Friday, 18 April 2025
กระทรวงยุติธรรม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มอบนโยบายให้กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนขับเคลื่อนการปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน ต่อการคืนเยาวชนหลักการ "การสร้างคน ให้คนกลับมาสร้างชาติ"

วันที่ 16 มกราคม 2567 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดี-รังสิต เขตหลักสี่ กทม. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้เกียรติร่วมโครงการและ "มอบนโยบายการบริหารและขับเคลื่อน กระทรวงยุติธรรมเข้าสู่ยุค "ความ ยุติธรรมสำหรับทุกคน หรือความ ยุติธรรมนำประเทศ" ในโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ "การมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 " โดยมี พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจฯ พร้อม ด้วยรองอธิบดีฯ และผู้เข้าร่วม โครงการฯ จำนวน 144 คน ให้การต้อนรับและร่วมรับฟังนโยบายฯ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหาร หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกรมพินิจฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบนโยบาย และแนวทางในการปฏิบัติราชการของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 

สามารถนำไปถ่ายทอดให้กับผู้ปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของกรมไปในทิศทางเดียวกัน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า "กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นกรมที่สร้างอนาคตให้กับประเทศไทย 

ท่านทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองของเด็กและเยาวชนที่ก้าวปกครองของเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาด ซึ่งแน่นอนว่าการสร้างย่อมดีกว่าการซ่อม แต่ถ้าท่านสามารถซ่อมแซมเด็กและเยาวชนคนหนึ่งได้ก็เท่ากับท่านได้สร้างคนที่มีคุณภาพกลับคืนสู่ประเทศชาติเพื่อกลับมาพัฒนาบ้านเมืองของเรา ขอฝากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนว่าในพลวัตที่บ้านเมืองของเรามีความเปลี่ยนแปลงไป เราจะทำอย่างไรให้สถานพินิจฯ ที่เราอยู่นี้ให้เป็นสถานที่ที่มีคุณค่า เปลี่ยนมนุษย์จากที่ไม่รู้...ให้รู้ เปรียบเหมือนกับการช่วยเหลือคนจน หรือคนเจ็บป่วย หรือคนที่ตกทุกข์ได้ยากก่อนและอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือท่านต้องยึด โยงกับชุมชนให้ได้ เพราะ  อบต.ทุกแห่งก็มีการเชื่อมโยงกับระบบการศึกษา ฉะนั้นเราเป็นเหมือนพ่อแม่ที่ไม่ใช่แค่สอนเรื่องการศึกษาแต่เราต้องสอนให้เขาได้เรียนรู้ชีวิตด้วย 

ขอให้ท่านรักและศรัทธาในงานของท่าน เพราะสิ่งที่ยากคือการบูรณะกล่อมเกลาเขาให้ไม่กลับมากระทำผิดซ้ำ ฉะนั้นงานของท่านจึงเป็นงานที่มีคุณค่ามาก เราต้องให้คนกลุ่มนี้กลับมาพัฒนาสังคม และกระทรวงยุติธรรมยังมีอีกหน้าที่หนึ่งคือ "การสร้างคน...เพื่อให้คนกลับมาสร้างชาติ" และขอฝากทุกท่านในเรื่องของการสื่อสารและสร้างความเข้าใจให้กับสังคมในภารกิจงานของกรมพินิจฯ และกระทรวงยุติธรรมและช่วยกันนำความยุติธรรมไปสู่ทุกชุมชนต่อไป"

กาฬสินธุ์รมว.ยุติธรรมลุยปราบยาเสพติดโชว์ยุทธการเด็ดปีกนักค้าอีสานเหนือ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานด้านการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ขณะที่ตำรวจภูธรภาค 4 แถลงผลเปิดปฏิบัติการไล่ล่า(เด็ดปีก) นักค้าอีสานเหนือ 252 

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานด้านการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์

โดยช่วงเช้าเวลา 09.30 น.ได้ตรวจเยี่ยมเรือนจำ จ.กาฬสินธุ์ รับฟังผลการดำเนินงานปัญหา อุปสรรค และมอบนโยบายแก่ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยมีนายสนั่น พงษ์อักษร ผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยรองผวจ.กาฬสินธุ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 นายพลากร  พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 2 นายจำลอง ภูนวนทา ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 3 นายทินพล ศรีธเรศ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 5 นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายกอบจ.กาฬสินธุ์ นายจิรวุฒิ ปัญญาสวัสดิ์ ผบ.เรือนจำ จ.กาฬสินธุ์ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

จากนั้นเวลา 11.00 น.วันเดียวกัน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.ภานุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส., พล.ต.พรชัย มาหลิน รองแม่ทัพภาคที่ 2, นายสนั่น พงษ์อักษร ผวจ.กาฬสินธุ์ , พล.ต.ท.สรายุทธ สงวนโภคัย  ผบช.ภ.4 , พล.ต.ต.ตรีวิทย์ ศรีประภา ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 นายพลากร  พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 2 พร้อมด้วยรองผบช.ภ.4  ผู้บังคับการตำรวจภูธรจาก 12 จังหวัดอีสานเหนือ ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติการไล่ล่าเด็ดปีก นักค้าอีสานเหนือ 252 "No Place for Drug"(NPD.P.4) ของตำรวจภูธรภาค 4 

โดยมีการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายปกครอง กองทัพภาคที่ 2 สาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และตำรวจภูธรภาค 4 ทั้ง 252 สถานี มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 ทั้งปูพรม สืบสวนขยายผล จากผู้เสพนำไปสู่ผู้ค้ารายย่อย ออกหมายจับนักค้า 381 ราย ตรวจค้นเป้าหมายบุคคลตามหมายจับค้างเก่า 400 หมาย จับกุม ยึดทรัพย์และอายัดทรัพย์สินนักค้ารายย่อยทุกราย สามารถจับกุมนักค้าได้ถึง 309 ราย ตรวจค้นจับกุมหมายจับค้างเก่าได้ 43 ราย ของกลางยาบ้า 1,418,412 เม็ด, ยาไอซ์ 0.62 กิโลกรัม ยึดและอายัดทรัพย์สิน 1,318 รายการ คิดเป็นมูลค่ารวม 171,605,208 บาท

จากนั้นเวลา 13.00 น. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมคณะได้ร่วมประชุมติดตามผลการดำเนินงานด้านการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และมอบนโยบายแก่หน่วยงานบูรณาการและสร้างการรับรู้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้แก่ นายอำเภอทุกอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแกนนำอาสาสมัครกลุ่มต่างๆ ที่หอประชุมศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 6 พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

นอกจากนี้ในช่วงเวลา 14.30 น.ยังได้เข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน ตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์ ที่หอประชุมโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลกมลาไสย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อค้นหา และนำผู้เสพยาเสพติด เข้าสู่กระบวนการบำบัดโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (CBTx) เพื่อคัดแยก/คัดกรองผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากการใช้ยาเสพติดตามกลุ่มสี เข้าสู่กระบวนการบำบัดโดยแพทย์ โดยใช้รูปแบบ “หัวโทนโมเดล” เพื่อกวาดล้าง จับกุมผู้ค้ายาเสพติด ในตำบลเป้าหมาย 100 ตำบลอย่างเด็ดขาด ให้เป็น “ตำบลสีขาวปลอดยาเสพติด” เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่เป้าหมาย และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนในชุมชนอยู่อย่างปกติสุข

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ต่อไปนี้การป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดจะต้องครบทุกมิติ ซึ่งรัฐบาล ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบาย และเปิดปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลา 1 ปี ถือเป็นนโยบายเร่งด่วน โดยการปลุกชุมชนให้เข้มแข็ง เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ปราบปรามและยึดทรัพย์นักค้า และในส่วนการปฏิบัติการไล่ล่า(เด็ดปีก)นักค้าอีสานเหนือครั้งนี้ ถือเป็นการนำร่องเดินหน้าปราบปรามนักค้ายาเสพติด เพราะภาคอีสานมีชายแดนที่ยาว มีการลักลอบขนยาเสพติดเข้ามามากจะต้องเร่งดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ต้องขอชื่นชมทุกภาคส่วนและให้กำลังใจผู้ปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งกำชับให้ช่วยกันเดินหน้าที่แก้ปัญหายาเสพติดให้หมดสิ้นไป

‘พีระพันธุ์’ ปัดตอบ!! คุม ก.ยุติธรรม ใช้ภาพลักษณ์การันตี ‘คดีทักษิณ’

(13 ก.พ. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กรณีการได้รับแบ่งงานมาคุม กระทรวงยุติธรรม และรักษาการแทน รมว.ยุติธรรม โดยถูกจับตามองว่า เป็นการเอาภาพลักษณ์มาการันตีคดีของ อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร หรือไม่ ซึ่งนายพีระพันธุ์ ตอบว่า "ต้องไปถาม กระทรวงยุติธรรม ไม่เกี่ยวอะไรกับผม" ก่อนเดินขึ้นตึกบัญชาการ 2 เดินผ่านทางเชื่อมไปประชุม ครม. ที่ตึกบัญชาการ 1

25 มีนาคม พ.ศ. 2434 ‘ในหลวง ร.5’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้ง ‘กระทรวงยุติธรรม’ ปรับโฉมระบบยุติธรรมไทยให้ทันสมัย - แก้ปัญหาพิจารณาคดีล่าช้า

ประเทศสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 บ้านเมืองเกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายในกระบวนการพิจารณาคดีความ ทำให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปอย่างยากลำบาก จนนำไปสู่วิกฤตทางการศาลขึ้น โดยสาเหตุหลักมาจาก 

1. ความไม่เหมาะสมของระบบการศาลเดิมที่ขึ้นตามกระทรวงต่าง ๆ ทำให้เกิดความล่าช้าสับสน

2. ความไม่เหมาะสมของวิธีพิจารณาความแบบเดิม ที่มีวิธีการพิจารณาและพิพากษาคดี รวมถึงขอบเขตการลงโทษที่ไม่เหมาะสม

3. ความบีบคั้นจากต่างประเทศในด้านการศาล สืบเนื่องมาจากการมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของชาวต่างชาติ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงในเอกราชของไทย

ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ระบบยุติธรรมในสยามมีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสม และสามารถบังคับใช้ได้แก่ประชาชนทั่วไปในสยาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2434 โดยมีการรวบรวมศาลต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายเข้ามาในระบบภายใต้การควบคุมของกระทรวงยุติธรรม และกำหนดรูปแบบวิธีพิจารณาและพิพากษาคดีขึ้นใหม่อีกด้วย

‘ทวี’ แจงใช้งบ 6 แสน นำตัว ‘แป้ง นาโหนด’ กลับไทย ยัน!! เป็นแนวทางที่ดีที่สุด ถูกกว่าใช้เครื่องบินพาณิชย์

(3 มิ.ย.67) ที่ท้องสนามหลวง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงการรับตัว นายเชาวลิต ทองด้วง หรือ แป้ง นาโหนด ผู้ต้องหาที่หลบหนีการจับกุมกลับประเทศไทย ว่า การประสานงานในการรับตัวนายเชาวลิตกับประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศอินโดนีเซียแจ้งว่าสามารถรับตัวได้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว แต่บังเอิญขาดเรื่องเอกสาร ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นความเข้มแข็งขององค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (อินเตอร์โปล) นอกจากนี้ ประเทศอินโดนีเซียแจ้งว่าสามารถนำตัวนายชวลิต มาส่งให้ประเทศไทยได้ตามระบบกฎหมายของอินโดนีเซีย ดังนั้นวันที่ 3 มิ.ย. ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จะมีการประชุมว่าจะใช้ช่องทางไหนได้ แต่ในหลักการคือวันที่ 4 มิ.ย.นี้ นายเชาวลิตควรจะมาถึงเมืองไทยแล้ว

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นกรณีแรกที่หนีการควบคุมจากเรือนจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ดังนั้นโดยหลักการเมื่อตำรวจสอบสวนเสร็จ และแจ้งข้อหาแล้วจะต้องนำไปขัง ณ ศาลที่เกิดเหตุ เพราะขณะนี้สำนวนยังไม่ได้โอนมา และหลังจากนั้นจะเป็นเรื่องของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ จะพิจารณาว่าจะนำตัวนายเชาวลิตควบคุมตัวไว้ ณ ที่ใด จึงขอให้ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมราชทัณฑ์ไปประชุมกัน เพื่อให้มีประสิทธิภาพและไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาอีก

เมื่อถามว่า เป็นห่วงหรือไม่หากนายเชาวลิตกลับไป จ.นครศรีธรรมราช แล้วจะเกิดปัญหาอะไรตามมาหรือไม่ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่ประเมินดู ซึ่งจากที่ลงพื้นที่ไป จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทราบว่าเจ้าหน้าที่มีการประชุมกันว่าเมื่อนายเชาวลิตเดินทางมาถึงประเทศไทยจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เพื่อให้การดำเนินการตามกฎหมายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเป็นเรื่องของการนำตัวคนผิดมาฟ้องและลงโทษ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้ใช่หรือไม่ ที่จะนำตัวนายเชาวลิตมาดำเนินคดีในกรุงเทพมหานคร โดยไม่ไปที่ จ.นครศรีธรรมราช ตามที่นายเชาวลิตขอร้อง พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตอนนี้คดียังไม่ได้โอนมาที่ส่วนกลาง ดังนั้นจะต้องมีการสอบสวนที่ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.พัทลุง ก่อน ซึ่งที่ จ.พัทลุง จะต้องมีการอายัดตัว แต่จากการฝากขังครั้งที่ 1 ครบ 48 ชั่วโมงแล้ว เมื่อศาลอนุมัติฝากขัง ศาลฎีกามีระเบียบว่าสามารถฝากขังครั้งต่อไปให้สามารถปรากฎตัวทางออนไลน์ได้ ก็อาจจะนำไปขังที่อื่น

เมื่อถามย้ำว่า ประเด็นที่จะนำตัวมาส่วนกลางที่กรุงเทพฯ มีความเป็นไปได้มากกว่าใช่หรือไม่ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า เดิมเป็นความคิดของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่อยากนำตัวมาไว้ที่กรุงเทพฯ แต่ตนก็บอกว่าต้องประชุมกันให้ดี ทั้งนี้อยากจะบอกว่าการนำตัวนายเชาวลิตกลับมาประเทศไทย มีบางกระแสที่บอกว่ามีการใช้งบประมาณที่ฟุ่มเฟือย ซึ่งขอชี้แจงว่าทางเรามีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะถ้ามาเครื่องบินพาณิชย์ ในเงื่อนไขเดิมจะแพงกว่าการที่มากับเครื่องบินของกองทัพอากาศ เพราะคณะของอินโดนีเซียที่มาส่งก็หลายคน

ส่วนตัวเลขค่าใช้จ่ายในครั้งนี้นั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เท่าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ประมาณไว้ 600,000 บาท ทั้งค่าน้ำมันและค่าจอดเครื่องบิน อย่างไรก็ตามย้ำว่าเราพิจารณาแนวทางที่ดีที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยนำตัวผู้กระทำความผิดมาฟ้องร้องและลงโทษ ซึ่งเรื่องนี้ความจริงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องน่าดีใจ มันเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิด แต่เมื่อมันเกิดแล้วเราก็ต้องไปตรวจสอบว่ามันเป็นอย่างไร หนีไปอย่างไร หรือมีความเกี่ยวข้องกับใคร มีผู้บงการ ผู้ใช้ หรือผู้ช่วยเหลืออย่างไร และกรณีที่นายชวลิตออกมา ร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากสื่อแม้ว่าจะไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ แต่บุคคลที่เขาอ้างอิงถ้าเราไปสอบสวนแล้วมีความผิดก็จะเป็นหลักฐานใหม่ ฉะนั้นก็ขอให้ทำหน้าที่ตรงนี้ก็แล้วกัน

เมื่อถามว่า ตอนนี้มีการหารือถึงสถานที่ที่จะนำตัวนายชวลิตไปคุมขังหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เรื่องนี้ขอให้ไปถามอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และในการไปรับตัวนายเชาวลิต จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและกระทรวงยุติธรรม จัดทีมไปรับตัว

สนง.เลขาธิการวุฒิสภา ลงนาม MOU ร่วมกับสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม มุ่งส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติ

เมื่อวานนี้ (8 ม.ค.68) เวลา 09.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุมหมายเลข 402-403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการนำผลงานทางวิชาการและผลงานการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติ ระหว่างสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดยนางปัณณิตา สท้านไตรภพ เลขาธิการวุฒิสภา กับสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม โดยพันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ลงนามในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ และมีนายพีระพจน์ รัตนมาลี รองเลขาธิการวุฒิสภา พร้อมด้วยพันตำรวจโท มนตรี บุณยโยธิน รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ลงนามเป็นพยาน โดยมี นายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ในฐานะประธานกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา นายสุทนต์ กล้าการขาย สมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และผู้บริหารของสำนักงานกิจการยุติธรรม เข้าร่วมในพิธี

ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า วุฒิสภาเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติที่มุ่งปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย การที่วุฒิสภาจะได้รับการสนับสนุนผลงานวิชาการ งานวิจัย นวัตกรรม และองค์ความรู้ในรูปแบบอื่น ๆ จากสำนักงานกิจการยุติธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานชั้นนำที่มีผลงานทางวิชาการและงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานในกระบวนการนิติบัญญัติของวุฒิสภา อีกทั้ง ยังเป็นการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการเพื่อให้ภารกิจด้านต่าง ๆ ของสมาชิกวุฒิสภา และคณะกรรมาธิการเป็นไปด้วยความละเอียด รอบคอบ และอยู่บนพื้นฐานของหลักคิดทางวิชาการมากขึ้น

โอกาสนี้ นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา และนายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ในฐานะประธานกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา ได้เยี่ยมชมนิทรรศการการดำเนินงานของสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม เช่น นิทรรศการการให้ความรู้กฎหมายต่าง ๆ การดำเนินงานศูนย์ปฏิบัติการฐานข้อมูลการบริหารงานยุติธรรม ฐานข้อมูลงานวิจัยในกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

รมว.ยุติธรรม เยี่ยมเรือนจำกลางชลบุรี ตรวจเยี่ยมกิจกรรมเยี่ยมญาติใกล้ชิดในช่วงเทศกาลปีใหม่ พร้อมส่งเสริมศักยภาพเพื่อคืนสู่สังคม

(22 ม.ค.68) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมและคณะผู้แทนจากหน่วยงานภายนอก นำโดย นาย ธนนท์ พรรพีภาส รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นำคณะเดินทางไปยังเรือนจำกลางชลบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินกิจกรรมเยี่ยมญาติใกล้ชิด ในช่วงเทศกาลวันปีใหม่ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 - 24 มกราคม 2568 เพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ต้องขังคืนสู่สังคม 

โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการฟื้นฟูผู้ต้องขัง ผ่านความสัมพันธ์จากสถาบันครอบครัว ที่ครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณค่า

ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง จากผู้ต้องขัง จำนวน 499 ราย และญาติที่เข้าเยี่ยมกว่า 1,550 ราย

‘สว.’ ลุกลี้ลุกลน!! ล้ำหน้า ถึงขั้นจะถอดถอน ‘พ.ต.อ.ทวี’ รัฐมนตรียุติธรรม หลัง ‘ดีเอสไอ’ จ่อรับเป็นคดีพิเศษ จากการถูกร้องเรียน ‘ฮั้ว’ จัดทำโพย

(22 ก.พ. 68) สว.ออกอาการลุกลี้ลุกลนเกินเหตุ ล้ำหน้าถึงขั้นจะถอดถอนรัฐมนตรียุติธรรม โดยไม่ได้ดูข้อเท็จจริงการได้มาของตัวเอง

ลุกลี้ลุกลนเกิน สว.ชุดน้ำเงิน หลังดีเอสไอ จ่อรับไว้เป็นคดีพิเศษ จากการถูกร้องเรียน ‘ฮั้ว’ จัดทำโพย และผลการเลือกเป็นไปตามโพย 138 คน จาก 140 คน ติดสำรองอยู่อีก 2 คน

ลุกลี้ลุกลน เพราะเมื่อข่าวจาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และอธิบดีดีเอสไอออกมาว่า จะขอรับทำเป็นคดีพิเศษ สมาชิกวุฒิสภาสายน้ำเงินที่กำลังจัดสัมมนากันอยู่ที่หวดสวนสน หัวหิน กลางคืนร้องรำทำเพลงกันสนุกสนาน แต่พอมีข่าวดีเอสไอจะรับทำเป็นคดีพิเศษ รีบแจ้งกำหนดการแถลงข่าวโต้ดีเอสไอทันทีในเวลา 10.00 น.

เดิมให้ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา แถลงเพียงคนเดียว แต่พอเช้าขึ้นมาถึงเวลาแถลงข่าวตามนัด สว.เดินมายืนเรียงหน้ากันเต็มหมด รวมถึงมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภาด้วย เข้าใจว่าได้มีการประเมินสถานการณ์แล้ว ‘ค่อนข้างแรง’ ต้องตั้งการ์ดดี ๆ กับข้อกล่าวหาหนัก ‘อั้งยี่-ซ่องโจร’ อันเป็นคดีอาญา ไม่ใช่คดีผิด พรป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาอย่างเดียวแล้ว สมาชิกวุฒิสภากะเล่นหนักถึงขั้นถอดถอนรัฐมนตรียุติธรรม

สำหรับเนื้อหาในหนังสือลับด่วนที่สุด ซึ่งดีเอสไอแจ้งไปยัง กกต. ระบุว่า การสืบสวนปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีขบวนการจัดตั้งให้ได้มาซึ่ง สว. มีการวางแผนให้มีผู้สมัครระดับอำเภอ กลุ่มละ 5 คน รวม 100 คน ในระดับอำเภอ 928 อำเภอ ค่าตอบแทนระดับอำเภอ 5,000 บาท ระดับจังหวัด 10,000 บาท ระดับประเทศ 4 หมื่นถึง 1 แสนบาท และถ้าได้ สว.มากกว่า 120 คน จะได้เพิ่มจำนวน 100,000 บาท

หลังจากวันที่ 16 มิ.ย.67 ภายหลังผ่านการคัดเลือกระดับจังหวัด ขบวนการได้นัดหมายผู้สมัครระดับประเทศ ไปจัดทำโพยฮั้ว สว. ในพื้นที่ 3 จังหวัด มีการจ่ายมัดจำ 2 หมื่นบาท ส่วนที่เหลือจะได้รับหลังการรับรองผลการสืบสวนยังพบโพยฮั้ว สว. มีหมายเลข จำนวน 2 ชุด กลุ่มละ 7 คน รวม 140 คน โดยพบผู้สมัครอยู่ในขบวนการประมาณ 1,200 คน สำหรับโพยฮั้ว 2 ชุด พบว่าเป็นผู้ได้รับเลือก 138 คน และอยู่ในลำดับสำรอง 2 คน

ดีเอสไอประสงค์ที่จะรับดำเนินการสอบสวนในส่วนที่พบการกระทำผิดทางอาญาไว้ดำเนินการ เนื่องจากกลุ่มขบวนการมีการวางแผนที่สลับซับซ้อน กระทำการอุกอาจมิได้เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลที่ยังไม่ได้พิสูจน์ทราบอีกจำนวนมาก จำเป็นต้องใช้วิธีการรวบรวมหลักฐานเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบร่องรอยการติดต่อสื่อสาร เส้นทางการเงิน สถานที่จัดประชุม วางแผน สถานที่พบปะติดต่อ พิสูจน์ทราบกลุ่มบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอที ที่เข้ามาร่วมสนับสนุนการ กระทำความผิดของกลุ่มขบวนการ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีความพร้อมด้านบุคลากร และเครื่องมือทางด้าน เทคโนโลยีที่จะใช้ในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ทราบเครือข่าย และองคาพยพของกลุ่มขบวนการทั้งหมด นอกจากนี้ พยานสำคัญอาจจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการให้ความคุ้มครองพยาน เพราะเหตุที่พยาน อาจเกรงกลัวต่ออันตรายแก่ชีวิตร่างกาย

ประเด็นคือ สมาชิกวุฒิสภา ควรจะได้พิจารณาข้อเท็จจริงให้แจ่มชัดว่า ข้อกล่าวหาเป็นอย่างไร ผิดกฎหมายไหนบ้าง แล้วพิจารณาข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงว่า มีฮั้วจริงไหม มีโพยให้เลือกจริงหรือไม่ นัดไปรวมพลกันสามจังหวัดเพื่อรับโพย และซักซ้อมกันจริงหรือไม่ รับเสื้อสีเหลือง นั่งรถตู้มาด้วยกันจริงหรือไม่

แต่สมาชิกวุฒิสภาชุดสวนสนกลับรีบลุกขึ้นมาตอบโต้ และชี้ไปด้วยว่าดีเอสไอไม่มีอำนาจทำคดีนี้ ซึ่งอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าดีเอสไอจะรับส่วนไหนไปทำ แต่กลับออกอาการเกินเหตุ จริงๆ ก็แค่ยุงรำคาญตอนหัวค่ำ แต่กลับ ยิงสลุตออกไปถึงขั้นจะยื่นถอดถอนรัฐมนตรีทวี สอดส่อง มันล้ำหน้านะ

‘ก.ยุติธรรม’ จับมือ ‘พันธมิตรจีน’ จัด ‘สัมมนาด้านกฎหมายฯ’ ผลักดันความร่วมมือทางกฎหมายมิติใหม่ ระหว่าง 2 ประเทศ

เมื่อวันที่ (27 มี.ค. 68) กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ สมาคมการค้าวิสาหกิจจีน-ไทย บริษัทสำนักงานกฎหมาย ดีทีแอล จำกัด และสมาคมพันธมิตรกฎหมายไทย-จีน จัดสัมมนาความร่วมมือด้านกฎหมายไทย-จีน ฉลอง 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน เพื่อผลักดันความร่วมมือทางกฎหมายระหว่างสองประเทศให้เกิดมิติใหม่ในการสร้างโอกาสและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อวิสาหกิจจีนและไทย ในการร่วมมือกันขยายการลงทุนและสร้างมิตรภาพทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือทางกฎหมายระหว่างไทยและจีน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนของทั้งสองประเทศ เนื่องในปีนี้เป็นวาระครบรอบ 50 ปีแห่งความสัมพันธ์ไทย-จีน จึงผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างกระทรวงยุติธรรมและองค์กรภาคธุรกิจของจีน จัดงาน ‘สัมมนาความร่วมมือด้านกฎหมายไทย-จีน ฉลอง 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน’ เพื่อเสริมสร้างโอกาสใหม่ในการร่วมมือกันในด้านกฎหมาย สนับสนุนการลงทุน และสร้างแนวทางที่เป็นธรรมสำหรับนักลงทุนจีนและไทย 

นายสื่อ ต้าถัว ประธานสมาคมพันธมิตรกฎหมายไทย-จีน และประธานบริษัท สำนักงานกฎหมาย ดีทีแอล จำกัด เปิดเผยว่า ประเทศไทยและจีนมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากันมาอย่างยาวนาน ซึ่งนับเป็นเวลา 50 ปีแห่งความร่วมมือในหลากหลายมิติ รวมถึงการขยายการลงทุนที่ช่วยเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจให้กับทั้งสองประเทศ

การสัมมนาครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือช่วยเหลือให้การทำธุรกิจของวิสาหกิจจีนในประเทศไทยเป็นไปอย่างราบรื่น โดยให้ความสำคัญกับการระงับข้อพิพาททางเลือกเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหา เช่น การประนอมข้อพิพาท ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินธุรกิจของจีนและไทยเป็นไปอย่างสันติและยั่งยืน

ภายในงานยังมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสถาบันอนุญาโตตุลาการของไทย กับ สถาบันอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนครกวางโจว ประเทศจีน และบริษัท สำนักงานกฎหมาย ดีทีแอล จำกัด และระหว่างสมาคมการค้าวิสาหกิจจีน-ไทย กับ ศูนย์ระงับข้อพิพาททางเลือกระหว่างประเทศไทย-จีน (TCIAC) เพื่อกระชับความร่วมมือในการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนในประเทศไทย และเผชิญปัญหาทางกฎหมายหรือข้อพิพาททางธุรกิจ 

นอกจากนี้ ยังมีการจัด Forum หัวข้อ ‘การแก้ไขข้อพิพาททางการค้าอย่างมีประสิทธิผลสำหรับวิสาหกิจจีนในประเทศไทย’ โดยมีตัวแทนจากภาคธุรกิจจีนและตัวแทนจากทนายเข้าร่วมให้มุมมองเชิงลึก พร้อมการบรรยายในหัวข้อ ‘กลยุทธ์การป้องกันและรับมือความเสี่ยงจากมาตรการการค้าของยุโรปและสหรัฐฯ สำหรับวิสาหกิจการผลิตจีนในประเทศไทย’ โดยตัวแทนจาก บริษัทสำนักงานกฎหมาย ดีทีแอล จำกัด และ ‘การไกล่เกลี่ยและการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ กลไกสันติวิธีเพื่อมิตรภาพไทย-จีน’ โดยรองผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ

การสัมมนาครั้งนี้ได้รับการตอบรับอย่างดี โดยมีวิสาหกิจจีนเข้าร่วมมากกว่า 300 ราย รวมถึงทนายความและนักกฎหมายจากทั้งประเทศไทยและจีนกว่า 100 ราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นและมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างเศรษฐกิจและธุรกิจของทั้งสองประเทศให้เติบโตไปพร้อมกันบนพื้นฐานของกฎหมายที่มั่นคงและเป็นธรรม เพื่อให้การลงทุนจีน-ไทยดำเนินไปได้อย่างยั่งยืนในอนาคต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top