Monday, 21 April 2025
กฎหมายนิรโทษกรรม

‘ธนกร’ เห็นด้วย ‘ชัยธวัช’ คุยฝ่ายเห็นต่างนำไปสู่ความปรองดอง แต่ กม.นิรโทษกรรม ต้องไม่เหมารวม คดี ม.112 ลั่น!! ค้านถึงที่สุด

(26 พ.ย. 66) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินสายไปพบและรับฟังความเห็น ฝ่ายต่างๆ ทั้งคนเสื้อแดง กลุ่มพันธมิตรฯ กปปส. ว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีที่นายชัยธวัช ไปรับฟังทุกฝ่าย ก่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ระหว่างรอเปิดสมัยประชุมสภา ซึ่งจะทำให้แต่ละฝ่ายเข้าใจเนื้อหาเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมคดีทางการเมืองดีมากขึ้น หากมีวัตถุประสงต์หวังให้เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดกระบวนการปรองดองทางการเมือง จะต้องเป็นการดำเนินการเพื่อคนทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ไม่ใช่มีผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มตัวเองแอบแฝง ควรทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ

เมื่อถามว่า แต่ดูเหมือนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล จะมุ่งปลดล็อกคดีมาตรา 112 นายธนกร กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวหากจะสร้างความปรองดองแก่ทุกฝ่ายทางการเมือง ที่เห็นต่างถือว่ายอมรับได้ แต่ต้องไม่ใช่ความผิดจากการกระทำที่ความรุนแรง และต้องไม่ละเมิดกฎหมายความมั่นคงแห่งรัฐ โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีไว้เพื่อปกป้องประมุขแห่งรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องการเมือง ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งหากจะมีการนิรโทษความผิดในมาตรา112

“หากพรรคก้าวไกลจะผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อช่วยกลุ่มผู้สนับสนุนให้พ้นความผิดในมาตรา112 นั้น ผมขอคัดค้าน เพราะเป็นการเหยียบย่ำจิตใจคนไทยทั้งชาติที่รัก เทิดทูนสถาบันฯ การเดินสายรับฟังความเห็นคนทุกสีเสื้อ ทุกกลุ่มของก้าวไกล แต่จะนำมาอ้างว่าทุกฝ่ายเห็นด้วยคงไม่ใช่ ผมเชื่อว่า สภาก็จะไม่เห็นด้วย จึงขอให้พรรคก้าวไกลพูดให้ชัดในเรื่องนี้ หากรวมคดีม.112 ด้วย ผมรับไม่ได้และขอคัดค้านแน่นอน” นายธนกร กล่าว

‘นิรโทษกรรม’ ไม่ง่าย!! หาก ‘ก้าวไกล’ สอดแทรก 112 ‘พท.-รทสช.’ เดินหน้าปรองดอง แค่ไม่แตะสถาบันฯ

ว่าจะขยับเรื่อง 120 วันของนักโทษเทวดา ว่าจะเดินหน้าถอยหลังหรือออกข้างอย่างไร? แต่ขอขยักกั๊กไว้วันศุกร์สุดสัปดาห์ดีกว่า…

วันนี้ขอเคลียร์คัตชัดเจนเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม ซักหน่อย!!

สรุปความตามท้องเรื่อง…เรื่องการนิรโทษกรรมมีการพูดถึงและเคลื่อนไหวกันอย่างกว้างขวางพอประมาณ แต่ในส่วนของการขับเคลื่อนที่จะให้เป็นจริงนั้นยังต้องรอดูของจริงกันต่อไป ในชั้นนี้พอจะสรุปได้ดังนี้…

1) พรรคก้าวไกล ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว ชื่อ “ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองพ.ศ....” โดยร่างนี้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นหรือทำประชาพิจารณ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เรียบร้อยแล้ว มีผู้เห็นด้วยเพียงร้อยละ 28.37 แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อห้ามที่จะนำไปบรรจุเป็นวาระการประชุม

ประเด็นที่มีเสียงคัดค้านร่างของพรรคก้าวไกลก็คือ การเปิดทางให้มีการนิรโทษกรรมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์-สถาบันฯ

2) พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้ยกร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ...เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับ 20 สส.ได้ลงชื่อแล้วด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแก้ข้อความให้กระชับสมบูรณ์กว่าเดิม ทั้งนี้ร่างของพรรครทสช.มี 12 มาตรา นอกเหนือการนิรโทษกรรมให้กับความผิดอันเกี่ยวเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองแล้ว...จุดเน้นหนักคือ จะไม่นิรโทษกรรมกับ3 ความผิดคือ 1.คดีทุจริต 2.คดีความผิดตามมาตรา 112 และ 3.ความผิดอาญาร้ายแรงทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

กล่าวได้ว่าในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลพรรค รทสช.กล้าหาญชาญชัยกว่าพรรคอื่นๆ ในการแสดงจุดยืนให้บ้านเดินหน้าปรองดองสมานฉันท์ โดยไม่ออกอาการ ‘แหยง’ จนออกอาการ ‘กั๊ก’ กับคำว่านิรโทษกรรม...แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าพรรค รทสช.จะยื่นร่างในสมัยประชุมนี้เลยหรือชะลอเอาไว้ก่อน รอไปพร้อมกับขบวนใหญ่ของพรรคร่วมรัฐบาล

3) ในส่วนของพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย เลือกหนทางให้เสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการนิรโทษกรรม ในสมัยประชุมนี้นัยว่าเพื่อจะได้หาข้อสรุปเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ในสมัยประชุมหน้า (เดือน ก.ค.-ต.ค.2567) ซึ่งหากไม่มีข้อถกเถียงกันมากรัฐบาลอาจเสนอร่างกฎหมายในนาม ครม.หรือรัฐบาลเลยก็เป็นได้…

4) อย่างไรก็ตาม...เนื่องจากรัฐบาลแทบจะไม่มีกฎหมายเสนอต่อสภาฯ นอกจากกฎหมายใหญ่อย่างร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีฯ 2567 ดังนั้นร่างกฎหมายที่รอคิวการพิจารณาส่วนใหญ่จะเป็นร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล เช่น ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นต้น...ทำให้ขณะนี้วิปฝ่ายรัฐบาลบางส่วนรู้สึกเป็นฝ่ายตั้งรับฝ่ายค้าน หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับก้าวไกลถึงคิวการประชุมสมัยนี้ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลไม่มีร่างกฎหมายประกบ ซึ่งหนทางเดียวก็คือ ต้องคว่ำร่าง พ.ร.บ.ของพรรคก้าวไกล...อันจะมีทั้งผลดีและผลเสีย…

กรณีดังกล่าว เสียงข้างน้อยในวิปรัฐบาล จึงอยากให้มีการเสนอร่างนิรโทษประกบเอาไว้แบบเผื่อเหลือเผื่อขาด ถ้าไม่ทันสมัยประชุมนี้ ก็ไม่มีอะไรเสียหายประมาณนั้น...

ดังที่ได้วิสัชนามา...ก็พอจะสรุปได้ว่า...การนิรโทษกรรมเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ก็พอจะเห็นแสงสว่างอยู่ วิบๆ วับๆ...ไม่เจิดจ้าแจ่มชัดเหมือนเส้นทางสู่คุกนอกเรือนจำอันหรูหราก่อนที่จะถึงวันเวลาพักโทษปลายเดือน ก.พ.ของชายไทยวัย 74 ที่อยู่ชั้น 14 มาจะครบ 4 เดือนในอีกวันสองวันนี้

สวัสดีประเทศไทย

เรื่อง: เล็ก เลียบด่วน

‘รทสช.’ ย้ำจุดยืน ‘กม.นิรโทษกรรม’ ไม่นับรวม ม.112 พร้อมเสนอร่าง ‘พ.ร.บ.เสริมสร้างสันติสุข’ ฉบับของตัวเอง

(5 มิ.ย.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง’ ทางช่องยูทูบ ‘แนวหน้าออนไลน์’ ในประเด็นร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ว่า จุดยืนของพรรครวมไทยสร้างชาติ คือไม่เห็นด้วยกับการนับรวมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และจริง ๆ พรรคก็ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.เสริมสร้างสันติสุข หรือกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับของรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งไม่มีทั้งคดี ม.112 คดีทุจริต และคดีอาญาร้ายแรง

ขณะที่ความเคลื่อนไหวร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทย การพิจารณาเรื่องนี้ยังอยู่ในชั้นกรรมาธิการ ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าที่สุดแล้วระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องคุยกัน เพราะในกรรมาธิการก็มีตัวแทนอยู่ อย่างพรรคชาติไทยพัฒนาก็มีนายนิกร จำนง ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ มีนายเจือ ราชสีห์ ซึ่งแสดงจุดยืนว่าต้องไม่มีเรื่องคดี ม.112 คดีทุจริต และคดีอาญาร้ายแรง เพราะกลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

“นิรโทษกรรมคดีการเมือง เราเข้าใจบรรยากาศสลาย ยุติธรรมขัดแย้ง เดินหน้าด้วยความสามัคคี พวกคดีการเมืองนิรโทษได้ก็นิรโทษกันไป แต่ต้องไม่แตะเรื่อง 112 เรื่องทุจริต เรื่องคดีอาญาร้ายแรง เพราะถ้าแตะเรื่องเหล่านี้ แทนที่มันจะนิรโทษเพื่อความปรองดอง ความรักความสามัคคี มันจะนิรโทษแล้วนำไปสู่ความแตกแยก แล้วปัญหาเดี๋ยวมันจะปะทุขึ้นอีก เราก็แสดงจุดยืนของเราชัดเจน” นายเอกนัฏ กล่าว

นายเอกนัฏ กล่าว ต่อไปว่า อย่าให้การนิรโทษกรรมครั้งนี้ย้อนกลับไปเกิดปัญหาแบบตอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ตนก็มีประสบการณ์ ในเวลานั้นเป็น สส. อยู่แล้วก็ออกไปชุมนุม เพราะการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในเวลานั้นขัดกับหลักนิติรัฐ-นิติธรรม หากเป็นแบบนั้นประเทศก็เสียหายและสร้างความแตกแยก ในเมื่อมีบทเรียนแล้วก็ควรจะเรียนรู้ ซึ่งตนก็เชื่อว่าทุกฝ่ายวันนี้เรียนรู้กันเยอะแล้ว อย่างในฝั่งของตนหลายคนก็มีคดีติดตัว ถูกจำคุกอยู่ก็มี ดังนั้นเดินไปข้างหน้าดีกว่า อย่ากลับไปอยู่ในวังวนจุดเดิม

เพราะหากย้อนไปมองในอดีต เวลานั้นมีเพียงเรื่องคดีทุจริต ยังไม่มีเรื่องคดี ม.112 ยังเป็นเรื่องแล้ว หากใส่คดี ม.112 เข้าไปอีกก็จะเป็นปัญหาขึ้นมาได้ ส่วนคำถามที่ว่า พรรคเพื่อไทยจะไปขอเสียงสนับสนุนจากพรรคก้าวไกล เพื่อให้มีเสียงพอผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่รวมความผิด ม.112 จะเป็นไปได้หรือไม่ เรื่องนี้แม้พรรครวมไทยสร้างชาติจะมีเพียง 36 เสียง แต่ก็ยิ่งต้องยึดหลักให้ดีและต้องสู้ ซึ่งตั้งแต่วันแรกที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล พรรครวมไทยสร้างชาติก็ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลจะต้องไม่ไปเกี่ยวข้องกับการแก้ไขมาตรา 112

แต่หากเขาจับมือกันขึ้นมาแล้วจะให้ทำอย่างไรได้ เพราะตัวเลขในสภาเป็นคณิตศาสตร์ พรรคหนึ่งมีร้อยกว่า อีกพรรคหนึ่งก็มีร้อยกว่า บวกกันเกิน 250 เขาก็ตั้งรัฐบาลได้ แต่ตนก็คิดว่าที่มีการตกลงกันของฝั่งรัฐบาลแล้วประกาศต่อสาธารณะ เท่าที่ได้พูดคุยทุกฝ่ายก็ยังยืนยันข้อตกลงนั้นอยู่ ไม่มีใครคิดแตกแถวแม้แต่พรรคเพื่อไทย ยังไม่มีสัญญาณที่ชี้ว่าจะยกเลิกสัญญาที่ให้ไว้ ดังนั้นก็ต้องรักษาบรรยากาศกันไปแบบนี้ก่อน

ส่วนที่พรรคเพื่อไทยให้ข่าวว่าจะมีการพิจารณาว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจะนับรวมความผิด ม.112 ด้วยหรือไม่ คือการส่งสัญญาณอะไร เรื่องนี้คงต้องไปถามพรรคเพื่อไทย แต่เราทำการเมืองจะไปคิดถึงเพื่อนมากไม่ได้ เราต้องทำตัวเราให้ชัดเจนจะดีที่สุด ซึ่งปัจจุบันเราก็ยังยืนบนสัญญาเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ก็เดินไปแล้วหากมีปัญหาก็พูดคุยกัน เจรจากัน เตือนกันว่าอย่าไปทำแบบนั้นเลยดีกว่า เดี๋ยวจะมีปัญหา ส่วนที่พูดกันว่าท่าทีล่าสุดของพรรคเพื่อไทย มาจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตนก็อยากให้เพลา ๆ การคาดการณ์หรือข่าวลือลงบ้าง

“ตราบใดที่ยังไม่เห็นท่าทีชัดเจน จะพรรคไหนก็แล้วแต่ เราจะไปบอกว่าเป็นท่าทีของเขาก็ไม่ได้ อันนี้แฟร์ ๆ นะ เพราะฉะนั้นวันนี้เมื่อยังไม่มีท่าทีในลักษณะนั้น เราก็ต้องยึดตามคำมั่นสัญญาเดิม มันเบสิกมาก มันแค่นั้นเอง ฉะนั้นสำหรับรวมไทยสร้างชาติเราก็เดินตามสัญญาเดิม ไม่มีสัญญาใหม่ ไม่มีสัญญาณใหม่ ฉะนั้นก็เดินไปตามนี้” เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าว

‘เจือ ราชสีห์’ เผย!! ความคืบหน้ากฎหมายนิรโทษกรรม เสียงคณะกรรมาธิการฯ เกินครึ่ง ไม่นิรโทษพวกล้มเจ้า

(26 ก.ย. 67) จากส่วนหนึ่งของรายการ ‘ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร’ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 67 ซึ่งได้มีการพูดคุยกับ ‘นายเจือ ราชสีห์’ หนึ่งในคณะกรรมวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในสัดส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ และที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน / อดีต สส.สงขลาหลายสมัย ในประเด็น ‘ต้องไม่นิรโทษกรรม ม.112’ ได้สร้างความกระจ่างชัดเบื้องต้นในห้วงเวลานี้ว่า ความผิดใดที่เข้าเงื่อนไขนิรโทษกรรมและความผิดใดไม่ควรนิรโทษกรรม โดยมีเนื้อหา ดังนี้...

เจือ กล่าวว่า หากสรุปสาระสำคัญของผลการศึกษาอันจะนำไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่ใช้เวลากันอย่างเข้มข้นในช่วงประมาณ 3 เดือนกว่า ๆ โดยมีเอกสารมากถึง 299 หน้า แล้วมีผนวกอีกสองเล่มใหญ่ พอจะผลสรุปว่าแบบไหนถึงเข้าข่ายการนิรโทษ และแบบไหนไม่เข้าข่ายการนิรโทษ...

โดย เจือ เล่าย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมไทยเกิดความแตกแยกทางความคิดทางการเมืองเยอะมาก จนนำไปสู่เหตุปะทะที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคม และก็มีหลากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งเหตุการณ์ช่วงพันธมิตรก็ดี เหตุการณ์ นปช.ก็ดี เหตุการณ์นักศึกษาออกมาเรียกร้องชุมนุมก็ดี รวมถึงกลุ่มเยาวชนสามนิ้วนั้น ก็นำมาสู่แนวคิดที่จะหาทางพาสังคมไทยไปสู่ความปรองดองร่วมกันแบบยั่งยืน

ดังนั้นแนวคิดในเรื่องของ ‘กฎหมายนิรโทษกรรม’ จึงถูกผุดขึ้นภายหลังช่วงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และเรื่องนี้กลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการยื่นหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกับแนวคิดนี้มาที่ ‘พรรครวมสร้างชาติ’ ซึ่ง สส.ของพรรครวมทั้งชาติต่างก็ได้รับฟังและมองว่า เราคงต้องหันหน้ามาพูดคุยกันในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยทางรวมไทยสร้างชาติได้เสนอเรื่องนี้เป็นกฎหมาย ที่เรียกว่า ‘พรบ.สันติสุข’ ขึ้นมาในนามของพรรคเข้าไปด้วย

“ย้อนไปเมื่อต้นปี (2567) เริ่มมีการพูดคุยกันว่า เราจะเริ่มต้นยังไงดี? เราจะเอาเหตุการณ์ไหนบ้าง? กี่เหตุการณ์? ความผิดไหนเราจะนิรโทษ? หรือความผิดไหนเราไม่นิรโทษ? มาพูดคุยกันในวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแน่นอนว่าคำถามเหล่านี้แม้จะค่อนข้างตรงประเด็นชัดเจน แต่เวลาตอบเราจะตอบให้มันละเอียดขนาดนั้นทันทีคงไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องร่วม 20 ปี ซึ่งมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก”

นายเจือ ได้เผยต่ออีกด้วยว่า “ก่อนหน้าที่จะมีญัตติให้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริง ทางพรรครวมไทยสร้างชาติได้ยื่นรายละเอียดเป็นร่างกฎหมายเข้าสภาฯ ไปแล้ว (พรบ.สันติสุข) พร้อมด้วยร่างของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน และของพรรคประชาชน ซึ่งเท่ากับมีอยู่ 3 ร่างคาสภาอยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้นทางรัฐบาล จึงมีความประสงค์ให้ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ก็เลยมีคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาคณะหนึ่ง เรียกว่า ‘คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พรบ.นิรโทษกรรม’ ซึ่งมีผมร่วมอยู่ด้วย”

เจือ เล่าต่อว่า คณะฯ ดังกล่าว ได้เริ่มต้นให้มีการกำหนดขอบเขตเรื่องที่จะพิจารณา ไว้ดังนี้…

1. กำหนดกรอบเวลา ว่าจะกำหนดเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อไหร่ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2548 มาถึงปัจจุบัน
2. กำหนดกรอบการนิรโทษกรรม ว่าจะให้มีอะไรบ้าง

จากนั้นกำหนดกรอบ ก็เริ่มมีการไล่ลำดับเหตุการณ์ โดยมีการเชิญกลุ่มต่าง ๆ (พันธมิตร / นปช. / กปปส. / นักศึกษา / เยาวชนสามนิ้วที่เคลื่อนไหวในห้วงเวลานั้น) มาให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการดังกล่าว 

เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ก็มาลงลึกไปอีกว่า ถ้าจะนิรโทษ จะนิรโทษความผิดอะไร โดยยึดโยงเหตุการณ์ที่อิงข้อมูลหลักฐานจากหน่วยงาน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ตำรวจ, อัยการ และ ศาล ถึงจะมาสรุปเพื่อออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่าควรคลุมในฐานความผิดอะไรบ้าง

“อันที่จริงแล้ว ผมอยากเรียนกับทุกท่านแบบนี้ว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมา ผู้กระทำความผิดหลายส่วน ต่างก็โดนบทลงโทษกันไปเกือบหมดแล้ว ประเมินก็เรียกว่าลงโทษกันไปเกินครึ่งแล้ว ทั้งพันธมิตร, นปช. และ กปปส. เพียงแต่ยังเหลือกรณีเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พอจะได้อานิสงส์ผลพวงจากกฎหมายนิรโทษฉบับนี้” เจือ เสริมและกล่าวต่อว่า...

“ทีนี้ ถ้าจะมามองกันในแง่ของฐานความผิด จะครอบคลุมอย่างไร และเราจะหาผู้กระทำความผิดได้ด้วยเงื่อนไขไหน ซึ่งตรงนี้เราได้ข้อมูลมาเยอะมาก โดยมีทั้งฐานความผิดหลัก, ฐานความผิดรอง หรือคดีที่มีความอ่อนไหว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมาแยกให้ออก ว่าแบบใดถึงจะเข้าข่ายกฎหมายนิรโทษกรรมได้ ซึ่งเบื้องต้นต้องเป็นผู้ที่กระทำความผิดที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง ถ้าเกิดจากการกระทำโดยความแค้นส่วนตัว ก็ไม่เกี่ยว คิดจะโกงบ้านกินเมืองไม่เกี่ยว หรือก่อกบฏ ประทุษร้ายต่อประเทศ ก็ไม่เกี่ยว เป็นต้น…

“พูดง่าย ๆ ก็คือ กฎหมายนิรโทษกรรมจะครอบคลุมและเกี่ยวเนื่องต่อแรงจูงใจทางการเมืองเป็นหลัก ต้องเป็นการกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้ง หรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง นิยามหลักอยู่ตรงนี้”

>> กรอบเวลา และ กรอบการนิรโทษ
เจือ เผยว่า ในส่วนของเรื่องห้วงเวลา ช่วงเวลานิรโทษจะครอบคลุมตั้งแต่ 1 ม.ค. 2548 ต่อทั้ง คดีหลัก คดีรอง และ คดีอ่อนไหว โดย ‘คดีหลัก’ จะหมายถึง ความผิดฐานก่อกบฏ ก่อการร้าย ต่อมา ‘คดีรอง’ เช่น การปะทะกับเจ้าหน้าที่ การทำผิดกฎหมายจราจร เป็นต้น ซึ่ง คดีหลัก-คดีรอง ฟันธงให้ นิรโทษกรรม ได้

แต่ที่สำคัญ คือ ‘คดีอ่อนไหว’ ซึ่งเป็นคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง อันเกี่ยวเนื่องกับมาตรา 110 (ประทุษร้ายพระราชินี, รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) กับ มาตรา 112 (หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ พระราชินีฯ) ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งช่วงระยะหลังคนไทยจะคุ้นเคยดีกับ มาตรา 112 

>> ‘คดีอ่อนไหว-หมิ่นเจ้าฯ’ ไม่เข้าข่ายนิรโทษกรรม 
ทั้งนี้ในส่วนของ ‘คดีอ่อนไหว’ เจือ เผยว่า มีการพูดคุยกันอยู่ 3 แนวทาง ได้แก่…

1.ไม่นิรโทษกรรมให้เลย 
2. นิรโทษทั้งหมด
3. นิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข

“ในวงคณะกรรมาธิการที่มีการพูดคุยในเรื่องของคดีอ่อนไหว จะพบว่า ทางคนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ 3 คน ซึ่งรวมผมด้วย และมติโดยรวมเกิน 55-60% เห็นว่า ‘ไม่ควรนิรโทษกรรม’ ให้ ส่วน 30% ก็คือต้องการนิรโทษ และเสียงที่เหลืออยากให้นิรโทษแบบมีเงื่อนไข แต่อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาที่มีอยู่ในมือตอนนี้ ก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ทันที ว่าจะให้นิรโทษกรรมหรือไม่? อย่างไร? ซึ่งแม้เสียงในวงประชุมจะมีมากกว่า 55% ที่เห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรมกับคดีอ่อนไหวนี้ แต่ก็ยังไม่นับเป็นเอกฉันท์ ฉะนั้นจึงต้องมีการไปให้ความเห็นจากแต่ละคนในเชิงของรายงานต่อที่ประชุมสภาต่อไป ในวันที่ 3 ตุลาคม ต่อไป”

>> ‘รวมไทยสร้างชาติ’ จุดยืนชัดเจน!!
แน่นอนว่า ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ มีความชัดเจนอย่างมาก ที่ไม่เห็นด้วยในการนิรโทษกรรมประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง เพราะอะไร? โดย เจือ ย้ำหนักแน่นว่า “ก็เพราะเราได้มีการนิยามคำว่าการนิรโทษกรรมไว้ชัดเจนแล้ว คือ ต้องเป็นคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง แต่ในส่วนของการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขการนิรโทษกรรม หากแต่ผู้ที่ต้องการรับพระราชอภัยโทษ ต้องไปรับโทษเสียก่อนเท่านั้น นี่คือหลักของกฎหมาย ไม่ใช่เราไม่เห็นด้วยอย่างไม่มีเหตุผล กรอบนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง นี่คือความชัดเจน”

เจือ ทิ้งท้ายอีกด้วยว่า ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ที่มีการทำงานร่วมกันนั้น ก็ยังมีบางเรื่องที่ไม่ได้ถูกนำมาเสนอไว้ในสาธารณะ นั่นก็คือเรื่องของ ‘ทุจริตประพฤติมิชอบ’ และ ‘กฎหมายอาญาร้ายแรง-ฆ่าคนตาย’ ซึ่งทางพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้มีการระบุแนบเสริมไว้ โดยมองว่าพฤติกรรมนี้ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งกระแสเสียงในวงประชุมของคณะกรรมาธิการฯ ก็เป็นไปในทางเห็นด้วยค่อนข้างมากเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ ก็ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องมีการพูดคุยกันอย่างรอบคอบก่อนออกมาเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้ต่อไป ซึ่งความคืบหน้าในการกำหนดกรอบการนิรโทษหรือไม่นิรโทษยังไงนั้น คงทำได้แค่รอดูผลจากการประชุมสภาวันที่ 3 ตุลาคมที่จะถึงนี้อีกรอบ...


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top