Monday, 17 June 2024
กรมควบคุมโรค

‘กรมควบคุมโรค’ ชี้ ‘แบคทีเรียกินเนื้อ’ ระบาดใน ‘ญี่ปุ่น’ แต่ที่ไทย ยังไม่รุนแรง เน้น มาตรการป้องกัน เหมือนโรคโควิด ‘สวมหน้ากาก-ล้างมือ’ สงสัยให้โทร.1422

(30 มี.ค.67) กรมควบคุมโรค ออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่อง การเพิ่มขึ้นของโรคแบคทีเรียกินเนื้อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย 'สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ' ในประเทศญี่ปุ่น ว่า

กรณีที่ในขณะนี้ ข่าวการเพิ่มขึ้นของโรคแบคทีเรียกินเนื้อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย 'สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ' ในประเทศญี่ปุ่น ที่ทางการญี่ปุ่นกำลังสืบค้นหาสาเหตุของการเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกัน โควิด 19 ร่วมกับอาจมีสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วยนั้น

กรมควบคุมโรค ขอเรียนชี้แจงเบื้องต้นว่า เชื้อแบคทีเรีย 'สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ' นี้ เป็นเชื้อก่อโรคที่มีมานานแล้ว และมีมากกว่า 200 สายพันธุ์ ก่อให้เกิดอาการแสดงของโรคได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่อาการน้อยหรือปานกลาง ได้แก่ การติดเชื้อของคอหอย ต่อมทอนซิล และระบบทางเดินหายใจ หรืออาจก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนัง ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรง (ซึ่งพบเป็นส่วนน้อย) ได้แก่

มีการอักเสบอย่างรุนแรงของผิวหนังชั้นลึก หรือเกิดภาวะช็อกที่อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยหนึ่งในอาการแสดงของโรคและอยู่ในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทยคือ 'โรคไข้อีดำอีแดง หรือ Scarlet fever' ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่ต้อง เฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เกิดได้ทุกช่วงอายุแต่มักเป็นในเด็กวัยเรียน ติดต่อจากคนสู่คนโดยการใกล้ชิดและหายใจรับละอองฝอยของเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ที่มีเชื้อ หรือละอองเชื้อโรคสัมผัสกับตา จมูก ปาก หรือสัมผัสผ่านมือ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น จาน ชาม แก้วน้ำ เป็นต้น อาการที่พบ คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ไข้ และอาจมีผื่นนูนสากๆ ตามร่างกาย (จากเชื้อสร้างสารพิษ) สัมผัสแล้ว มีลักษณะคล้ายกระดาษทราย

กลุ่มเสี่ยงของโรคจะเป็นเด็กวัยเรียน อายุ 5 - 15 ปี ที่อยู่รวมกัน จำนวนมาก เช่น เด็กนักเรียนในโรงเรียน หรือศูนย์เด็กเล็ก ฯลฯ จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2567 พบผู้ป่วย 4,989 ราย ไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต สำหรับปี พ.ศ. 2567 ยังไม่พบรายงาน

ส่วนในกรณีอาการรุนแรงนั้น จากระบบโครงสร้างฐานข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ (43 แฟ้ม) ของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 - 2566 กรณี Toxic Shock Syndrome พบว่า มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล จำนวน 204 ราย เฉลี่ยปีละ 41 ราย และมีแนวโน้มลดต่ำลงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 โดยในปี พ.ศ. 2566 พบผู้ป่วย จำนวน 29 ราย

ส่วนกรณีโรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis) ซึ่งอาจเกิดได้จากแบคทีเรียหลายชนิด (โดย 1 ในเชื้อสาเหตุคือ 'สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ') จากการติดตามใน พ.ศ. 2562 - 2566 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งสิ้น 106,021 ราย มีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยภาวะดังกล่าว 1,048 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตายประมาณร้อยละ 1.0 แนวโน้มการรายงานผู้ป่วยคงที่และลดลงในปี พ.ศ. 2566 โดยมีอัตราป่วย 27.35 ต่อแสนประชากร (จากเดิมร้อยละ 32.5 ต่อแสนประชากร) พบรายงานผู้ป่วยตลอดทั้งปีแต่สูงสุดในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคมของทุกปี

จากการติดตามข้อมูลดังกล่าว ยังไม่พบว่าอุบัติการณ์การติดเชื้อนี้มีการเพิ่มขึ้น หรือรุนแรงขึ้นในประเทศไทย

การติดเชื้อนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ดังนั้นการไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่น ๆ การได้รับยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง รวดเร็ว เหมาะสม จะช่วยให้ลดความรุนแรงของโรค และช่วยลดการแพร่เชื้อสู่คนรอบข้างได้ ในรายที่อาการเป็นมากอาจต้องร่วมกับการผ่าตัดเนื้อตายออก กลุ่มเสี่ยงที่อาจจะมีอาการรุนแรง คือ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือเป็นผู้ที่มีรอยโรคที่ผิวหนังมาก่อน

เนื่องจากการแพร่ระบาดหลักของเชื้อนี้เป็นทางระบบทางเดินหายใจ (โดยอาจร่วมกับการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งหรือหนองจากแผล ในกรณีมีการติดเชื้อที่ผิวหนัง) และการติดเชื้อนี้พบได้ทุกช่วงอายุ

ดังนั้นมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 จึงสามารถช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อนี้เช่นกัน การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก หรือเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรต้องระมัดระวังควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใช้ภาชนะ เช่น แก้วน้ำ ช้อน ร่วมกับผู้อื่น และรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด

โดยกรมควบคุมโรคยังคงติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อ 'สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ' ในญี่ปุ่นนี้อย่างต่อเนื่อง ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก แนะนำประชาชน ถ้ามีไข้ เจ็บคอ ร่วมกับมีผื่นสากนูน หรือตุ่มหนองที่ผิวหนัง หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก ควรรีบไปพบแพทย์ (โดยเฉพาะถ้าหลังกลับจากต่างประเทศ ภายในช่วง 1 สัปดาห์แรก) เพื่อรับการวินิจฉัย รักษา และแยกโรคอย่างถูกต้อง การเดินทางไปต่างประเทศ ยังคงต้องรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างสม่ำเสมอ หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

‘กรมควบคุมโรค’ ห่วง!! สถานการณ์ ‘โควิด-19’ ระบาดเพิ่มหลังสงกรานต์ สัปดาห์เดียวป่วยเข้า รพ. 1 พันราย ลุยกำชับทุกหน่วยดูแล ปชช.ให้ทั่วถึง

(22 เม.ย.67) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการ สธ. มีความห่วงใยสถานการณ์โควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ แต่ยังไม่มีรายงานการระบาดรุนแรง ดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจได้สั่งการทุกจังหวัดประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อม กำชับทุกหน่วยงานดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 14-20 เมษายน 2567 มีรายงานพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวน 1,004 ราย เฉลี่ย 143 รายต่อวัน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ โดยพบผู้ป่วยมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยวหลายแห่ง และมีผู้ป่วยอาการรุนแรงปอดอักเสบ 292 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 101 ราย และเสียชีวิต 3 ราย โดยผู้เสียชีวิตทุกรายเป็นกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีโรคเรื้อรัง (608)

“คาดสาเหตุที่ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยเนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีอาการเหมือนไข้หวัด ทำให้ไม่ระวัง ป้องกันตนเอง ส่งผลให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในประเทศไทย ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่ายังคงเป็นสายพันธุ์รุ่นลูกของเชื้อโอมิครอน โดยผู้ป่วยจะมีลักษณะอาการคล้ายหวัด เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ มีน้ำมูก โดยยังไม่พบว่ามีระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์โอมิครอนเดิมในปีที่ผ่านมา” นพ.ธงชัยกล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวถึงโรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้มีลักษณะเหมือนโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี เพียงแต่จะมีจำนวนมากหรือน้อยแล้วแต่ช่วงเวลา โดยขณะนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั่วไป อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัด เป็นต้น ทั้งนี้ โรงพยาบาลทุกแห่งมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร เตียงรองรับผู้ป่วย เวชภัณฑ์ ตลอดจนมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี

‘สธ.’ เตือน!! พบผู้ป่วย ‘ฝีดาษลิง’ พุ่งสูงหลังสงกรานต์ พบมากในเขตกทม. ย้ำ!! ประชาชนอย่าประมาท

(29 พ.ค. 67) ‘นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ’ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อรายแรกในเดือนก.ค.2565 จนถึงวันที่ 20 พ.ค.2567

มีรายงานผู้ป่วยรวม 787 ราย เป็นเพศชาย 768 ราย คิดเป็นร้อยละ 97 ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เชียงใหม่ ระยอง และอุดรธานี ตามลำดับ ข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระยะ และเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่กลางเดือนเม.ย. ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์จนถึงเดือนพ.ค. จึงต้องเฝ้าระวัง พร้อมป้องกัน ลดเสี่ยง ลดโรค

หากประชาชนมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้สงสัยฝีดาษวานร หรือการสัมผัสใกล้ชิด แนบแน่น กอดจูบ ลูบ คลำ พูดคุยระยะ 1 เมตร โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือเคยดูแลผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร ให้สังเกตอาการตนเองเบื้องต้น

ภายหลังสัมผัสผู้ป่วย หรือมีความเสี่ยงภายใน 21 วัน หากมีผื่น มีตุ่มน้ำ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือบริเวณรอบๆ มือ เท้า หน้าอก ใบหน้า ปาก มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู คอ ขาหนีบให้เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล หรือสถานบริการสุขภาพใกล้บ้านทันที เพื่อตรวจหาเชื้อได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จากนั้นจะทราบผลตรวจภายใน 1-5 วัน

ซึ่งระหว่างรอผลตรวจนั้น แนะนำให้แยกของใช้ส่วนตัว และแยกพื้นที่กับผู้ที่อยู่ร่วมบ้าน ที่พัก หรือ สถานที่ทำงาน ไม่ใช้จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ และของใช้ต่างๆ ร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการส่งต่อเชื้อ เนื่องจากสามารถติดได้จากการสัมผัสใกล้ชิด พร้อมเน้นย้ำถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือภูมิคุ้มกันต่ำ หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ทันที อย่าชะล่าใจเนื่องจากมีอาการรุนแรงได้

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า ประชาชนทุกคนไม่ควรประมาท โรคฝีดาษวานรติดได้ทุกคน หากมีพฤติกรรมเสี่ยง สามารถป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ ดังนี้ 

1.หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก 

2.ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู เครื่องนอน เป็นต้น 

3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีผื่นสงสัยโรคฝีดาษวานร

4.ไม่คลุกคลี หรือ สัมผัส ตุ่ม หนอง หรือบาดแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ ซากสัตว์ป่า และบริโภคเนื้อสัตว์ปรุงสุก โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์ฟันแทะที่นำเข้าหรือมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาตอนกลาง เช่น หนูแกมเบียน กระรอกดิน 

5.หมั่นล้างมือบ่อยๆ

นอกจากนี้ การหลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่มีกิจกรรมการรวมตัว หรือกิจกรรมพบปะสังสรรค์ ที่อาจเสี่ยงติดโรคฝีดาษวานร ก็เป็นอีกวิธีที่สามารถป้องกันฝีดาษวานรได้ กรมควบคุมโรคห่วงใย อยากเห็นคนไทยสุขภาพดี สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top