Tuesday, 22 April 2025
กองทุนน้ำมัน

ถึงเวลา ‘กองทุนน้ำมันฯ’ เก็บเงินชดเชยจากผู้ใช้ ช่วยติดลบน้อยลง เผย!! เก็บสูงถึง 3.59 บาทต่อลิตร ส่วนเกรดพรีเมียม 5.09 บาท

กองทุนน้ำมันฯ เรียกเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลถึง 3.59 บาทต่อลิตร ขณะที่ดีเซลเกรดพรีเมียมถูกเรียกเก็บ 5.09 บาทต่อลิตร สูงสุดในรอบปี 2567 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เร่งรีดเงินเข้ากองทุนฯ ได้กว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน เพื่อปรับฐานะกองทุนฯ ให้ติดลบน้อยลง และใช้คืนหนี้เงินกู้ก้อนแรกให้ทัน พ.ย. 2567 ปัจจุบันเงินกองทุนฯ ติดลบเหลือ 1.05 แสนล้านบาท

ไม่นานมานี้ ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้มีมติให้เรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันดีเซลสูงถึง 3.59 บาทต่อลิตร เพื่อส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมกันนี้ยังได้เรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันดีเซล เกรดพรีเมี่ยม สูงถึง 5.09 บาทต่อลิตร ส่งเข้ากองทุนฯ เช่นกัน ซึ่งนับเป็นการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ ในอัตราสูงที่สุดของปี 2567

โดยปัจจุบันมียอดการใช้น้ำมันดีเซลถึง 68.06 ล้านลิตรต่อวัน ทำให้มีเงินส่งเข้ากองทุนฯ จากน้ำมันกลุ่มดีเซลรวมประมาณ 213.96 ล้านบาทต่อวัน  โดยราคาจำหน่ายดีเซลยังคงไว้ที่ 32.94 บาทต่อลิตร

ส่วนกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ กบน. ยังคงเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ในอัตราสูงถึง 4.90 บาทต่อลิตร ส่วนแก๊สโซฮอล์ E20 เรียกเก็บ 2.91 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ E85 เรียกเก็บ 1.46 บาทต่อลิตร และเบนซินออกเทน 95 เรียกเก็บ 10.68 บาทต่อลิตร

โดยปัจจุบันยอดการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ อยู่ที่ 31.55 ล้านลิตรต่อวัน ส่งผลให้มีเงินไหลเข้ากองทุนฯ รวม 134.26 ล้านบาทต่อวัน ทำให้กองทุนฯ มีเงินไหลเข้าทั้งจากดีเซลและกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ รวม 348.22 ล้านบาทต่อวัน หรือ 10,446 ล้านบาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตามการเรียกเก็บเงินดังกล่าวเนื่องจากราคาน้ำมันโลกปรับลดลง แต่ในส่วนของฐานะเงินกองทุนฯ ยังคงติดลบกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดย ณ วันที่ 8 ก.ย. 2567 สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) รายงานว่าสถานะเงินกองทุนฯ ติดลบรวม -105,121 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -57,646 ล้านบาท และมาจากบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม -47,475 ล้านบาท

โดยกองทุนฯ จะต้องเร่งเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันดีเซล เพื่อจ่ายคืนหนี้เงินกู้ เนื่องจากกองทุนฯ นำเงินไปพยุงราคาดีเซลตั้งแต่ปลายปี 2564 ทำให้เงินกองทุนฯ เคยติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1.3 แสนล้านบาทในปี 2565 และทำให้กองทุนฯ ต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินถึง 105,333 ล้านบาท ในปี 2566  ซึ่งจะถึงกำหนดต้องชำระหนี้เงินต้นก้อนแรกในเดือน พ.ย. 2567 นี้ ดังนั้นการเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลเข้ากองทุนฯ ในครั้งนี้ จึงเป็นการเรียกเก็บในช่วงที่ราคาน้ำมันโลกปรับลดลง แต่ยังไม่มีการปรับลดราคาจำหน่ายดีเซลให้แต่อย่างใด เพื่อให้ทันใช้หนี้สถาบันการเงินที่จะถึงนี้

สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกล่าสุด ณ วันที่ 16 ก.ย. 2567 เวลาประมาณ 15.00 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 70.92 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น  1.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 69.37 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.71 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 72.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ขณะที่ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมัน ที่รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ณ วันที่ 16 ก.ย. 2567 พบว่าค่าการตลาดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ยังคงทรงตัวระดับสูง โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ถูกเรียกเก็บค่าการตลาดถึง 5.39 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีค่าการตลาดที่ 3.63 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 3.70 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 3.38 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 1.42 บาทต่อลิตร, น้ำมันดีเซล อยู่ที่ 1.82 บาทต่อลิตร และน้ำมันดีเซล B20 อยู่ที่ 0.45 บาทต่อลิตร  ซึ่งโดยเฉลี่ยค่าการตลาดตั้งแต่ 1-16 ก.ย. 2567 อยู่ที่ 2.5 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่ควรได้ที่ 1.50-2 บาทต่อลิตร)

'กองทุนน้ำมัน' เร่งเก็บเงิน เคลียร์หนี้สะสมกว่า 1 แสนล้านบาท หลังดึงกลไกกองทุนพยุงราคาดีเซลไม่ให้สูงเกิน 33 บาทต่อลิตร

(26 ก.ย. 67) แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการจัดทัพการทำงานของข้าราชการภายในกระทรวงฯ ซึ่งน่าจะเริ่มเข้าที่เข้าทางในเดือนต.ค. 2567 นี้ เพื่อเร่งแก้ปัญหาด้านพลังงาน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ที่ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 22 ก.ย. 2567 ยังคงติดลบระดับ 101,343 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ 53,875 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบ 47,468 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหากองทุนน้ำมันฯ ที่ยังติดลบกว่า 1 แสนล้านบาท จะต้องจับตาว่ารัฐบาลโดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะไว้วางใจให้ใครมารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) คนใหม่ แทนนายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้วช่วงกลางเดือนส.ค. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดกระบวนการสรรหาผอ. สกนช. ได้ปิดรับสมัครไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา

“ตอนนี้ต้องรอคณะอนุกรรมการสรรหาฯ รวบรวมรายชื่อผู้สมัคร และตรวจคุณสมบัติก่อนเรียกผู้ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกมาสัมภาษณ์ โดยครั้งนี้ได้มีการเปิดเกณฑ์อายุผู้สมัครจากเดิมห้ามไม่ให้เกิน 61 ปี เป็นห้ามไม่ให้เกิน 65 ปี จึงมองว่าน่าจะมีผู้ที่มีความรู้ความสามารถสมัครมากกว่าครั้งที่ผ่านมา” แหล่งข่าว กล่าว

ทั้งนี้ จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ แม้จะส่งผลดีต่อต้นทุนการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ แต่ก็ยังมีปัจจัยเรื่องของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะตะวันออกกลางที่ยังคงสู้รบกันอย่างดุเดือด อีกทั้งขณะนี้จีนได้เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อว่าจะมีการบริโภคน้ำมันในประเทศมากขึ้น ซึ่งจีนถือเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันสูงสุดจะทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกยิ่งผันผวนขึ้น

อย่างไรก็ตาม โดยขณะนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกจะไม่สูงมากส่งผลให้สามารถเก็บเงินเข้าบัญชีกองทุนน้ำมันเฉลี่ยเดือนละ 12,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเก็บจากน้ำมันเบนซินราว 4,200 ล้านบาท ดีเซล 6,100 ล้านบาท และ LPG ราว 160 ล้านบาท ซึ่งในช่วงนี้ราคาน้ำมันดูไบอยู่ที่ 74.85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่น้ำมันดีเซล (Gas Oil) ตลาดโลกอยู่ที่ 85.14 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้ว่าในช่วงนี้ราคาจะไม่สวิงมากแต่ก็ยังคงผันผวน ซึ่งยังมาจากหลายปัจจัย

“ตอนนี้คณะอนุกรรมการสรรหาผอ.คนใหม่จะต้องเร่งหาผอ. เพื่อเข้ามาบริหารจัดการสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันฯ เพราะการเก็บเงินเข้าบัญชีเฉลี่ยขณะนี้ถือว่าไม่มาก อีกทั้ง กองทุนฯ จะต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยเดือนละ 200-250 ล้านบาท ซึ่งช่วงเดือนพ.ย. 2567 จะต้องเริ่มทยอยจ่ายเงินต้นที่กู้มางวดแรกครั้งละ 5,000-10,000 ล้านบาท ช่วงปลายปี 2565 จากยอดรวม 105,333 ล้านบาท ดังนั้น เงินต้นจะเริ่มจ่ายคืนตามสัญญาภายใน 2 ปี และมีกรอบสิ้นสุดระยะเวลาคืนหนี้ภายใน 5 ปี โดยเงินกู้ทั้งหมดจะต้องคืนครบภายในปี 2571-2572”

รายงานข่าว ระบุว่า สำหรับการบริหารงาน 4 ปี ของนายวิศักดิ์ ได้ดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันในช่วงวิกฤติ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา กองทุนฯ ต้องเข้าไปช่วยดูแลราคาน้ำมัน และ LPG หลังเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติราคาพลังงาน, การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทำให้กองทุนฯ ติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1.3 แสนล้านบาทในปี 2565 โดยราคาน้ำมันดิบในขณะนั้นสูงถึง 120-130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

ทั้งนี้ รัฐบาลจึงต้องอนุมัติให้กู้เงินได้ในกรอบวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งสกนช. ได้กู้เงินร่วม 105,333 ล้านบาท จากความผันผวนของราคาน้ำมันตลาดโลก ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศก็ต้องปรับขึ้นจาก 30 บาทต่อลิตร มาอยู่ในเพดานที่ 35 บาทต่อลิตร และปรับลดลงเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาเหลือ 30 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ ปัจจุบันนายพีระพันธุ์ ใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ พยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้สูงเกิน 33 บาทต่อลิตร

กองทุนน้ำมันฯ ติดลบต่ำกว่า 1 แสนลบ. ล่าสุด เหลือ - 99,087 ลบ. หลังเลิกชดเชยราคาดีเซล

(1 ต.ค. 67) สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุดติดลบต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ครั้งแรกในรอบ 6 เดือน หลังคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) หยุดชดเชยราคาดีเซลตั้งแต่ ส.ค. 2567 และเร่งรีดเงินผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดส่งเข้ากองทุนฯ โดยเฉพาะดีเซลถูกเรียกเก็บ 3.47 บาทต่อลิตร ขณะค่าการตลาดน้ำมันล่าสุดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ทรงตัวระดับสูงประมาณ 4 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซลอยู่ที่  2.08 บาทต่อลิตร

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้รายงานสถานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 29 ก.ย. 2567 พบว่า เงินกองทุนฯ ติดลบลดลง ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน  โดยเงินกองทุนฯ ติดลบทั้งสิ้นรวม -99,087 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -51,643 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม -47,444 ล้านบาท

ทั้งนี้กองทุนน้ำมันฯ เคยติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1.3 แสนล้านบาท ในปี 2565 และในปี 2567 นี้ กองทุนน้ำมันฯ เริ่มติดลบลดลงเหลือประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ในเดือน ม.ค. 2567 และเริ่มกลับมาติดลบระดับ 1 แสนล้านบาทอีกครั้งตั้งแต่เดือน เม.ย.- ก.ย. 2567

สำหรับยอดเงินกองทุนฯ ที่ลดต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เนื่องจากคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้เร่งเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดเพื่อส่งเข้ากองทุนฯ มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันฯ ได้หยุดชดเชยราคาดีเซล และหันกลับมาเรียกเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ แทน ขณะเดียวกัน กบน. ก็เรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ส่งเข้ากองทุนฯ ในอัตราสูงมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 2-3 ปีแล้ว

โดยล่าสุด กบน. เรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันส่งเข้ากองทุนฯ ดังนี้  ดีเซลและดีเซล B20 ส่งเข้ากองทุนฯ 3.47 บาทต่อลิตร, ดีเซล เกรดพรีเมี่ยม ส่งเข้า 4.97 บาทต่อลิตร (ปัจจุบันยอดการใช้น้ำมันดีเซลอยู่ที่ 68.06 ล้านลิตรต่อวัน)

ส่วนกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ดังนี้ ผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์95 และ 91 ส่งเข้า 4.60 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ส่งเข้า 2.61 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ส่งเข้า 1.16 บาทต่อลิตร และเบนซินออกเทน 95 ส่งเข้า 10.68 บาทต่อลิตร (ปัจจุบันยอดการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ อยู่ที่ 31.55 ล้านลิตรต่อวัน)

ด้านสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกล่าสุด ณ วันที่ 1 ต.ค. 2567 เวลาประมาณ 15.00 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 73.45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น  0.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 67.72 เหรียญหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 71.28 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.42 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ส่วนค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมัน ที่รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ณ วันที่ 1 ต.ค. 2567 พบว่าค่าการตลาดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ยังคงทรงตัวระดับสูง โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ถูกเรียกเก็บค่าการตลาดถึง 5.39 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีค่าการตลาดที่ 4.06 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์91 อยู่ที่ 4.11 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 3.96 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 2.93 บาทต่อลิตร, ดีเซล อยู่ที่ 2.08 บาทต่อลิตร และ ดีเซล B20 อยู่ที่ 0.57 บาทต่อลิตร โดยเฉลี่ยค่าการตลาดอยู่ที่ 2.71 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่เหมาะสม 1.5-2 บาทต่อลิตร)

กองทุนน้ำมันฯ กลับมาชดเชยอีกครั้งในรอบ 6 เดือน หวังตรึงดีเซลไม่เกิน 33 บาท/ลิตร หลังราคาน้ำมันโลกพุ่ง

(21 ม.ค.68) คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) กลับมาชดเชยราคาน้ำมันดีเซลอีกครั้งในรอบ 6 เดือน หลังราคาน้ำมันโลกขยับขึ้น ต้องชดเชยอยู่ 50 สตางค์ต่อลิตร เพื่อพยุงราคาจำหน่ายปลีกดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร ขณะที่เงินกองทุนน้ำมันฯ ยังติดลบรวม -73,545 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการติดลบต่ำสุดในรอบ 2 ปี

รายงานสถานการณ์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุดว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา ให้กองทุนน้ำมันฯ กลับมาชดเชยราคาน้ำมันดีเซลอีกครั้งที่อัตรา 50 สตางค์ต่อลิตร (ยอดการใช้ดีเซลทั้งประเทศอยู่ที่ 66.66 ล้านลิตรต่อวัน) เนื่องจากราคาน้ำมันโลกผันผวนปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้กองทุนฯ ได้หยุดชดเชยราคาดีเซลมาตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2567 และเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ มาโดยตลอด และเคยเรียกเก็บเงินสูงสุดที่ 4.20 บาทต่อลิตร ขณะที่มาตรการตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้สิ้นสุดไปตั้งแต่ 31 ต.ค. 2567 แล้ว ดังนั้นในขณะนี้ กบน. จึงทำหน้าที่พิจารณาราคาดีเซลเอง โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ บริหารจัดการราคาจำหน่ายปลีกภายในประเทศ

อย่างไรก็ตามการกลับมาชดเชยราคาน้ำมันดีเซลอีกครั้ง เนื่องจาก กบน. ยังคงพยายามไม่ให้ราคาดีเซลสูงขึ้นเกิน 33 บาทต่อลิตร โดยปัจจุบัน (20 ม.ค. 2568) ราคาดีเซลขายปลีกอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร ทั้งนี้หากไม่ชดเชยราคาดีเซลอาจส่งผลให้ต้องปรับขึ้นราคาจำหน่ายปลีกเกิน 33 บาทต่อลิตรได้ เนื่องจากราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น

ล่าสุดราคาน้ำมันโลก ณ วันที่ 20 ม.ค. 2568 เวลาประมาณ 15.00 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 80.74 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.67 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 77.88 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.03 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 80.56 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.23 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล    

ส่งผลให้ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมัน ที่รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ณ วันที่ 20 ม.ค. 2568 เปลี่ยนแปลงดังนี้ ค่าการตลาดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ยังคงทรงตัวระดับสูง โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ถูกเรียกเก็บค่าการตลาด 4.08 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีค่าการตลาดที่ 3.15 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 3.23 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 3.93 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 7.64 บาทต่อลิตร, ดีเซล อยู่ที่ 1.60 บาทต่อลิตร  โดยเฉลี่ยค่าการตลาดระหว่าง 1-20 ม.ค. 2568 อยู่ที่ 2.21 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ 1.5-2 บาทต่อลิตร)

ดังนั้น หากค่าการตลาดผู้ค้าน้ำมันสูงเกินควร ทาง กบน. อาจพิจารณากลับมาเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ อีกครั้งก็ได้

สำหรับปัจจุบัน กบน. ได้เรียกเก็บเงินเฉพาะผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน และดีเซลเกรดพรีเมียม ส่งเข้ากองทุนฯ ดังนี้ ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ส่งเข้ากองทุนฯ 10.68 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ส่งเข้าถึง 4.60 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ส่งเข้า 2.61 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ส่งเข้า 1.16 บาทต่อลิตร และดีเซลเกรดพรีเมียม เรียกเก็บ 1.50 บาทต่อลิตร

ส่วนสถานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 19 ม.ค. 2568 ปรากฏว่า เงินกองทุนฯ ติดลบลดลงต่อเนื่องเหลือ -73,545 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบน้อยลงเหลือ -26,876 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบเหลือ -46,669 ล้านบาท และยังนับเป็นยอดเงินติดลบต่ำที่สุดในรอบ 2 ปีอยู่

‘กองทุนน้ำมัน’ จ่ายหนี้เงินกู้ขั้นบันได เม.ย. จ่ายเฉียด!! 2,000 ล้านบาท

(15 ก.พ. 68) จากข้อมูลฐานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดยังคงติดลบกว่า 70,438 ล้านบาท โดยราคาน้ำมันโลกทรงตัวระดับไม่สูงมากนักประมาณ 77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้กองทุนฯ สามารถเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดได้มากขึ้นถึงเดือนละกว่า 6,700 ล้านบาท

โดยเฉพาะผู้ใช้แก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ถูกเรียกเก็บเงินถึง 4.60 บาทต่อลิตร และถูกเรียกเก็บค่าการตลาดจากผู้ค้าน้ำมันประมาณ 3 บาทต่อลิตร ส่งผลราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ระดับ 35.35 บาทต่อลิตร และ แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ระดับ 34.98 บาทต่อลิตร   

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ประกาศสถานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 9 ม.ค. 2568 ที่ราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงมีรายรับเข้ามาและทำให้วงเงินกองทุนฯ ติดลบน้อยลงอย่างต่อเนื่องเหลือ 70,438 ล้านบาท โดยยังคงเป็นยอดการติดลบที่น้อยที่สุดในรอบ 2 ปี ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม 23,966 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม 46,472 ล้านบาท

ทั้งนี้ รายรับที่ได้ส่วนใหญ่มาจากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันทุกประเภทส่งเข้ากองทุนฯ ดังนี้ ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ส่งเข้ากองทุนฯ 10.68 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ส่งเข้าถึง 4.60 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ส่งเข้า 2.61 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ส่งเข้า 1.16 บาทต่อลิตร, น้ำมันดีเซลและดีเซล B20 ส่งเข้า 1.05 บาทต่อลิตร และดีเซลเกรดพรีเมียม เรียกเก็บ 2.55 บาทต่อลิตร

ส่งผลให้กองทุนฯ มีเงินไหลเข้า 224.55 ล้านบาท หรือประมาณ 6,700 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งมาจากผู้ใช้น้ำมันรวม 213.39 ล้านบาท และมาจากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้และผู้ผลิต LPG รวม 11.16 ล้านบาท ส่วนภาระหนี้เงินกู้โดยรวมยังเหลืออยู่อีก 104,083 ล้านบาท

"ช่วงนี้กองทุนน้ำมันต้องจ่ายหนี้เงินกู้เฉลี่ยเดือนละกว่า 1,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินต้นประมาณ 800 ล้านบาท ส่วนดอกเบี้ยอยู่ระดับ 230 ล้านบาท ซึ่งการจ่ายเงินต้นจะทยอยปรับขึ้นตามการกู้เงินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าเดือนเม.ย. 2568 จะต้องจ่ายเงินต้นเกือบ 2,000 ล้านบาท" 

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าผู้ใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ยังคงถูกเรียกเก็บเงินสูงสุดกว่าผู้ใช้น้ำมันชนิดอื่นถึง 4.60 บาทต่อลิตร นอกจากนี้เมื่อพิจารณาค่าการตลาดน้ำมันที่ผู้ค้าน้ำมันเก็บจากผู้ใช้ จะพบว่ากลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ถูกเรียกเก็บกว่า 3 บาทต่อลิตร

โดยค่าการตลาดผู้ค้าน้ำมัน ที่รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ณ วันที่ 11 ก.พ. 2568 เปลี่ยนแปลงดังนี้ ค่าการตลาดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ยังคงทรงตัวระดับสูง โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ถูกเรียกเก็บค่าการตลาด 4.09 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีค่าการตลาดที่ 3.04 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 3.12 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 3.75 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 6.88 บาทต่อลิตร, ดีเซล อยู่ที่ 1.88 บาทต่อลิตร  โดยเฉลี่ยค่าการตลาดระหว่าง 1-11 ก.พ. 2568 อยู่ที่ 2.54 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ 1.5-2 บาทต่อลิตร)

ส่งผลให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 35.35 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 34.98 บาทต่อลิตร ขณะที่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 33.14 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์  E85 อยู่ที่ 32.09 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาดีเซลอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top