Monday, 7 July 2025
กรมทางหลวง

‘ทล.’ เล็งเปิดใช้ ‘มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช’ 80 กม. ปลาย ธ.ค. คลุมไป-กลับ ตลอด 24 ชม. รองรับการเดินทางเทศกาลปีใหม่ 67

(6 ต.ค. 66) นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กรมทางหลวง ได้กำกับ ติดตาม และลงพื้นที่ตรวจความพร้อมโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน - นครราชสีมา ตั้งแต่ช่วงปากช่องถึงถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา (ทล.204) ประกอบด้วย โครงการฯ ตอน 34, ตอน 39, ตอน 40, ด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางสีคิ้ว, ด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางข้ามทะเลสอ และโครงการทางแยกต่างระดับเชื่อมทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน - นครราชสีมา กับทางหลวงชนบทหมายเลข นม.1120 (ถนนสุรนารี 2) เพื่อเร่งรัดการก่อสร้างและพิจารณาความพร้อมทุกด้านในการเพิ่มระยะทางของเส้นทางอีก 16 กิโลเมตร

ที่ผ่านมากรมทางหลวงได้เปิดให้ใช้เส้นทางชั่วคราวสำหรับเทศกาลปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์บริเวณช่วงปากช่อง - สีคิ้ว - ขามทะเลสอ ระยะทาง 64 กิโลเมตร โดยกรมทางหลวง คาดว่าจะเปิดให้บริการบางส่วนบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 ช่วงปากช่อง - สีคิ้ว - ขามทะเลสอ - ถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา (ทล.204) รวมระยะทาง 80 กิโลเมตร ทั้ง 2 ทิศทาง (ขาไปและขากลับ) ตลอด 24 ชั่วโมง ในปลายเดือนธันวาคม 2566 เพื่อรองรับการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 และอำนวยความสะดวกในการเดินทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย

สำหรับภาพรวมโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน - นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร งานโยธาแบ่งการก่อสร้างเป็น 40 ตอน ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 28 ตอน และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 12 ตอน โดยโครงการมีความคืบหน้า 92 % (สรุป ณ เดือนกันยายน 2566) งานโยธาจะดำเนินการแล้วเสร็จในปีนี้อีก 2 ตอน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตลอดสายทางในเดือนมิถุนายน 2568

อย่างไรก็ตามเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญ ที่จะช่วยเติมเต็มโครงข่ายการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ เปิดประตูการค้าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทาง พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น

'กรมทางหลวง' พร้อม!! ปิดตำนานถนน 7 ชั่วโคตร เปิดใช้ฟรี 'มอเตอร์เวย์บ้านแพ้ว' 8 กม.กลางปี 67

(11 ต.ค. 66) นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามในข้อตกลงคุณธรรมร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 82 (M82) สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 24.7 กิโลเมตร (กม.) สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2566

สำหรับการลงนามข้อตกลงคุณธรรมในครั้งนี้ เป็นไปตามข้อกำหนดภายใต้ประกาศสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และ 2564 เพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันการทุจริตในโครงการร่วมลงทุน ส่งผลให้กระบวนการคัดเลือกเอกชนเป็นไปด้วยความสุจริต โปร่งใส และได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน

นายสราวุธ กล่าวว่าแผนการดำเนินโครงการ O&M มอเตอร์เวย์ M82 นั้น วงเงิน 15,724 ล้านบาท สัญญาสัมปทาน 32 ปี แบ่งเป็น ค่างาน O&M วงเงิน 14,687 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี และ ค่าก่อสร้างงานระบบ วงเงิน 1,037 ล้านบาท ระยะเวลา 2 ปี เบื้องต้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ ทล. จัดทำร่างเอกสารประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุน (RFP) แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างเตรียมเสนอโครงการฯ ต่อคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พิจารณาเห็นชอบต่อไป

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า ทล.มีแผนจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน และจำหน่ายเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) ในไตรมาส 1/2567 โดยจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอฯ ในช่วงไตรมาส 3/2567 ก่อนจะสรุปผลการคัดเลือกเอกชน และเสนอไปยังคณะกรรมการอัยการสูงสุด พร้อมลงนามในสัญญาภายในปลายปี 2567 หลังจากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลการคัดเลือกในช่วงไตรมาส 1/2568 ต่อไป 

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างงานโยธานั้น ตอนที่ 1 หรือสัญญาที่ 1-3 ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทาง 8.3 กม. วงเงิน 10,477.386 ล้านบาท ณ ก.ย. 2566 มีความคืบหน้าอยู่ที่ 86.45% จะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2567 และจะเปิดให้บริการทดลองใช้ฟรีทันที เชื่อมต่อการเดินทางกับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แบบไร้รอยต่อ 

นายสราวุธ กล่าวว่าขณะที่ ตอนที่ 2 อีก 10 สัญญา ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กม. ปัจจุบันผลงานคืบหน้า 33.94% ได้เร่งรัดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในกลางปี 2568 จากแผนจะแล้วเสร็จในปลายปี 2568 ซึ่ง ทล. จะพิจารณาเปิดใช้งานโยธา ควบคู่การส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชน เพื่อเข้าพื้นที่ไปดำเนินการโครงการ O&M โดยคาดว่า จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2569

“โครงการมอเตอร์เวย์ M82 ที่จะวิ่งลงสู่ภาคใต้นั้น ผมได้เร่งรัดให้งานโยธาแล้วเสร็จภายในกลางปี 68 จากเดิมกำหนดแล้วเสร็จภายในปลายปี 68 ซึ่งจะถือว่า เป็นการปิดตำนานถนนเจ็ดชั่วโคตรบนถนนพระราม 2 จบแน่นอน ส่วนต่อขยายจากบ้านแพ้ว ไปยังปากท่อ ซึ่งอยู่ในแผนฯ ของ ทล.นั้น คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 71 ซึ่งในช่วงดังกล่าว ยังมีปริมาณการจราจรไม่มากนัก และรอความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลในระยะต่อไป“ นายสราวุธ กล่าว

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการ O&M มอเตอร์เวย์ หมายเลข 6 (M6) สายบางปะอิน–นครราชสีมา และหมายเลข 81 (M81) สายบางใหญ่–กาญจนบุรี โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ซึ่งประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STECON) และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกนั้น 

ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการ M6 มีความคืบหน้าการดำเนินการล่าช้ากว่าแผน 19% เหตุจาก ทล. ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า เนื่องจากขณะนี้ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 12 ตอน ภายหลังได้รับการเพิ่มวงเงินจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2566 โดยในปี 2566 จะก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 ตอน, ปี 2567 แล้วเสร็จ 6 ตอน และจะแล้วเสร็จอีก 4 ตอนครบตลอดสายทางภายใน มิ.ย. 2568 ขณะที่ โครงการ O&M M81 ล่าช้ากว่าแผน 16% อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ไม่กระทบต่อแผนการดำเนินโครงการอย่างแน่นอน

สำหรับโครงการมอเตอร์เวย์ M82 จะใช้ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางในรูปแบบไร้ไม้กั้น (M-Flow) เต็มรูปแบบ 100% ทั้งนี้ ทล. คาดการณ์ปริมาณจราจรในปีแรกที่เปิดให้บริการอยู่ที่ 64,203 คันต่อวัน และมีปริมาณจราจรตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ได้รับสัมปทานรวม 1,548,539,113 คัน ส่วนการคาดการณ์รายได้ค่าธรรมเนียมผ่านทางปีแรกที่เปิดให้บริการอยู่ที่ 1,272.71 ล้านบาท และมีรายได้ค่าผ่านทางตลอดสัญญาสัมปทาน 30 ปี อยู่ที่ 116,954.15 ล้านบาท

‘ทล.’ ชี้ ถ.กาญจนาฯ ทรุดตัว เหตุได้รับผลกระทบจากการสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ เร่งประสาน ‘กปน.’ ซ่อมผิวจราจร-ตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้างด่วน

‘กรมทางหลวง’ เผย เหตุถนนกาญจนาภิเษกก่อนออกพระราม 2 ทรุดตัวจากชิ้นส่วนผนังอุโมงค์ท่อประปาแตก ทำให้น้ำและทรายไหลเข้าอุโมงค์ เร่งซ่อมโดยด่วน สั่ง!! วิศวกรลงพื้นที่ตรวจสอบขั้นตอน วิธีการก่อสร้างของ ‘กปน.’ เป็นไปตามแบบที่ขออนุญาตหรือไม่

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 67 กรมทางหลวง (ทล.) ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุถนนทรุดตัว บนทางหลวงหมายเลข 3902 ตอน พระประแดง - บางแค ที่ กม.15+500 หลังรับทราบเหตุเจ้าหน้าที่ได้ทำการลงพื้นที่ตรวจสอบทันที พบว่า ถนนบริเวณที่ได้รับแจ้งผิวจราจรมีรอยแตกและเกิดการทรุดตัว สาเหตุเกิดจากผิวจราจรได้รับผลกระทบ จากการดำเนินงานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำตามแนวถนนกาญจนาภิเษก จากถนนกัลปพฤกษ์ ถึง สถานีสูบจ่ายน้ำบางมด ซึ่งแนวเจาะท่อประปาอยู่ลึกลงประมาณ 25 เมตรจากระดับพื้นดิน แต่เนื่องจาก มีชิ้นส่วนผนังก่อสร้างอุโมงค์แตกจำนวน 1 ชิ้นส่วน จากทั้งหมด 5 ชิ้นส่วน ทำให้น้ำและทรายไหลเข้าอุโมงค์ โดยโครงการก่อสร้างดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของการประปานครหลวง (กปน.)

ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการปิดการจราจรในบริเวณที่ทรุดตัว และทำการเบี่ยงการจราจรไปใช้ทางหลวงหมายเลข 9 และกรมทางหลวงได้รับการประสานจากผู้รับจ้างของการประปานครหลวง ว่า จะดำเนินการซ่อมผิวทางเพื่อคืนผิวจราจรโดยจะทำการปรับระดับด้วย Asphalt Bound Base ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ในวันนี้ (6 ม.ค.) ก่อนที่จะสามารถเปิดการจราจรได้ตามปกติ

ทั้งนี้ กรมทางหลวง ได้สั่งการให้วิศวกรและผู้เชี่ยวชาญของกรมทางหลวง ลงพื้นที่ตรวจสอบขั้นตอน วิธีการก่อสร้างของงานโครงการดังกล่าว ว่าเป็นไปตามแบบที่ กปน. ได้ขออนุญาตไว้หรือไม่ และจะได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ กปน. ดำเนินการด้วยความละเอียดรอบคอบตามหลักวิศวกรรมเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทาง

สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำตามแนวถนนกาญจนาภิเษก จากถนนกัลปพฤกษ์ ถึง สถานีสูบจ่ายน้ำบางมด ของการประปานครหลวง (กปน.) มี ระยะทาง 15.6 กิโลเมตร มีบริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด เป็นผู้รับจ้าง

สมุทรปราการ-กรมทางหลวง เปิดเวทีรับฟังเสียงประชาชนแผนการพัฒนาโครงข่าย ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และหมายเลข 9 

เมื่อวานนี้ (27 พ.ค.68) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม Green Heart ชั้น 2 โรงแรมเดอะกรีนวิว ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ โดยนายพิชากร ศรีจันทร์ทอง ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสมุทรปราการ ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม สรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2) โครงการศึกษา ออกแบบ วิเคราะห์ แผนการพัฒนาโครงข่าย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และหมายเลข 9 ของกรมทางหลวง 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการศึกษาและสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการที่เหมาะสมให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ พร้อมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่มีต่อการศึกษาของโครงการจากกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้พิจารณาประกอบการออกแบบรายละเอียด รวมทั้งการกำหนดมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการ 

โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ ราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สื่อมวลชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม โดยการประชุมในครั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ 

โดยทางด้าน นายนิรันดร์ จันทร์ชม วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กรมทางหลวง เปิดเผยว่า สำหรับพื้นที่ศึกษาโครงการตั้งอยู่บริเวณทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ประมาณกิโลเมตรที่ 25+900 ถึง กิโลเมตรที่ 30+800 ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล 2 อำเภอ 1 จังหวัด ได้แก่ บริเวณพื้นที่ตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง ตำบลเปร็ง ตำบลบางบ่อ และตำบลระกาศ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ 

ทั้งนี้แนวทางการพัฒนาโครงการจะเป็นการก่อสร้างสะพานยกระดับ เพื่อรองรับรถเข้าทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 โดยถนนโครงการจะออกแบบเป็นสะพานยกข้ามถนนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 โดยได้มีการคัดเลือกตำแหน่งที่ตั้งทางแยกต่างระดับของโครงการ ซึ่งมีแนวทางเลือกทั้งหมด 3 แนวทาง ได้แก่ 
ตำแหน่งที่ 1 จุดตัดระหว่างถนนสายร่วมพัฒนา-ทล.34 บริเวณกิโลเมตรที่ 26+500 ในเขตตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งตำแหน่งนี้มีจุดเด่นที่ลักษณะทางกายภาพเป็นพื้นที่ราบและมีชุมชนในพื้นที่ค่อนข้างน้อย แต่มีจุดด้อยคือมีตำแหน่งใกล้กับด่านเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจราจรระหว่างการก่อสร้าง และต้องรอแผนการพัฒนาแนวเส้นทางของกรมทางหลวงชนบทที่ชัดเจน อีกทั้งการขนส่งวัสดุเพื่อการก่อสร้างยาก เนื่องจากไม่มีถนนเชื่อมต่อ และเขตทางเดิมเหลือพื้นที่น้อยสำหรับก่อสร้างทางชั่วคราว

ตำแหน่งที่ 2 จุดตัดระหว่างถนน สป.2003 บริเวณกิโลเมตรที่ 27+900 ในเขตตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งตำแหน่งนี้มีจุดเด่นที่ลักษณะทางกายภาพเป็นพื้นที่ราบและมีชุมชนในพื้นที่ค่อนข้างน้อย แต่มีจุดด้อยคือมีตำแหน่งใกล้ด่านเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจราจรระหว่างก่อสร้าง ต้องรอแผนการพัฒนาแนวเส้นทางของกรมทางหลวงชนบทที่ชัดเจน การขนส่งวัสดุเพื่อการก่อสร้างยาก เนื่องจากไม่มีถนนเชื่อมต่อ และเขตทางเดิมเหลือพื้นที่น้อยสำหรับก่อสร้างทางชั่วคราว

ตำแหน่งที่ 3 จุดตัดระหว่างถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี บริเวณกิโลเมตรที่ 30+200 ในเขตตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ มีจุดเด่นคือสามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับโครงข่ายถนนเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีระยะห่างจากด่านเก็บค่าผ่านทางลาดกระบังที่เหมาะสม ลักษณะทางกายภาพเป็นพื้นที่ราบ และพื้นที่ก่อสร้างไม่ผ่านลำน้ำสำคัญ แต่มีจุดด้อยคือมีบ้านเรือนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

โดยจากการพิจารณาคัดเลือกพบว่า ตำแหน่งที่ 3 มีความเหมาะสมที่สุด เนื่องจากมีแนวเส้นทางที่ชัดเจน สามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายถนนเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับปริมาณจราจรได้ดีและเอื้อต่อการเข้าถึงพื้นที่ก่อสร้างอย่างสะดวก ลดความยุ่งยากด้านการก่อสร้างและต้นทุนการขนส่งวัสดุ นอกจากนี้ยังมีต้นทุนจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินต่ำ และให้ประโยชน์ต่อผู้ใช้ทางมากกว่าแนวทางอื่น ส่วนการคัดเลือกรูปแบบทางแยกต่างระดับของโครงการ มีแนวทางเลือกทั้งหมด 4 รูปแบบ ได้แก่ 

ทางแยกต่างระดับรูปแบบที่ 1 Double Trumpet มีการก่อสร้างสะพานยกระดับ เพื่อรองรับการสัญจรระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 กับโครงข่ายถนนที่เชื่อมต่อในทุกทิศทาง ทางแยกต่างระดับรูปแบบที่ 2 Partial Cloverleaf with Semi Directional Ramp ฝั่งตะวันตกของแนวทางเลือก มีการก่อสร้างสะพานยกระดับ เพื่อรองรับการสัญจรระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 กับโครงข่ายถนนที่เชื่อมต่อในทุกทิศทางทางแยกต่างระดับรูปแบบที่ 3 Partial Cloverleaf with Semi Directional Ramp ฝั่งตะวันออกของแนวทางเลือก มีการก่อสร้างสะพานยกระดับ เพื่อรองรับการสัญจรระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 กับโครงข่ายถนนที่เชื่อมต่อในทุกทิศทาง 

ทั้งนี้ แม้ทางแยกต่างระดับรูปแบบที่ 2 และรูปแบบที่ 3 จะมีลักษณะทางกายภาพและจุดเด่น-จุดด้อยโดยรวมใกล้เคียงกัน แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดด้านทิศทางการเดินทางบางจุดที่แตกต่างกัน 

ทางแยกต่างระดับรูปแบบที่ 4 Trumpet with Semi Directional Ramp มีการก่อสร้างสะพานยกระดับ เพื่อรองรับการสัญจรระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 กับโครงข่ายถนนที่เชื่อมต่อในทุกทิศทางโดยจากการพิจารณาคัดเลือกพบว่า ทางแยกต่างระดับรูปแบบที่ 4 Trumpet with Semi Directional Ramp มีความเหมาะสมที่สุด เนื่องจากมีจุดเด่นในด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อชุมชนน้อยที่สุด และยังมีความเหมาะสมด้านวิศวกรรม ทั้งในแง่ความสะดวกในการก่อสร้างและการบริหารจัดการด่านเก็บค่าผ่านทาง สำหรับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิ สำรวจและเก็บตัวอย่างด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาประกอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) โดยมีประเด็นที่ศึกษาครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดลอมทางชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งจะนำไปศึกษาต่อในขั้นรายละเอียด (EIA) เพื่อเตรียมกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป

ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาและรายละเอียดของโครงการให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง โดยมีกำหนดจัดการประชุมหารือมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม (กลุ่มย่อย ครั้งที่ 2) ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม - กันยายน 2568 และกำหนดจัดประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3) ในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2568 เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาในทุกด้านให้ประชาชนได้รับทราบรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานต่อไป โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ที่ เว็บไซต์ www.m7-m9-interchange-ruamphathana-rd34.com หรือ Line Official : @515fcrum


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top