Wednesday, 16 April 2025
กระตุ้นเศรษฐกิจ

'อดีตขุนคลัง' เชื่อ!! 'ดิจิทัลวอลเล็ต' คงปรับมาแจกเป็นเงินสด แต่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่เท่า 'คนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน'

(21 ส.ค. 67) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ 'ดิจิทัลวอลเล็ตแปลงโฉม' ระบุว่า..

คอลัมน์คนปลายซอย ของเปลวสีเงิน 21 ส.ค. 2567

ทักษิณ 'หลุดปาก' บรรยายเป็นฉาก-เป็นช่อง ที่ทำการพรรคเพื่อไทยชั่วคราวเมื่อวาน จำเป็นบันทึกละเอียดไว้ซักนิด ดังนี้...

นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตตอนนี้ นายกฯ กับฝ่ายงบประมาณ ฝ่ายเศรษฐกิจ กำลังคุยกันอยู่

การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องทำแน่นอน และต้องทำอย่างเร็วด้วย ช้าไม่ได้ เพราะถ้าเศรษฐกิจยิ่งไหลลงลึกเท่าไหร่ ก็ดึงขึ้นมายาก

นายกฯ กำลังวางแผนกันอยู่ ทำงานได้เมื่อไหร่ ก็คงสั่งการเลย

"คำว่าดิจิทัล วอลเล็ต มีอยู่ ๓ เรื่อง คือ..."

๑.การกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นหัวใจสำคัญและต้องทำ
๒.การให้ประชาชนมีโอกาสเรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไปข้างหน้า ก็ต้องทำต่อไป แต่ความเร่งด่วนอาจรอได้
๓.อนาคต 'ดิจิทัล วอลเล็ต' เมื่อวางไว้แล้ว สามารถใช้ประโยชน์กับประชาชนกับประเทศ ให้ประชาชนกับรัฐบาลเชื่อมต่อกันได้ทางเศรษฐกิจ

เป็นช่องหน้าต่างให้ประชาชนทำธุรกิจผ่านวอลเล็ต เป็นเรื่องเทคนิคที่ต้องมีต่อไป

“แต่ ๒-๓ รอได้ อันที่ ๑ รอไม่ได้ รูปแบบอาจจะอิงเทคโนโลยีบ้างหรือไม่ ไม่อิงบ้างก็ได้ แต่ต้องถูกกฎหมาย และไม่ขัดแย้งกับคนที่เห็นต่างเยอะเกินไป”

ส่วนเรื่องการอัดฉีด "เท่าที่เดินผ่านไปเห็นนายกฯ คุยกับฝ่ายงบประมาณ" ก็บอกว่า "ควรจะต้องทำ" ผมก็ช่วยให้คำแนะนำ แต่การตัดสินใจเป็นของนายกฯ และคณะรัฐมนตรี แต่ผมให้คำแนะนำได้

จะเปลี่ยนเป็น ‘แจกเงินสด’ หรือไม่?

ข้อดีแจกเงินสดคือมันเร็ว แต่ข้อเสีย กลัวว่าจะใช้ในสิ่งที่กระตุ้นเศรษฐกิจไม่เต็มที่

ผมขอให้ข้อคิดต่อไปนี้...

1.การกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจากเงินที่ใช้แจก โยกมาจากงบประมาณอื่น ดังนั้น ผลบวกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะต้องหักตัวเลขผลลบที่การใช้จ่ายงบประมาณอื่นจะกระตุ้นเศรษฐกิจออกไปเสียก่อน

ดังที่ ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรมช.คลัง เคยอธิบายไว้ว่า...

ถ้าเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทย เป็นคนไข้ที่ซูบซีด ขาดเลือด ที่ต้องฉีดเลือดเข้าไปเพิ่มเติมด้วยแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต คือสูบเลือดเข้าทางแขนซ้าย

แต่โครงการใช้เงินตามงบประมาณอื่นที่มีอยู่เดิม ที่ต้องชะลอไป เพราะถูกโยกเงินไปใช้แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ก็จะทำให้ผลดีต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในส่วนนี้ลดลง คือสูบเลือดออกทางแขนขวา

สรุปแล้ว สูบเลือดออกไป เพื่อสูบกลับเข้ามา ดังนั้น โดยตรรกะทางเศรษฐศาสตร์ จึงไม่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญ

มีข้อแตกต่างเพียงอย่างเดียว คือประชาชนกลุ่มที่ได้รับเงิน ที่โยกออกมาจากโครงการงบประมาณเดิม เมื่อได้รับเงินเข้าไปในกระเป๋า ก็จะรู้สึกดีขึ้น

แต่สำหรับโครงการงบประมาณเดิมที่ถูกชะลอไว้ก่อนนั้น ผลประโยชน์ที่จะเกิดแก่ประเทศและแก่ประชาชนโดยรวม ก็ถูกเลื่อนออกไป

2.การแจกเป็นเงินสด ผมเคยแสดงความเห็นชัดเจนว่า การแจกเงินเป็นดิจิทัลนั้น มีอุปสรรคทางเทคนิคที่ไม่สามารถแก้ไขได้หลายประการ (ก) ความมั่นคงปลอดภัยของระบบซูเปอร์แอป (ข) ปัญหาการไม่สามารถเชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคารพาณิชย์ และ (ค) ปัญหาฝ่าฝืนกฎหมายเงินตรา เป็นต้น

และยังมีข้อวิจารณ์ อาจมีความเสี่ยงในการหาประโยชน์ส่วนตน ทั้งในการพัฒนาโปรแกรม ทั้งอาจมีการปั่นเงินดิจิทัล และอาจมีการนำเอาข้อมูลส่วนตัวของประชาชนหลายสิบล้านคนไปหาประโยชน์เชิงธุรกิจ

การแจกเป็นเงินสดโดยผ่านระบบเป๋าตัง จะไม่มีปัญหาข้างต้น แต่ไม่สามารถคุมวิธีการใช้เงินได้เลย

ถ้าเทียบกับโครงการในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ถึงแม้รัฐเสียรายได้ในโครงการแบบนี้ แต่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า เพราะกระตุ้นให้ประชาชนควักกระเป๋าออกมาใช้จ่ายสนับสนุนการใช้เงินของรัฐ

ยิ่งการแจกดิจิทัลวอลเล็ต ที่เปลี่ยนไปเป็นเงินสดฟรี ๆ นั้น ในส่วนที่เอาไปชำระหนี้นอกระบบ ในส่วนที่เอาไปซื้อสินค้านำเข้า เติมน้ำมัน ฯลฯ คงไม่สามารถหวังให้เกิดผลกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับเดียวกับโครงการในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์

นอกจากนี้ ผู้ที่คิดริเริ่มโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ควรจะคิดเตรียมหาคำตอบว่า โครงการเรือธงที่นำไปหาเสียงใหญ่โตนั้น มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ในขั้นตอนการคิดริเริ่ม ได้สืบค้นตรวจสอบวิธีการให้รอบคอบอย่างไร เพื่อเป็นบทเรียนแก่พรรคการเมืองที่จะเตรียมคิดนโยบายหาเสียงในอนาคต

‘รัฐบาล’ เล็ง!! ยกระดับ ‘แอปทางรัฐ’ จ่ายเยียวยา-รับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้

(18 ก.ย. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการพัฒนาแอปพลิเคชันทางรัฐของรัฐบาล ว่า ปัจจุบันแอปฯ นี้ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลมุ่งหวังให้แอปฯ นี้เป็นซูเปอร์แอปที่จะเป็นแอปฯ หลักรองรับการให้บริการต่าง ๆ ที่ภาครัฐจะให้บริการกับประชาชนอย่างครอบคลุมในเรื่องอื่น ๆ ไม่ได้ใช้เป็นครั้งคราวแต่ใช้ต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะมีในอนาคตก็จะมาใช้แอปฯ นี้ด้วย

“เรื่องการจะพัฒนาให้แอปฯ ทางรัฐ สามารถรองรับการจ่ายเงินให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยตามนโยบายนายกรัฐมนตรีนั้น สามารถที่จะทำได้ในระยะต่อไป เพราะในระบบนี้มีฐานข้อมูลที่ประชาชนลงทะเบียนไว้จำนวนมากกว่า 30 ล้านคน ถ้าในการจ่ายเงินและการเยียวยาหากสามารถเชื่อมโยงบัญชีได้ อาจจะใช้ในเรื่องของพร้อมเพย์เข้ามาช่วย” นายประเสริฐ กล่าว

อย่างไรก็ตามขึ้นกับการตัดสินใจของกระทรวงการคลังอีกครั้ง ตรงนี้ขอรอความชัดเจนจากกระทรวงการคลัง แต่ว่าในเรื่องระบบนั้นทำไม่ยากเพราะสามารถที่จะเชื่อมโยงข้อมูลกันได้อยู่แล้ว 

‘จีน’ เตรียมแจกเงินสด ‘กลุ่มคนยากไร้-เด็กกำพร้า’ หวังเพิ่มกำลังซื้อช่วงเทศกาล ‘วันชาติ’ 1 ต.ค.นี้

(26 ก.ย. 67) สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานอ้างถึงการรายงานของสถานีโทรทัศน์ CCTV ของรัฐบาลจีนที่เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและกระทรวงกิจการพลเรือนจะออกเงินอุดหนุนค่าครองชีพในรูปแบบการแจกเงินสดครั้งเดียวให้แก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส รวมถึงผู้ยากไร้และเด็กกำพร้า ในวันที่ 1 ต.ค.ซึ่งตรงกับวันชาติจีน

แม้จะไม่มีการให้รายละเอียดใด ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับจำนวนเงินที่แน่ชัด แต่การแจกเงินแบบครั้งเดียวในระยะเวลาอันสั้นนี้ ดูเหมือนจะเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลที่มักหลีกเลี่ยงสิ่งที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เรียกว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ มาโดยตลอดง

ทั้งนี้ รัฐบาลประกาศในเดือนเม.ย.ว่าในปีนี้กระทรวงของจีนจัดสรรงบประมาณ 1.54 แสนล้านหยวน (ประมาณ 7 แสนล้านบาท) เพื่ออุดหนุนและช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มคนที่ยากจนรุนแรงกว่า 4.74 ล้านคน ตามข้อมูลของกระทรวงกิจการพลเรือนในเดือนมิ.ย.67ง

อย่างไรก็ดี นับว่านโยบายแบบนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นมากนักในจีน ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศหลังจากแบงก์ชาติจีนเปิดเผยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ซึ่งครอบคลุม ทั้งการลดดอกเบี้ยในตลาดเงิน นโยบายกระตุ้นการลงทุนในตลาดหุ้นและภาคอสังหาริมทรัพย์

รายงานระบุว่า หน่วยงานท้องถิ่นต้องดำเนินการให้เงินช่วยเหลือถึงมือผู้รับที่เป็นกลุ่มเป้าหมายก่อนวันที่ 1 ต.ค. เพื่อแสดงให้เห็นถึง ‘ความรักและความห่วงใยของพรรคและรัฐบาลที่มีต่อประชาชนผู้เดือดร้อน’

ในขณะเดียวกัน สำนักข่าวซินหัวรายงานเมื่อวันที่ 25 ก.ย.ว่า รัฐบาลกลางได้ออกนโยบายและสวัสดิการประกันสังคมแก่บัณฑิตจบใหม่ที่ยังไม่ได้งานทำภายในระยะเวลา 2 ปีหลังจบการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน

‘วันชาติ’ เป็นหนึ่งในวันหยุดที่สำคัญที่สุดในจีนที่มักจะเห็นการจับจ่ายใช้สอย การเดินทาง แต่ภาวะตกต่ำของภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดแรงงานที่ซบเซาได้กดดันการใช้จ่าย ทำให้บางนักเศรษฐศาสตร์เรียกร้องให้มีการแทรกแซงทางการคลังโดยตรงมากขึ้น

หวง อี้ผิง สมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารประชาชนจีน ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาการบริโภคที่อ่อนแอ ในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของจีนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า การแจกเงินสดให้แก่ครัวเรือนจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในขณะที่การให้ความสำคัญกับสุขภาพทางการคลังมากเกินไปอาจเป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจ

'เผ่าภูมิ' เผย ปชช. กดเงิน 10,000 ตู้ ATM ธ.ก.ส. พุ่ง 18.8 เท่าตัว ออมสินยอดกดเงินรวมพุ่ง 3.7 เท่าตัว ชี้กลุ่มนี้มีเท่าไหร่ใช้หมด กระตุ้น ศก. ทันที

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 25 ก.ย. มีการถอนเงิน ยอดเงิน 10,000 บาท จากตู้ ATM ของ ธ.ก.ส. เพิ่มขึ้น 18.8 เท่าตัว เทียบกับวันที่ 24 ก.ย. 

ยอดถอนเงินตู้ ATM ธนาคารออมสิน วันที่ 25 ก.ย. มีจำนวนรายการถอนเงินพุ่ง 1.76 เท่าตัว จำนวนเงินเพิ่มขึ้น 2.84 เท่าตัว วันที่ 26 ก.ย. มีจำนวนรายการถอนเงินเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จำนวนเงินเพิ่มขึ้น 3.72 เท่าตัว เทียบกับวันที่ 24 ก.ย.

ตัวเลขเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้หนึ่งว่าประชาชนกลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องใช้เงินสูง มีเงินไม่พอใช้ มีเท่าไหร่ต้องถอนมาใช้เกือบหมด เป็นกลุ่มที่มี MPC สูง ซึ่งนั่นหมายถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันทีและมีประสิทธิภาพ

นายกฯ หารือ กกร. เดินหน้าสางปัญหาเศรษฐกิจ จับตา ‘หนี้ครัวเรือนสูง-ปรับค่าแรงขั้นต่ำ’

(28 ต.ค. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน3 สถาบัน (กกร.) นำโดยนายสนั่น อังอุบลกุล ในฐานะประธาน กกร. และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย และนายสุธีร์ สธนสถาพร ผู้อำนวยการสำนักงาน กกร.

โดยก่อนเริ่มหารือนายสนั่นได้มอบ สมุดปกขาว ข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศจัดทำโดย กกร. ให้กับนายกรัฐมนตรี

ขณะที่นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า ดีใจที่ได้เจอที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งเพราะได้เจอครั้งแรกที่พรรคเพื่อไทยก่อนแถลงนโยบายรัฐบาล ก็อยากพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งครั้งที่แล้วก็ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปี  

และแน่นอนว่าผลกระทบนี้ส่งผลถึงประชาชนมีหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น อยากให้ภาครัฐและภาคเอกชนได้พูดคุยร่วมมือกัน เราไม่สามารถจะพูดได้แค่เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเดียวที่เป็นปัญหา แต่ต้องมีการหารายได้ใหม่เข้าสู่ประเทศถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจโตได้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า และสิ่งที่รัฐบาลทำขณะนี้ก็มีเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ และมีความร่วมมือกับเอกชนจำนวนมากเพราะมองว่าเอกชนคือภาคสำคัญที่จะทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มและสนับสนุนประชาชนด้วยจึงอยากจะให้รัฐกับเอกชนทำงานร่วมกันเยอะขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจและโอกาสใหม่ๆให้กับประชาชนซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก วันนี้รัฐบาลพร้อมที่จะซัพพอร์ตรับฟังจากภาคเอกชน เพื่อให้สามารถปรับให้เข้านโยบายของรัฐบาลต่อไป

ด้านนายสนั่น กล่าวว่า เชื่อมั่นรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯแพทองธาร ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายและปัญหาหลากหลายมิติ กกร.จึงได้ระดมความคิดเห็นจากภาคธุรกิจในสาขาต่างๆ จัดทำเป็นสมุดปกขาวเสนอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการทั้งในระยะเร่งด่วนระยะกลาง และระยะยาว 

โดยมีทั้งหมด 4 ประเด็น ได้แก่ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  หรือ SMEs การบริหารจัดการน้ำและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น ระยะเร่งด่วน เสนอมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชน ลดต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งการควบคุมราคาสินค้าพื้นฐาน และบริการที่จำเป็น ตรึงราคาค่าไฟ น้ำมันดีเซล เพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการ และลดภาระประชาชน รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยเอกชนขอให้เป็นไปตามกลไกของคณะอนุกรรมการไตรภาคี  

ประธาน กกร. และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรแยกวิธีให้เหมาะสมและใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพโดยมุ่งเป้ากระตุ้นไปยังกลุ่มเปราะบาง ถือเป็นสิ่งเร่งด่วนที่รัฐบาลดำเนินการไปแล้ว  

ขณะที่ประชาชนกลุ่มที่ยังพอมีกำลังซื้อสามารถดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะโครงการคูณสองเพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลไม่จำเป็นจะต้องใช้งบประมาณมาก สำหรับกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงสามารถออกมาตรการดึงการจับจ่ายใช้สอยให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นเช่น มาตรการทางภาษี  ที่รัฐไม่ต้องใช้งบประมาณเลย

‘นิด้าโพล’ เผยผลสำรวจ!! ผู้สูงอายุรับเงินสด 10,000 บาท ชี้!! มีแนวโน้ม ทำให้สนับสนุนรัฐบาล เกือบ 45%

(9 ก.พ. 68) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจ ของประชาชน เรื่อง ‘ผู้สูงอายุรับเงินสด 10,000 บาทแล้วจะสนับสนุนรัฐบาลไหม’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ทั้งตนเอง และ/หรือคนในครอบครัว ที่ได้รับเงิน 10,000 บาท จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการได้รับเงินสด 10,000 บาท จากรัฐบาล การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ ‘นิด้าโพล’ สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนด
ค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการนำเงินไปใช้จ่ายของผู้ที่ได้รับเงิน 10,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นตนเอง และ/หรือ คนในครอบครัวที่ได้รับเงินจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 86.18 ระบุว่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (รวมค่าน้ำ ค่าไฟ น้ำมันเชื้อเพลิง) รองลงมา ร้อยละ 26.26 ระบุว่า ใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ (เช่น ซื้อยารักษาโรค หาหมอ) ร้อยละ 13.66 ระบุว่า ใช้หนี้ ร้อยละ 11.98 ระบุว่า เก็บออมไว้สำหรับอนาคต ร้อยละ 9.24 ระบุว่า ใช้ลงทุนการค้า ร้อยละ 8.70 ระบุว่า ใช้จ่ายเพื่อการศึกษา ร้อยละ 4.35 ระบุว่า ใช้ซื้อหวย สลากกินแบ่งรัฐบาล ร้อยละ 1.76 ระบุว่า ใช้ซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 0.53 ระบุว่า ใช้ซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มือถือ และเครื่องมือสื่อสาร ร้อยละ 0.46 ระบุว่า ใช้จ่ายเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว และร้อยละ 0.38 ระบุว่า ใช้จ่ายเพื่อการบันเทิง (เช่น เลี้ยงสังสรรค์ ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ เป็นต้น)

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการสนับสนุนรัฐบาลของผู้ที่ได้รับเงิน 10,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นตนเอง และ/หรือ คนในครอบครัวที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.89 ระบุว่ามีส่วนทำให้สนับสนุนรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 30.69 ระบุว่า จะมีหรือไม่มีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็สนับสนุนรัฐบาลอยู่แล้ว ร้อยละ 14.35 ระบุว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 10.07 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะตัดสินใจอย่างไร 

สิงคโปร์มอบคูปองเงินสด 20,000 บาท หนุนประชาชนจับจ่าย และกระตุ้นเศรษฐกิจ

(20 ก.พ.68) นายลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ประกาศมอบคูปองเงินสดสูงสุด 800 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 20,000 บาท) ให้กับพลเมืองสิงคโปร์ที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป เนื่องในโอกาสฉลองวันชาติสิงคโปร์ครบรอบ 60 ปี ซึ่งคูปองเงินสดดังกล่าวจะเริ่มแจกจ่ายในเดือนกรกฎาคมนี้และสามารถใช้ได้จนถึงสิ้นปี 2026

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ 'SG60' ที่จะมอบคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาร้อยละ 60 สำหรับปีภาษี 2025 รวมถึงของขวัญสำหรับทารกแรกเกิดในปีนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงการยอมรับในผลงานของประชาชนสิงคโปร์และแบ่งปันผลประโยชน์จากการเติบโตของประเทศ

ทั้งนี้ คูปองเงินสด SG60 คาดว่าจะมีมูลค่ารวมกว่า 2,020 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 50,740 ล้านบาท) และจะมีประโยชน์แก่ประชาชนประมาณ 3 ล้านคน โดยผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะได้รับคูปองเงินสดเพิ่มอีก 200 ดอลลาร์สิงคโปร์ รวมเป็น 800 ดอลลาร์สิงคโปร์

คูปองเงินสดสามารถรับสิทธิ์ได้ทางดิจิทัลและสามารถใช้ที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้า และแผงลอยในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ยังมีการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาร้อยละ 60 สำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลาง โดยจะได้รับการลดหย่อนสูงสุดที่ 200 ดอลลาร์สิงคโปร์

นายหว่องยังประกาศเพิ่มเติมว่าในปีนี้ ศูนย์อาหารแผงลอยและตลาดที่บริหารจัดการโดยรัฐบาลจะได้รับเงินสนับสนุนค่าเช่าครั้งเดียวจำนวน 600 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตของชาวสิงคโปร์ พร้อมทั้งการลงทุนเพื่อปรับปรุงและสร้างศูนย์อาหารแผงลอยใหม่ในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีการแจกเครดิต ActiveSG มูลค่า 100 ดอลลาร์สิงคโปร์สำหรับการเล่นกีฬา และเครดิต SG Culture Pass มูลค่า 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อกระตุ้นให้ชาวสิงคโปร์เข้าร่วมกิจกรรมศิลปะและวัฒนธรรม โดยเครดิตเหล่านี้จะมีอายุถึงสิ้นปี 2028

โครงการ SG60 นี้ไม่เพียงแต่เป็นการเฉลิมฉลองวันชาติ แต่ยังเป็นการลงทุนในอนาคตของชุมชนสิงคโปร์ที่มุ่งหวังให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศต่อไป

‘ธนาคารโลก’ ห่วง!! ฐานะการคลังของประเทศไทย ชี้!! แจกเงินดิจิทัล ดัน GDP แค่ 0.3% แลกหนี้พุ่ง

(22 ก.พ. 68) ธนาคารโลก เผยแพร่รายงานติดตามเศรษฐกิจไทย กุมภาพันธ์ 2568 โดยได้ประเมินเบื้องต้นว่ามาตรการเงินอุดหนุน 10,000 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตรอบแรกสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14 ล้านคน หรือประมาณ 42% ของประชากรในกลุ่มรายได้ต่ำสุด อาจช่วยกระตุ้นการเติบโตของ GDP ในปีพ.ศ. 2567 ได้ประมาณ 0.3% โดยอิงจากตัวคูณทางการคลังที่ 0.4

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวนี้มาพร้อมกับต้นทุนทางการคลังที่สูงถึง 145,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.8% ของ GDP

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในปีพ.ศ. 2568 โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าปัจจัยภายนอกจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อย

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.6% ในปีพ.ศ. 2567 เป็น 2.9% ในปีพ.ศ. 2568 (แผนภาพที่ ES 5 และ ตาราง ES 1) โดยมีการฟื้นตัวของการลงทุนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจแม้ว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงบ้าง โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดได้ภายในกลางปีพ.ศ. 2568 

ส่วนการบริโภคภาคเอกชนจะได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการเงินอุดหนุน (ดิจิทัลวอลเล็ต) 

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคอาจเผชิญอุปสรรคจากวงจรการลดหนี้และมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น ในด้านการค้า การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน แม้ว่าตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกจะอยู่ในภาวะขาขึ้นก็ตาม 

สำหรับปีพ.ศ. 2569 คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยมีอัตราการขยายตัวประมาณ 2.7% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะแตะระดับศักยภาพได้ภายในปีพ.ศ. 2571

ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดในปี พ.ศ. 2568 คาดว่าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากรายรับของภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวและต้นทุนการขนส่งที่ลดลง โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเพิ่มขึ้นจาก 2.4% ของ GDP ในปีพ.ศ. 2567 เป็น 3.6% ของ GDP ในปีพ.ศ. 2568 ด้วยแรงหนุนจากการค้าภาคบริการ อย่างไรก็ตามดุลการค้าสินค้าคาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยเนื่องจากอุปสงค์ด้านการส่งออกที่ชะลอตัวลงจากคู่ค้าหลัก

สำหรับปีพ.ศ. 2568 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 0.4% ในช่วงปีที่ผ่านมาเป็น 0.8% แต่ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและราคาอาหารคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ครัวเรือนที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการบริโภคและการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ในทางตรงกันข้าม ราคาพลังงานคาดว่าจะปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันโลกที่อ่อนตัวลดลง

ด้วยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งบริหารงบประมาณ การดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นจาก 1.3% ของ GDP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็น 3.1% ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งเป็นผลจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 หลังจากเกิดความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 

สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยเน้นไปที่การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้งบประมาณดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมูลค่า 450,000 ล้านบาทที่รัฐบาลประกาศไว้ก่อนหน้านี้ซึ่งได้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 140,000 ล้านบาทสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของมาตรการและแหล่งเงินทุนโดยรวมภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ยังคงไม่ปรากฏอย่างชัดเจน

ธนาคารโลกประเมินว่า นโยบายการคลังของประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายสามประการ ได้แก่ การตอบสนองต่อความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ การฟื้นฟูการลงทุนเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน

โดยคาดว่าระดับหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นเป็น 64.8% ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และมีแนวโน้มเข้าใกล้เพดานหนี้สาธารณะที่ 70% ของ GDP ภายในอีกห้าปีข้างหน้า

แม้ว่าระดับหนี้สาธารณะของประเทศไทยยังคงมีความยั่งยืนทางการคลังโดยมีหนี้สกุลเงินต่างประเทศในระดับต่ำ (1.0% ของหนี้ทั้งหมด) และมีต้นทุนการระดมทุนที่ค่อนข้างต่ำ แต่แรงกดดันในการใช้จ่ายทางสังคมและการลงทุนของภาครัฐในทุนมนุษย์เพิ่มสูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ  และมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพื่อการเติบโต เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ได้เพิ่มแรงกดดันทางการคลัง ทั้งนี้ข้อเสนอแนะสำคัญในการเพิ่มความยืดหยุ่นทางการคลังท่ามกลางความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น มีดังนี้:

• ปรับลดการอุดหนุนพลังงานที่ไม่เป็นธรรมต่อการกระจายรายได้ (เช่น ในภาคการขนส่ง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) ซึ่งส่งผลให้กองทุนน้ำมันของรัฐขาดดุล โดยควรเปลี่ยนไปเน้นการให้ความช่วยเหลือทางสังคมและการโอนเงินแบบมุ่งเป้ามากขึ้นเพื่อสนับสนุนครัวเรือนที่เปราะบางและบรรเทาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

• เพิ่มรายได้จากภาษี ส่งเสริมการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างพื้นที่ทางการคลัง แม้ว่าการจัดเก็บรายได้ภาครัฐจะปรับตัวดีขึ้นถึง 16% ของ GDP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แต่ก็ยังคงต่ำกว่าประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง จึงจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ควบคู่ไปกับการลดความยากจน เช่น การปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มและการนำมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ร่วมกัน เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีมาตรการอื่นๆ ได้แก่ การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การปรับลดแรงจูงใจทางภาษีที่ไม่จำเป็น การขยายการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง การปรับปรุงการปฏิบัติตามภาษี และการนำภาษีคาร์บอนมาใช้

• เร่งการลงทุน การลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีใหม่ และทุนมนุษย์ที่สนับสนุนและส่งเสริมซึ่งกันและกัน จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนและกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคที่ล้าหลังได้ (ดูบทที่ 2 เรื่องนวัตกรรมท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลง: เสริมความแข็งแกร่งให้แก่ SMEs และสตาร์ตอัป และรายงานเศรษฐกิจโลกประจำประเทศไทย มิถุนายน 2567: การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตของเมืองรอง)

ธนาคารโลก ยังระบุอีกว่า แม้ว่าแนวทางการผ่อนปรนมาตรการทางการเงินอย่างระมัดระวังจะเหมาะสมในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่การดำเนินมาตรการที่สมดุลระหว่างการบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนอย่างตรงเป้าหมายและการลดข้อจำกัดด้านสินเชื่อให้น้อยที่สุดควบคู่ไปกับรักษาเสถียรภาพทางการเงินก็ยังคงมีความจำเป็น ในระยะต่อไป 

การกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดสำหรับการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือหนี้ควรเชื่อมโยงกับกลยุทธ์การออกจากโครงการในอนาคต (Exit Strategy) เพื่อลดความไม่แน่นอนของเจ้าหนี้และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการเงิน ผู้ดำเนินนโยบายจำเป็นต้องรักษามาตรฐานการกำกับดูแลที่สำคัญ (Prudential Regulations) อย่างระมัดระวัง

เช่น กรอบการจำแนกความเสี่ยงของสินเชื่อ (Loan Classification Framework) ข้อกำหนดในการจัดสรรเงินสำรอง (Provisioning Requirements) และมาตรฐานการบัญชีที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในระดับสากล รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการปรับเปลี่ยนคำจำกัดความหรือการจำแนกประเภทที่อาจบั่นทอนความเข้มแข็งของระบบการกำกับดูแล

ทั้งนี้มาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจควรเป็นการดำเนินการควบคู่ไปกับการปฏิรูปนโยบายระยะยาวและเชิงโครงสร้างโดยหน่วยงานที่มีอำนาจในภาคการเงิน อาทิการปรับปรุงการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน (Financial Consumer Protection) และการนำกรอบการกู้ยืมอย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending Framework) เช่น การกำหนดขีดจำกัดอัตราส่วนการชำระหนี้ (Debt Service Ratio Limits) และการใช้กรอบการกำกับดูแลเชิงมหภาค (Macroprudential Framework) เป็นต้น

‘แพทองธาร’ สั่งเดินหน้าเร่งเครื่องเศรษฐกิจ หวังทุกหน่วยงานทั้งรัฐ-เอกชน ช่วยดันจีดีพีโตเกิน 3%

นายกรัฐมนตรี เปิดประชุมบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1 สั่งทุกหน่วยงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผลักดันจีดีพี ปี 2568 โตเกิน 3%

(10 มี.ค. 68) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2568 ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยย้ำว่ารัฐบาลจะเดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเกินเป้าหมาย 3% ที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้

นายกฯ ระบุว่า แม้ในช่วงปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนให้ขยายตัวได้มากกว่านี้ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกกระทรวงและภาคเอกชน

ทั้งนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานร่วมกันคิดค้นมาตรการและโครงการที่สามารถเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยจะเน้นไปที่การขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุก ควบคู่กับการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีความยั่งยืนในระยะยาว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top