Friday, 17 May 2024
กรมราชทัณฑ์

‘พี่เต้’ หิ้วส้มตำ-ไก่ย่าง บุกชั้น 14 รพ.ตำรวจ เยี่ยม ‘ทักษิณ’ แต่ ‘ราชทัณฑ์’ ไม่อนุญาต เหตุไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่แจ้งไว้

(7 พ.ย. 66) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ อดีต สส.และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ เดินทางเข้าเยี่ยมนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องขังคดีทุจริตที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยได้นำส้มตำ-ไก่ย่างจากร้านของนายสิระ เจนจาคะ อดีต สส.พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 20 ปี และผันตัวไปเปิดร้านไก่ย่าง มาเยี่ยมไข้นายทักษิณด้วย

โดยนายมงคลกิตติ์ ระบุว่า แม้ว่าวันนี้จะไม่ได้ลงทะเบียนเยี่ยมนายทักษิณ แต่ตนเองทราบมาว่า บุคคลภายนอกสามารถเข้าเยี่ยมได้ หากตัวผู้ต้องขังอนุญาต ซึ่งตนเองก็จะใช้สิทธิ์ตรงนี้ ส่วนคาดหวังว่าจะได้เข้าเยี่ยมหรือไม่นั้น ให้เป็นดุลยพินิจของนายทักษิณ

โดยเมนูที่นำมาเยี่ยมนายทักษิณวันนี้ คือ ไก่ย่างเขาสวนกลางปิ้งเอง 1 ตัว, ส้มตำไทยปู พริก 6 เม็ด, ข้าวเหนียว 4 ห่อ, ปลาขาวกรอบ 5 ห่อ ไว้รับประทานกับข้าวสวยและพริกน้ำปลา โดยยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถนำอาหารเข้าเยี่ยมได้หรือไม่ หากไม่ได้ ก็ให้เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ว่าจะนำอาหารทั้งหมดไปให้บุคคลใดแทนหรือไม่ แต่ตนเองถือว่าได้แสดงน้ำใจแล้ว โดยการเดินทางมาที่โรงพยาบาลตำรวจวันนี้ ตนเองยังคาดหวังจะได้พบนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อสอบถามอาการป่วยของนายทักษิณ หลังเข้ารับการรักษาตัวมานานกว่า 70 วันด้วย

ส่วนที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่านายสิระ รวมถึงนางสาวปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส. พรรคพลังประชารัฐ จะมาเยี่ยมนายทักษิณพร้อมๆ กับนายมงคลกิตติ์ด้วยนั้น แต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา นายสิระ ติดธุระด่วน ส่วนนางสาวปารีณา มีอาการป่วย ตัวรุมๆ ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า ทั้งสองมีผู้ใหญ่ติดต่อมาเจรจา ไม่ให้มาตนเองไม่ทราบ คงต้องไปสอบถามทั้งสองเอง แต่ทั้งสอง ก็ฝากความคิดถึง มาให้ตนเองเป็นตัวแทนในการเข้าเยี่ยมเพื่อติดตามอาการเจ็บป่วยของตัวนายทักษิณ เพราะที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลไม่เคยมีการแถลงข่าวอัปเดทอาการใดๆ ผิดจากเราบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ผ่านมาที่ปรากฏว่าจะมีการแถลงข่าวในทุกอาทิตย์

สำหรับการเข้ารักษาตัวของ นายทักษิณ ตนไม่รู้ว่าสรุปแล้ว นายทักษิณ ป่วยเป็นไรกันแน่ เพราะตามปกติถ้านักโทษมีชื่อเสียง คณะแพทย์ต้องแถลงอาการทุกสัปดาห์ว่าเจ็บป่วยอะไรบ้าง ขั้นตอนรักษาเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อให้ประชาชนทราบ เชื่อว่าคนอายุ 74 ย่าง 75 ปี มีโรคภัยไข้เจ็บอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ยังมีแชตจากทางบ้านฝากตนให้มาถามอาการว่า นายทักษิณ เป็นอย่างไรบ้าง หากตนได้เจอจะได้รู้ว่าสุขภาพยังแข็งแรงดี ไม่ต้องกังวลมาก แต่ก็ขึ้นอยู่กับ นายทักษิณ อยากให้เข้าเยี่ยมหรือไม่ เพื่อนๆ ของตน ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล อยากมาเยี่ยมกันมาก เพราะตอนนี้เยี่ยมได้แต่คนในครอบครัว การเยี่ยมครั้งนี้ตนเหมือนเป็นตัวแทนหมู่บ้าน

โดย นายมงคลกิตต์ กล่าวอีกว่า หากนายทักษิณ ไม่ได้รับประทานอาหารวันนี้คงเสียดาย จริงๆ อยากจะนำสตรอว์เบอรีมาฝากด้วย เมื่อถามว่ามีนัยยะหรือไม่นั้น นายมงคลกิตต์ ตอบว่า ไม่มี เป็นสตรอว์เบอรีที่ตนปลูกเอง พันธุ์ใหญ่

อย่างไรก็ตาม สำหรับการเข้าเยี่ยมทางกรมราชทัณฑ์ได้แจ้งว่า ทางครอบครัวชินวัตร แจ้งรายชื่อไว้ 10 รายชื่อ การเยี่ยมเป็นไปตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ ต้องถามความสะดวกใจของนักโทษก่อนว่าสะดวกให้เข้าเยี่ยมหรือไม่

‘รพ.ตำรวจ’ ยัน!! ไม่เปิดเผยอาการป่วย 'ทักษิณ' โยนราชทัณฑ์แจง หากใครอยากส่องสถานะชั้น 14

(14 ธ.ค. 66) ที่โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.) พ.ต.อ.หญิงศิริกุล ศรีสง่า โฆษก รพ.ตร. กล่าวถึงอาการของ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ที่พักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจใกล้ครบ 120 วัน ว่า ในส่วนของอาการคนไข้เป็นสิทธิส่วนบุคคลไม่สามารถเปิดเผยหรือให้ข้อมูลกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติคนในครอบครัวหรือเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ 

ส่วนกรณีกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท.บุกยื่นหนังสือถึงแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจเรียกร้องให้รักษาจรรยาบรรณแพทย์ และความยุติธรรมโดยการทำความเห็นอย่างตรงไปมากับทางราชทัณฑ์เรื่องอาการป่วยนายทักษิณ หลังบุตรสาวของ น.ช.ทักษิณ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า น.ช.ทักษิณ อยู่ในช่วงพักฟื้นตัวเท่านั้น และกลุ่ม คปท.เห็นว่าแพทย์ควรทำความเห็นและส่งตัว น.ช.ทักษิณ ไปพักฟื้นที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพราะมีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือครบนั้น ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานมายื่นหนังสือ ซึ่งทางโรงพยาบาลตำรวจ ก็รับไว้และทำรายงานให้ผู้บังคับบัญชาตามขั้นตอน แต่การให้ข้อมูลคนไข้ ย้ำว่าไม่สามารถเปิดเผยได้

“ส่วนคนไข้หรือญาติจะมอบหมายใครให้ข้อมูลก็เป็นสิทธิ์ พร้อมยืนยันว่าคนไข้ที่ทางราชทัณฑ์ส่งมาโรงพยาบาลตำรวจ มีระบบรักษาตามมาตรฐานอยู่แล้วในการดูแลผู้ป่วยทุกคนอย่างเท่าเทียม ส่วนการทำความเห็นเรื่องอาการคนไข้ให้ราชทัณฑ์ก็มีช่วงระยะเวลาอยู่ และจะมีเจ้าหน้าที่ของราชทัณฑ์มาคอยดูแลที่โรงพยาบาล โดยทั่วไปหากคนไข้หายดีหรือสามารถกลับไปเรือนจำได้ ทางแพทย์และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบไม่ใช่แค่กรณีใดกรณีหนึ่ง” โฆษก รพ.ตร. กล่าว

พ.ต.อ.หญิงศิริกุล กล่าวถึงกรณีกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ จะไปตรวจสอบที่ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา สถานที่รักษาตัวของ น.ช.ทักษิณ นั้น ว่า หากมีการแจ้งมาทางโรงพยาบาลตำรวจ ก็จะต้องประสานไปยังกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นเรื่องเพื่อให้พิจารณาและดำเนินการตามระเบียบ ส่วนจะอนุญาตหรือไม่ยังไม่สามารถตอบได้

‘เพื่อไทย’ ดับร้อน!! โยก ‘รองตุ๋ย’ คุมยุติธรรม ขยับ ‘รองสมศักดิ์’ แบ่งเบางาน ‘รองอ้วน’

ปริศนาส่งท้ายปีกระต่ายสลายขั้วที่ยังฟันธงกันไม่สะเด็ดน้ำก็คือ กรณีท่านนายกฯ สูงยาวถุงเท้าแดงของ ‘เล็ก เลียบด่วน’ หรือ เศรษฐา ทวีสิน ลงนามคำสั่งวันที่ 25 ธ.ค. 66 โยกย้ายสลับงานรองนายกฯ 3 คน ให้รองตุ๋ย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ไปกำกับดูแลงานกระทรวงยุติธรรม แทนสมศักดิ์ เทพสุทิน ส่วน รองสมศักดิ์นั้น ได้รับมอบหมายให้ไปกำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข แทนภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ เจ้าของฉายา ‘รองกอง’ งานอะไร ๆ ต่อมิอะไรก็โยนมาให้ท่านลองกอง เอ๊ย! รองกอง

นี่ล่าสุดนายกฯ โยนตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 มาให้อีก...ก็ขอเตือนท่านรองกองว่าอย่าล้อเล่นกับกฎหมายงบประมาณน่ะครับ...โปรดพกยาหอมยาดมไปเยอะ ๆ นะครับ

กลับมาที่เรื่องกระทรวงยุติธรรม ทำไมต้องเด้งสมศักดิ์แล้วหันไปใช้บริการพีระพันธุ์...ส่วนใหญ่ฟันธงกันว่าเป็นเพราะสมศักดิ์ให้สัมภาษณ์แบบอัดยับข้าราชการกระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะกรมราชทัณฑ์ว่าล้มเหลวในการทำงาน การชี้แจงเรื่องระเบียบราชทัณฑ์...คุกนอกเรือนจำ เลยโดนโยก…

มีคำถามว่า..อ้าว! คำสั่งนายกฯ ลงวันที่ 25 ธ.ค.นะ แต่ท่านสมศักดิ์พูดวันที่ 26 ธ.ค.น่ะ...ฝ่ายที่เชื่อว่าถูกโยกเพราะเรื่องนี้ก็อธิบายว่า เรื่องวันที่ลงนามคำสั่งนั้นจะลงวันที่เท่าไหร่ก็ได้..แต่เอาเป็นว่าเรื่องนี้นายกฯ ไปกระซิบบอกรองตุ๋ย พีระพันธุ์ให้รับทราบตอนเลิกประชุมครม.วันที่ 26 ธ.ค.แล้ว

การสับขาหลอกลงวันที่ 25 ธ.ค.จึงนับว่าเนียน…

อย่างไรก็ตาม ‘เล็ก เลียบด่วน’ ไม่เชื่อว่าเหตุผลโยกสมศักดิ์ออกจากการดูแลกระทรวงยุติธรรม จะเป็นเพราะสมศักดิ์เริ่ม ‘โอเวอร์ แอ็กชัน’ เท่านั้น แต่ยังมีเหตุผลสำคัญอื่น ๆ ดังนี้

1.การโยกสมศักดิ์ไปดูกระทรวง สธ. แทนภูมิธรรม เป็นการลดโหลดงานรองอ้วนได้อย่างลงตัว อีกทั้งระยะหลัง ๆ พบว่าสมศักดิ์กับ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร ที่ไปมีบทบาทเรื่องสุขภาพแห่งชาติ ประสานการทำงานกันได้ดี

2.การโยกสมศักดิ์ออก และเอาพีระพันธุ์เสียบแทน เป็นการลดความเป็น ‘ตำบลกระสุนตก’ ของพรรคเพื่อไทยได้ไม่น้อย เพราะที่ผ่านมาสมศักดิ์ถูกมองว่าทำเรื่องกฎหมาย กฎกระทรวง เพื่อรองรับวีไอพีชั้น 14

2.1 พีระพันธุ์เป็นนักกฎหมาย เป็นอดีตรมว.ยุติธรรมมาก่อน ภาพลักษณ์ดูตรงไปตรงมา น่าเชื่อถือ จากนี้ไป ‘เผือกร้อน’ ก็จะตกอยู่กับมืออาชีพ

2.2 พีระพันธุ์รู้จักและสามารถพูดคุยกับกลุ่มต่าง ๆ ที่กำลังขับเคลื่อนกรณีนักโทษเทวดาให้เป็นนักโทษธรรมดา..น่าจะหาจุดรอมชอม ลงตัวกันได้โดยไม่เสียหลักการของทุกฝ่าย

2.3 พีระพันธุ์รู้ดีถึงบริบทของบ้านเมืองยุคสลายขั้ว พีระพันธุ์เป็นเพื่อนกับ ‘บิ๊กแดง’ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รู้อุณหภูมิบ้านเมือง ทิศทางลม...เขาคงไม่สุดโต่งถึงขั้นจะทำภารกิจลับแบบ ‘ทักษิณโมเดล’ ในกรณียิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่อาจจะมีภารกิจลึกในเชิงกฎหมายที่เขาอาจให้คำแนะนำได้..!!

3. การมอบหมายงานกระทรวงยุติธรรม พร้อมกับตำแหน่งประธานบอร์ดอีก 4 บอร์ด เช่น ประธานกรรมการปราบปรามยาเสพติด ฯลฯ อาจมีเป้าประสงค์แอบแฝงเพื่อลดความร้อนแรงการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงราคาพลังงานที่เขากำลังทำ อันนี้อาจมีส่วนบ้าง แต่ฟันธงว่าพีระพันธุ์ไม่ยอม…

สรุปสุดท้ายประสา ‘เล็ก เลียบด่วน’ ก็ต้องบอกว่างานนี้พรรคเพื่อไทยขอใช้บริการ’ รองตุ๋ย’ นัยว่า..ดีลลับพิเศษเรื่องการสลายขั้ว การปรองดองสมานฉันท์ ยังไม่จบ ต้องเดินหน้าต่อไป

มองแบบโลกสวยนิดก็ต้องบอกว่ารองตุ๋ยอาจทำให้กระบวนการยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ กลับมาเป็นผู้เป็นคนมากกว่าเดิม!! 

สวัสดี

เรื่อง: เล็ก เลียบด่วน

‘วัชระ’ สุดทน!! ยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช. สอบนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ไล่เช็ก ‘ราชทัณฑ์’ ส่อเอื้อประโยชน์นักโทษ ด้าน ‘พ.ต.อ.ทวี’ โดนด้วย!!

(13 ม.ค.67) นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (12 ม.ค. 67) หลังจากทราบว่า คณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ไปที่โรงพยาบาลตำรวจ แล้วไม่ได้พบ นช.ทักษิณ ชินวัตร ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ จึงไปยื่นหนังสือถึง นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่อาคาร 4 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยในหนังสือร้องเรียนถึงปปช.มีรายละเอียดดังนี้

“ตามที่กรมราชทัณฑ์ได้รายงานสถานการณ์กรณีนายทักษิณฯ ออกรักษาตัวภายนอกเรือนจำเกิน 120 วัน ลงวันที่ 11 มกราคม 2567 โดยแจ้งความเห็นแพทย์ว่า ผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทาง และต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วย เพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิตนั้น

ข้าพเจ้านายวัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน กรณีเคลือบแคลงสงสัยข่าวกรมราชทัณฑ์เรียกสรรพนาม ‘นช.ทักษิณ ชินวัตร’ ว่า ‘นาย’ ทั้งที่ในปัจจุบันเป็น ‘นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร’ หรือชื่อย่อ ‘นช.’ มีโทษจำคุก 1 ปี ตามราชกิจจานุเบกษาและต้องถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกรมราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 กฎและระเบียบอย่างเคร่งครัด

การออกข่าวกรมราชทัณฑ์โดยใช้สรรพนามไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องของทางราชการ มีลักษณะเอื้อประโยชน์และอวยนักโทษที่มีฐานะ ไม่ปฏิบัติตามหลักนิติรัฐและนิติธรรมไม่เสมอภาคกับนักโทษทั่วประเทศ จำนวน 280,000 คน ส่อว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต ขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และผิดประมวลจริยธรรมของข้าราชการและตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ดังนี้

1.) ขอให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์กับพวก กรณีการออกข่าวกรมราชทัณฑ์ใช้สรรพนามเรียก นช.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและกรณีที่เกี่ยวข้อง เช่น การอนุมัติให้ นช.ทักษิณ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนของกรมราชทัณฑ์ โดยมีกรณีนายวิษณุ เครืองาม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เข้าไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และกรณีกรมราชทัณฑ์ตอบรับว่าจะส่งเอกสารและคลิปภาพ วันที่ 22-23 สิงหาคม 2566 ให้คณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร กรณี นช.ทักษิณ ให้สอบสวนเอาผิดว่าเหตุใดยังไม่ส่ง และขอให้ออกคำสั่งคุ้มครองคลิปวิดีโอดังกล่าวไม่ให้ถูกทำลาย

2.) ขอให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน แพทย์โรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจทุกรายและแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจชื่อ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ (พตร.) กรณี นช.ทักษิณ ชินวัตร ต้องรักษาอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน (เกิน 120 วัน) ส่อว่าใช้วิชาชีพแพทย์กรอกข้อความอันเป็นเท็จต่อราชการหรือไม่ ให้ตรวจทุกฉบับตั้งแต่ 22 สิงหาคม 2566 ถึงวันนี้

3.) ขอให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่าเหตุใดไม่ดำเนินการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ นช.ทักษิณ ชินวัตร ตามคำร้องเรียนลงวันที่ 20 ธันวาคม 2566 เจ็บป่วยจริงหรือไม่ ทำไมระยะเวลาการรักษาเกิน 120 วันยังไม่หายเป็นอะไร ทำไมอยู่นานถึง 120 วันเอื้อประโยชน์ให้กับ นช.ทักษิณหรือไม่

ทั้งนี้ โดยขอให้กันข้าราชการกรมราชทัณฑ์ (พัศดี/ผู้คุม) แพทย์พยาบาลโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจที่ให้การเป็นประโยชน์ไว้เป็นพยานทุกคน

‘ราชทัณฑ์’ เผย ‘ทักษิณ’ เข้าเกณฑ์พักโทษกรณีพิเศษ เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง-สูงวัย-เจ็บป่วยหลายโรค

(17 ม.ค. 67) ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 2 อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม, นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขาฯ รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วยนายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายบริหาร และนายแพทย์สมภพ สังคุตแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ ร่วมกันแถลงประเด็นสำคัญของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชน

นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ภายหลังจากที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ เกินกว่า 120 วัน โดยในทุกห้วงเวลานับตั้งแต่รักษาตัวครบ 30 ครบ 60 และเกินกว่า 120 วัน ก็เป็นไปตามขั้นตอนที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ จะต้องมีความเห็นและรายงานไปตามลำดับชั้น ทั้งการรายงานต่อปลัดกระทรวงยุติธรรม เมื่อครั้งรักษาตัวครบ 60 วัน และเมื่อเกินกว่า 120 วัน ก็ต้องรายงานให้รัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งเมื่อวันที่ 12 ม.ค.67 ที่ผ่านมา นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้เซ็นรับทราบการอนุญาตนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ จากนั้นวานนี้ (16 ม.ค.67) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้เซ็นรับทราบถึงการนอนพักรักษาตัวของนายทักษิณ ที่เกินมา 136 วัน ถือว่าเข้าเงื่อนไขและปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย

นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า กรณีของนายทักษิณ ที่นอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ ต้องยอมรับว่าได้ถูกตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นต้น โดยเฉพาะทางผู้ตรวจการแผ่นดิน มีตัวแทนขึ้นไปบนชั้น 14 รพ.ตำรวจ และได้พบนายทักษิณ ซึ่งส่วนตัวตนเองในฐานะข้าราชการการเมือง เชื่อมั่นว่านายทักษิณนอนพักที่ รพ.ตำรวจ จริง ไม่ได้อยู่ที่คอนโดมิเนียมอย่างที่สังคมเคลือบแคลงสงสัยแน่นอน จึงอยากให้การแถลงข่าววันนี้ได้ลงรายละเอียดลึกเพื่อให้สังคมได้เข้าใจข้อเท็จจริง

ด้านนายสิทธิ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าของระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 นั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางกรมราชทัณฑ์ ได้มีการประชุมและรายงานต่อคณะกรรมการราชทัณฑ์ให้รับทราบถึงการดำเนินการ เพราะกฎกระทรวงกำหนดให้กรมราชทัณฑ์ต้องออกระเบียบนี้ ส่วนความคืบหน้าของระเบียบแนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขัง ที่จะต้องมารองรับระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 หรือ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งในวันประชุม ทางฝ่ายเลขาก็ได้นำเสนอในที่ประชุมว่าถ้าหากคณะกรรมการราชทัณฑ์ท่านใดมีข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ทางกรมราชทัณฑ์ก็จะต้องรับฟัง อีกทั้งในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิก็จะส่งข้อมูลให้กรมราชทัณฑ์ เพื่อเตรียมยกร่างหลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณา แต่ ณ วันนี้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำยังไม่ได้มีการดำเนินการใด เพราะต้องรอระเบียบหลักเกณฑ์ แนวทางการปฏิบัตินี้ก่อน

ส่วนกลุ่มผู้ต้องขังในรายคดีใดที่จะได้รับการละเว้นจากระเบียบดังกล่าว เราต้องใช้ในการจำแนกวิเคราะห์เช่นกัน ว่ารายคดีใดจะได้ประโยชน์ หรือรายคดีใดต้องละเว้น แต่ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน เพราะต้องไปศึกษาให้รอบคอบก่อนว่าจะแบ่งกลุ่มอย่างไร ส่วนจำนวนผู้ต้องขังล็อตแรกที่จะใช้พิจารณาก็ยังไม่สามารถระบุได้ ต้องรอการศึกษาให้รอบด้านก่อน และต้องรอฟังความเห็นจากคณะกรรมการราชทัณฑ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยเพื่อความรัดกุมที่สุด

นายสิทธิ กล่าวถึงประเด็นโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ ว่า เรื่องนี้เป็นประโยชน์ของผู้ต้องขังที่มีสิทธิ์ได้รับ แต่การพิจารณาว่าผู้ต้องขังรายใดจะเข้าเกณฑ์โครงการดังกล่าวนั้น ทาง ผบ.เรือนจำฯ แต่ละแห่งจะเป็นผู้พิจารณาว่าใครมีความเหมาะสมหรือผ่านคุณสมบัติได้รับการพักโทษ ทั้งแบบกรณีมีเหตุพิเศษและแบบปกติ ซึ่งผู้ต้องขังจะไม่สามารถเสนอตัวเองได้ เป็นการจัดทำประมวลเรื่องโดยเรือนจำนั้นๆ อย่างไรก็ตาม เรือนจำแต่ละแห่งจะมีการพิจารณาผู้ต้องขังที่ผ่านเกณฑ์พักโทษในทุกเดือน แล้วจึงจะเสนอรายชื่อมายังกรมราชทัณฑ์ เพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ ที่จะประชุมในทุกเดือน ทั้งนี้ ทางกรมราชทัณฑ์ โดยนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังไม่ได้รับรายงานจากนายนัสที ทองปลาด ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ถึงประเด็นรายชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร ว่าเข้าเกณฑ์โครงการพักการลงโทษหรือไม่

“สำหรับคุณสมบัติของนายทักษิณ หากดูจากหลักเกณฑ์ที่ว่าเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นกลาง สูงวัย และมีอาการเจ็บป่วย ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาในโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป (นักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป) แต่อย่างไร ณ วันนี้ทางกรมยังไม่ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จึงยังไม่มีข้อมูลตรงนี้ ส่วนกระบวนการหากนายทักษิณผ่านเข้าโครงการดังกล่าวจริง จะเป็นการดำเนินการโดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติว่าจะจัดทำเรื่องเอกสารอะไรอย่างไร รวมถึงกรณีการติดกำไล EM จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการพักการลงโทษที่จะพิจารณาเหตุต่างๆ หากจะไม่ติดกำไล ก็ต้องมีเหตุผลประกอบ” นายสิทธิ กล่าว

นายสิทธิ กล่าวถึงระบบพักการลงโทษว่า หากผู้ต้องขังรายใดเข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ ตามขั้นตอนแล้วก็จะมีต้องมีรายชื่อของผู้อุปการะ ซึ่งกรมคุมประพฤติจะต้องไปสืบเสาะว่าใครจะเป็นผู้อุปการะผู้ต้องขัง และเมื่อพักโทษจะประกอบอาชีพอะไร และจะต้องรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติอย่างไรบ้าง หรือกำหนดอาณาเขตว่าห้ามพ้นรัศมีเท่าใด หรือห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ส่วนบทบาททางการเมือง ในระหว่างการพักโทษ สามารถกระทำได้หากไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือไปทำอะไรที่ผิดระเบียบ

'วัชระ' กังขา!! กรมราชทัณฑ์ย้าย 'ข้าราชการ' ซื่อสัตย์สุจริต ชี้!! ไม่เป็นธรรม เพราะไม่เลียนักการเมือง วอน!! นายกฯ ช่วย

'วัชระ เพชรทอง' อึ้ง!! กรมราชทัณฑ์ย้ายบุคลากรที่เป็นที่ทราบกันดีว่า ซื่อสัตย์ สุจริต ตรงไปตรงมา ยึดกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดเป็นข้าราชการที่ไม่เลียแข้งเลียขานักการเมือง สืบเนื่องจากไม่ตอบสนองนโยบายของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์ให้กับ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ใช่หรือไม่

เมื่อวานนี้ (10 เม.ย. 67) ที่ศูนย์รับเรื่องราวทุกข์ของรัฐบาล 1111 นายวัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผ่านนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีการโอนย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญกรมราชทัณฑ์อย่างไม่เป็นธรรม โดยนายวัชระ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า

ตนในฐานะอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากข้าราชการผู้ไม่ประสงค์ออกนามว่า มีการโอนข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกรมราชทัณฑ์ จำนวน 3 ราย อย่างไม่เป็นธรรม และไม่สมัครใจ 

ทั้งนี้สืบเนื่องจากไม่ตอบสนองนโยบายของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์ให้กับ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหมายเลข 6650102668 ให้ได้รับการพักโทษตามประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องหลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ใช่หรือไม่ หรือไม่ตอบสนองต่อคำสั่งทางการเมืองของฝ่ายการเมืองที่ผ่านมา การถูกโยกย้ายฉับพลันทันด่วนโดยไม่รู้ตัวให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยราชการอื่น ดังนี้

1. นายสิทธิ สุธีวงศ์ ตำแหน่งรองอธิบดี (ประเภทบริหาร ระดับต้น) (ตำแหน่งเลขที่ 5) กรมราชทัณฑ์ ไปดำรงตำแหน่งรองอธิบดี (ประเภทบริหาร ระดับต้น) (ตำแหน่งเลขที่ 2) กรมคุมประพฤติ

2. นางสาวจุฑารัตน์ จินตกานนท์ ตำแหน่งรองอธิบดี (ประเภทบริหาร ระดับต้น) (ตำแหน่งเลขที่ 4) กรมราชทัณฑ์ ไปดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถาบัน (ประเภทบริหาร ระดับต้น) (ตำแหน่งเลขที่ 3) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์

ทั้งนี้ บุคคลทั้งสองที่มีคำสั่งโอนย้ายนั้น เป็นที่รู้กันในกรมราชทัณฑ์ว่าซื่อสัตย์ สุจริต ตรงไปตรงมา ยึดกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เป็นข้าราชการที่ไม่เลียแข้งเลียขานักการเมือง ดังนั้นขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีโปรดดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการโอนย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกรมราชทัณฑ์ จำนวน 3 ราย มีการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามกฎหมายระเบียบหรือไม่ ยึดหลักนิติรัฐนิติธรรมและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับข้าราชการและเกิดความไม่ยุติธรรมในการบริหารงานบุคคลในยุครัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน หรือไม่ 

และไม่เป็นตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 หน้า 17 การดำเนินนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง โปร่งใสและตรวจสอบได้สอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งเป็นการเริ่มต้นขจัดข้าราชการที่ไม่ตอบสนองทางการเมืองให้กับนักการเมืองให้ข้าราชการกระทรวงอื่น ๆ ดูเป็นตัวอย่าง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top