Wednesday, 23 April 2025
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

'อธิบดี ทช.' แจง!! ปลูกป่าชายเลน ไม่ใช่ต้นเหตุทำโลมาตาย ชี้!! เหตุเกยตื้น 'ไล่ล่าอาหาร-ซากถูกพัดไปหลังแนวไม้ไผ่'

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้กล่าวชี้แจง กรณี ของคุณนารากร ติยายน ผู้ประกาศข่าว แสดงความกังวลผ่านทางสื่อโซเชียล Facebook ถึงผลเสียของการทำ CSR ปลูกป่าชายเลน ต้นเหตุทำโลมาตายที่บางขุนเทียน โดยระบุว่า การดำเนินการตามภารกิจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช) มีภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้ง ป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อความมั่งคั่ง สมดุล และยั่งยืนของทะเลไทย และเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ พื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทยความยาวกว่า 3,151.13 กิโลเมตร ยังคงประสบปัญหากัดเซาะชายฝั่งอีกกว่า 80 กิโลเมตร ใน 17 จังหวัด ทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง กรม ทช. เลือกใช้มาตรการสีเขียวคือการเพิ่มพื้นที่ป่า ที่รู้จักกันในนามมาตรการขาว-เขียว-เทา ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งดำเนินการร่วมกับการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น เพื่อรักษาเสถียรภาพของชายฝั่งและลดความรุนแรงของคลื่นที่เข้าปะทะชายฝั่ง โดยในปี พ.ศ.2563 ทช.ร่วมกับ GISTDA แปลภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง พบว่า มีพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพ 1.737 ล้านไร่ มีผลการวิจัยศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน รวมเฉลี่ย 15.79 ตันคาร์บอน/ไร่

สำหรับการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่นเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่หาดโคลน เป็นวิธีที่กรมเลือกใช้เป็นหลัก โดยมีพื้นฐานแนวคิดมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการปักไม้ไผ่ทำโพงพางและทำคอกเลี้ยงหอยแมลงภู่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้ร่วมพัฒนาแนวคิดดังกล่าวกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนำมาประยุกต์ร่วมกับหลักวิชาการ และศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และได้ถอดบทเรียนจากต่างชาติด้วย ซึ่งข้อดีของการใช้ไม้ไผ่ในการปักเพื่อชะลอความรุนแรงของคลื่นบริเวณหาดโคลน คือ เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่ กระบวนการไม่ยุ่งยาก การรื้อถอนสามารถทำได้ง่าย ประยุกต์รูปแบบให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้ ไม่กระทบต่อการเดินเรือและการทำประมงของชุมชน เป็นต้น แต่ก็ต้องยอมรับถึงอายุการใช้งานของโครงสร้างไม้ไผ่ ซึ่งโครงสร้างจะอยู่ได้อย่างน้อยประมาณ 5 ปี โดยการเสื่อมสภาพมักจะเกิดจากคลื่นลมรุนแรง คุณภาพน้ำ การเกาะและกัดแทะของสัตว์ทะเล

การปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น กรม ทช. ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันมีการปักไม้ไผ่ไปได้ระยะแล้วกว่า 104 กิโลเมตร ใน 46 พื้นที่ 13 จังหวัด สามารถเพิ่มพื้นที่หาดโคลนหลังแนวไม้ไผ่และปลูกป่าชายเลนได้กว่า 320 ไร่ สำหรับการดำเนินการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น สิ่งสำคัญที่เราให้ความสำคัญและเป็นนโยบายหลักของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่

อธิบดี “กรมทะเลและชายฝั่ง” มอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ฉลามขาว) ติวเข้มป้องกัน ปราบปราม ดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งครบทุกมิติ

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยหลังการประชุมมอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ศปพ.ทช.) ว่า กรมได้ดึงส่วนคุ้มครองทางทะเล และส่วนคุ้มครองป่าชายเลน เข้ามาเป็นหนึ่งเดียวในการปฏิบัติหน้าที่ด้านการป้องกันการบุกรุก และคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ภายใต้ ศปพ.ทช. (ฉลามขาว) เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันให้เป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพในทุกมิติ ทั้งด้านทะเล ด้านชายหาด และด้านป่าชายเลน เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลระบบปฏิบัติการด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยการใช้ระบบเทคโนโลยีของ GISTDA เข้ามาใช้ ผ่านภาพถ่ายดาวเทียม การใช้โดรนบันทึกภาพทางอากาศ ในการเปรียบเทียบพื้นที่ รวมถึงการเฝ้าระวังการรุกล้ำพื้นที่เกาะและป่าชายเลน อีกทั้งเชื่อมโยงไปสู่การปฏิบัติงานร่วมกับ ศรชล. และการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ตลอดจนการสร้างเครือข่ายข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ร่วมกับชุมชนชายฝั่ง และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล
   


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top