Tuesday, 20 May 2025
กระทรวงพาณิชย์

'สุชาติ' หารือ 'ออสซี่' ชวนลงทุน EEC 'ด้านการศึกษา-พลังงานหมุน' พร้อมขอลดข้อจำกัด-อุปสรรคทางการค้า เอื้อสินค้าไทยไปออสเตรเลีย

(24 ก.ย. 67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานร่วมการประชุมยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1 กับผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านการค้าเครือรัฐออสเตรเลีย (นายทิม แอร์) ในวันที่ 23 กันยายน 2567 ณ กรุงเทพฯ โดยทั้งสองฝ่ายต่างยินดีที่การค้าไทยออสเตรเลียมีมูลค่าสูงสุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน พร้อมเดินหน้าขยายการค้าการลงทุน ยกระดับผู้ประกอบการให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะประเด็นการค้าใหม่ ๆ เช่น การค้าดิจิทัล และสิ่งแวดล้อม

นายสุชาติ กล่าวว่า ไทยได้ขอให้ออสเตรเลียร่วมมือกับไทยในหลากหลายด้านภายใต้วาระการดำเนินการของยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและออสเตรเลีย หรือ เซก้า ทั้งเรื่องการยกระดับการเกษตรไทยโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย การส่งเสริม Soft Power ของไทย การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพและการแพทย์ การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการดึงดูดการลงทุนออสเตรเลียเข้ามาในไทย การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และความร่วมมือด้านพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว ซึ่งถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่จะช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั้งหมดนี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและแนวทางผลักดันทางการค้าของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) ที่เน้นเรื่องการขยายการค้าการลงทุนกับประเทศคู่ค้า การเร่งเจรจาจัดทำ FTA และการยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการไทย

นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยได้ขอให้ออสเตรเลียร่วมมือในการลดข้อจำกัดและอุปสรรคทางการค้าเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกฎระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานในการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปยังออสเตรเลีย และขอให้ออสเตรเลียพิจารณาใช้มาตรการที่กำหนดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรถยนต์นำเข้าจากไทยไปยังออสเตรเลียอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เวลากับภาคอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไทยได้มีเวลาปรับตัว และเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในอุตสาหกรรมดังกล่าว

“ออสเตรเลียกับไทยมีความสัมพันธ์อย่างยาวนานกว่า 70 ปี ผมได้ขอให้ออสเตรเลียเข้ามาลงทุนใน EEC ทั้งด้านการศึกษาและพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งทั้งสองประเทศยังเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรหลัก จึงมีหารือในการส่งเสริมด้านการเกษตรทั้งใน WTO และในรูปแบบทวิภาคีด้วย” นายสุชาติกล่าว

ในส่วนของความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ออสเตรเลีย หรือ ทาฟต้า (TAFTA) มีส่วนสำคัญที่ทำให้การค้าสองฝ่ายเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 200 และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินการต่อไป ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ไทยและออสเตรเลียจึงได้ร่วมตัดเค้กเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จที่ FTA ไทย-ออสเตรเลีย (ทาฟต้า) จะครบรอบ 20 ปี ในวันที่ 1 มกราคม 2568 ด้วย

ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-กรกฎาคม) การค้าระหว่างไทยและออสเตรเลีย มีมูลค่า 10,827.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปออสเตรเลีย มูลค่า 7,234.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10.07 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และไทยนำเข้าจากออสเตรเลีย มูลค่า 3,593.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น

คึกคัก!! ‘รมช.นภินทร’ ขนทัพ ‘ผู้ประกอบการ SME ไทย 143 ราย’ ร่วมงาน CAEXPO @หนานหนิง นักช็อปจีนล้น ‘ไทยแลนด์ ฮอลล์’ คาดสร้างเม็ดเงินสะพัดกว่า 170 ล้านบาท

‘รมช.พณ.นภินทร’ ร่วมพิธีเปิดงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 21 (China-ASEAN EXPO: CAEXPO 2024) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-28 ก.ย.67 ณ นครหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับบรรดาผู้นำประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ พร้อมเปิด ‘Pavilion of City of Charm’ จังหวัดมนต์เสน่ห์ของไทย นำเสนอจังหวัดฉะเชิงเทรา ชวนจีนท่องเที่ยวไทย พร้อมนำผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SME 143 ราย บินลัดฟ้าสู่แดนมังกร ขายสินค้าในงานใหญ่ระดับอาเซียน วันแรกคนจีนและต่างชาติร่วมชม-ช็อปสินค้าไทยใน Thailand Hall อย่างล้นหลาม รวมถึงเจรจาจับคู่ธุรกิจ คาดเม็ดเงินสะพัดกว่า 170 ล้านบาท และจะเป็นโอกาสขยายตลาดสินค้าไทยมายังจีนและอาเซียน 

เมื่อวานนี้ (24 ก.ย. 67) ณ นครหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมพิธีเปิดงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 21 (China-ASEAN EXPO: CAEXPO 2024) และเป็นประธานเปิด Pavilion of City of Charm จังหวัดมนต์เสน่ห์ของไทย ภายใน CAEXPO ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมระหว่างประเทศหนานหนิง พร้อมกับเยี่ยมชมบูธผู้ประกอบการไทยจำนวน 143 ราย ที่มาจัดแสดงสินค้าในงานดังกล่าว พร้อมกับเปิดเผยว่า…

“สำหรับวันนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SME ที่มีสินค้าไทยที่เป็นเอกลักษณ์มาจัดแสดงในงาน CAEXPO ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าระดับภูมิภาคอาเซียน ที่ถือเป็นงานใหญ่ที่ผู้ประกอบการรอคอยที่จะมาร่วมงานนี้ โดยงานนี้จัดขึ้นต่อเนื่องมาถึงปีที่ 21 แล้ว และกระทรวงพาณิชย์ได้เชิญผู้ประกอบการเข้าร่วมทุกปี และผลที่ผ่านมาได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง สำหรับในปีนี้ มีการจัดงานแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 

1) Pavilion of Commodity Trade ที่ได้นำผู้ประกอบการไทย 143 คูหา เข้าร่วม ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม แฟชั่นและเครื่องประดับ สุขภาพและความงาม ของใช้และของตกแต่งบ้าน และคูหาร้าน TOP THAI บนแพลตฟอร์ม JD.com 

นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศ จัดแสดงสินค้าข้าวของไทย และยังมีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คัดเลือกสินค้าที่มีดีไซน์เข้าร่วมงานด้วย 

2) Pavilion of Cities of Charm กระทรวงได้เลือกจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดมนต์เสน่ห์ของไทยด้านเมืองท่องเที่ยว เมืองน่าอยู่ เมืองลงทุนที่เชื่อมต่อกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงนำเสนอสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบางคล้าและมะพร้าวน้ำหอมบางคล้า พร้อมด้วยบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอีกด้วย”

นอกจากนี้ สินค้าไทยที่เราคัดเลือกนำมาแสดงในงาน ล้วนเป็นที่นิยมของคนต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีน อย่างเช่น ชุดเครื่องแกง ไอศกรีมผลไม้แช่เย็น ทองม้วนรสมะพร้าวและทุเรียน ลูกประคบสมุนไพรและสมุนไพรสปา น้ำมันเหลืองสมุนไพรและยาหม่อง เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทองและเงิน โคมไฟและกระเป๋าผลิตจากใบไม้ หมอนยางพารา และภาพแกะสลัก เป็นต้น 

“สำหรับงานในวันแรกวันนี้ถือว่าคึกคักเป็นอย่างมาก ในพื้นที่จัดแสดงของประเทศไทยมีคนจีนเข้ามาเลือกซื้อสินค้า และจับมือเจรจาธุรกิจ ในการนำเข้าสินค้าไทยมายังประเทศจีน ซึ่งถือว่านี่คือความสำเร็จของผู้ประกอบการไทยที่พัฒนาสินค้าของตนให้ตอบโจทย์และเป็นที่นิยมของลูกค้าในตลาดใหญ่อย่างจีน ผมขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SME และเชื่อว่าสินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการตลาดใหญ่ในประเทศอาเซียนอีกด้วย” นายนภินทรฯ กล่าว

สำหรับ The 21st CAEXPO จัดระหว่างวันที่ 24-28 กันยายน 2567 งานแสดงสินค้า CAEXPO เป็นมหกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติที่กระทรวงพาณิชย์จีน กลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ และ ASEAN Secretariat เป็นงานแสดงสินค้าที่รัฐบาลจีนและกลุ่มประเทศอาเซียนให้ความสำคัญและจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคอาเซียนและจีนทั้งด้านการค้าการลงทุน การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ภายใต้วัตถุประสงค์ของเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน (CAFTA)

‘สุชาติ’ มอบตรา ‘Thai SELECT’ แก่ร้านอาหารไทยในเกาหลีใต้ ส่งเสริมการรับรู้-ยกระดับภาพลักษณ์ ‘อาหารไทย’ ในต่างประเทศ

(25 ก.ย. 67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังมอบตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ณ กรุงโซล ให้แก่ร้านอาหารไทย 4 แห่งในเกาหลีใต้โดยมี Mr.Stanley Park ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์การค้าระหว่างประเทศ และ น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมด้วย ว่า…

กระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกตามนโยบายรัฐบาล และผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของไทยผ่านอาหารไทยและร้าน Thai SELECT ซึ่งจะช่วยยกระดับภาพลักษณ์และขยายการรับรู้ในตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ของกลุ่มผู้บริโภคในตลาดเกาหลีใต้ ภายใต้นโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ในเรื่องของแผนงาน ‘อาหารไทย อาหารโลก’ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการกระตุ้นการบริโภคอาหารไทยในต่างประเทศผ่านตราสัญลักษณ์ Thai SELECT เพื่อยกระดับการให้บริการอาหารไทยของร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ส่งเสริมให้ร้านอาหารไทย สร้างมูลค่าให้แก่อาหารไทยสู่ผู้บริโภคที่มีอยู่ทั่วโลก อันเป็นการส่งเสริมธุรกิจบริการร้านอาหารไทยและยกระดับอาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง 

โดยได้มอบให้แก่ ร้านอาหารไทย 4 แห่ง ในเกาหลีใต้ ได้แก่ 
1) ร้านครัวไทย (Krua Thai) 
2) ร้านเลมอนกราส ไทย สาขา Isu (Lemongrass Thai) 
3) ร้านนานา แบงคอก (Nana Bangkok) 
4) ร้านสุขุมวิท 19 (Sukhumvit 19) 

นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหารไทยที่เคยได้รับ Thai SELECT แล้วอีก 3 ร้านได้แก่ ร้าน คนไทย ร้าน ครับผม และร้าน สยาม มาร่วมในการมอบตราสัญลักษณ์ด้วย

ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ที่มอบให้แก่ร้านอาหารไทยในต่างประเทศมี 3 ประเภท ตามเกณฑ์รูปแบบของร้าน การตกแต่งร้าน คุณภาพของอาหารและการบริการ คือ

1. Thai SELECT Signature มอบให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่ให้บริการอาหารไทยแท้คุณภาพยอดเยี่ยม มีการตกแต่งร้านสวยงาม และการให้บริการที่เป็นเลิศ เป็นร้านที่มีความโดดเด่นในภาพลักษณ์และเอกลักษณ์ของอาหารไทย

2. Thai SELECT Classic มอบให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่ให้บริการอาหารรสชาติตามมาตรฐานอาหารไทย คุณภาพอาหารรวมถึงการให้บริการและการตกแต่งร้านในระดับที่ดี

3. Thai SELECT Casual มอบให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่ให้บริการอาหารที่มีรสชาติไทย แต่มีข้อจำกัดในด้านบริการ (Limited Service Restaurant) หรือเป็นร้านที่มีขนาดเล็ก และ/หรือมีความเรียบง่าย ให้ความรู้สึกสะดวกสบายในการใช้บริการ เช่น ร้านอาหารไทยในฟู้ดคอร์ท ร้าน Fast Food ร้านอาหารที่มีที่นั่งจำกัดหรือไม่มีที่นั่งหน้าร้าน Food Truck หรือเป็นร้านอาหารไทยที่มีเมนูไม่มากแต่ล้วน เป็นอาหารไทยที่มีรสชาติตามต้นตำรับไทย หรือเป็นร้านที่ให้บริการอาหารไทยแนว Street Food เป็นต้น

ปัจจุบัน มีร้านอาหารไทยถึง 320 แห่งในเกาหลีใต้ โดยเป็นร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT จำนวน 50 แห่ง เป็นร้านอาหารแบบ signature 9 ร้าน แบบ classic 37 ร้าน และแบบ casual 4 ร้าน ซึ่ง สคต. ณ กรุงโซล ตั้งเป้าที่จะขยายจำนวนร้านอาหาร Thai SELECT ให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคในร้านอาหาร Thai SELECT อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเชิญ Influencers ที่เป็นที่รู้จักในเกาหลีใต้ มารับประทานอาหารที่ร้านอาหารไทยเพื่อสร้างกระแสความนิยมในอาหารไทยมากยิ่งขึ้น

รมช.พณ. ได้เน้นย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลไทยที่มุ่งส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งอาหารไทยเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ศักยภาพของไทย และการมอบตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ให้กับร้านอาหารไทยโดยกระทรวงพาณิชย์ เป็นการการันตีคุณภาพและมาตรฐานของการประกอบกิจการอาหารไทย รวมถึงเป็นการส่งเสริมการส่งออกวัตถุดิบและเครื่องปรุงไทยไปยังต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งหากร้านอาหารไทยมีความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น ก็อาจจะส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานพ่อครัว/แม่ครัวไทยมากขึ้นเช่นกัน 

ดังนั้น รมช.พณ. จึงเห็นว่า อาหารไทยและร้านอาหารไทยเปรียบเสมือนทูตวัฒนธรรมที่ทำให้คนเกาหลีใต้ ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเกาหลีใต้ได้ลิ้มลองและสัมผัสความเป็นไทย วิถีชีวิต และวัฒนธรรมต่าง ๆ ของไทยอีกด้วย ดังนั้น จึงขอฝากให้ร้านอาหารไทยทั้งที่ได้รับรางวัล Thai SELECT และร้านที่ยังไม่ได้รับในเกาหลีใต้คงรักษามาตรฐานและความเป็นอัตลักษณ์ของอาหารไทยไว้ต่อไป เพื่อให้ร้านอาหารไทยเป็นที่แพร่หลายและนิยมไปทั่วโลก

'พิชัย' จับมือ 'ทูตจีน' พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ปลดล็อคความกังวลสินค้าออนไลน์จีนเข้าไทย พร้อมยกระดับ การค้า-ลงทุน-ท่องเที่ยวไทย ทุกด้านเต็มที่

(26 ก.ย.67) เวลา 9.30 น. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภายหลัง 'การประชุมหารือแนวทางการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุน ไทย-จีน' ณ ห้องประชุมกิติยากรณ์วรลักษณ์ ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยและคณะ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนของสองประเทศ

นายพิชัย กล่าวว่า ประเด็นความกังวลเรื่องสินค้าจีนเข้าไทยตนได้อภิปรายในสภาว่าไม่อยากให้รู้สึกว่าจีนเป็นผู้ร้าย หลังอภิปรายในสภาตนได้ติดต่อกับทางสถานทูตจีน ซึ่งทางจีนรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นและดีใจที่มีโอกาสได้พูดคุยกัน ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนที่ดีต่อกันมาโดยตลอด และต่อเนื่องในอนาคต จีนมีขนาดประชากรที่ใหญ่ นักเศรษฐศาสตร์คาดเศรษฐกิจจีนจะยิ่งโตมากขึ้น จึงต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์ของสองประเทศ

ด้าน นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาจีน ขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นคนแรกที่กล้าหาญมาพูดให้จีน ซึ่งตนเชื่อว่าไม่ควรปล่อยไว้ให้กระทบความสัมพันธ์ ได้พูดคุยเรื่องการค้าการลงทุนไทย และทางไทยขอให้ทางจีนนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มขึ้นเพื่อลดการขาดดุล ซึ่งในรายละเอียดการนำเข้าสินค้าจากจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุนที่เราเอาไปผลิตและขายต่อ เป็นสัดส่วนหลายแสนล้าน ซึ่งเราอยากเห็นการลงทุนจากจีนใน EEC มากขึ้น ขณะนี้ทางจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุดแซงญี่ปุ่น และได้เชิญชวนให้มาลงทุนในไทย โดยเฉพาะสินค้าประเภท เซมิคอนดักเตอร์ และ PCB(แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์) มากขึ้น จะเกิดการจ้างงานอีกเป็นจำนวนมาก ช่วยยกระดับรายได้คนไทย

และทางไทยได้หารือในการเปิดช่องทางให้สินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์ม e-Commerce จีนมากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีการจัดงาน International Live Commerce Expo 2024 'มหกรรมไลฟ์คอมเมิร์ซนานาชาติ 2567' ที่นำอินฟลูฯจีน มาไลฟ์ขายสินค้าไทย ที่สามย่านมิตรทาวน์ 25-29 ก.ย. นี้ เมื่อวานวันเดียวขายได้ถึง 320 ล้านบาท คาดว่าจะทะลุ 1,000 ล้านบาท เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงการค้าของโลก และไทยก็จะเพิ่มปริมาณอินฟลูฯในการขายสินค้ามากขึ้นเพื่อขายสินค้าไปจีน และได้หารือเรื่องการลงทุน และการท่องเที่ยวที่ผ่านมา 7-8 เดือนแรกปีนี้ มีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยแล้วถึง 5 ล้านคน คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีปริมาณถึง 8 ล้านคน เป็นรายได้หลักของไทย 

นอกจากนี้ได้ขอให้ทางจีนช่วยรับซื้อสินค้าเกษตรจากไทยเพราะประชากรจีนเยอะสามารถรองรับสินค้าเกษตรจากไทยได้มาก ซึ่งทางจีนยินดี อยากให้ทางจีนช่วยพัฒนาทรัพยากรบุคคลในไทยรองรับเทคโนโลยีด้วย และช่วยส่งเสริมนโยบายของรัฐเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ เช่น ภาพยนตร์ ล่าสุดเรื่อง หลานม่า ที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน

“ไทยและจีน มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ถ้าเรามีช่องทางที่ดีเค้ายินดีให้ความร่วมมือ อยากมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และกับทุกประเทศที่เข้ามา เราจะมีมาตรฐานในการตรวจสอบสินค้า ทั้ง มอก. อย. ซึ่งจะใช้บังคับกับทุกประเทศไม่ใช่เฉพาะจีน ทางจีนยินดีทำตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อดูแลสุขภาพความปลอดภัยของประชาชนคนไทย” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ เราได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ให้ความร่วมมือระหว่างไทย-จีนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ให้มีความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้น จีนจะเปิดให้ SMEs ไทยไปขายของผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีนมากขึ้น เป็นโอกาสของไทยที่จะขยายการส่งออกไปยังจีน ให้ SMEs ไทยมีโอกาสเติบโตมากขึ้น  หวังว่าการพบกันครั้งนี้จะนำไปสู่ความรุ่งเรืองระหว่างไทยและจีนขยายยิ่งขึ้นในอนาคต

ด้านนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้ประชาชนชาวไทยมองเห็นได้ว่าความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างจีนกับไทย จะนำมาซึ่งโอกาสการพัฒนาให้กับคนไทย ช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยให้ดีขึ้น ซึ่งจีนยินดีที่จะแบ่งปันโอกาสการพัฒนาและผลประโยชน์ให้กับคนไทย ยินดีให้ไทยใช้แพลตฟอร์มต่างๆไปจำหน่ายสินค้าไทย

ที่สื่อมวลชนได้เสนอข่าวในเชิงลบเกี่ยวกับการค้าการลงทุนระหว่างจีนกับไทย ทางจีนกับไทยเราให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก พยายามหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสม หามาตรการมาควบคุมจัดการ ไม่อยากให้ไปเหมารวมความร่วมมือการค้าการลงทุนในเชิงลบ ทำลายผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ และขอชื่นชมรัฐบาลไทยและกระทรวงพาณิชย์ที่มีท่าทีถูกต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา คำนึงภาพรวมการค้าการลงทุนระหว่างไทยและจีน

เมื่อถามว่า เรื่อง TEMU เป็นอย่างไรบ้าง นายหาน จื้อเฉียง กล่าวว่า สำหรับบริษัท TEMU ได้รับทราบกฎระเบียบและข้อร้องต่างๆ ทาง TEMU กำลังประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องของไทย เพื่อปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของฝ่ายไทย และกำลังจัดตั้งบริษัทและลงทะเบียนอย่างเป็นทางการที่ไทย ยินดีให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้มีความเข้มงวดในการตรวจสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศบังคับใช้ใช้กฎหมายในการควบคุมให้ถูกต้องตามมาตรฐานและกฎหมายของไทย

'ทูตจีน' แจง TEMU กำลังจดทะเบียนจัดตั้งในไทยอย่างเป็นทางการ วอนเชื่อมั่น!! จีนไม่นิ่งเฉย เพื่อความร่วมมือการค้า 'ไทย-จีน' เชิงบวก

เมื่อวานนี้ (26 ก.ย. 67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า ได้ร่วมหารือกับนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย และคณะ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์เพื่อหาแนวทางการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุน ไทย-จีน

โดยได้มีการหารือถึงความกังวลในเรื่องของสินค้าจีน ที่ทะลักเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ซึ่งทางจีนรับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกับดีใจที่มีโอกาสได้พูดคุยหารือกัน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ควรปล่อยไว้ให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ตนได้อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรว่าไม่อยากให้รู้สึกว่าจีนเป็นผู้ร้าย และหลังการอภิปราย ตนได้ติดต่อกับทางสถานทูตจีน

ตนได้ติดต่อกับทางสถานทูตจีน ซึ่งจีนรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น และดีใจที่มีโอกาสได้พูดคุยกัน เพื่อหาทางออก และหาทางขยายความร่วมมือทางการค้า และการลงทุนระหว่างกันให้ได้เพิ่มขึ้น เพราะไทย และจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาโดยตลอด และจะต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจากจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ นักเศรษฐศาสตร์จีนเองก็คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะยิ่งโตมากขึ้น ไทยจึงต้องร่วมมือกับจีนอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์ของสองประเทศ

“ไม่อยากให้รู้สึกว่าจีนเป็นผู้ร้าย ซึ่งไทย และจีน มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ถ้าเรามีช่องทางที่ดีเขายินดีให้ความร่วมมือ อยากมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และกับทุกประเทศที่เข้ามา เราจะมีมาตรฐานในการตรวจสอบสินค้า ทั้ง มอก. / อย. ซึ่งจะใช้บังคับกับทุกประเทศไม่ใช่เฉพาะจีน ทางจีนยินดีทำตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อดูแลสุขภาพความปลอดภัยของประชาชนคนไทย” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ยังขอให้ทางจีนนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มขึ้นเพื่อลดการขาดดุล ซึ่งในรายละเอียดการนำเข้าสินค้าจากจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุนที่เราเอาไปผลิต และขายต่อ เป็นสัดส่วนหลายแสนล้าน ซึ่งเราอยากเห็นการลงทุนจากจีนใน EEC มากขึ้น ขณะนี้ทางจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุดแซงญี่ปุ่น และได้เชิญชวนให้มาลงทุนในไทย โดยเฉพาะสินค้าประเภท เซมิคอนดักเตอร์ และ PCB (แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์) มากขึ้น จะเกิดการจ้างงานอีกเป็นจำนวนมาก ช่วยยกระดับรายได้คนไทย

รวมทั้งขอให้จีนเปิดช่องทางให้สินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์ม e-Commerce จีนมากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีการจัดงาน International Live Commerce Expo 2024 ‘มหกรรมไลฟ์คอมเมิร์ซนานาชาติ 2567’ ที่นำอินฟลูฯ จีน มาไลฟ์ขายสินค้าไทย ที่สามย่านมิตรทาวน์ 25 - 29 ก.ย.67 นี้ เมื่อวานวันเดียวขายได้ถึง 320 ล้านบาท คาดว่าจะทะลุ 1,000 ล้านบาท เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงการค้าของโลก และไทยก็จะเพิ่มปริมาณอินฟลูฯ ในการขายสินค้ามากขึ้น เพื่อขายสินค้าไปจีน และได้หารือเรื่องการลงทุน และการท่องเที่ยวที่ผ่านมา 7-8 เดือนแรกปีนี้ มีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยแล้วถึง 5 ล้านคน คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีปริมาณถึง 8 ล้านคน เป็นรายได้หลักของไทย

นอกจากนี้ได้ขอให้ทางจีนช่วยรับซื้อสินค้าเกษตรจากไทย เพราะประชากรจีนเยอะสามารถรองรับสินค้าเกษตรจากไทยได้มาก ซึ่งทางจีนยินดี อยากให้ทางจีนช่วยพัฒนาทรัพยากรบุคคลในไทยรองรับเทคโนโลยีด้วย และช่วยส่งเสริมนโยบายของรัฐเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ เช่น ภาพยนตร์ ล่าสุดเรื่อง หลานม่า ที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างไทย และจีน

นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้ประชาชนชาวไทยมองเห็นได้ว่าความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างจีนกับไทย จะนำมาซึ่งโอกาสการพัฒนาให้กับคนไทย ช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยให้ดีขึ้น ซึ่งจีนยินดีที่จะแบ่งปันโอกาสการพัฒนา และผลประโยชน์ให้กับคนไทย ยินดีให้ไทยใช้แพลตฟอร์มต่างๆ ไปจำหน่ายสินค้าไทย

เรื่องการค้าการลงทุนระหว่างจีนกับไทย ทางจีนกับไทยเราให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก พยายามหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสม หามาตรการมาควบคุมจัดการ ไม่อยากให้ไปเหมารวมความร่วมมือการค้าการลงทุนในเชิงลบ ทำลายผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ และขอชื่นชมรัฐบาลไทย และกระทรวงพาณิชย์ที่มีท่าทีถูกต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา คำนึงภาพรวมการค้าการลงทุนระหว่างไทยและจีน

ส่วนแพลตฟอร์มออนไลน์ TEMU นั้น ขณะนี้ บริษัท TEMU ได้รับทราบกฎระเบียบ และข้อร้องต่าง ๆ ทาง TEMU กำลังประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องของไทย เพื่อปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของฝ่ายไทย และกำลังจัดตั้งบริษัท และลงทะเบียนอย่างเป็นทางการที่ไทย ยินดีให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้มีความเข้มงวดในการตรวจสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมให้ถูกต้องตามมาตรฐาน และกฎหมายของไทย

'พาณิชย์' ขานรับนโยบาย 'นายกฯ' ชูไทยเป็นคลังอาหารของกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เสริมความมั่นคงทางอาหารโลก (Food Security) พร้อม ‘ผลิตสินค้า-เก็บรักษา-ส่งทันที 24 ชม.’ 

'นายพิชัย นริพทะพันธุ์' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุม ACD summit ครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แสดงบทบาทผู้นำของประเทศไทยอย่างยอดเยี่ยม และเป็นที่ชื่นชมของผู้นำต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งมีผู้นำหลายประเทศมาขอร่วมถ่ายภาพด้วย ล่าสุดติดอันดับ 100 ผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคตของนิตยสาร TIME ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์ โดยเสนอว่าในภาวะที่ความไม่สงบและมีความผันผวนในบริเวณกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ที่อาจจะทวีความรุนแรงขึ้นได้ จึงได้เสนอแนวคิดความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) 

โดยประเทศไทยจะเสนอเป็นประเทศที่จะผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย อีกทั้งเก็บรักษาพร้อมส่งมอบให้กับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางทันทีภายใน 24 ชม. หากมีความรุนแรงและความขาดแคลนในอาหารในกลุ่มประเทศดังกล่าว ซึ่งสามารถทำให้มั่นใจได้ว่าประชาชนในกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางจะไม่ขาดแคลนอาหาร ซึ่งทำให้ประเทศต่างๆให้ความสนใจอย่างมาก เช่น UAE,  Qatar, Kuwait, Oman เป็นต้น โดยประเทศไทยจะสามารถขายสินค้าเกษตร และ อาหารสำเร็จรูปพร้อมทานและเก็บรักษาในประเทศไทยพร้อมส่งมอบทันทีให้กับประเทศในตะวันออกกลาง

รมว.พาณิชย์ กล่าวต่อไปว่า ท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์​ สานต่อความร่วมมือด้านการสร้างคลังอาหารกับกลุ่มประเทศตะวันออกกลางเพื่อรับมือกับความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ต่อไปให้สำเร็จ โดยตนได้มีโอกาสหารือกับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศโอมาน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและส่งเสริมโอกาสความร่วมมือการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งแสดงความพร้อมของไทยในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพเพื่อเป็นคลังอาหารให้แก่ทั้งสองประเทศเพื่อเสริมความมั่นคงทางอาหาร

นอกจากนี้นายพิชัย ได้หารือกับดร.ธานี บินอาเหม็ด อัลเซ ยูดี (Dr. Thani Bin Ahmed Al Zeyoudi) รัฐมนตรีแห่งรัฐประจำกระทรวงเศรษฐกิจสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยกล่าวว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทยในตะวันออกกลาง และไทยได้แสดงความพร้อมและศักยภาพที่จะเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารให้กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จึงได้เชิญชวนมาลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรของไทย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังแสดงเจตนารมน์ที่จะสรุปผลการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ยูเออี ในโอกาสแรก

โดย รมว.พาณิชย์ ยังได้หารือกับ ดร. ซาอิด โมฮัมเหม็ด (Dr. Said Mohammed Al-Saqri) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจโอมาน เพื่อพูดคุยหารือแนวทางการขยายการค้าระหว่างกัน ทางฝ่ายโอมานได้ชื่นชมพัฒนาการด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและการนำ AI มาใช้ในภาคธุรกิจของไทย และเห็นว่าสองฝ่ายควรร่วมมือกันเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยฝ่ายโอมานแสดงความสนใจต่อบทบาทการเป็นคลังอาหารให้แก่โอมาน พร้อมทั้งเชิญชวนโอมานเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ฝ่ายโอมานแสดงความประสงค์ที่จะจัดทำความตกลงคุ้มครองการลงทุนระหว่างกันเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการลงทุนอีกด้วย 

“กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของท่านนายกฯ ซึ่งได้เชิญชวน และแสดงความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นคลังอาหารให้กับประเทศตะวันออกกลาง โดยในการหารือทวิภาคีวงต่าง ๆ ระหว่างผมกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ก็ได้เน้นย้ำถึงศักยภาพของไทยในการผลิตอาหารและการมีสินค้าฮาลาลคุณภาพสูง โดยประเทศต่าง ๆ มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย และใช้ไทยเป็นคลังอาหารเพื่อจัดหาและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังประเทศในตะวันออกกลาง เพื่อเสริมความมั่นคงทางอาหาร” นายพิชัยกล่าว

'พิชัย' ย้ำ ความสำเร็จ 'นายกแพทองธาร' บนเวทีผู้นำอาเซียน สร้างโอกาสทอง การค้า-การลงทุนให้ประเทศ 

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2567 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่า “การประชุมอาเซียนครั้งนี้ ตนถือว่าเป็นความสำเร็จของประเทศไทยบนเวทีโลกอีกครั้งหนึ่งต่อจากการประชุม ACD summit ที่กาตาร์ซึ่งตนได้มีโอกาสร่วมคณะผู้แทนไทยที่นำโดยนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ตลอดระยะเวลา 3 วันที่ผ่านมา ในการประชุมอาเซียน ท่านนายกฯ ได้เข้าร่วมการประชุมกว่า 20 วาระ โดยเริ่มต้นตั้งแต่การเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 ในวันที่ 9 ตุลาคม 67 ต่อด้วยการเปิดเวทีประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 ซึ่งเป็นเวทีสำคัญของผู้นำประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำและทิศทางนโยบายของประเทศไทยที่ชัดเจน ในการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจระหว่างกันในมิติต่างๆ ในฐานะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนล้วนเป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ถือเป็นการเปิดโอกาสการเจรจาการค้าการลงทุนต่างๆ อย่างดีเยี่ยม และได้รับความสนใจจากผู้นำประเทศต่างๆ เป็นอย่างมาก”

รมว.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า นอกจากการประชุมสุดยอดอาเซียนแล้ว นายกรัฐมนตรีแพทองธารฯ ยังได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมสำคัญอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประชุมอาเซียน-จีน อาเซียน-เกาหลี อาเซียน-ญี่ปุ่น รวมถึงอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ซึ่งการกล่าวแถลงของท่านนายกรัฐมนตรี ทำให้ในแต่ละเวทีการประชุมให้ความสำคัญในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่กระทบกับด้านเศรษฐกิจ ที่ท่านนายกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทุกประเทศเล็งเห็นถึงความตั้งใจจริงตรงนี้ และหากมีนโยบายการค้าการลงทุนที่สอดรับกัน ก็จะได้สานต่อให้สำเร็จต่อจากนี้

“ภายหลังการประชุม 3 เวทีใหญ่ มีประเทศต่างๆ ขอพบหารือทวิภาคี หรือการหารือสองฝ่าย อาทิ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ กัมพูชา บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม มาเลเซีย แคนาดา เกาหลีใต้ เป็นต้น จนเกิดการประชุมทวิภาคีมากถึง 12 ประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีแพทองธารฯ ให้ความสำคัญกับทุกการประชุม แม้จะกินเวลาช่วงพักเบรกก็ตาม นอกจากประเทศในกลุ่มอาเซียนแล้ว ยังมีประเทศมหาอำนาจ และประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์”

“นับว่าประเทศไทยเนื้อหอมจริงๆ ในการค้าการลงทุน เพราะมีหลายประเทศมารุมขอเข้าประชุม และประเทศอินเดียที่ให้การยอมรับท่านนายกอย่างมาก เนื่องจากเห็นถึงความมั่นคงและชัดเจนของนโยบายผู้นำประเทศไทย สำหรับญี่ปุ่นเอง ก็ยังมีการยืนยันที่จะร่วมลงทุนกับไทยในเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง และยังมีประเทศอื่นๆ ที่พร้อมจะเข้ามาลงทุนในไทยและขยายโอกาสทางการค้าร่วมกันยิ่งขึ้น ซึ่งผมถือว่าเป็นข่าวดีของประเทศไทยที่เกิดขึ้นจากการทำงานหนักของทีมไทยแลนด์ ของคณะผู้แทนไทยที่นำโดยท่านนายกแพทองธารฯ ซึ่งได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการเจรจาด้านการค้าการลงทุนในเวทีโลก หลังกลับจากกาตาร์ เราก็ได้ยินข่าวดีคือ กลุ่มทุนในประเทศตะวันออกกลางประกาศแผนลงทุนในศูนย์ข้อมูลดาต้าเซนเตอร์ในไทยกว่า 3.2 หมื่นล้าน และจะมีมาต่อเนื่อง ดังนั้น หลังกลับจากการประชุมอาเซียนครั้งนี้ ตนก็คิดว่าจะมีข่าวดีให้คนไทยได้ยินอีกหลายเรื่อง ” นายพิชัย กล่าว

นอกจากการประชุมที่โดดเด่นแล้ว นายกรัฐมนตรียังแสดงให้เห็นถึง Soft Power ที่โดดเด่น สวยงามของไทย โดยแต่งกายผ้าไทยที่สวยงามจนเป็นที่สะดุดตาของสื่อต่างชาติทำให้ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมาก และยังได้รับคำชื่นชมจากสื่อและประชาชนลาวที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี เห็นได้จากมีการติดตามนายกหญิงของไทยทุกวันที่เข้ามายังสถานที่ประชุม และบางเวลาที่รอประชุมต้องมีการต่อคิวถ่ายรูปกันเลยทีเดียว ซึ่งท่านนายกฯ ก็ให้โอกาสทุกคนได้ถ่ายภาพร่วมกันอย่างเป็นกันเอง 

‘นายกฯแพทองธาร’ คิกออฟแคมเปญ “ฟื้นฟูเศรษฐกิจ” ทั่วไทย ดึง “รายใหญ่” ช่วย “รายเล็ก” ลดต้นทุนผู้ค้า ลดค่าครองชีพประชาชน คาดกระตุ้นเม็ดเงินหมุนเวียนกว่าแสนล้าน

(16 ต.ค. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” บูรณาการหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนรายใหญ่ กว่า 130 ราย ช่วยลดรายจ่ายให้ผู้ประกอบการรายเล็ก และลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชน ต่อเนื่องตลอด 5 เดือนเต็ม รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะโครงการ “เงินหมื่น ฟื้นเศรษฐกิจ” ที่ได้เติมเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไปแล้วกว่า 145,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสร้างพายุหมุนเศรษฐกิจลูกใหญ่ เป็นการต่อลมหายใจและเพิ่มกำลังซื้อให้กับพี่น้องประชาชน รายเล็กที่กำลังเดือดร้อน ทำให้หลายคนได้ตั้งตัวใหม่จากโครงการนี้

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดมาตรการดังกล่าว และกระจายเม็ดเงินไปสู่ทุกภาคส่วนของประเทศ รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งเดินหน้า “โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” ต่อเนื่องทันที เพื่อช่วยเหลือประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านการดำรงชีวิตและการประกอบธุรกิจ โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน ลดต้นทุนทางธุรกิจและเพิ่มช่องทางค้าขายให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก อาทิ การลดค่าเช่าร้านค้า ค่าเช่าแผงตลาด ค่าขนส่งไปรษณีย์ การสนับสนุนพื้นที่จำหน่ายสินค้าบริเวณศาลากลางจังหวัด นิคมอุตสาหกรรม สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น รวมทั้งจับมือกับผู้ผลิตผู้ค้าส่งรายใหญ่ จัดโปรโมชันสินค้าอุปโภคบริโภคราคาพิเศษผ่านร้านค้าธงฟ้า ร้านค้าชุมชน และห้างท้องถิ่นกว่า 140,000 ร้านค้า และจัดมหกรรมลดราคาสินค้าในห้างค้าปลีก-ค้าส่ง ลดกระหน่ำทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถกระตุ้นเม็ดเงินหมุนเวียนได้มากกว่า 110,000 ล้านบาท

ด้าน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า วันนี้การฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นแนวทางของท่านนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร อยากเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้น ขอขอบคุณผู้ประกอบการรายใหญ่ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชนที่ด้อยโอกาสและที่ยังลำบาก รัฐบาลจะดูแลทุกภาคส่วน ที่ผ่านมามีการลงทุนใหญ่ๆเข้ามาเยอะ ปีที่แล้วมี PCB (แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์) เข้ามาถึง 150,000 ล้านบาท ปีนี้มีศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center เข้ามาแล้วถึง 160,000 ล้านบาท ยังไม่รวม Google อีก 30,000 ล้านบาท และ UAE อีก 30,000 ล้านบาท รวมเป็นกว่า 200,000 ล้านบาท และมีเรื่อง Food Security (ความมั่นคงทางอาหาร) กับประเทศต่างๆ ซึ่งการขับเคลื่อนเป็นไปได้ดี การที่ท่านนายกฯไปเยือนทั้งกาตาร์และลาว ได้หารือทวิภาคีกับหลายประเทศ ซึ่งทุกประเทศให้ความสนใจ ไทยกำลังเป็นประเทศที่รุ่ง มีสัญญาณการลงทุนต่างๆเข้ามา และเราก็ต้องดูแลประชาชนที่กำลังลำบาก ขอขอบคุณผู้ประกอบการทั้งหลายที่มาดูแลประชาชน ขายสินค้าให้ในราคาถูก และในประเทศจะมีโครงการอื่นๆเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนต่อไป“ นายพิชัยกล่าว

โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้นำร่องกิจกรรมภายใต้โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆไปแล้วตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา อาทิ ตลาดพาณิชย์ทั่วประเทศ เทศกาลกินเจ งาน International Live Commerce Expo 2024 เป็นต้น สำหรับเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า 110,000 ล้านบาท คาดการณ์มาจากกิจกรรมฟื้นฟูเศรษฐกิจ 3 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน ส่วนแรกประมาณ 78,700 ล้านบาท มาจากการกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มเปราะบางที่ได้รับเงินไปคนละ 10,000 บาท คาดว่ากลุ่มนี้จะนำเงินมาซื้อของที่จัดโปรโมชันลดราคา ภายใต้โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจประมาณ 54.1% ของเงินที่ได้รับไป โดยสัดส่วนนี้คิดมาจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ระบุว่า “ครัวเรือนรายได้ต่ำ จะนำเงินมาซื้ออาหารเครื่องดื่ม เครื่องใช้ภายในบ้าน และเครื่องแต่งกายคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 54.1% ของรายได้” 

ส่วนที่สองประมาณ 18,700 ล้านบาท มาจากการลดต้นทุนทางธุรกิจและสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก รวมทั้งการจัดกิจกรรมกระตุ้นเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์ อาทิ International Live Commerce Expo 2024 เทศกาลกินเจ เทศกาลลอยกระทง เทศกาลปีใหม่ ธงฟ้า และตลาดพาณิชย์ทั่วประเทศ เป็นต้น 

และส่วนที่สาม เป็นการจัดมหกรรมลดราคาสินค้าของห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง และการที่ผู้ผลิตรายใหญ่ลดราคาเพื่อช่วยลดค่าครองชีพและกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกประมาณ 14,400 ล้านบาท โดยคาดว่าเมื่อจบโครงการ จะสามารถกระตุ้นเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจได้ตามเป้า เป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มในทุกมิติและ ช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง

'นายกแพทองธาร' สั่งพาณิชย์ดึงทุกหน่วยงาน ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพและธุรกิจต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย เร่งเคาะนโยบาย-มาตรการเร่งด่วน ลดผลกระทบผู้บริโภค

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เนื่องจากการเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศ ทำให้สังคมมีความกังวลว่าผู้บริโภคในประเทศจะได้รับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งเข้ามาขายในประเทศผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ จนเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค และผู้ประกอบการ SME ของไทย โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ จะประกอบไปด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นรองประธานกรรมการ และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 

คณะกรรมการชุดดังกล่าว มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายและมาตรการที่จำเป็นเร่งด่วนเพื่อบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ในการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานจากต่างประเทศกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเบื้องต้นได้กำหนดเป็น 5 มาตรการหลัก 63 แผนปฏิบัติการ ได้แก่ 1.ให้หน่วยงานรัฐบังคับใช้ระเบียบ/กฎหมายอย่างเข้มข้น 2.ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าอนาคต 3.มาตรการด้านภาษี 4.มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ไทย และ 5. สร้าง/ต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ปัญหาสินค้านำเข้าสู่ตลาดที่ไม่ได้มาตรฐานและราคาต่ำ ในการป้องกันและกำกับดูแล ทั้งสินค้าและธุรกิจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายควบคู่กับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs และ e-Commerce ไทยปรับตัวได้ในโลกการค้ายุคใหม่ ควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุลระหว่างระเบียบการค้าโลก คำนึงถึงความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดของประชาชน

นายพิชัยกล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรี ห่วงใยต่อปัญหาสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานและธุรกิจต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน จึงได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เข้าไปช่วยแก้ปัญหา โดยขับเคลื่อนผ่านกลไกภายใต้คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อดำเนินการเชิงรุกในการติดตามและเร่งรัดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และตั้งเป้าให้มีความคืบหน้าอย่างชัดเจนภายใน 3 เดือนและนัดแรกจะจัดประชุมในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าภายใต้คณะกรรมการดังกล่าวเพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรคการดำเนินงาน พร้อมทั้งพิจารณามาตรการทั้งในการป้องกันและส่งเสริมเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป

ผู้สื่อข่าวระบุว่า เมื่อเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือร่วมกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุน ไทย-จีน และขยายความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งได้เร่งรัด TEMU จัดตั้งบริษัทในไทยโดยเร็ว และขอให้จีนช่วยกำกับดูแลมาตรฐานสินค้าส่งออกที่มีให้เข้มข้นและประชาสัมพันธ์ข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้านำเข้าของไทยให้แก่ผู้ประกอบการจีนด้วย ทั้งนี้ ทางการจีนยินดีให้ความร่วมมือกับไทยเต็มที่ เพื่อความสัมพันธ์อันดีของทั้ง 2 ประเทศ และยินดีสนับสนุนผู้ประกอบการไทย และSMEs เข้าไปเปิดตลาดขายสินค้าในจีน ทั้งผ่านงานแสดงสินค้าและช่องทางออนไลน์

น้ำมันพืชเตรียมพาเหรดขึ้นราคา น้ำมันปาล์มพรวด 10 บาท พาณิชย์ เด้งรับ งัดมาตรการงดส่งออกเพิ่มสต๊อกปาล์มในประเทศ

(31 ต.ค. 67) นายสมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันกำลังยังไม่ค่อยคึกคัก เนื่องจากคนมีรายได้เท่าเดิมและเริ่มใช้จ่ายประหยัดขึ้น ทำให้สินค้าที่เป็นของกินของใช้ในครัวเรือน เช่น กะปิ น้ำปลา ที่ไม่ใช่แบรนด์ใหญ่ และราคาไม่เกิน 10-20 บาท จะขายดี ส่วนความเคลื่อนไหวของราคาสินค้า ล่าสุดมีน้ำมันปาล์มขวดปรับราคาขายขึ้นอีก 10 บาทต่อขวดลิตร จากเดิมขายอยู่ที่ 40 กว่าบาท เป็น 50 กว่าบาทต่อขวดลิตร ซึ่งไม่ทราบสาเหตุเกิดจากอะไรถึงทำให้ราคาปรับขึ้นแรง

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด จ.อุดรธานี กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันถั่วเหลืองยี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่ง จะปรับราคาขายขึ้นอีก 1-2 บาทต่อขวด ภายในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เข้าใจว่าน่าจะเป็นผลมาจากน้ำมันปาล์มปรับราคาขายขึ้น จึงต้องขึ้นตาม

ทางสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจรายงานว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมัน ว่า ขณะนี้ผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดน้อยลง ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าไปดูแลให้เกิดความสมดุล เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาดี และผู้บริโภคไม่ต้องบริโภคน้ำมันปาล์มขวดแพงเกินไป โดยได้สั่งการให้กรมการค้าภายในไปพิจารณามาตรการดูแลปาล์มน้ำมัน โดยในระยะสั้น ไม่ให้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อให้มีสต็อกเพียงพอ และดูแลราคาน้ำมันปาล์มขวดให้เหมาะสม หรือหากจำเป็น ก็ปรับลดการใช้น้ำมันปาล์มในไบโอดีเซลลงมา เพื่อให้เหลือบริโภคมากขึ้น

นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า  ช่วงนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากเจอภัยแล้ง และโรคระบาดก่อนหน้านี้ ทำให้ผลผลิตเข้าสู่ตลาดลดลง โดยราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 8-9 บาท ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกร แต่ก็ต้องดูแลฝั่งผู้บริโภคในส่วนของน้ำมันปาล์มขวด ไม่ให้ราคาสูงเกินไป ซึ่งนายวิทยากร มณีเนตร ผู้ตรวจราชการ กระทรวงพาณิชย์ และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ จึงได้มีการหารือร่วมกับสมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม  ถึงแนวทางการบริหารจัดการสต็อกน้ำมันปาล์มให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งความต้องการบริโภค และการใช้ในภาคพลังงาน

โดยพบว่า ขณะนี้ปริมาณมีเพียงพอต่อความต้องการ สต็อกเกินกว่า 2 แสนตัน และทางสมาคมฯ ยังยืนยันที่จะไม่ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบในช่วงนี้ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มตั้งแต่ ม.ค.2568 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน ได้หารือร่วมกับห้างค้าส่งค้าปลีก และห้างท้องถิ่น ถึงสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะน้ำมันพืชบรรจุขวด โดยกรมขอความร่วมมือผู้ผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวดชะลอการปรับราคาออกไปให้นานที่สุด และขอความร่วมมือห้างค้าส่ง/ค้าปลีก จำหน่ายน้ำมันปาล์มบรรจุขวดให้อยู่ในระดับราคาที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชน โดยห้างยินดีให้ความร่วมมือในการตรึงราคาน้ำมันพืช พร้อมจัดโปรโมชันเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง

นายกรนิจ กล่าวว่า  ส่วนราคาน้ำมันปาล์มขวด ขณะนี้จำหน่ายในราคาตั้งแต่ 43-48 บาทต่อขวด แล้วแต่สต็อกเก่าใหม่ ซึ่งกรมได้หารือกับห้างค้าปลีกค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า และห้างท้องถิ่น เพื่อขอความร่วมมือให้ตรึงราคาจำหน่ายให้นานที่สุด และขอความร่วมมือให้จัดโปรโมชันลดราคาน้ำมันปาล์มขวดต่อเนื่อง รวมทั้งหากจะมีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายจากราคาเดิม ให้แจ้งมายังกรมด้วย และกรณีที่สั่งน้ำมันปาล์มขวดจากผู้ผลิต และได้รับสินค้าช้า หรือมีสินค้าไม่เพียงพอ ก็ให้รีบแจ้งมายังกรม เพื่อที่จะเข้าไปดูแลต่อไป

ทั้งนี้กรมการค้าภายใน และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดจะติดตามสถานการณ์น้ำมันพืช ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง หากพบผู้ประกอบการดำเนินการใดๆ โดยจงใจที่จะทำให้ราคาสูงเกินสมควร หรือทำให้ปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใด จะดำเนินการตามกฎหมายต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยประชาชนสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือทางแอปพลิเคชัน[email protected] และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top