Friday, 16 May 2025
ค้นหา พบ 48112 ที่เกี่ยวข้อง

ครม. เคาะงบกว่า 368 ล้านบาท รักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ช่วยเหลือชาวไร่มัน ลดต้นทุนเกษตรกร

(17 ธ.ค. 67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (17 ธ.ค. 67) ที่นำโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสําปะหลังตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ  ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องของสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการรับซื้อมันสำปะหลังโดยไม่เร่งระบายผลผลิต รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกและสร้างศักยภาพการแปรรูปของเกษตรกร ในการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลังในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ซึ่งจะส่งผลให้ราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ประกอบด้วย 4 โครงการ ดังนี้
 
1. โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง ปี 2567/68 วงเงิน 300 ล้านบาท โดยสนับสนุนดอกเบี้ยแก่ผู้ประกอบการลานมัน โรงแป้ง โรงงานเอทานอลที่กู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้สามารถรับซื้อมันสำปะหลังและแปรรูปเก็บสต็อกในรูปแบบมันเส้นหรือแป้งมัน เป็นระยะเวลา 60 - 180 วัน เพื่อดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาด เป้าหมาย 6 ล้านตันหัวมันสด รัฐชดเชยดอกเบี้ยแก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต็อก และมีระยะเวลารับซื้อ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2568 ระยะเวลาเก็บสต็อก ตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 พฤศจิกายน 2568 ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติ – 31 ตุลาคม 2569

2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2567/68 วงเงิน 17.50 ล้านบาท

โดย ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร (สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน) ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อหัวมันสำปะหลังสด มันสำปะหลังเส้นจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกรที่ดำเนินกิจการโดยมีสมาชิกประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก เพื่อช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตมันสำปะหลัง เป้าหมาย วงเงินกู้ 500 ล้านบาท ผลผลิตประมาณ 200,000 ตัน อัตราดอกเบี้ยโครงการฯ ร้อยละ 4.5 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี และรัฐสนับสนุนดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3.5 ต่อปี ระยะเวลา 12 เดือน ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ ครม.มีมติ – 30 มิถุนายน 2569

3. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2567/68 วงเงิน 41.40 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนาการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลัง เป้าหมายเกษตรกร 3,000 ราย รายละไม่เกิน 230,000 บาท วงเงินกู้รวม 690 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยโครงการฯ เท่ากับ MRR และรัฐรับภาระดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปี เกษตรกรรับภาระในอัตรา MRR – 3 ระยะเวลา 24 เดือน  กำหนดระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ ครม.มีมติ – 31 ตุลาคม 2570 

4. โครงการยกระดับศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง (เครื่องสับมันฯ)  วงเงิน 10 ล้านบาท โดยเป็นการสนับสนุนเงินทุนให้กลุ่มเกษตรกรเพื่อจัดหาเครื่องสับมันสำปะหลังขนาดเล็กพร้อมเครื่องยนต์ และอุปกรณ์สำหรับตากมันเส้น เครื่องละไม่เกิน 15,000 บาท เป้าหมาย 650 เครื่อง ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ ครม.อนุมัติ – 30 กันยายน 2568

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมของบประมาณกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรชะลอการเก็บเกี่ยว มันสำปะหลังไปก่อนในช่วงที่ผลผลิตกำลังจะออกสู่ตลาดมากนี้ ให้ผลผลิตมีเชื้อแป้งและผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรขายได้ราคา โดยจะสนับสนุนให้ใช้สินเชื่อจาก ธ.ก.ส. เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนระหว่างรอการเก็บเกี่ยว โดยรัฐบาลจะรับภาระดอกเบี้ยให้ส่วนหนึ่ง คาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้ภายในสัปดาห์หน้า

“รัฐบาลนำโดยท่านนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลราคาสินค้าเกษตรทุกตัวให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในส่วนของกระทรวงพาณิชย์เอง ก็จะเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของราคา และขอให้เกษตรกรพัฒนาผลผลิตของตนเองให้มีคุณภาพ ซึ่งรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนเกษตรกรไทยอย่างต่อเนื่อง ในการเพิ่มคุณภาพผลผลิต และลดต้นทุนการผลิต เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน“นายพิชัย กล่าว

โดยก่อนหน้านี้นายพิชัยได้หารือกับนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ขอให้ผู้นำเข้าจีนช่วยรับซื้อมันสําปะหลังของไทย ที่ผลผลิตกำลังจะออกมามากในช่วงนี้ ทั้งยังได้ประสานขอให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในไทย ให้ช่วยกันใช้ส่วนผสมจากมันสำปะหลังในการผลิตเยอะขึ้นด้วย

21 ธันวาคม 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เปิดทางรถไฟสายแรกในสยาม กรุงเทพฯ – นครราชสีมา

เส้นทางรถไฟสายแรกในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2434 ภายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยเริ่มจากกรุงเทพฯ ไปยังนครราชสีมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองและทันสมัยในระดับเดียวกับชาติที่มีอารยธรรม พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างทางรถไฟเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ลดระยะเวลาในการเดินทาง และทำให้การตรวจราชการในหัวเมืองต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยพระราชดำริในตอนนั้นมีความว่า “…การสร้างทางรถไฟจะทำให้การเดินทางระหว่างหัวเมืองที่ไกลกันสะดวกยิ่งขึ้น ลดความยากลำบากในการขนส่งสินค้าและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีโอกาสทำมาหากินมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยในการตรวจตราการบังคับบัญชาภาคราชการและบำรุงรักษาพระราชอาณาเขตให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข…” การก่อสร้างเส้นทางรถไฟนี้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2443 ระยะทางรวมจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมาเป็น 265 กิโลเมตร

เส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมาในปัจจุบันได้กำหนดตามพระราชกฤษฎีกาที่มีการตราขึ้นเพื่อกำหนดรายละเอียดในการก่อสร้างรถไฟ โดยมาตรา 1 ระบุว่า “…ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานกระทรวงโยธาธิการสร้างรถไฟขนาดใหญ่จากกรุงเทพฯ ไปยังบางปะอิน, กรุงเก่า, เมืองสระบุรี และเมืองนครราชสีมา…”

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถและพระบรมวงศานุวงศ์เพื่อเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อย่างเป็นทางการ และพระองค์ได้ประทับบนรถไฟพระที่นั่งเพื่อไปเยี่ยมเยียนราษฎรและตรวจราชการที่นครราชสีมา ซึ่งเป็นศูนย์กลางของมณฑลลาวกลาง ระหว่างวันที่ 21-25 ธันวาคม พ.ศ. 2443 จากบันทึกการเดินทางระบุว่า รถไฟพระที่นั่งออกเดินทางเวลา 07.25 น. และถึงนครราชสีมาเวลาประมาณ 16.00 น. ใช้เวลารวมการเดินทางประมาณ 9 ชั่วโมง โดยแวะพักที่เมืองกรุงเก่า, เมืองแก่งคอย, เมืองปากช่อง และเมืองสีคิ้วตามลำดับ ขณะที่ในปัจจุบัน รถไฟเร็วจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมาใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง หากไม่มีการหยุดพักระหว่างทาง เวลาการเดินทางก็จะใกล้เคียงกับรถไฟพระที่นั่งในสมัยก่อน

‘พีระพันธุ์’ แจ้งข่าวดี! กบง. ตรึงราคา LPG อีก 3 เดือน ที่ราคา 423 บาทต่อถัง มีผล 1 ม.ค. ถึง 31 มี.ค. 68

(17 ธ.ค. 67) ข่าวดี!! ‘พีระพันธุ์’ เผยที่ประชุม กบง. มีมติ คงราคาขายส่งก๊าซ LPG นาน 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. 2568

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติให้คงราคาขายส่งก๊าซ LPG หน้าโรงกลั่นที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีกรอบเป้าหมายให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 68

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป

ฮอนด้า-นิสสัน เจรจาควบรวมตั้งบริษัทโฮลดิ้ง หวังสู้เทสลา-รถ EV จีน จ่อนำมิตซูฯร่วมด้วยอีกค่าย

(18 ธ.ค.67) นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงาน ว่า ฮอนด้า มอเตอร์ (Honda Motor) และ นิสสัน มอเตอร์ (Nissan Motor) สองบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เตรียมเข้าสู่การเจรจาควบรวมกิจการ เพื่อผสานทรัพยากรของทั้งสองบริษัทให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อแข่งขันกับเทสลา (Tesla) และผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจากจีนในอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ตามรายงาน ทั้งสองบริษัทกำลังพิจารณาจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง (Holding Company) เพื่อบริหารจัดการร่วมกัน และคาดว่าจะลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในเร็ว ๆ นี้ โดยสัดส่วนการถือหุ้นและรายละเอียดอื่น ๆ จะมีการตัดสินใจในภายหลัง

สงครามราคารถยนต์ไฟฟ้าที่เริ่มขึ้นโดยเทสลาและบีวายดี (BYD) ผู้ผลิตจากจีน ได้สร้างแรงกดดันให้กับบริษัทรถยนต์แบบดั้งเดิม ซึ่งต้องเผชิญกับความท้าทายด้านรายได้และส่วนแบ่งการตลาด

ปัจจุบัน ฮอนด้ามีมูลค่าตลาดประมาณ 5.95 ล้านล้านเยน (1.32 ล้านล้านบาท) ขณะที่นิสสันมีมูลค่าตลาดประมาณ 1.17 ล้านล้านเยน (2.6 แสนล้านบาท) หากการควบรวมเกิดขึ้นจริง จะเป็นหนึ่งในข้อตกลงใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์ นับตั้งแต่การควบรวมมูลค่า 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.77 ล้านล้านบาท) ระหว่าง Fiat Chrysler และ PSA ในปี 2021 ซึ่งก่อให้เกิด Stellantis

ฮอนด้าและนิสสันเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 2 และ 3 ของญี่ปุ่น รองจากโตโยต้า (Toyota) แต่กำลังสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง

ยอดขายรถยนต์รวมทั่วโลกของทั้งสองบริษัทในปี 2023 อยู่ที่ 7.4 ล้านคัน แต่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะในจีน

ก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคม ฮอนด้าและนิสสันตกลงร่วมมือกันในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า และในเดือนสิงหาคม ได้กระชับความสัมพันธ์เพิ่มเติมด้วยการร่วมพัฒนาแบตเตอรี่ เพลาไฟฟ้า และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

นิกเคอิยังรายงานเพิ่มเติมว่า ทั้งสองบริษัทกำลังพิจารณานำมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (Mitsubishi Motors) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทโฮลดิ้งด้วย โดยปัจจุบันนิสสันถือหุ้นในมิตซูบิชิอยู่ 24% การผนวกรวมนี้อาจทำให้บริษัทใหม่กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยยอดขายรวมกว่า 8 ล้านคันต่อปี

'หลี่ เจี้ยนผิง' อดีตข้าราชการทุจริต ยักยอกทรัพย์สินกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (17 ธ.ค.67) ทางการจีนได้ดำเนินการประหารชีวิต 'หลี่ เจี้ยนผิง' อดีตเลขาธิการคณะทำงานพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีฮูฮอต (Hohhot) ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทางตอนเหนือของประเทศจีน หลังจากถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาทุจริต รับสินบน ยักยอกเงินของรัฐ และสมคบคิดกับกลุ่มอาชญากร

หลี่ถูกพบว่าทุจริตโดยการยักยอกทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจกว่า 1.43 พันล้านหยวน (ประมาณ 6.74 พันล้านบาท) รับสินบนทั้งในรูปแบบของขวัญและเงินสดรวมกว่า 577 ล้านหยวน (ประมาณ 2.71 พันล้านบาท) และยักยอกเงินของรัฐอีกกว่า 1.05 พันล้านหยวน (ประมาณ 4.95 พันล้านบาท) รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ได้จากการทุจริตกว่า 3 พันล้านหยวน

นอกจากนี้ หลี่ยังถูกตัดสินว่ามีส่วนสนับสนุนการกระทำผิดของกลุ่มอาชญากรที่อยู่ภายใต้การดูแลของเขา โดยศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตและยึดทรัพย์สินทั้งหมดของเขา

แม้หลี่ได้ยื่นอุทธรณ์หลังถูกตัดสินประหารชีวิตเมื่อเดือนกันยายน 2022 แต่ศาลประชาชนสูงสุดจีนพิจารณาแล้วเห็นว่าอาชญากรรมที่หลี่กระทำมีความร้ายแรงสูงสุด ทั้งในแง่ของการทุจริตมูลค่ามหาศาล ผลกระทบเชิงลบต่อสังคม และอันตรายต่อรัฐและผลประโยชน์สาธารณะอย่างใหญ่หลวง จึงมีคำสั่งยืนยันโทษประหารชีวิต

การประหารชีวิตดำเนินการโดยศาลประชาชนในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน โดยหลี่ได้รับอนุญาตให้พบกับครอบครัวและญาติสนิทเป็นครั้งสุดท้ายก่อนการลงโทษ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top