Monday, 19 May 2025
ค้นหา พบ 48202 ที่เกี่ยวข้อง

รมว.แรงงาน สั่งเดินหน้า โครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม

รมว.แรงงาน มอบหมาย 2 กรมฯ ใต้สังกัด จูงมือโน้มน้าวสถานประกอบการ เปลี่ยนไปใช้การจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ประเภทการจ้างเหมาบริการ แทนการส่งเงินเข้ากองทุนฯ เป้าหมายช่วยคนพิการมีงานทำ มีรายได้ บรรเทาความเดือดร้อนได้ทันที

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ประชาชน และให้ความช่วยเหลือแรงงานกลุ่มเปราะบาง ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างยิ่ง โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการที่ยังมีทั้งศักยภาพ และความต้องการในการทำงาน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสการมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ อย่างเหมาะสมและยั่งยืน 

“ตามพ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จ้างคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วน 100 : 1 หากไม่สามารถดำเนินการได้ จะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในอัตรา 114,245 บาทต่อปี ตามจำนวนคนพิการที่ไม่ได้จ้าง ซึ่งกองทุนฯจะนำเงินดังกล่าว ไปส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการต่อไป อย่างไรก็ดีในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มคนพิการ ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือให้คนพิการมีงานทำ มีรายได้สามารถดูแลตนเองและครอบครัว โดยได้รับการจ้างงานจากสถานประกอบการในรูปแบบอื่น ที่เป็นทางเลือกตามกฎหมายและสามารถดำเนินการได้ จึงมอบหมายกรมการจัดหางาน ให้ประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้สถานประกอบการเลือกใช้วิธีการจ้างเหมาบริการคนพิการปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐในจังหวัดที่คนพิการอาศัยอยู่ ซึ่งเป็น 1 ในกิจกรรมการดำเนินการตามมาตรา 35 ที่จะทำให้คนพิการเกิดรายได้ทันที สามารถมีงานทำและได้รับการจ้างงานโดยตรง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ล่าสุดได้สั่งการสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ โดยมีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานร่วมบูรณาการภารกิจ ตามนโยบายท่านรัฐมนตรี เพื่อสำรวจความต้องการจ้างงานของสถานประกอบการ รวมทั้งสร้างการรับรู้แนวทางการดำเนินการตามมาตรา 35 และโน้มน้าวให้นายจ้าง/สถานประกอบการหันมาใช้การส่งเสริมการจ้างงงานคนพิการเชิงสังคม ประเภทการจ้างเหมาบริการ โดยจ้างงานคนพิการเป็นพนักงานเพื่อปฏิบัติงานสนับสนุนองค์กรในท้องถิ่นที่มีภารกิจสาธารณะประโยชน์ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน/ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการ ศูนย์บริการคนพิการของท้องถิ่น/เทศบาล เป็นต้น  ซึ่งช่วยให้คนพิการในพื้นที่ห่างไกล ได้รับโอกาสมีอาชีพ มีงานทำอย่างทั่วถึง สามารถพึ่งพาตนเองได้ทัดเทียมคนทั่วไป

“สำหรับสถานประกอบการที่สนใจร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม มาตรา 35 สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว

นายกฯ สั่ง หน่วยงาน รับมือ สถานการณ์ฝน ย้ำ 10 มาตรการ ต่อเนื่องถึงแล้งหน้า

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งบูรณาการหน่วยงาน ทั้งฝ่ายปกครองและทหาร เตรียมความพร้อมรับสถานกาณ์ช่วงฤดูฝน รวมถึงวางแผนการบริหารจัดการน้ำต่อเนื่องจนถึงฤดูแล้งหน้า รวมทั้งให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำทั้งเพื่อการอุปโภค-บริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และการรักษาสภาพแวดล้อม สำหรับการวางแผนรับมือสถานการณ์ฤดูฝน ในเชิงป้องกันก่อนเกิดภัย ประกอบด้วย 10 มาตรการ ดังนี้

1.) คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนทิ้งช่วง โดยจะมีการประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพื่อเตรียมแผนในเชิงป้องกันล่วงหน้า

2.) การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก รวมทั้งการจัดทำแผนการชดเชยให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการผันน้ำเข้าทุ่ง

3.) ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลางและเขื่อนระบายน้ำ โดยติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลาง เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการบริหารจัดการน้ำรวมทั้ง จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลาง ในช่วงภาวะวิกฤติ

4.) ซ่อมแซมปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน โดยตรวจสอบสภาพความมั่นคง และซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำ รวมทั้งระบบระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง 

5.) ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ สำรวจ และดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เกิดจากการก่อสร้างและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับปรุงคูคลอง เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำ และระบายน้ำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

6.) ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา กำจัดวัชพืชในแม่น้ำ และคูคลอง ทั่วประเทศด้วยการบูรณาการเครื่องจักรเครื่องมือในการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชของทุกหน่วยงาน 

7.) เตรียมพร้อม วางแผนเครื่องจักรเครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ เตรียมพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและเข้าช่วยเหลือได้ทันสถานการณ์ ตลอด 24 ชั่วโมง

8.) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ 

9.) การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์

10.) ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย

นายอนุชา กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลในช่วงปี 2561 ถึงปัจจุบัน รัฐบาลขับเคลื่อนแผนงานโครงการด้านน้ำตามแผนแม่บทน้ำ 20 ปีไปแล้ว 125,162 โครงการ วงเงิน 314,182 ล้านบาท มีผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ เช่น การเพิ่มน้ำต้นทุน ระบบส่งน้ำ การพัฒนาและขยายเขตประปาหมู่บ้าน 3,214  แห่ง พัฒนาน้ำบาดาลเกษตรและธนาคารน้ำใต้ดิน ได้น้ำ 100  ล้าน ลบ.ม. ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 135,170 ไร่ ซึ่งมีประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์แล้ว 2,274,737 ครัวเรือน รวมทั้งยังจะมีการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่และโครงการสำคัญรวม 526โครงการภายในปี 2564-2566 นี้

ศ.ดร.กนก แนะ ถอดบทเรียน ประกันสังคม เลื่อนฉีดวัคซีนเป็น 28 มิ.ย. หลังเปิดบริการเพียง 5 วัน ชี้เจตนาดีไม่พอ ต้องมีความพร้อม บริหารอย่างมีประสิทธิภาพด้วย หวัง กลับมาให้บริการได้ตามแผน แจ้งข่าวดี เด็กไทย ได้ฉีดวัคซีน พ.ย.-ธ.ค.

ศ.ดร.กนก แนะ ถอดบทเรียน ประกันสังคม เลื่อนฉีดวัคซีนเป็น 28 มิ.ย. หลังเปิดบริการเพียง 5 วัน ชี้เจตนาดีไม่พอ ต้องมีความพร้อม บริหารอย่างมีประสิทธิภาพด้วย หวัง กลับมาให้บริการได้ตามแผน แจ้งข่าวดี เด็กไทย ได้ฉีดวัคซีน พ.ย.-ธ.ค. เตือน บริหารความเสี่ยง วัคซีนไม่มาตามนัด อย่า เอาการเมืองนำการแพทย์ หาประโยชน์จากความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน เชื่อคนไทยรับไม่ได้ 

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว ถึงการกระจาย วัคซีนเพื่อให้บริการกับประชาชนว่า ยังมีปัญหาการเลื่อนฉีดวัคซีน ในหลายพื้นที่ แม้กระทั่งล่าสุด กระทรวงแรงงานยังเลื่อนฉีดวัคซีนผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ใน 45 จุดทั่วกรุงเทพฯ ออกไปเป็นวันที่ 28 มิถุนายน หลังเปิดให้บริการ ได้เพียงแค่ 5 วัน สะท้อนปัญหา ทั้งจำนวนวัคซีนไม่พอและการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ต่อการบริหารจัดการวัคซีน ของรัฐบาล เพราะขนาดจุดใหญ่ ของผู้ประกันตน ที่วางเป้าหมายจะฉีดให้ครบ 1 ล้านโดส ภายใน 20 วันนับจากวันที่ 7 มิถุนายนเป็นต้นไป มาถึงวันนี้ก็พลาดเป้าอย่างน้อย 5 วันแน่นอนแล้ว และยังไม่รู้ว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร แม้จะมีการออกมาชี้แจงว่าไม่ได้เกิดจากวัคซีนไม่เพียงพอ แต่เป็นเพราะสถานที่ไม่เหมาะสม อากาศร้อนเกินไป และข้อมูลผู้เข้ารับบริการยังมีปัญหา ตนเอาใจช่วยให้แก้ปัญหาปรับปรุงให้กลับมาให้บริการประชาชนให้ได้เร็วๆ แต่ก็อยากให้ถอดบทเรียน เรื่องนี้ด้วยว่าก่อนวางแผน ควรต้องประเมินทุกปัจจัย เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าสามารถปฏิบัติได้ เพราะ หากต้องมาหยุดกลางคันหรือเลื่อนออกไป จะไม่เป็นผลดี ต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล เรื่องนี้สอนเราว่าเจตนาดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องพร้อมในการบริหารจัดการด้วย 

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า การจัดหาวัคซีนที่ผ่านมาถูกตั้งคำถามมากมาย ทำไมจึงช้า ทำไมจึงได้น้อย ทำไมจึงไม่ได้ยี่ห้ออื่นบ้าง คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร จึงเชิญ นายแพทย์นคร เปรมศรีผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติมาให้คำตอบ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 แนวทางการจัดหาวัคซีนมี 3 วิธีด้วยกัน คือ 1) ประเทศร่วมสนับสนุนเงินทุนวิจัยการผลิตวัคซีน แก่บริษัทผลิตวัคซีน ด้วยข้อตกลงว่าเมื่อบริษัทผลิตวัคซีนสำเร็จจะต้องจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศของตนก่อน ซึ่งประเทศไทยไม่ได้ทำ 2) การจองซื้อล่วงหน้า พร้อมจ่ายเงินมัดจำ ก่อนที่การพัฒนาวัคซีนจะสำเร็จ ถ้าการพัฒนาวัคซีนของบริษัทไม่สำเร็จ จะเกิดความเสี่ยงต่อการเรียกเงินมัดจำคืนได้ประเทศไทยไม่ได้ทำ 3) การเจรจาซื้อวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิตที่พัฒนาวัคซีนสำเร็จแล้วและพร้อมขาย ประเทศไทยดำเนินการสั่งซื้อตามแนวทางนี้ ผลของการเจรจาสั่งซื้อวัคซีนของไทยได้ผลสำเร็จคือระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม 2564 จะได้รับวัคซีนรวม 100 ล้านโดสดังนี้ 1) ซิโนแวค 6 ล้าน, 2) แอสตาเซนเนกา 60 ล้าน, 3) ไฟเซอร์ 20 ล้าน, 4) จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 5 ล้าน ซึ่งน่าจะเพียงพอกับจำนวนประชากรในประเทศไทยทุกคน 

ศ.ดร.กนก กล่าวด้วยว่า บทเรียนจากการจัดหาวัคซีนรอบแรก 3 แนวทางนี้สถาบันวัคซีนแห่งชาติประเมินการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด 19 ทั้งสายพันธุ์อังกฤษ, อัฟริกา, และอินเดีย ที่คาดว่าบริษัทผู้ผลิตวัคซีนจะสามารถพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 (Generation 2) ที่สามารถป้องกันการกลายพันธุ์ได้สำเร็จในเดือนธันวาคม 2564 

ดังนั้นประเทศไทยจึงได้เริ่มต้นเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนเพื่อจองซื้อวัคซีนรุ่นที่ 2 สำหรับปี 2565 แล้วสำหรับวัคซีนเด็กขณะนี้ได้ข้อมูลว่าวัคซีนของไฟเซอร์สามารถใช้กับเด็กอายุ 12-16 ปีได้ และซิโนแวคใช้ได้กับเด็ก 3-18 ปีปัจจุบันองค์การอาหารและยาพร้อมกับคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเด็ก กำลังศึกษาและตรวจสอบความปลอดภัยของวัคซีนสำหรับเด็กดังกล่าว คาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ในเดือนกันยายนหรือตุลาคมนี้ นั่นหมายความว่าราวพฤศจิกายน 2564 ประเทศไทยน่าจะสามารถเริ่มฉีดวัคซีนให้เด็กได้

ถ้าประเมินจากคำชี้แจงของผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติการจัดฉีดวัคซีนให้คนไทยทั้งประเทศ ทุกคน ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร นอกจากความเสี่ยง 2 ประการที่อาจจะเกิดขึ้นคือ 1) ความเสี่ยงต่อการได้รับวัคซีนไม้ครบตามกำหนดจากบริษัทผู้ผลิต เพราะกระบวนการผลิตวัคซีนของบริษัทอาจขัดข้องหรือ มีข้อผิดพลาดได้ ซึ่งอยู่เหนือการควบคุมของไทยในฐานะผู้ซื้อ 2) ความเสี่ยงจากการเกิดคลัสเตอร์ในวงกว้าง ที่คาดไม่ถึง จึงทำให้ต้องฉีดวัคซีนให้ประชากรในพื้นที่คลัสเตอร์ที่เสี่ยงสูงก่อนเพื่อหยุดการแพร่กระจายของโรค ส่งผลให้ต้องหมุนจำนวนวัคซีนจากพื้นที่ปกติตามแผนการฉีดเดิม ไปยังพื้นที่คลัสเตอร์ใหม่ จึงทำให้ประชาชนทั่วไปอาจได้รับการฉีดวัคซีนล่าช้าไปกว่ากำหนดเดิมได้ๅ 

"ผมขอฝากเตือนว่าความเสี่ยง 2 ประการนี้เป็นเหตุสุดวิสัยที่อยู่เหนือการควบคุมได้จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนสามารถเข้าใจและยอมรับได้แต่ประเด็นที่ประชาชนยอมรับไม้ได้ คือการจัดสรรวัคซีนให้พื้นที่จังหวัดหรือกลุ่มคนที่มีลักษณะเป็นการหาเสียง ใช้การเมืองนำการแพทย์ ใช้ชีวิตประชาชน มาต่อรองทางการเมือง เรื่องแบบนี้อย่าทำ เพราะคนไทยยอมรับไม่ได้" ศ.ดร.กนก กล่าว

“บิ๊กช้าง” ย้ำเสริมกำลังพลเข้าช่วย กทม.คุมเข้มแค้มป์คนงาน และให้เตรียมวัคซีนรับทหารใหม่เข้าหน่วย

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ประชุมร่วมกับ กอ.รมน. หน่วยขึ้นตรงหระทรวงกลาโหม เหล่าทัพ และ ตร. เพื่อติดตามการสนับสนุนรัฐบาลในการขับเคลื่อนแก้ปัญหาโควิด-19 และการช่วยเหลือประชาชน

ทั้งนี้ภาพรวม ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหม โดยทุกเหล่าทัพ ยังคงทำงานร่วมกับ กระทรวงสาธารณะสุข และหน่วยงานต่างๆอย่างใกล้ชิด สนับสนุนการแก้ปัญหาเร่งด่วนและขับเคลื่อนบริหารจัดการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง 

พล.ท.คงชีพ กล่าวอีกว่า การจัดกำลังพล บุคลากรทางการแพทย์ ยานพาหนะและสิ่งอุปกรณ์ เสริมเพิ่มเข้าไปช่วยจัดตั้งและบริหารจัดการโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกว่า 6,500 รายเข้ารับการรักษา การตรวจคัดกรองเชิงรุกและเก็บเชื้อในพื้นที่กลุ่มเสี่ยง การสนับสนุนจัดตั้ง บก.ควบคุมพื้นที่แพร่ระบาด เช่น แค้มป์คนงาน โรงงานและตลาดชุมชน การสนับสนุนจัดกำลังพลคัดกรองโรค ณ สนามบิน รวมทั้งกรมราชทัณฑ์แก้ปัญหาเรือนจำที่พบการติดเชื้อ การบริหารจัดการสถานกักควบคุมโรคแห่งรัฐ (15 SQ และ 142 ASQ) การจัดรถครัวสนามประกอบอาหารช่วยเหลือประชาชนกว่า 300 ชุมชนในพื้นที่ที่พบติดเชื้อจำนวนมาก  รวมทั้งการเข้าไปช่วยสนับสนุนพ่นยาฆ่าเชื้อในโรงเรียนก่อนเปิดเทอมกว่า 350 แห่งและสนับสนุนฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปพร้อมๆกันทั่วประเทศแล้วกว่า 24,000 คน 

ทั้งนี้ รมช.กลาโหม ได้ย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ขอบคุณกำลังพลทุกเหล่าทัพที่สนับสนุนส่วนราชการต่างๆ รับมือกับวิกฤตโควิด-19 และเข้าไปดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยขอให้ดำรงความต่อเนื่องไปจนกว่าสถานการณ์จะปกติ พร้อมแสดงความห่วงใยทหารที่จะเข้าประจำการพร้อมกันทุกเหล่าทัพใน 1 ก.ค.64 โดยขอให้มีมาตรการควบคุมโรคในการฝึกและประสาน สธ.จัดหาวัคซีนรองรับทหารที่เข้าใหม่และครูฝึก ให้เพียงพอสำหรับเกิดภูมิคุ้มกันเป็นส่วนรวมในการปฏิบัติงานร่วมกัน

นอกจากนี้ พล.อ.ชัยชาญ ยังได้กำชับ ขอให้ทุกเหล่าทัพและตำรวจ เสริมกำลังเข้าไปสนับสนุน กรุงเทพมหานคร ตามที่ร้องขอ ในการควบคุมการแพร่ระบาดเป็นพื้นที่ทั้งใน กทม.และปริมณฑล ที่ยังพบกระจายในหลายคลัสเตอร์ โดยเฉพาะแคมป์คนงานที่มีกว่า 400 แห่ง ที่จำเป็นต้องจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ควบคุมการปฏิบัติเข้มในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด เพื่อจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้า-ออก และนำเข้าสู่การรักษาในระบบ  พร้อมทั้งขอให้ดำรงความต่อเนื่องสนับสนุนการบริจาคโลหิตให้กับโรงพยาบาลต่างๆที่ยังพบการขาดแคลน เพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยรอการรักษาอีกจำนวนมาก

“จุรินทร์” ลั่น ปชป.เคาะผู้สมัคร 6 จังหวัดอันดามันครบแล้ว หลายจังหวัดมีโอกาสยกทีม เตรียมเสนอ ศบค.ยกระดับภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ เป็น “อันดามัน แซนด์บ็อกซ์”

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังพบปะกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อําเภอคลองท่อม ณ เทศบาลตําบลคลองพนพัฒนา อําเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่

โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า ความพร้อมในทางการเมืองสำหรับการเลือกตั้งใหญ่ซึ่งจะมาถึงเมื่อไหร่ก็สุดแล้วแต่ มาถึงวันนี้เรามีความพร้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมการเรื่องผู้สมัครในกรุงเทพเกือบจะครบทุกเขตแล้วได้ตัวผู้สมัครที่เคาะแล้วส่วนในภาคใต้ก็เช่นเดียวกัน

โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดอันดามัน 6 จังหวัด ประกอบด้วย ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรังและสตูล มีที่นั่งทั้งหมดถ้าเป็นรัฐธรรมนูญปัจจุบัน 11 ที่นั่งพรรคประชาธิปัตย์เคาะผู้สมัครครบแล้วทั้ง 11 เขต

ยกเว้นถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญไปเป็นบัตรสองใบและปรับจาก 350 เขต เป็น ส.ส.เขต 400 เขต และบัญชีรายชื่อ 100 คน ตามร่างแก้รัฐธรรมนูญที่เตรียมเสนอเกิดประสบความสำเร็จ จะมีการขยายเขตเพิ่มเติม เช่นกระบี่อาจมีผู้แทนเพิ่มเป็น 3 คน พังงาอาจเพิ่มเป็น 3 คน ตรังอาจเพิ่มเป็น 4 คน เป็นต้น ได้มีการเตรียมการไว้ในใจแล้วเช่นเดียวกันซึ่งวันนี้ผู้สมัครเขตอันดามันในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ครบแล้ว

"โดยรายชื่อมีทั้งผู้ที่เป็น ส.ส.ในปัจจุบันและคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมอุดมการกับพรรคเมื่อเปิดชื่อแล้วผมคิดว่าจะเป็นที่ยอมรับของประชาชน และในอันดามันผมเชื่อว่าเราจะได้มากกว่าเดิม หลายจังหวัดก็มีโอกาสยกทีม" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top