Friday, 25 April 2025
กรมเจ้าท่า

กรมเจ้าท่า จัดกิจกรรม 'คมนาคมส่งยิ้ม เจ้าท่าสร้างสุข มอบหาดทรายสวยสู่ประชาชน' @ ชายหาดจอมเทียน มอบเป็นของขวัญรับปีใหม่ 2567

(26 ม.ค.67) ที่บริเวณชายหาดจอมเทียน พัทยา ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม จัดกิจกรรม "คมนาคมส่งยิ้ม เจ้าท่าสร้างสุข มอบหาดทรายสวยสู่ประชาชน" @ ชายหาดจอมเทียน เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้ประชาชน ตามนโยบาย “คมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนโยบาย “ราชรถยิ้ม” ของ ดร.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมีนายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมด้วย นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการกระทรวงคมนาคม, นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่าด้านปลอดภัย นายภัควัต ขันธหิรัญ นายอำเภอสัตหีบ นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา, นางสาวระพีพรรณ รัตนเหลี่ยม นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลนาจอมเทียน และผู้บริหารหน่วยราชการในพื้นที่ เข้าร่วม 

นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์  ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม ได้เล็งเห็นถึงความสำเร็จ จากการฟื้นฟูเสริมทรายชายหาดพัทยา ต่อเนื่องมาจนถึงชายหาดจอมเทียนแห่งนี้ ส่งผลให้เกิดคุณค่าด้านจิตใจและเพิ่มมูลค่าด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟู อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ส่งเสริมการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ให้กลับมาคึกคัก พร้อมสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ จึงได้ผลักดันให้กรมเจ้าท่าจัดทำแผนการพัฒนาชายฝั่งทะเลด้านการเสริมชายหาด Beach Nourishment เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ฟื้นฟู อนุรักษ์พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ โดยทำการเสริมทรายในพื้นที่ชายหาดจอมเทียน ซึ่งเป็นโครงการที่ 2 ต่อจากชายหาดพัทยา เพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน สร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว และการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถสร้างมาตรการควบคุมผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด เป็นไปตามมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยทั่วไป

โครงการเสริมทรายชายหาดจอมเทียน ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงคมนาคม จำนวน 521,924,392.40 บาท (ห้าร้อยยี่สิบเอ็ดล้านเก้าแสนสองหมื่นสี่พันสามร้อยเก้าสิบสองบาทสี่สิบสตางค์) โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2563 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 สำหรับแหล่งทรายที่ใช้เสริมชายหาดจอมเทียน นำมาจากบริเวณทิศตะวันตกของเกาะรางเกวียน ซึ่งอยู่ห่างจากชายหาดจอมเทียนออกไปประมาณ 15 กิโลเมตร และเป็นแหล่งเดียวกับที่ใช้เสริมทรายชายหาดพัทยา ใช้ทรายรวมทั้งสิ้นประมาณ 640,000 ลูกบาศก์เมตร ภายหลังจากการฟื้นฟูชายหาดจอมเทียนเสร็จสิ้น ชายหาดจะมีขนาดกว้างเฉลี่ยประมาณ 50 เมตร ความยาว 3,575 เมตร ซึ่งจะสามารถสร้างประโยชน์ในพื้นที่ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยการพลิกฟื้นคืนความงดงามของชายหาดจอมเทียนให้กลับมาสวยงาม และใช้เป็นพื้นที่สันทนาการได้มากขึ้น
***(สัมภาษณ์ :- ทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์  ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม)

'กรมเจ้าท่า' เตรียมเผยโฉมใหม่ 'ท่าเรือท่าเตียน' มี.ค.นี้   พร้อมเร่งพัฒนาท่าเรืออื่นๆ ในกรุงเทพและปริมณฑล 

(20 ก.พ.67) นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า ท่าเรือท่าเตียนมีความสำคัญตั้งแต่ในอดีต เป็นท่าเรือสำคัญของพระนคร ในฐานะตลาดการค้าขนาดใหญ่ เป็นจุดขนส่งอาหาร ผัก ผลไม้ และเป็นท่าเรือโดยสารอีกด้วย ปัจจุบันความสำคัญท่าเรือท่าเตียน มีจุดเชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญมากมาย อาทิ พระบรมมหาราชวัง, วัดพระแก้ว, วัดโพธิ์, วัดอรุณฯ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ที่มีความสำคัญอย่างมาก และด้วยตำแหน่งที่ตั้งของท่าเตียนในปัจจุบัน ที่อยู่ตรงข้ามกับพระปรางค์วัดอรุณฯ จะทำให้เป็นอีกหนึ่งท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็น Landmark ให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มาเช็กอิน และถ่ายภาพ มุมฝั่งตรงข้าม ที่เห็นพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่สวยงามยามพระอาทิตย์ตก 

สำหรับ ท่าเรือท่าเตียน มีความสำคัญสำหรับการเดินทางคมนาคมทางน้ำ รองรับเรือต่างๆ ดังนี้ 1. เรือข้ามฝากท่าเตียน ฝั่งท่าวัดอรุณ ธนบุรี 2. เรือโดยสารสาธารณะ (เรือด่วนเจ้าพระยา เรือไฟฟ้า) 3. เรือทัวร์ และเรือทั่วไป

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า ได้ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณท่าเรือท่าเตียน และพื้นที่ด้านหน้าอาคารสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมออกทั้งหมด แล้วดำเนินการก่อสร้างท่าเรือใหม่ เพื่อใช้สำหรับการคมนาคมทางน้ำ ทั้งเรือข้ามฟากและเรือโดยสาร อีกทั้งใช้เป็นแหล่งพักผ่อน และชมวิวทิวทัศน์แม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมออกแบบท่าเรือให้กลมกลืนกับ อาคารบริเวณใกล้เคียงโดยต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ซึ่งท่าเรือฯ มีสิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่ให้บริการ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ลานโล่ง รวม 1,320 ตารางเมตร มีอาคารพักคอย จำนวน 2 หลัง พร้อมทางลาดสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ เก้าอี้รองรับสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ ที่จอดรถวีลแชร์และการประชาสัมพันธ์ด้วยระบบภาพและเสียง สำหรับโป๊ะเทียบเรือ มีจำนวน 4 ลูก ประกอบด้วย ท่าเรือข้ามฟาก จำนวน 2 ลูก และท่าเรือโดยสาร จำนวน 2 ลูก โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 39.047 ล้านบาท พร้อมเปิดใช้ในเดือนมีนาคม 2567 นี้

สำหรับแผนพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นสถานีเรือ 29 ท่า อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา โดย...

1. แบ่งเป็นท่าเรือที่ปรับปรุงแล้วเสร็จ จำนวน 9 ท่า ได้แก่ท่ากรมเจ้าท่า, ท่าสะพานพุทธ, ท่าเรือนนทบุรี, ท่าเรือพายัพ, ท่าบางโพ, ท่าช้าง, ท่าราชินี, ท่าเตียน, ท่าสาทร 

2. ท่าเรือที่อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุง มีจำนวน 5 ท่า ได้แก่...

- ท่าพระปิ่นเกล้า ผลงาน 60% คาดว่าจะแล้วเสร็จ เม.ย. 67
- ท่าพระราม 5 ผลงาน 45% คาดว่าจะแล้วเสร็จ พ.ค. 67
- ท่าปากเกร็ด ผลงาน 20% คาดว่าจะแล้วเสร็จ ส.ค. 67
- ท่าพระราม 7 ผลงาน 42% คาดว่าจะแล้วเสร็จ พ.ย. 67
- ท่าเกียกกาย ผลงาน 24% คาดว่าจะแล้วเสร็จ ธ.ค. 67

ทั้งนี้ เนื่องจากตำแหน่งก่อสร้างเป็นบริเวณเดียวกับตำแหน่งก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การก่อสร้างทั้ง 2 โครงการไม่กีดขวางกันจึงมอบให้ กรุงเทพมหานคร ดำเนินการต่อ)

3. ในปี พ.ศ. 2568 วางแผนจะพัฒนาปรับปรุงเพิ่มอีกจำนวน 4 ท่า ได้แก่ ท่าโอเรียนเต็ล, ท่าเทเวศร์, ท่าสะพานกรุงธน (ซังฮี้) และท่าเขียวไข่กา

4. ในปี พ.ศ. 2569 วางแผนจะพัฒนาปรับปรุงเพิ่มอีกจำนวน 11 ท่า ได้แก่ ท่าราชวงศ์, ท่าวัดเทพากร, ท่าพิบูลสงคราม 2, ท่าวัดเทพนารี, ท่าวัดตึก, ท่ารถไฟ, ท่าพิบูลสงคราม, ท่าสี่พระยา, ท่าวัดเขมา, ท่าพรานนก และท่าวัดสร้อยทอง

อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติม กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการตามนโยบาย 'คมนาคม เพื่อความอุดมสุข ของประชาชน' ซึ่งหมายถึงความสุขของประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านความปลอดภัย ด้านการให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากลและด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกรอบแนวทางภายใต้นโยบายของรัฐบาลและทุกหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม จะต้องขับเคลื่อนนโยบายด้านต่างๆ สู่การปฏิบัติ เพื่อประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาเกิดความสะดวกและความปลอดภัย

'กรมเจ้าท่า' ลุย 'ท่าเรือสำราญ' 3 จังหวัด หวังดันรายได้ท่องเที่ยวทางทะเล ตั้งเป้าเป็นศูนย์รับเรือสำราญใหญ่ที่สุดในโลก ชง 'เกาะสมุย' พิกัดแรก

เมื่อวันที่ (1 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ‘กรมเจ้าท่า’ ได้เริ่มว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ และได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2563 - 2566 ภายใต้แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว วงเงินรวม 156.15 ล้านบาท เนื่องจากโอกาสทางการเติบโตของการท่องเที่ยวทางทะเลผ่านเรือสำราญขนาดใหญ่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

โดยแผนพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ มีจำนวน 3 โครงการ ได้แก่

1. โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

โครงการนี้จะใช้พื้นที่ในการพัฒนาประมาณ 47 ไร่ แยกเป็นพื้นที่บนฝั่ง 15 ไร่ และพื้นที่นอกชายฝั่ง 32 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 12,172 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน 6,414.41 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา 5,757.19 ล้านบาท รูปแบบการลงทุนในลักษณะ PPP Net Cost โดยให้เอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุนในการก่อสร้างและการดำเนินงานทั้งหมด โดยรัฐจะชำระค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคืนให้ในระยะเวลา 10 ปี

โดยโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2568 จนถึงปี 2604 โดยเริ่มก่อสร้างในปี 2572 และจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี  2575 ซึ่งมีระยะเวลาการให้บริการยาวนานถึง 30 ปี คาดการณ์ว่าหลังจากเปิดให้บริการจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ตั้งแต่ 200,000 ถึง 400,000 คนต่อปี และรองรับเรือสำราญได้ 240 เที่ยวต่อปี

จากการศึกษาโครงการฯ คาดว่าโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ที่เกาะสมุยจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจตลอดระยะเวลา 30 ปี ประมาณ 46,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์สูงกว่า 15%

สถานะโครงการปัจจุบันกรมเจ้าท่าได้ส่งรายงานผลการศึกษา ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาแล้ว คาดว่าจะสามารถนำโครงการเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ก่อนสิ้นปี 2567 และจะเริ่มก่อสร้างในปี 2572 เมื่อโครงการนี้เสร็จสิ้นจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพการท่องเที่ยวของประเทศไทยในระดับโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

2. โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal)

โครงการนี้จะปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตให้สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ บริเวณชายฝั่งอันดามัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2567 โดยจะดำเนินการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ด้วยการขยายความยาวหน้าท่าเทียบเรือ ขุดลอกความลึกของร่องน้ำเท่ากับ -10.5 เมตร จากระดับน้ำลงต่ำสุด หรือ -12.8 เมตร เทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง

นอกจากนี้ จะขุดลอกเพื่อขยายแอ่งกลับลำเรือให้มีความเหมาะสม ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นและติดตั้งไฟหัวเขื่อน และก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารและเครื่องมืออุปกรณ์ที่เป็นมาตรฐานของท่าเทียบเรือสำราญที่เป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port) โดยเมื่อท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตได้รับการปรับปรุงตามแผนดังกล่าว จะทำให้ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตมีศักยภาพเป็นท่าเรือแบบ Hybrid ที่เป็นทั้ง Home Port รองรับเรือ Cruise ขนาดกลางถึงเล็ก และเป็นท่าเรือแวะพัก (Port of call) รองรับเรือ Cruise ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียที่บรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 4,200 - 4,900 คน

3. โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณอ่าวไทยตอนบน บริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

โครงการจะพัฒนาบริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยท่าเรือเป็นลักษณะผสมผสาน (Hybrid) โดยจะเป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port) สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1,500 คนต่อชั่วโมง และท่าเรือแวะพัก (Port of Call) จะสามารถรองรับผู้โดยสาร จำนวน 3,500 - 4,000 คนต่อชั่วโมง

อีกทั้งท่าเรือนี้จะพัฒนาให้สามารถรองรับเรือสำราญที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ รองรับเรือสำราญเข้าเทียบท่าได้พร้อมกัน 2 ลำ ความยาวท่าเทียบเรือ 300 เมตร พร้อมก่อสร้างอาคารพักผู้โดยสาร อีกทั้งจะพัฒนาที่จอดรถยนต์ เพื่อรองรับการเชื่อมต่อทางบกไปยังแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาที่จอดเรือโดยสาร และเรือเร็ว เพื่อเชื่อมต่อการท่องเที่ยวไปยังเกาะแก่งต่าง ๆ

สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้น ประเมินวงเงินลงทุนอยู่ที่ 7,412 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าลงทุนก่อสร้าง 5,934 ล้านบาท และค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) 1,478 ล้านบาท โดยกรมเจ้าท่าจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost สัญญาสัมปทาน 30 ปี คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลภายในปี 2568 ก่อนดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2569 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2572

เจ้าของเรือทิ้งขยะลงแม่น้ำเจ้าพระยา อ้างเป็นฝีมือพนักงานชั่วคราว ด้าน ‘กรมเจ้าท่า’ เตรียมล้อมคอกเข้าแจ้งความพร้อมพักใบขับขี่เรือ

กรมเจ้าท่า เร่ง !! ตรวจสอบกรณีเรือภัตตาคารปรากฏคลิปทิ้งขยะลงแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่ผู้บริหารเรือรอยัลกาแลคซี่ครูซ แถลงขอโทษพนักงานเทขยะทิ้งลงในแม่น้ำเจ้าพระยา อ้างเป็นพนักงานชั่วคราวทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ได้ยุติสัญญาจ้างพนักงานรายวันที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว 

(28 ก.พ. 68) จากกรณีผู้ใช้ Facebook Carla Porter โพสต์คลิปวิดีโอจากเจ้าของคลิป Mean Vanvarang โดยเนื้อหาในคลิปเป็นเรือภัตตาคารชื่อ Royal Galaxy Cruise ได้ทิ้งขยะลงแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับเรือฯ ลำดังกล่าว เลขทะเบียน 660001070 ชื่อเรือ รอยัล กาแล็คซี่ ครูซ ประเภทเรือโดยสารและภัตตาคาร มีบริษัท แฮปปี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เทรด จำกัด เป็นเจ้าของเรือ 

นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า ได้สั่งการให้สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ กรมเจ้าท่า รวบรวมข้อมูลดังกล่าว เพื่อเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อนายเรือและผู้เกี่ยวข้อง ต่อ สน.ปากคลองสาน และได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเรือฯ ลำดังกล่าวร่วมกับกรุงเทพมหานคร และตำรวจน้ำ โดยจุดที่เกิดเหตุอยู่ในลำแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานกรุงเทพ ซึ่งเกิดเหตุเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ช่วงเวลา 19.00 น. เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนตามมาตรา 119 พ.ร.บ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 (ฉบับที่ 14 พ.ศ.2535) ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า จะเร่งตั้งกรรมการและสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ของนายเรือเพื่อพิจารณาพักใช้ใบประกาศนียบัตรนายเรือ (ใบขับขี่เรือ) ให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน ในส่วนมาตรการอื่นๆ กรมเจ้าท่าจะดำเนินการ จัดประชุม สมาคมเรือไทย ผู้ประกอบการเรือโดยสารในลำแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ตระหนักถึงการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมทางน้ำ ตลอดจนการดูแลความปลอดภัยในการโดยสารทางเรือ และหากประชาชนหรือผู้โดยสารทางเรือพบเห็นเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยทางน้ำ หรือการทิ้งสิ่งของต่างๆ ลงไปในลำแม่น้ำ ลำคลอง หรือทะเล สามารถโทรแจ้ง สายด่วนกรมเจ้าท่า 1199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวเน็ตจำนวนมากที่เห็นคลิปวิดีโอแล้วรู้สึกไม่พอใจอย่างมาก โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ‘ทนายวนิดา แซ่ก๊วย’ ได้โพสต์ข้อความว่า พวกเราต้องออกมาเพื่อให้บริษัท Royal Galaxy Cruise  มีการวางโทษหรือคาดโทษให้กับพนักงานกลุ่มนี้โดยนำเงินหักจากเงินเดือนและเพื่อนำเงินเดือนของที่หักมานั้นเพื่อไปเป็นประโยชน์กับสาธารณะในการทำสิ่งแวดล้อมในองค์กรใดองค์กรหนึ่งหรือสภาทนายความที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมได้นะคะเพราะสภาทนายความสำนักงานสิ่งแวดล้อม ทำเพื่อมวลชนและทำเพื่อประชาชนค่ะและให้ช่วยลงข่าวถึงการรับรู้ของประชาชนว่าบริษัท Royal Galaxy Cruise ได้ออกมาขอโทษและทำอะไรที่ดีสำหรับสิ่งแวดล้อมด้วยนะคะช่วยกันแชร์เยอะๆ นะคะเพื่อที่จะให้สังคมประเทศไทยน่าอยู่หากผู้ประกอบการมีการรักษาสิ่งแวดล้อมพวกเรายินดีที่จะสนับสนุนแต่องค์กรใดที่ยังไม่รักษาสิ่งแวดล้อม ต้องออกมาขอโทษและทำในสิ่งดีดีให้กับสิ่งแวดล้อม

ล่าสุด ทางด้านเรือรอยัล กาแลคซี่ ครูช (Royal Galaxy Cruise) ได้ออกแถลงการณ์ ว่า ในนามของ เรือรอยัลกาแลคซี่ครูซ เราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางผู้บริหารได้รับทราบและไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเรื่องนี้และวางมาตรการแก้ไขทันที

จากการตรวจสอบ พบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากพนักงานลูกจ้างชั่วคราว ที่หมุนเวียนกันเข้าทำงาน ยังไม่ได้รับการอบรมเรื่องขั้นตอนการจัดเก็บขยะบนเรือหลังเลิกงาน ได้กระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในส่วนพนักงานประจำทุกคนจะได้รับการอบรมเรื่องความสะอาดและกระบวนการกำจัดขยะ อย่างถูกต้องอยู่เสมอมา

มาตรการแก้ไขและป้องกัน

- ยุติสัญญาจ้างพนักงานรายวันที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
- กำชับพนักงานทุกคนให้ปฏิบัติตามมาตรฐานความสะอาดและสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด
- เพิ่มการตรวจสอบและอบรมให้เข้มข้นยิ่งขึ้น

เราขออภัยอีกครั้ง และขอยืนยันว่าจะปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นเพื่อรักษาคุณภาพการบริการและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และจะไม่ให้ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นอีก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top