Sunday, 20 April 2025
กระทรวงดิจิทัล

‘มท.’ ร่วมมือ ‘สตช.-ดีอีเอส’ ปราบปืนเถื่อน ออกมาตรการคุมใช้ปืนเข้ม สั่งห้ามออกใบอนุญาต-พกปืนในจังหวัด พร้อมสกัดซื้อ-ขายออนไลน์

(10 ต.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบ ตามที่กระทรวงมหาดไทย รายงานความคืบหน้า มาตรการควบคุมการพกพาอาวุธปืนและกระสุนปืน รวมถึงสิ่งเทียมอาวุธปืนที่ดัดแปลงเป็นอาวุธ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย หลังจากเกิดเหตุการณ์กราดยิงในห้างดัง เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา

โดยกระทรวงมหาดไทย ชี้แจง ครม.ว่าได้ออกคำสั่งให้ดำเนินมาตรการ ดังนี้
1.) ให้เข้มงวดเรื่องการออกใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ระเบิดและดอกไม้ไฟ หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน โดยให้นายทะเบียนผู้มีอำนาจในการอนุญาตออกใบอนุญาต งดออกใบอนุญาต ในการสั่งนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืนชนิดแบลงค์กันหรือสิ่งเทียมอาวุธปืนอื่น ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธโดยง่าย

2.) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด แจ้งนายทะเบียนในท้องที่ ให้แจ้งคนที่ครอบครองแบลงค์กันและสิ่งเทียมอาวุธปืนที่ครอบครองอยู่ ให้มาลงทะเบียนลงบันทึกประจำวันในภูมิลำเนาที่อยู่

3.) การขอมีหรือใช้ซึ่งอาวุธปืน หรือการขอซื้อ สั่ง หรือนำเข้าเครื่องกระสุนปืนของสมาคมกีฬายิงปืน การอนุญาตออกใบ ป.3 หรือ ใบ ป.4 ให้แก่สมาคมกีฬายิงปืนให้อนุมัติเฉพาะที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสมาคมกีฬาเท่านั้น และเครื่องกระสุนปืนที่สั่งเข้ามาต้องตรงกับอาวุธปืนที่ครอบครอง ห้ามต่างชนิดกันเด็ดขาด

4.) การออกใบอนุญาตให้พกอาวุธปืนติดตัว ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการที่จะอนุญาตให้พกพาในจังหวัด จากนี้ให้งดห้ามออกใบอนุญาตพกพาภายในเขตจังหวัด

นอกจากนั้น ได้ขอความร่วมมือไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ร่วมมือกันปราบปรามการซื้อขายอาวุธปืน สิ่งเทียมอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน ผ่านช่องทางออนไลน์ และให้กรมศุลกากรตรวจสอบสิ่งเทียมอาวุธปืนที่นำเข้า ก่อนที่คำสั่งนี้จะประกาศใช้ ให้ตรวจเช็กว่าสิ่งเทียมอาวุธปืนดังกล่าวมีการดัดแปลงนำเข้ามาหรือไม่

นายชัย กล่าวว่า และให้สนามยิงปืนเข้มงวด ตรวจจำนวนผู้มาใช้บริการ โดยจดบันทึกรายละเอียดผู้เข้ามาใช้ทุกคน และอาวุธปืนที่นำมาใช้ต้องได้รับอนุญาต ส่วนกระสุนที่ใช้ในการซ้อมยิงห้ามนำออกจากสนามและต้องตรวจนับให้ชัดเจน

‘กองทุนดีอี’ ชูระบบสืบค้นข้อมูลอาคารชุด ‘CondoMaps’ หลังสนับสนุนงบ ‘กรมที่ดิน’ พัฒนาสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม

ภายหลังจาก สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) โดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กองทุนดีอี ได้สนับสนุนงบประมาณให้ กรมที่ดิน ให้ดำเนินโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทย ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565

จากผลการดำเนินงานล่าสุด ทางกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ได้พัฒนาระบบสืบค้นอาคารชุด ห้องชุด (CondoMaps) สำเร็จพร้อมเปิดให้บริการประชาชนเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ กรมที่ดิน ในฐานะผู้พัฒนาระบบ CondoMaps ได้ทำพิธีเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมีนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมในพิธีเปิดด้วย 

สำหรับระบบสืบค้นอาคารชุด ห้องชุด (CondoMaps) พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน และผู้ประกอบการที่ถือครองห้องชุด เจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุด สามารถสืบค้นข้อมูลอาคารชุด ห้องชุด ได้โดยใช้เลขทะเบียนอาคารชุด ห้องชุด ที่ระบุในหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด ระบบจะแสดงตำแหน่งที่ตั้งอาคารชุด ห้องชุด ในรูปแบบภูมิสารสนเทศ 3 มิติ ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นทัศนียภาพเสมือนจริง โดยแสดงผลร่วมกับข้อมูลรูปแปลงที่ดินของกรมที่ดิน ภาพถ่ายดาวเทียม แผนที่ภูมิประเทศ (Open Street Map) และภาพถ่ายทางอากาศเชิงเลข (DMC) ให้บริการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

โครงการนี้ เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรม ที่ช่วยสร้างฐานข้อมูลอาคารห้องชุดให้เป็นระบบ เชื่อมโยงข้อมูลเอกสารสิทธิห้องชุดทั่วประเทศ นอกจากจะสร้างความสะดวกสบายให้ประชาชนแล้ว ยังจะเป็นการสร้างศักยภาพของภาครัฐ ตอบโจทย์ทางด้านการลงทุนให้แก่นักลงทุนทั้งชาวไทย และ ชาวต่างชาติอีกด้วย

ทั้งนี้ จากข้อมูลในปัจจุบัน กรมที่ดินมีฐานข้อมูลห้องชุดแบบ 3 มิติ สำหรับให้บริการบนระบบ CondoMaps จำนวน 180,000 ยูนิต ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งในปีนี้กรมที่ดินอยู่ระหว่างดำเนินการนำเข้าฐานข้อมูลอาคารชุด ห้องชุด เพื่อให้มีฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ 3 มิติ เพิ่มมากขึ้นอีกจำนวน 480,000 ยูนิต หากดำเนินการแล้วเสร็จจะมีฐานข้อมูลห้องชุดรวมจำนวนทั้งสิ้น 660,000 ยูนิต

นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวย้ำว่า การดำเนินโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทยผ่านระบบ CondoMaps นั้น เป็นการให้บริการกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในรูปแบบ Data as a Service (Daas) เป็นการเพิ่มศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถในการให้บริการ รวมทั้งเป็นข้อมูลพื้นฐานใช้ประกอบการวางแผนงาน นโยบาย หรือวางแผนต่อยอดทางด้านธุรกิจ สนับสนุนการพัฒนาประเทศ สอดคล้องกับหลักการภาครัฐของประชาชน เพื่อประชาชน และประโยชน์ส่วนรวมอย่างครบวงจร

‘รมว.ดีอี’ มอบรางวัล ‘Hackulture 2023 Illuminate Thai’ นำดิจิทัลยกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่ระดับสากล สร้าง ‘Soft Power’ ยกระดับเศรษฐกิจประเทศ

วันที่ 25 มกราคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานมอบรางวัลกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ ‘Hackulture 2023 Illuminate Thai อัปเวลแฟชั่นไทย ด้วยดิจิทัล’ ชิงถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้โครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ระยะที่ 2 โดยมีนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าร่วม ณ โรงแรม Graph Hotel รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ

นายประเสริฐ กล่าวว่า มรดกทางวัฒนธรรมเป็นรากฐานที่สำคัญของชาติไทย กระทรวงดิจิทัลฯ จึงเล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างต้นทุนทางวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัล ที่เข้าถึงง่ายและน่าสนใจ กิจกรรมนี้มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาแฟชั่นไทยให้มีความร่วมสมัยและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างต้นทุนทางวัฒนธรรม สำหรับนำไปต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการสร้างความสามารถในการแข่งขันในทางเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสร้างสรรค์

นายประเสริฐ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มุ่งเน้นในด้านแฟชั่น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศไทยทั้งสิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องหนัง เครื่องประดับ อัญมณี หรือธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ดังนั้น การถ่ายทอดแฟชั่นไทยสู่รูปแบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นในมิติด้านเทคโนโลยี หรือมิติด้านสื่อมัลติมีเดีย จึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะสามารถสร้าง Soft Power ให้กับประเทศไทยได้ ซึ่งการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้คนไทยมองเห็นถึงคุณค่าและเกิดความหวงแหนในมรดกวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้าน Digital Content เตรียมพร้อมรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศ

นายภุชพงค์ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ระยะที่ 2 โดยมีกิจกรรมหลัก 2 กิจกรรม ประกอบด้วย 1.การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ หรือ Policy Lab เพื่อดำเนินการจัดทำมาตรการ หรือข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ในมุมมองด้านวัฒนธรรม เพื่อสร้าง Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ ที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย และ 2.การจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ (Hackathon) การส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล เพื่อเชิญชวนบุคคลที่มีความสนใจ ร่วมสร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง Soft Power ของประเทศ

นายภุชง กล่าวว่า กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมไทยสู่คนรุ่นใหม่ โดยได้เปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจ สมัครเข้าร่วมการแข่งขัน ผ่านการนำเสนอด้วยการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ทีมที่ผ่านเกณฑ์การตัดสินในรอบแรก จำนวน 40 ทีม ได้เข้าร่วมค่ายฝึกอบรม Boot camp เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ การธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ การสร้างสรรค์ผลงานและการถ่ายทอดเรื่องราว และฝึกปฏิบัติการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งทั้ง 40 ทีม ได้เข้าร่วมกิจกรรมนำเสนอผลงาน (Pitching) เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2566 โดยมีเพียง 12 ทีม ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบนำเสนอผลงานรอบสุดท้าย (Grand Pitching) โดยแบ่งเป็น 2 สาขา คือ สาขาเทคโนโลยี จำนวน 2 ประเภท ได้แก่ นักเรียน/นิสิต/นักศึกษา จำนวน 3 ทีม และประชาชนทั่วไป จำนวน 3 ทีม และสาขาสื่อมัลติมีเดีย จำนวน 2 ประเภท ได้แก่ นักเรียน/นิสิต/นักศึกษา จำนวน 3 ทีม และประชาชนทั่วไป จำนวน 3 ทีม 

สำหรับผลการแข่งขัน ทีมผู้ชนะการแข่งขันที่ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ ทีม Fash.Design สาขาเทคโนโลยี  :  ประเภทนักเรียน/นิสิต/นักศึกษา ประกอบด้วย 
- รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม 4DEV
- รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีม The Board ThaiGuideGame
- รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีม Metampta

ประเภทประชาชนทั่วไป
- รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Fash.Design
- รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีม Fashion Verse
- รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีม DM-TRU Warrior

สาขาสื่อมัลติมีเดีย : ประเภทนักเรียน/นิสิต/นักศึกษา
- รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Y2Thai
- รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีม Thai Style
- รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีม Cocoon

ประเภทประชาชนทั่วไป
- รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม CrowdMart Thailand
- รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีม FA DPU
- รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีม Moody (มูดี้)


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top