Sunday, 20 April 2025
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

'รอมฎอน' ตามขยี้ กอ.รมน. เปิดงบประมาณ 15 ปี มีเงินติดปีกแสนล้าน  เสี้ยม!! 12 สส.ภาคใต้ อย่าเงียบ!! จี้ 'เศรษฐา' ควรให้สภาถกเถียง

(1 พ.ย. 66) นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า กอ.รมน.ที่ฟื้นชีพขึ้นมาหลังกฎหมายความมั่นคง 2551 ใช้งบประมาณไปแล้วเท่าไหร่? ข้อมูลจากเอกสารงบประมาณของสำนักงบประมาณในแต่ละปีเผยให้เห็นตามนี้ รวม ๆ แล้ว ตลอด 15 ปี ของ กอ.รมน.เวอร์ชั่นติดปีกนี้มีงบในกระเป๋าสูงถึง 1.3 แสนล้าน (หรือเอาละเอียดกว่านั้นคือ 130,023 ล้านบาท) อาจเรียกได้ว่าเป็นอีกกระเป๋าหนึ่งของกองทัพก็ว่าได้

กอ.รมน.ปรากฏเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีในปีงบประมาณ 2552 เป็นปีแรก เทียบเท่าหน่วยงานระดับกรม หลังจากที่ก่อนหน้านั้นมีสถานะเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งฝ่ายบริหาร ซึ่งมีสถานะที่ง่อนแง่นพอสมควรหลังจากภัยคุกคามคอมมิวนิสต์เริ่มจางหายไป ประกอบกับภัยคุกคามการแบ่งแยกดินแดน ถูกประเมินก่อนหน้านั้นว่าลดความสำคัญลงไป

บังเอิญว่าบริบทของโลกในตอนนั้นเผชิญกับความเสี่ยงจากภัยก่อการร้าย จากสถานการณ์ต่อเนื่องจากเหตุเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และสงครามต่อต้านการก่อการร้ายตั้งแต่ปี 2544 และการปะทุขึ้นของไฟใต้ที่โดดเด่นขึ้นมาในปี 2547 หน่วยงานที่คร่ำครึเป็นมรดกตกค้างจากสงครามเย็นหน่วยนี้จึงเหมือนปลาได้น้ำ เมื่อเห็นเค้าลางภัยคุกคามใหม่

หลังการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ในปี 2549 เหตุผลในการฟื้นคืนหน่วยงานนี้ก็ดูจะมีน้ำหนักในแวดวงผู้ก่อการรัฐประหาร หลังจากนั้น ดูจากยอดขึ้นลงของงบประมาณก็จะสัมพันธ์กับอำนาจของกองทัพในการเมืองไทยอย่างเห็นได้ชัดครับ

รายละเอียดเนื้อในของงบประมาณเหล่านี้ก็น่าสนใจ อาจทำให้เราเห็นงานความมั่นคง ที่ควรต้องได้รับการตรวจสอบอย่างกระจ่างมากขึ้นครับ #ยุบกอ.รมน.

(สุรินทร์) ผู้ช่วยจเร กอ.รมน. ลงพื้นที่ติดตามผลการปฎิบัติงาน พื้นที่ กอ.รมน.สุรินทร์

วันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น. พลตรี พิชิตพล  แจ่มจำรัส  ผู้ช่วยจเร กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หัวหน้าชุดตรวจ และคณะฯ นางสาว อรวรรณ ญาณวิภา ผู้ตรวจราชการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, พันเอก ชัยณรงค์ เชียงทอง ผู้ช่วยจเรกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, พันเอก สุชาติ นันทศุภเศรษฐ์  และ พันตรี เอกรัฐ บุญบัวทอง ในโอกาสเดินทางมาตรวจติดตามการปฎิบัติงาน ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ ประจำปี 2567 โดยได้เข้าพบปะ หารือ นายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ ต่อจากนั้น พลตรี พิชิตพล  แจ่มจำรัส  ผู้ช่วยจเร กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หัวหน้าชุดตรวจ และคณะฯ ได้เข้ารับฟังการบรรยาย ผลการปฎิบัติงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ ที่ ห้องประชุม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ เพื่อรับทราบความคืบหน้าและรับฟังปัญหาข้อขัดข้องในการดำเนินงานตามโครงการฯ พร้อมทั้งให้คำแนะนำ โดยมี พันเอก จิตรกร จันทร์สว่าง รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25/รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์(ท.) ให้การต้อนรับ มี พันตำรวจเอก อิทธิพล  พงษ์ธร หัวหน้ากลุ่มงานประสานความมั่นคงฯ พันเอก สุดใจ แพงพรมมา หัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผนฯ พันเอกหญิง โชติมา มุลาลินน์ หัวหน้ากลุ่มงานนโยบายแผนและการข่าว

หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมสรุปผลการดำเนินการ 16 หน่วยงาน พลตรี พิชิตพล  แจ่มจำรัส ผู้ช่วยจเร กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้ให้คำแนะนำทางด้านเอกสารแก่เจ้าหน้าที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ให้ข้อมูลการปฏิบัติงานของหัวหน้าส่วนราชการที่ได้รับการบรรจุให้ปฏิบัติงาน รวมถึงได้ชี้แจงให้ทราบถึงนโยบายของผู้บังคับบัญชา และกำชับให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ ได้บูรณาการร่วมกับส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชนในพื้นที่ ทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล เพื่อให้ขับเคลื่อนโครงการฯ ในการป้องกัน แก้ไขปัญหาและเสริมความมั่นคง ในด้านต่างๆให้ตรงกับภัยคุกคามและความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยให้ร่วมมือกับประชาชนในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกันแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในพื้นที่ระดับตำบล ต่อไป

ปุรุศักดิ์  แสนกล้า  ข่าว/ภาพ 

รัฐบาล เน้นย้ำ!! เดินหน้า เสริมสร้างความมั่นคง ให้ประเทศ เตรียมพร้อม!! รับมือภัยคุกคาม ให้ครอบคลุมทุกมิติ

(5 ม.ค. 68) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) รายงานการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาล โดยปี 2568 นี้ กอ.รมน. มุ่งมั่นในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และปรับบทบาท ให้สอดคล้องกับปัญหา ความท้าทายในปัจจุบัน เพื่อสร้างโอกาส เพิ่มศักยภาพ เสริมความมั่นคงให้ประเทศยิ่งขึ้นไป

การขับเคลื่อนงานความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เดินหน้าเสริมสร้างความมั่นคงภายใต้แผนงาน ‘ตำบล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ ร่วมกับส่วนราชการกำหนด 1,154 ตำบลตามเป้าหมาย เพื่อมุ่งแก้ไขภัยคุกคามและพัฒนาให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ มีการดำเนินการจัดตั้งหมู่บ้านอาสาพัฒนาตนเอง จำนวน 55 หมู่บ้าน ใน 55 จังหวัด เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของหมู่บ้านให้มีความเข้มแข็งรักในถิ่นฐาน พร้อมเป็นส่วนร่วมในการพัฒนาและป้องกันตนเองในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ 

การแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ  ได้มีการจัดตั้งหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ชายแดน (นบ.ยส.) ในพื้นที่ภาคเหนือ (นบ.ยส.35) รับผิดชอบพื้นที่ 18 อำเภอ ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นบ.ยส.24) รับผิดชอบพื้นที่ 25 อำเภอ ของจังหวัดนครพนม เลย หนองคาย บึงกาฬ มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวมถึงในปี 68 จะมีการจัดตั้งหน่วย นบ.ยส.17 เพิ่มเติม เพื่อป้องกันและสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ชายแดนภาคตะวันตกใน 5 อำเภอของจังหวัดกาญจนบุรี

ทั้งนี้ กอ.รมน. ได้บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนนโยบาย ได้แก่ 

1) การจัดระเบียบคนไร้ที่พึ่ง ซึ่ง กอ.รมน. ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และส่วนที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ไขและช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่ง เตรียมจัดตั้งบ้านอิ่มใจรองรับและดูแลคนไร้ที่พึ่งได้ 200 คน และจะร่วมกันดูแลด้านสวัสดิการ สังคม สุขอนามัย และการฝึกอาชีพต่อไป 

2) การบริหารจัดการที่ดินของกองทัพให้ประชาชนใช้ประโยชน์ กอ.รมน. บูรณาการร่วมกับ กระทรวงกลาโหม (กห.) และเหล่าทัพ มอบพื้นที่ให้กับกรมธนารักษ์ไปดำเนินการจัดสรรให้ประชาชนเช่าใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ทั้งในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ปัจจุบันมีประชาชนได้รับสิทธิในที่ดินทำกินและอยู่อาศัย เนื้อที่รวมทั้งสิ้น 55,180 ไร่เศษ 

3) การดำเนินการเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบทหารกองประจำการแบบสมัครใจ กอ.รมน ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าสร้างแรงจูงใจ การส่งเสริมการศึกษาอาชีพ โดยจะดำเนินการศึกษาแนวทางการขึ้นเงินเดือนและค่าตอบแทน สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ตลอดจนสิทธิ์ในการเข้ารับราชการใน กห. เหล่าทัพ และกระทรวงต่าง ๆ ต่อไป 

4) การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้บูรณาการร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการวางแผน อำนวยการและบูรณาการ การป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ในพื้นที่รับผิดชอบและพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดให้ครอบคลุม ซึ่งพบว่าจุดความร้อนสะสม พื้นที่เผาไหม้สะสม และค่าฝุ่นละอองลดลงเมื่อเทียบกับห้วงปีที่ผ่านมา 

5) นโยบาย ‘ไม่ท่วม ไม่แล้ง’ กอ.รมน. บูรณาการร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย สำรวจความเดือดร้อนของประชาชน ในพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด (ตราด จันทบุรี อุทัยธานี อุดรธานี น่าน เชียงใหม่ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด) โดยจะเสนอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเร่งด่วน 71 โครงการ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ 17,215 ครัวเรือน (49,105 ราย) 

นอกจากนี้ กอ.รมน. ได้บูรณาการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ร่องน้ำทะเลสาบสงขลาที่มีการใช้เครื่องมือประมงประเภทโพงพาง ส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตของสัตว์น้ำและทำให้เกิดอุบัติเหตุในการสัญจรทางเรือหลายครั้ง ปัญหาดังกล่าวมีความซับซ้อนเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน กอ.รมน.ภาค 4 จึงได้บูรณาการแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา และจะเชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมต่อไป รวมถึงแนวทางการเพิ่มบทบาทข้าราชการพลเรือน ปัจจุบัน กอ.รมน. กำหนดแนวทางเพื่อเพิ่มบทบาทข้าราชการพลเรือน ลดสัดส่วนของทหาร รวมถึงการกำหนดอัตรากำลังใน กอ.รมน. ให้สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจในปัจจุบันและอนาคตของประเทศ 

“สำหรับการปฏิบัติงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กอ.รมน. ได้นำเสนอเรื่องแนวทางการดำเนินการ โดยให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาความเหมาะสม ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบและมีมติให้ ผอ.รมน.ภาค 4 เป็นผู้รับมอบอำนาจจาก ผอ.รมน. ดำเนินการ ประกอบด้วย การปรับโครงสร้าง อัตรากำลัง และแผนเสริมสร้างสันติสุข ของ จชต. เนื่องจากปัจจุบัน สถานการณ์ใน จชต. ในภาพรวมเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ สถิติความเสียหายต่อทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นำไปสู่การยกเลิกพื้นที่ประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นรายอำเภอ จึงมีการปรับลดอัตรากำลังพล จำนวน 178 อัตรา คงเหลือ 49,735 อัตรา ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมการถ่ายโอนภารกิจให้แก่ อส.จชต. ในปี 2570 พร้อมพิจารณาถึงแนวทางแผนเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2568 ซึ่งปรับให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น มีประชาชนเป็นจุดสมดุล โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพแผนงานหลักในการวางแผน เพื่อให้การดำเนินงานแก้ไขปัญหา จชต. เป็นไปอย่างประสานสอดคล้องและมีประสิทธิภาพ” นายจิรายุ กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top