต่มันอยู่ในรายงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าวแล้ว ช่วงวันที่ 2-26 กรกฎาคม 2567 เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรมที่ดินในพื้นที่และการรถไฟฯ และวันนี้ทางกรมฯได้มีการออกข่าวชี้แจงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เมื่อถามย้ำว่าการดำเนินการนั้นสามารถยืนยันได้ใช่หรือไม่ว่าทำการตามกฎหมาย อธิบดีกรมที่ดิน ยืนยันว่า ทำตามหลักกฎหมาย ไม่มีอะไรที่ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมาย พร้อมย้ำว่าเป็นไปตามคำสั่งของศาลทุกประการ บนข้อเท็จ ที่เกิดตามหน้างานจริง

เมื่อถามต่อว่ากระทรวงคมนาคมมีท่าทีดังกล่าวทางกรมที่ดินจะต้องมีการชี้แจงหรือไม่ อธิบดีกรมที่ดิน ระบุว่า คงไม่ เพราะทุกอย่างที่ทำมาก็รายงานต่อศาลปกครองตามคำสั่งของศาล โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล พร้อมย้ำว่าคงเป็นข้อเท็จจริง คงไม่ต้องมาต่อสู้อะไรกัน

'สุริยะ' ย้ำ ที่เขากระโดงเป็นของ รฟท. ลั่น ไม่กังวลถูกโยงเป็นเรื่องการเมือง

เมื่อวันที่ (19 พ.ย.67)  ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าภายหลังการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน อุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิที่ดินเขากระโดง ว่า ขอย้ำอีกครั้ง รฟท. ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลฎีกา และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ซึ่งที่ดินตรงนี้เป็นที่ดินของ รฟท. เมื่ออธิบดีกรมที่ดินวินิจฉัยต่างออกมา รฟท. ก็ทำหนังสือไปโต้แย้ง และดำเนินการเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวจากกรมที่ดิน กรณีดังกล่าวให้ไปฟ้องกับศาลแพ่ง เพื่อดำเนินการกับผู้ครองหรือบุกรุก 900 แปลง นายสุริยะ กล่าวว่า รฟท. ได้ประชุมบอร์ดเพื่อให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณา ใช้เวลาไม่เกิน1เดือน น่าจะฟ้องร้อง ซึ่งเรื่องนี้เป็นอีกกรณีหนึ่ง

ถามว่า มีหลักฐานชัดเจนใช่หรือไม่ว่าที่ดินบริเวณเขากระโดง เป็นที่ของรฟท. รมว.คมนาคมตอบว่า ที่ดินเป็นของการรถไฟฯ แน่นอน สื่อฯ ไปตรวจสอบดูได้ในหนังสือโต้แย้ง 20 กว่าหน้า มีการระบุรายละเอียดชัดเจน

ส่วนสนามแข่งรถ และสนามฟุตบอล อยู่ในพื้นที่ของการรถไฟฯ ใช่หรือไม่นั้น นายสุริยะ กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าตรงนั้นครอบคลุมไปอย่างไร ซึ่งตนไม่ได้ดูในรายละเอียด

เมื่อถามว่า หากอธิบดีกรมที่ดิน ไม่เพิกถอนที่ดินเขากระโดง จะดำเนินการอย่างไร นายสุริยะ กล่าวว่า ขอรอดูคำตอบก่อน

ส่วนคำถามที่ว่า หากอธิบดีกรมที่ดินยังไม่ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลฯให้เพิกถอน กระทรวงคมนาคม จะดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีตาม ม.157 หรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า เพิ่งได้คุยกับผู้ว่ารฟท. แต่ตนไม่อยากขยายความ

ถามว่า มีทางออกรองรับหรือไม่ ว่าให้ผู้บุกรุกมาเช่าที่ดินกับ รฟท. แทน รมว.คมนาคมตอบว่า ถือเป็นแนวทางที่กฤษฎีกานำเสนอ

ซักว่า ก่อนหน้านี้เลขาฯกฤษฎีกา และให้กรมที่ดินและการรถไฟฯ จับเข่าคุยกันเพื่อลดความขัดแย้ง นายสุริยะ กล่าวว่า ตอนนี้ต้องทำตามกฎหมายก่อน หากในเรื่องของกฎหมายชัดเจนแล้วว่าที่ดินเป็นของการรถไฟฯ จะไปให้เช่าหรือไม่อย่างไรก็ว่ากันต่อไป

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าเรื่องนี้จะถูกโยงเป็นเรื่องการเมือง แม้จะอ้างเป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายปฏิบัติ นายสุริยะ กล่าวว่า ไม่ได้กังวลเลย เพราะเป็นการทำแบบตรงไปตรงมา ถ้าไม่ทำตน และรฟท. จะถูกดำเนินคดีตาม ม.157

ถามว่า นายสมชาย แสวงการ อดีตสว. ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้เพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ เป็นการเอาคืนหรือไม่ รมว.คมนาคมตอบว่า ตนคิดว่าเรื่องที่ดินอัลไพน์ถ้าผิดกฎหมายก็ว่ากันไป แต่เบื้องต้นตนคิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะใช่เรื่องผิดกฎหมาย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top