Wednesday, 16 April 2025
กลุ่มเปราะบาง

“ลุงป้อม” ห่วง! กลุ่มเปราะบาง - คนพิการ สั่งแรงงานร่วมมือเอกชน จ้างงานคนพิการทั่วประเทศ

วันที่ 26 ตุลาคม 2564 เวลา 10.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจโครงการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ระหว่าง กรมการจัดหางาน และสถานประกอบการชั้นนำ 7 แห่ง โดยมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงานร่วมงาน และมีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นผู้ลงนาม ณ ห้องประชุม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน

โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนมีความห่วงใยประชาชนในกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะคนพิการ ที่ต้องการทำงาน เพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว แต่ยังขาดโอกาส จึงมอบหมายนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการโครงการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมสร้างโอกาส ให้คนพิการในประเทศไทยสามารถเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐ สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรี และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ระหว่าง 12 กระทรวง 1 หน่วยงาน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นสักขีพยานในการลงนามดังกล่าวว่า กระทรวงแรงงานขานรับนโยบายรัฐบาล และเร่งดำเนินการสนับสนุนการจ้างงานเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และการสนับสนุนให้คนพิการมีงานทำตามศักยภาพ และความต้องการทำงาน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ

สำหรับการจัดกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ เป็นการสร้างความร่วมมือด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ระหว่างกรมการจัดหางาน และสถานประกอบการชั้นนำ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย บริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท รักษาความปลอดภัยการ์ดฟอร์ซ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กลุ่มบริษัทชัยรัชการ และบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) ที่ได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนตามแนวทางประชารัฐ โดยจ้างงานคนพิการ จำนวน 329 อัตรา

“พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จ้างคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วน 100 : 1 หากไม่สามารถดำเนินการได้ จะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 ในอัตรา 114,245  บาทต่อปี ตามจำนวนคนพิการที่ไม่ได้จ้าง โดยที่ผ่านมามีการนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ปีละกว่า 800 ล้านบาท ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวกต่อนายจ้าง/สถานประกอบการที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย แต่คนพิการจะไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง จึงได้มอบหมายกรมการจัดหางานโน้มน้าวสถานประกอบการเพื่อเปลี่ยนมาจ้างงานคนพิการเชิงสังคม โดยใช้สิทธิตามมาตรา 35 ประเภทจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือการจ้างเหมาบริการ เงินก้อนเดิมที่ถูกนำส่งกองทุนฯ จะเปลี่ยนไปสร้างโอกาสให้คนพิการมีงานทำใกล้บ้าน คนพิการมีรายได้จากบริษัทโดยตรง ซึ่งจากความร่วมมือของสถานประกอบการภาคเอกชนทั่วประเทศ ยืนยันการจับคู่ (Matching) พร้อมทำงานแล้ว 568 อัตรา จากเป้าหมาย 1,000 อัตรา แบ่งเป็น จากสถานประกอบการทั้ง 7 แห่งที่ร่วมทำ MoU จำนวน 329 อัตรา และสถานประกอบการเอกชนอื่นๆทั่วประเทศที่ให้ตำแหน่งรวม 239 อัตรา ทั้งหมดจะทำสัญญาจ้าง ภายใน 31 ธันวาคม 2564 และเริ่มปฏิบัติงานในวันที่ 1 มกราคม 2565 วิธีนี้คนพิการจะมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ สามารถรับประโยชน์ได้โดยตรง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีข้อสั่งการให้กรมการจัดหางาน ประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้สถานประกอบการเลือกใช้วิธีการจ้างเหมาบริการคนพิการปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐในจังหวัดที่คนพิการอาศัยอยู่ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการ ศูนย์บริการคนพิการของท้องถิ่น เทศบาล 

 

รองผู้ว่ากทม. ผนึกกำลัง! กรมพก. เยี่ยมคนพิการ - ผู้ป่วยติดเตียง และกลุ่มเปราะบาง

"นายสกลธี ภัททิยกุล" รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย "นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ" อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และนายสมบัติ กนกทิพย์วรรณ ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ ลงพื้นที่ให้กำลังใจ และแนะนำสิทธิประโยชน์ของ "คนพิการ" พร้อมมอบเครื่องอุปโภคบริโภคแก่คนพิการติดเตียง และกลุ่มเปราะบาง จำนวน 46 รายในพื้นที่เคหะชุมชนทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่

อีกทั้ง ยังได้ให้คำแนะนำ คำปรึกษาเกี่ยวกับสิทธิ และสวัสดิการทางกฎหมายของ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพ.ศ 2550 เพื่อเป็นเครื่องมือกลไกในการช่วยเหลือและขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตของคนพิการที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที 

 

"สกลธี" รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่! ช่วย "กลุ่มเปราะบาง" อย่างเร่งด่วน!!

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.00 น. "นายสกลธี ภัททิยกุล" รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชุมชนวัดมะกอกกลางสวน แขวงพญาไท เขตพญาไท เนื่องด้วยในสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะต้องประกอบอาชีพหารายได้จึงไม่มีเวลาดูและสุขภาพของตนเองและสมาชิกในครอบครัวให้ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะประชาชน "กลุ่มเปราะบาง" ในสังคมไทยคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความเหลื่อมล้ำหรือช่องว่างทางสังคมยังคงมีให้เห็น เพราะประชาชน "กลุ่มเปราะบาง" เหล่านี้มีความลำบากมากกว่าบุคคลอื่น ๆ เช่น คนพิการ ครอบครัวคนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ หรือครอบครัวยากจนที่มีความยากลำบากที่จะมีรายได้มาดูแลตนเองและครอบครัวในช่วงวิกฤตโรคระบาดนี้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว "นายสกลธี ภัททิยกุล" รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย สำนักงานเขตพญาไท กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพขีวิตคนพิการ และเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน บูรณาการความร่วมมือลงพื้นที่เชิงลึกเพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน คนพิการ ครอบครัวคนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง และกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เพื่อลดช่องว่างสิทธิด้านต่าง ๆ ของประชาชนกลุ่มเปราะบางอย่างบูรณาการ

โดยมอบ "ถุงยังชีพ" เพื่อเป็นการบรรเทาและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน รวมถึงการสอบถามปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการอื่น ๆ ของคนในชุมชน อาทิเช่น การรักษาพยาบาล การรับบริการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 และให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับสิทธิด้านต่าง ๆ ของคนพิการและผู้ป่วยติดเตียงให้มีโอกาสเข้าถึงสิทธิได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

 

‘พัชรี อาระยะกุล’ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่!ตรวจเยี่ยมหน่วยงาน One Home พม.น่าน

"นางพัชรี อาระยะกุล" ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยงาน One Home พม.น่าน เพื่อติดตามผลการดำเนินงานร่วมรับฟังปัญหาอุปสรรคการทำงานของหน่วยงาน One Home พม.น่าน ในเรื่องการดำเนินงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต ครอบครัวกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือนในระดับพื้นที่

พร้อมทั้งให้แนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล ตามนโยบายของกระทรวง พม.พร้อมให้ขวัญและกำลังใจบุคลากรกระทรวง พม. ในการทำงานแก้ไขปัญหาสังคม

 

พม. จับมือประธานรัฐสภา เร่งช่วยกลุ่มเปราะบางเดือดร้อนจากน้ำท่วมชุมชนริมชายฝั่งย่านบางปูใหม่ จ.สมุทรปราการ

วันนี้ (16 ส.ค. 65) เวลา 17.00 "นายชวน หลีกภัย" ประธานรัฐสภา พร้อมด้วย "นางพัชรี อาระยะกุล" ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   และ "นางวรรณภา สุขคง"  พมจ.สมุทรปราการ ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเยี่ยมบ้านให้กำลังใจและช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ หลังประตูระบายน้ำของชุมชนขัดข้องไม่สามารถปิดระบายน้ำได้ ทำให้น้ำทะเลที่กำลังหนุนสูงไหลเข้าท่วมบ้านเรือนในชุมชน ทั้งนี้ มีคณะผู้บริหารกระทรวง พม.  "นายชัยพจน์  จรูญพงศ์  รองผู้ว่าราชการ" จังหวัดสมุทรปราการ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ช่วยเหลือ

นางพัชรี กล่าวว่า นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา พร้อมด้วยหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในชุมชนวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ รวมทั้งผู้ป่วยติดเตียง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ซึ่งขณะนี้ ระดับน้ำในชุมชนได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังมีความเสียหายของบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วม  โดยวันนี้ ได้ลงพื้นที่ร่วมกัน เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจพี่น้องประชาชน และเร่งช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน อาทิ มอบถุงยังชีพให้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง จำนวน 30 ครอบครัว

‘กลุ่มสตรี-อสม.น่าน’ ผุดไอเดีย ส่งอาหารให้กลุ่มเปราะบาง เพื่อสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันน้ำใจ เอื้ออาทรต่อกัน

‘น่าน’ ผุดไอเดียเจ๋ง ‘ไรเดอร์อิป้อ อิแม่’ ส่งข้าวส่งน้ำให้กลุ่มเปราะบาง

(17 มี.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.น่าน ว่า เทศบาลเมืองน่าน ริเริ่มโครงการ ‘ไรเดอร์ อิป้อ อิแม่’ นำโดยนายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ทำการส่งข้าวส่งน้ำให้กับกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ในเขตเทศบาลเมืองน่าน โดยกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ได้ประสานความร่วมมือไปยังสมาชิกสภาเทศบาล หัวหน้าบ้าน ผู้นำชุมชน กลุ่มสตรีเทศบาลเมืองน่าน และ อสม. ช่วยคัดกรองหาชาวบ้านกลุ่มเปราะบางที่มีความต้องการปัจจัยจำเป็นในการยังชีพโดยเฉพาะอาหารและน้ำดื่ม เบื้องต้นมีจำนวน 8 ราย จาก 6 ชุมชน

นายสุรพล กล่าวว่า เทศบาลเมืองน่านได้ริเริ่มโครงการ ‘ไรเดอร์ อิป้อ อิแม่’ ขึ้นเป็นครั้งแรก จากการสำรวจข้อมูลประชากรในพื้นที่เทศบาลเมืองน่าน พบว่า มีประชาชนจำนวนหนึ่งยังต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอาหาร และปัจจัยในการดำรงชีพ โดยแหล่งงบประมาณมาจากการจัดทำผ้าป่าสามัคคีของกลุ่มสตรีเทศบาลเมืองน่าน นอกจากนี้กลุ่มสตรีเทศบาลเมืองน่าน ยังใช้เอกลักษณ์การสวมใส่ผ้าถุง หรือผ้าซิ่น และการฟ้อนล่องน่านประยุกต์ทำการแสดงเปิดรับบริจาคจากนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป ณ ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่านและงานอีเวนต์ต่าง ๆ เบื้องต้นระดมทุนได้ราว 100,000 บาท เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าวัตถุดิบปรุงอาหารได้ตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ กลุ่มสตรีทั้ง 31 ชุมชน หมุนเวียนทำหน้าที่จิตอาสาประกอบอาหารจัดทำเป็นชุดอาหารกลางวัน เพื่อรอเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองน่าน มารับชุดอาหารดังกล่าวนำไปส่งให้ชาวบ้าน ที่ต้องการได้รับการช่วยเหลือดังกล่าวแบบ Food Delivery โดยเริ่มต้นโครงการมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 และมีแนวโน้มที่จะขยายการให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ตามความเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือให้สังคมมีคุณภาพ สังคมแห่งการแบ่งปันและสังคมแห่งความเอื้ออาทร ตามนโยบาย “เมืองน่าน เมืองมงคล คนใจดี” ต่อไป

‘ปชป.’ ส่ง ‘กานต์’ แกนนำผู้พิการทางสายตา นั่งปาร์ตี้ลิสต์ ชู เพิ่มเบี้ยยังชีพ-สร้างโอกาส-เป็นปากเสียงให้กลุ่มเปราะบาง

(1 เม.ย. 66) ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ แกนนำพรรคภาคเหนือ เปิดเผยว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันการเมืองที่ได้รับความสนใจจากคนทุกภาคส่วน และให้ความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกับกลุ่มเปราะบาง ที่จะมีตัวแทนในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นประวัติการณ์อย่างยิ่ง โดยในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคได้รับรอง นายกานต์ ปิงเมือง เลขาสมาคมคนตาบอด จังหวัดพะเยา ตัวแทนกลุ่มเปราะบาง เป็นสมาชิกพรรค และ เป็นผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ โดยผ่านการประชุมคัดเลือกเรียบร้อยแล้ว

ทางด้านนายกานต์ กล่าวภายหลังได้รับคัดเลือกให้ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ตนรู้สึกดีใจมากเพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ให้โอกาสกับคนเปราะบาง ซึ่งน่าจะเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวในประเทศไทยที่มองเห็นพี่น้องคนพิการ และตนมุ่งหวังว่าจะได้มีโอกาสขับเคลื่อนงานเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับพี่น้องคนพิการ ที่สำคัญมุ่งหวังที่จะผลักดันนโยบายเพิ่มเบี้ยยังชีพคนพิการเป็น 2,000 บาทถ้วนหน้า และ เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ 2,000 บาทถ้วนหน้า

ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ให้โอกาสที่จะได้นำเสนอนโยบายเหล่านี้ โดยตนได้นำเสนอนโยบายให้กับทุกพรรค มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปาะบางมาตั้งแต่เริ่มต้น เห็นได้ว่ากฎหมายด้านคนพิการก็ออกมาในสมัยของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ การเพิ่มเบี้ยยังชีพจาก 500 บาทเป็น 800 บาทก็มาจากพรรคประชาธิปัตย์ และการแก้ไขกฎหมายด้านคนพิการหรือการให้เบี้ยผู้สูงอายุก็เริ่มต้นจากพรรคประชาธิปัตย์ และที่สำคัญพรรคประชาธิปัตย์พิสูจน์ให้ประชาชนได้เห็นว่า พรรคเป็นสถาบันทางการเมืองที่ยืนหยัดมั่นคงในหลักการและอุดมการณ์

นายกานต์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ได้รับการผลักดันจาก นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ปี 2562 และอดีตปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยตนได้ประสานงานกับมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชน และงานภาคประชาสังคมของจังหวัดพะเยารวมทั้งภาคเหนือมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ นอกจากนั้น แล้วยังร่วมกันผลักดันโอกาสของกลุ่มเปราะบาง และพยายามในการส่งเสริมให้ผู้พิการในแต่ละสมาคมมีปากเสียงในกองทุน และสวัสดิการของรัฐฯ ในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อความเป็นธรรมให้กับกลุ่มผู้พิการซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อยในประเทศ


ที่มา : https://www.naewna.com/politic/721410

‘พีระพันธุ์’ ตรึงราคา LPG 3 เดือน ก.ค. - ก.ย. 67 พร้อมชงช่วยค่าน้ำมันบัตรคนจน 120 บ./ด. นาน 3 เดือน

เมื่อวานนี้ (27 มิ.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ครั้งที่ 2/2567 (ครั้งที่ 66) ซึ่งเป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting) โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาและมีมติเห็นชอบในประเด็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านพลังงาน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางผู้มีรายได้น้อย และเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตการณ์ราคาพลังงานในอนาคต

นายพีระพันธุ์เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการด้านพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน และมีการสรุปบทเรียนที่ได้จากการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาที่ผ่านมา รวมทั้งข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินงานต่อไป

โดยที่ประชุมเห็นควรให้มีการจัดทำเป็นแผนงาน/ข้อริเริ่มโครงการ อาทิ การปรับปรุงกฎหมายหรือกฎระเบียบให้มีความยืดหยุ่นในการบังคับใช้ช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งปัจจุบัน ทางคณะทำงานฯ กำลังเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการเตรียมพร้อมและมาตรการบริหารวิกฤตการณ์พลังงาน (พ.ศ. 2566 - 2570) โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2567 เพื่อกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนแผนงาน/ข้อริเริ่มโครงการดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรตั้งแต่ภาวะปกติ แนวทางการบูรณาการที่จำเป็นของประเทศ และการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชน และได้มีมติให้คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นก๊าซ LPG ที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 และให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป

นายพีระพันธุ์ยังได้กล่าวถึง ความจำเป็นในการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้เปราะบางในช่วงที่ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องตลอดปี 2567 เนื่องจากปัจจัยด้านราคาในตลาดโลก โดยที่ประชุมได้พิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาน้ำมันสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 13,570,169 ราย และเป็นประชาชนกลุ่มเปราะบางที่แท้จริง

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ ‘มาตรการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ ซึ่งจะให้สิทธิเพิ่มวงเงินช่วยเหลือค่าน้ำมัน (กลุ่มเบนซิน และกลุ่มดีเซล โดยให้ใช้กับยานพาหนะ) แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 120 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม - ธันวาคม 2567 และมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานหารือ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สถาบันการเงิน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอเรื่องขออนุมัติหลักการจากคณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าว รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มสถานีบริการที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อลดภาระค่าครองชีพ ลดความเหลื่อมล้ำ และช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

'อัษฎางค์' อัดพวกนิ้วไม่ครบโยงหนัง 'สืบสันดาน' แซะสถาบัน ชี้!! แค่หามุมมาล้างสมองกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มคนที่ไม่รู้

(27 ก.ค.67) นายอัษฎางค์ ยมนาค โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค’ โดยระบุว่า ...

เมื่อคืนดู ‘สืบสันดาน’ ดูเกือบจบแล้วครับ

ผมว่า ดาราแสดงดี ขนาดตัวละครเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังแสดงได้ดีเลย โปรดักชันดี ดนตรีประกอบดี คือดูแล้วก็แอบดีใจว่า ละครไทยพัฒนามาไกลมาก

แต่ที่ยังไม่ดีเท่าที่ควรคือ บทละคร ผมว่ายังทำไม่ถึง ยังขาด ๆ เกิน ๆ อยู่นิดหน่อย มีความไม่สมเหตุสมผล หรือทำให้เราดูแล้วว่า มันมาแบบนั้นแบบนี้ได้ยังไง

ถ้าเอาไปเทียบกับ ‘เลือดข้นคนจาง’ ซีรีส์เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งเป็นละครแนวดราม่า ฆาตกรรม สืบสวน แย่งมรดก ซึ่งเป็นแนวใกล้เคียงกันแล้วเทียบไม่ติด เลือดข้นคนจาง บทละครดีมาก ซับซ้อน สมจริง
อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นซีรีส์ที่มีพัฒนาการที่ดี และก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี

แต่ถ้าถามมาว่าชอบมั้ย ตอบว่า ส่วนตัวไม่ได้ชอบ ตามมาลองดูเพราะเห็นว่ากระแสแรงและมีข่าวเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์กัน ก็ตามมาดูเพื่อหาความจริง

ส่วนตัวชอบการแสดงของชาย ชาตโยดม เป็นดาราที่สวมบทได้หลากหลายและมักตีบทแตก แต่เรื่องนี้เหมือนยังไปไม่ถึง ขาดอีกนิดนึง ถ้าจะโทษคงโทษผู้กำกับที่ได้ดารามากฝีมือแต่ดึงศักยภาพออกมาไม่หมด ตัวแสดงที่คิดว่าชอบคือ คนที่เป็นเมียเจ้าสัว ดูสภาพเป็นเด็กรับใช้จริง ๆ ซึ่งก็ต้องชมผู้กำกับ

อ่านมาถึงตรงนี้ อาจฟังดูงงๆ ว่าตกลงดีหรือไม่ดี ก็คงพูดให้หายงงว่า ส่วนตัวคิดว่า มันยังขาด ๆ เกิน ๆ บางอย่างดี บางอย่างยังไม่ดี บางอย่างเกือบดี และไอ้ตรงที่ดีมากก็มี ไอ้ตรงที่อึดอัดไม่ดีเลยก็มี

นอกจากนี้ ถือว่าเป็นหนังราคะ ที่ดูฉากราคะแล้วคลื่นไส้ ถ้าเทียบกับหนังหรือซีรีส์ราคะฝรั่งแล้วฝรั่งจะทำสวยงามกว่านี้ และไม่ดูน่าคลื่นไส้

แต่ก็ถือว่าเป็นซีรีส์ไทยที่ตั้งใจทำออกมาได้ดี และดีกว่าละครไทยทั่วไป เพียงแต่ส่วนตัวคิดว่ายังไม่ถึงขั้นชอบ ผมว่าโดยรวมถือว่า เกือบดี แต่ตรงที่ว่ายังไม่ดี ผมว่ามันติดอยู่อีกนิดนึง ซึ่งก็น่าจะเป็นที่บท ดูแล้วอึดอัด แต่ยังไงก็ยังคงชื่นชมในความพยายามที่จะทำให้ดี ปรับปรุงเรื่องบทละครอีกนิดจะดีมาก

ทั้งหมดนั้นเป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ เชื่อว่ามีคนจำนวนมากเห็นต่างจากผม คือส่วนใหญ่น่าจะชอบและมองว่าดีแล้ว

ส่วนประเด็นที่วิจารณ์กันว่า เป็นละครแซะสถาบัน ผมก็พยายามดู แต่ยังไม่หาเจอว่ามีเนื้อหาแบบนั้นเลย หรือว่าผมยังดูไม่ถึงตรงนั้น ใครเจอว่าอยู่ตรงไหน ช่วยบอกหน่อยครับ

แต่ผมว่า ซีรีส์เขาทำมาดีแล้วแต่มีคนนิ้วไม่ครบคิดไปเอง โยงไปเองมากกว่ากระมัง

เพราะผมมักไปเจอเรื่องราวที่ปกติ เช่นประวัติศาสตร์ วรรณกรรม เรื่องสั้น ที่เราเคยอ่านมาแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่คนมีนิ้วไม่ครบ ก็เอามาเล่าใหม่ เขียนกันใหม่ให้มันไม่ปกติ ด้วยการโยงเพื่อแซะกร่อนสถาบันหรือโยงไปเรื่องความไม่เท่าเทียม ซึ่งปัจจุบันมีอยู่เยอะมาก เพื่อเอามาล้างสมองกลุ่มคนที่เปราะบางหรือกลุ่มคนที่ไม่รู้

'กกพ.' เคาะค่าไฟใหม่เป็นทางการ 4.18 บาท กลุ่มเปราะบาง 3.99 บาท หลัง 'พีระพันธุ์' สั่งตรึงราคา จบตัวเลขก่อนหน้าที่จ่อพุ่งแตะ 6 บาท

(31 ก.ค.67) แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมประชุมเห็นชอบค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เรียกเก็บในงวดสุดท้ายของปี ก.ย.-ธ.ค. 67 อย่างเป็นทางการ หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 12-26 ก.ค. 67 ใน 3 กรณี คือ กรณีแรก หน่วยละ 4.65 บาท กรณี 2 หน่วยละ 4.92 บาท และกรณี 3 หน่วยละ 6.01 บาท แต่ละกรณีแตกต่างกันที่การชำระหนี้คงค้างจำนวน 98,495 ล้านบาท ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

อย่างไรก็ตาม แม้ กกพ.จะประกาศ 3 ราคา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นค่าไฟทั้งหมด จากงวดปัจจุบันอยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท แต่ทางนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ได้ขอที่ประชุม ครม.พิจารณาแนวทางการช่วยเหลือประชาชนให้ตรึงราคาค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายไว้เท่าเดิม คือ หน่วยละ 4.18 บาท ซึ่งทาง ครม.วันที่ 23 ก.ค. 67 ได้อนุมัติแนวทางตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการภาระค่าเชื้อเพลิงร่วมกับ กฟผ. และบมจ.ปตท. รวมถึงการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่กรอบไม่เกินลิตรละ 33 บาท โดยใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 67 ซึ่งขณะนี้ทาง กกพ.ได้รับหนังสือยินยอมภาระต้นทุนคงค้าง และจะทยอยคืนทีหลังจาก กฟผ.แล้ว และคาดว่า วันที่ 30 ก.ค. ทาง ปตท.จะส่งหนังสือรับภาระต้นทุนคงค้าง และทยอยจ่ายคืนทีหลังเช่นกัน

ทั้งนี้หากที่ประชุมบอร์ด กกพ. อนุมัติและประกาศเป็นทางการแล้ว คาดว่า ใช้เวลา 1-2 วัน หรืออย่างช้าสุดไม่เกิน 1 สัปดาห์หลังจากบอร์ดเห็นชอบ ส่งผลให้บิลค่าไฟฟ้าเดือน ก.ย.–ธ.ค. 67 อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนทั่วไปจะอยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท ส่วนกลุ่มเปราะบาง ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ยังคงไว้ในอัตราเดิมหน่วยละ 3.99 บาท มีจำนวน 17.7 ล้านครัวเรือนเช่นเดิม โดย ครม.จะนำงบกลางมาชดเชย

อย่างไรก็ตามผลจากการตรึงราคาค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 67 อยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท จากที่ควรต้องปรับขึ้นตามแนวทางที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความคิดเห็น เป็นที่ 4.65-6.01 บาทต่อหน่วย ทำให้ ปตท.และ กฟผ. จะยังไม่ได้รับการคืนต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง หรือเอเอฟก๊าซ ที่ทั้ง 2 หน่วยงานร่วมกันแบกรับภาระแทนประชาชนไปก่อน 15,083.79 ล้านบาท โดย กฟผ.จะได้รับคืนภาระต้นทุนคงค้างที่เกิดขึ้นจริงเพียงหน่วยละ 5 สตางค์ จากภาระต้นทุนคงค้างที่สะสมอยู่จำนวน 98,495 ล้านบาท จะต้องรอทยอยเรียกเก็บคืนจากประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในภายหลัง ซึ่งยังไม่รู้อนาคตว่า งวดแรกของปี 68 (ม.ค.-เม.ย.) จะต้องรับภาระยืดการชำระไปอีกหรือไม่ เนื่องจากทิศทางราคาพลังงานยังมีแนวโน้มผันผวนอย่างต่อเนื่อง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top