Friday, 16 May 2025
ค้นหา พบ 48149 ที่เกี่ยวข้อง

ครม.เห็นชอบขยายเวลาตรวจโควิด ทำประกันสุขภาพ และยื่นขออนุญาตทำงานให้ต่างด้าว ตามมติครม. 29 ธ.ค. 63

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขยายเวลาดำเนินการ ให้ต่างด้าวกลุ่มมติ 29 ธ.ค. 63 ตรวจโควิด-19 พร้อมทำประกันสุขภาพ และยื่นขออนุญาติทำงาน (บต.48) ออกไปถึง 13 ก.ย. 64 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยระลอกใหม่ยังคงมีความรุนแรง และพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยร้อยละ 70 ครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญ อันเป็นพื้นที่ที่มีคนต่างด้าวทำงานหนาแน่น ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรคนั้น ส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องระดมทรัพยากรบุคคล สถานที่ อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ในการป้องกันยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อระบบสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนโดยรวม จึงจำเป็นต้องชะลอหรือยับยั้งการการดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้กับคนต่างด้าวที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

“คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอให้ขยายระยะเวลาการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 พร้อมทำประกันสุขภาพ และยื่นขออนุญาตทำงาน (บต. 48) กับกรมการจัดหางานผ่านระบบออนไลน์ของคนต่างด้าวที่ได้ดำเนินการตามมติครม. เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 63 ประกอบกับมติครม.เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 64 และมติครม. เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 64 ที่จากเดิมจะสิ้นสุดภายในวันที่ 16 มิ.ย. 64 เป็นวันที่ 13 ก.ย. 64  สำหรับการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) ให้ดำเนินการถึงวันที่ 16 มิ.ย. 64 และผลการตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 18 ต.ค. 64 ตามแนวทางที่กำหนดเดิม ในส่วนคนต่างด้าวที่ลงทะเบียนแบบไม่มีนายจ้าง ให้ขยายระยะเวลาการจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร. 38/1) ไปถึงวันที่ 31 มี.ค. 65 เพื่อให้การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลุล่วง สามารถขจัดปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพไปพร้อมกัน ตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า จากผลการดำเนินการตามมติครม.เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 63 (ระหว่างวันที่ 15 ม.ค. 64-31 พ.ค. 64) มีคนต่างด้าวลงทะเบียนออนไลน์ทั้งสิ้น จำนวน 654,864 คน แบ่งเป็น คนต่างด้าวที่ได้รับอนุมัติบัญชีรายชื่อ (มีนายจ้าง) 601,027 คน และยังไม่ดำเนินการ 53,837 คน ซึ่งจากคนต่างด้าวที่ได้รับอนุมัติบัญชีรายชื่อจำนวน 601,027 คน กรมการจัดหางานได้สำรวจและคัดแยกข้อมูลเบื้องต้น พบว่ามีการลงข้อมูลซ้ำซ้อนถึง 50,972 คน เป็นคนที่อยู่บริเวณแนวชายแดนและเดินทางกลับไปแล้ว 29,000 คน เป็นผู้ติดตาม 25,000 คน รวม 104,972 คน ทำให้คงเหลือคนต่างด้าวที่ต้องดำเนินการทั้งสิ้น จำนวน 496,055 คน ซึ่งล่าสุดจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) แล้ว 485,263 คน ผ่านการตรวจโควิด-19 แล้ว 339,331 คน ยื่นขอรับใบอนุญาตทำงาน (บต.48) แล้ว 239,654 คน และจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติ แล้ว 52,326 คน

“สำหรับผู้ที่ต้องการสอบถามขั้นตอนขอรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694 ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสารและแนะนำวิธีการดำเนินการ” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว

‘ปิยบุตร’ ชวนประชาชนช่วยดัน ‘ร่างแก้ รธน. ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์’ เข้าสภา อัด ‘ร่างแก้ รธน. ฉบับพลังประชารัฐ’ รวบหัวรวบหางเอื้อประโยชน์ตนเอง เตรียมเลือกตั้งใหม่

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะแกนนำกลุ่ม Re-solution กล่าวถึงกรณีที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐให้สัมภาษณ์ว่าในวันที่ 15 มิ.ย. 2564 นี้ประธานรัฐสภาจะมีการนัดหารือกับทั้ง ส.ว. พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อเตรียมประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยคาดว่าในวันที่ 22-23 มิถุนายน 2564 จะมีการประชุมรัฐสภาพิจารณาญัติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 

โดยนายปิยบุตรขอให้ประชาชนช่วยกันเร่งเข้าชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ เพื่อไม่ให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐที่ยื่นโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน กลายเป็นร่างหลักในรัฐสภา เพราะร่างของพรรคพลังประชารัฐกำลังพยายามรวบหัวรวบหางแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคใหญ่

นายปิยบุตร กล่าวว่า จากกระแสทางการเมืองในขณะนี้มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลอาจเตรียมพร้อมยุบสภาหลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ผ่าน แต่ก่อนที่จะมีการยุบสภาเกิดขึ้น สิ่งที่รัฐบาลจะทำก่อนคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะทำให้พวกพ้องของตนเองได้ประโยชน์ เช่น การแก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้ง เพื่อให้พรรคการเมืองที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของตัวเอง ครองเสียง ส.ส. ในสภาได้จำนวนมากและได้เกินกว่าสัดส่วนที่ควรจะเป็น 

นายปิยบุตร กล่าวต่อไปว่า การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรครัฐบาล มีข้อเสนอเป็นที่แน่ชัดว่าพยายามรวบหัวรวบหางแก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้งเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ ปล่อยให้พรรครัฐบาลสามารถยื่นแก้ไขได้อย่างสะดวก ทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะได้รัฐธรรมนูญตามที่ฝ่ายรัฐบาลสืบทอดอำนาจต้องการ ทำไปเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และด้วยเสียงในสภาของทั้ง ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ส. ฝากเลี้ยงตามพรรคการเมืองต่างๆ รวมเข้ากับเสียงของ ส.ว. 250 คนที่ไม่เคยแตกแถว แม้จะปัดตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกร่าง แต่ถ้าเป็นร่างจากพรรคพลังประชารัฐก็จะต้องยกมือให้ผ่านหมดแน่นอน จนได้ผลลัพธ์ที่พวกเขาต้องการ

“หากปล่อยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามสิ่งที่พวกเขาต้องการสำเร็จ ในอนาคตเมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ด้วยการถือครองอำนาจรัฐ อำนาจสถาบันทางการเมือง มีกลไกองค์กรอิสระต่างๆ และระบบเลือกตั้งที่เอื้อให้พรรคสืบทอดอำนาจได้เปรียบ รวมเข้ากับเสียงของ ส.ว. 250 ที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งมาเองกับมือและมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 กลายเป็นว่าเราก็จะได้รัฐบาลแบบเดิม ระบอบประยุทธ์จะยิ่งมั่นคงขึ้น เจตจำนงและเสียงของประชาชนจะถอยหลังลงคลองลงเรื่อยๆ จะถือเป็นการผนึกกำลังกินรวบประเทศอย่างแท้จริง พวกเขาเคยสืบทอดอำนาจสำเร็จผ่านรัฐธรรมนูญ 60 มาแล้ว อย่าปล่อยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เห็นหัวประชาชนเกิดขึ้นอีกครั้ง หากในอนาคตที่ทุกอย่างเข้าทางพวกเขาทั้งหมด พวกเขาจะยิ่งไม่เห็นหัวประชาชนมากขนาดไหน” ปิยบุตร กล่าว

นอกจากนี้แก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เปิดทางให้ ส.ส. และ ส.ว. มีส่วนร่วมในการใช้จ่ายเงินงบประมาณให้ความเห็นชอบโครงการของหน่วยงานของรัฐได้ ทั้งๆ ที่ประเด็นนี้อาจนำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะ ส.ส. เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ตรากฎหมายและตรวจสอบรัฐบาล ไม่ใช่ใช้งบประมาณ 

“การเปิดโอกาสให้ ส.ส. วิ่งหางบประมาณมาลงในพื้นที่ตนเอง อาจมาในนามของการช่วยเหลือประชาชน แต่เอาเข้าจริงแล้ว ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันระหว่าง ส.ส.รัฐบาล และ ส.ส.ฝ่ายค้าน รัฐมนตรีอาจแบ่งสรรงบประมาณไปลงให้เฉพาะแต่พื้นที่ของ ส.ส. พรรคพวกตนเอง ส่วน ส.ส. ฝ่ายค้าน หากอยากได้บ้างก็ต้องสยบยอมกับรัฐบาลหรือย้ายข้างไปอยู่กับรัฐบาล กลายเป็น ส.ส. งูเห่า ทั้งๆ ที่การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ คืองานการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” นายปิยบุตร กล่าว

“ดังนั้นต้องมาช่วยกันยืนยันว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน เราต้องการรัฐธรรมนูญ ต้องการรัฐบาล รัฐสภาที่เห็นหัวประชาชน ที่เราทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน อย่าปล่อยให้ ส.ว. 250 คนมาขี่คอประชาชนต่อไป ประชาชนจะสามารถทำให้หลักการนั้นเป็นจริงได้ คือการมาร่วมกันแสดงพลัง มาร่วมกันเข้าชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ เพื่อดันให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์เข้าสภาเป็นร่างหลักให้ได้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการถอนหมุดที่คณะรัฐประหารและรัฐบาลสืบทอดอำนาจปักไว้ในสังคมไทย” นายปิยบุตร กล่าวทิ้งท้าย

โดยประชาชนสามารถไปลงชื่อที่จุดตั้งโต๊ะใกล้บ้านหรือส่งเอกสารทางไปรษณีย์ ดูรายละเอียดที่นี่ www.resolutioncon.com/ ดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่นี่ https://bit.ly/3t04VTR
 

“บิ๊กตู่” เปิดไทม์ไลน์รัฐบาลเหลือ 1 ปี สั่ง ครม.เร่งเดินกิจกรรมส่งต่อรัฐบาลหน้า “ลั่น” จากนี้งานต้องมีผลสำเร็จจับต้องได้ “ย้ำ” ฝ่ายการเมือง-ขรก.ทิ้งกันไม่ได้ อ้อนอยู่ด้วยกันมานาน ขอทุกคนเข้าใจ จะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ปัจจุบันสถานการณ์เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ได้มีการอนุมัติไปแล้ว 984,000 ล้านบาท จนถึงวันนี้เบิกจ่ายไปแล้ว 73 เปอร์เซ็นต์ ยังคงเหลือเงินกู้อีกประมาณ 15,000 ล้านบาท ซึ่งต้องมีเงินไว้ส่วนหนึ่งเพื่อสำรองในการลดค่าน้ำค่าไฟให้กับประชาชนต่อไป ทั้งนี้หลายเรื่องที่ได้มีการหารือในที่ประชุมครม.ซึ่งตนมีความเป็นห่วงกังวลเกี่ยวกับเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ว่าทำอย่างไรจะให้หลุดพ้นจากความยากจนได้โดยเร็วที่สุด โดยตนได้สั่งการและมอบนโยบายไปแล้วว่าจำเป็นต้องเร่งรัดหลายกิจกรรมในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ยังเหลืออยู่ในรัฐบาลปัจจุบัน และเตรียมพร้อมที่จะทำอะไรให้เกิดผลสัมฤทธิ์ส่งต่อให้กับรัฐบาลวันข้างหน้าต่อไป ทั้งนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ตามแผนงาน 1 ปี และแผนงานระยะปานกลาง 3 ปี ยุทธศาสตร์ 5 ปี นั่นคือความต่อเนื่องและสอดคล้อง สุดแล้วแต่รัฐบาลใดจะเข้ามารับผิดชอบกันต่อไป ถ้าไม่ทำแบบนี้ก็ไม่ต่อเนื่อง แล้วจะทำไม่ได้

“ผมไม่ได้ขัดข้องเรื่องแผนงานโครงการที่เสนอขึ้นมา แต่เราจำเป็นต้องมีการตรวจสอบคัดกรอง โดยคณะอนุกรรมการ คณะกรรมการหลายระดับด้วยกัน จากภาครัฐและภาคเอกชน มีส่วนร่วมในการพิจารณาแผนงานโครงการทั้งสิ้น ซึ่งไม่ได้ต้องการให้ไปเกิดประโยชน์อะไรกับใครทั้งสิ้น ประโยชน์ต้องตกอยู่กับพี่น้องคนไทยทุกคนในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด ให้เกิดความทั่งถึงและเป็นธรรม”นายกฯกล่าว

“รัฐบาลยืนยันงบประมาณที่มีอยู่จะใช้อย่างคุ้มค่า รัฐบาล นายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการย้ำในที่ประชุมครม.เสมอมาให้ระมัดระวังการทุจริต ระมัดระวังความไม่โปร่งใสไม่เป็นธรรมอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งมีคำพูดคำกล่าวมามากมายในขณะนี้ ขอให้เข้าใจว่ารัฐบาลหรือ ครม.มีหน้าที่ในการอนุมัติหลักการและการดำเนินการ อนุมัติการใช้จ่ายเงิน แต่ในขั้นตอนการดำเนินการเป็นเรื่องของหน่วยงาน คณะกรรมการต่างๆจะต้องรับผิดชอบ ผมเองรับผิดชอบในฐานะเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ผมรับผิดชอบตามลำดับชั้นของผม อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าจะทำทุกอย่างให้กับพี่น้องคนไทยทั้งประเทศ ไม่ละเว้นใครแม้แต่คนเดียว จะทำให้มากที่สุด และทุกจังหวัด ไม่ใช่เฉพาะคนรักคนชอบ มันไม่ใช่ ผมไม่ได้ทำงานแบบนั้น จะเห็นได้ว่าหลายอย่างมีทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจ ผมก็ไปโกรธเคืองกับใครไม่ได้ ขอให้ระมัดระวังความขัดแย้งที่มันจะเกิดขึ้น ทำให้บ้านเมืองไม่มีเสถียรภาพ และทำให้การทำงานต่างๆมันเป็นไปไม่ได้ แผนงานโครงการต่างๆเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ขอให้รับฟังคำชี้แจงอันเป็นประโยชน์เป็นข้อเท็จจริงในการพิจารณางบประมาณต่างๆในชั้นกรรมาธิการ และยืนยันว่าหากมีงบประมาณอะไรที่มีการแปรญัตติมาแล้ว ผมจะนำมาดำเนินการบริหารเพิ่มให้มากขึ้นในส่วนที่ลดน้อยลงตามความจำเป็น อันนี้เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารที่จะต้องรับผิดชอบต่อไปในอนาคตด้วย ขอความร่วมมือกับทุกท่านแค่นั้น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอเป็นกำลังใจให้ข้าราชการทุกคนที่ทำงานอย่างหนักในการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิดหลายเดือนมาแล้ว เป็นปีมาแล้ว บางคณะทำงานทุกวัน 24 ชั่วโมง มีการประชุมทุกวันไม่มีวันหยุด หลายคนเจ็บป่วยเป็นไข้บ้าง ขอให้เห็นใจเจ้าหน้าที่ บุคคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข อสม.​แม้กระทั่งหน่วยงานท้องถิ่นจังหวัดทุกคน นั่นคือพลังของคนไทยที่เราจะต้องชนะไปด้วยกันในเรื่องของโควิด และสถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังมีปัญหาในขณะนี้ แต่ยินดีที่ภาคเศรษฐกิจในภาพรวม มหภาค ยังดีอยู่ในส่วนของการส่งออกที่ปริมาณการส่งออกมากขึ้น ในปัจจุบันสถานการณ์หลายประเทศเริ่มฟื้นฟูเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสุขภาพด้วย ซึ่งหน่วยงานต่างประเทศประเมินว่าในปี 65 หลายอย่างน่าจะดีขึ้นในทุกภูมิภาคของเรา ดังนั้นเราจะต้องเดินหน้าไปสู่เป้าหมายอย่างท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจของเราเดินหน้าได้ วันนี้ต้องหวังพึ่งเศรษฐกิจรอบบ้าน ซึ่งมีสถิติสูงขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์ หรือ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ 5 แสนกว่าล้านบาทในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเราตั้งเป้าไว้ประมาณ 1 แสนล้านบาท จากเศรษฐกิจชายแดน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์รอบประเทศเราด้วย ซึ่งเราต้องติดตามสถานการณ์ในทุกมิติ 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการประชุมร่วมกันหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเศรษกิจใหญ่ๆทั้ง จี 7 จี 10 และอีกหลายเวทีโลก ซึ่งได้มีการประชุมหารือในเรื่องเศรษฐกิจในอนาคต เราก็ต้องเตรียมการให้พร้อมรับมือกับพันธสัญญาในเรื่องต่างๆที่มีอยู่ เพราะเราอยู่ในห่วงโซ่ของเขาหมด ทั้งเรื่องของการค้า การลงทุน ซึ่งมีกติกามากมายออกมา เราต้องเตรียมความพร้อม ทุกคนต้องเข้มแข็ง อดทน และเพิ่มขีดความสามารถของตัวเองให้สอดคล้องกับมาตรการต่างๆที่รัฐบาลได้ออกมาในช่วงเวลานี้ ซึ่งก็มีมาตรการออกมาเป็นจำนวนมากที่บางทีก็ดูว่า ไม่สำเร็จซักเรื่อง แต่อย่าลืมว่า เรามีคนจำนวนมากที่เดือดร้อนในหลายอาชีพ เราจึงจำเป็นต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของเรา ซึ่งก็ได้ย้ำว่าใน 1 ปีนี้ จะต้องมีผลสำเร็จที่จับต้องเป็นรูปธรรมได้ว่าเรามีการแก้ไขปัญหาอะไรไปแล้วบ้าง และอีก 1 ปี ข้างหน้าจะทำอะไร เตรียมแผนเอาไว้ ทั้งนี้ แผนงานทั้งหมดไม่ใช่นายกฯเป็นคนกำหนดทั้งหมด แต่เป็นแผนงานที่เสนอมาจากข้างล่าง จำนวนหลายหมื่นโครงการ ผ่านอนุกรรมการ ผ่านคณะกรรมการ จนมาถึงระดับนโยบายบริหาร ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันทั้งฝ่ายการเมือง ข้าราชการ เราทิ้งกันไม่ได้ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย เป็นไปตามระเบียบราชการทุกกรณี 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาอีกเรื่องในขณะนี้ คือ การแก้ปัญหาเรื่องของโรงแรม สถานประกอบการต่างๆ รัฐบาลกำลังจะหาวิธีที่จะแก้ปัญหาในกรณีที่มีปัญหาเรื่องการจดทะเบียนต่างๆ ต้องใช้เวลาในการแก้ไขอีกนิดนึงเพื่อจะได้เตรียมการรองรับการท่องเที่ยวในปีหน้าว่าจะทำอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นปัญหากดทับมานานแล้ว อย่างเช่นเรื่องของหนี้กยศ. หนี้ครู ทุกอย่างอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการทั้งสิ้น ก็ต้องขอเวลาเพราะมีคนจำนวนมาก มีหนี้จำนวนมาก จะบริหารจัดการกันได้อย่างไรเพราะเราก็มีงบประมาณจำกัด ทำอย่างไรเราจะแก้ปัญหานี้ได้ให้มากที่สุด และทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาภายหลัง นี่คือสิ่งที่เราต้องทำงานให้รอบคอบ 

“ในฐานะนายกรัฐมนตรี อยู่กับท่านมาหลายปีมาแล้ว ทุกคนก็คงทราบดีว่ามีความตั้งใจอย่างไร เจตนาของผมเป็นอย่างไร ขอเพียงให้ทุกคนเข้าใจ ผมไม่เคยบังคับอะไรท่านได้ เพราะเป็นเรื่องของประชาชนที่ต้องการ ผมก็ฟังทุกคนทุกภาคส่วน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วานนี้(7 มิ.ย.) ได้คุยกับสมาคมชาวนา ว่าจะพัฒนากันอย่างไรก็รับฟังความคิดเห็นมา และนำสู่การขับเคลื่อนโดยกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ดูว่าจะทำอย่างไรให้ชาวนามีรายได้ที่สูงขึ้น ตนก็รับฟังข้อมูลมาจากหลายๆทาง ทั้งคนที่ทำนาเอง หรือ การจ้างแรงงาน เพราะฉะนั้นปัญหาของชาวนาคือเรื่องของการลดต้นทุน บริหารโดยวิสาหกิจชุมชนแบบครบวงจร ทั้งเมล็ดพันธุ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ปุ๋ยถือเป็นต้นทุนทั้งสิ้น บางคนไม่มีที่ของตัวเองก็ต้องไปเสียค่าเช่า เพราะฉะนั้นต้นทุนจะสูงแต่ขายข้าวมาได้จำนวนจำกัด และนอกจากนี้เมื่อไปถึงโรงสีก็มีการตรวจในเรื่องของความชื้นอีก ซึ่งถ้าเราช่วยคนส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านี้ได้ก็จะทำให้ หลุดพ้นจากการติดกับดักตัวเอง ซึ่งตนและครม.ของตนจะดำเนินการเรื่องเหล่านี้ให้ดีที่สุด ปัญหาอะไรที่ทับซ้อนยาวนาน บางอย่างมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมาย กฎกระทรวง ก็พยายามแก้ไขให้ได้ทุกอย่าง ขอเพียงความเข้าใจ ความร่วมมือ ตนขอเพียงเท่านี้ และขอขอบคุณกำลังใจที่ทุกท่านส่งมาให้ตนเองและข้าราชการทุกคน โดยเฉพาะให้กับกระทรวงสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา ก็ยืนยันจะดูแลแก้ปัญหาให้ดีที่สุด

'นายกฯ' สั่ง 'รมว.คลัง' แจงพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มอบหมายให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นผู้ชี้แจงพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ต่อสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปชี้แจงเพิ่มเติม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 

ประกอบด้วย 3 แผนงาน ได้แก่

1.) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของ โควิด-19 วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข การวิจัยและพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ

2.) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 3 แสนล้านบาท เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ช่วยผู้ประกอบอาชีพและผู้ประกอบการ สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง และ

3.) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โควิด-19 วงเงิน 170,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงาน โครงการ เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน กระตุ้นการลงทุนและการบริโภค 

"ทั้ง 3 แผนงานนี้ สามารถโยกเงินผ่านแผนงานต่างๆ มาใช้ได้ในวงเงิน 5 แสนล้านบาท แต่ไม่สามารถที่จะนำไปใช้ในแผนงานอื่นนอกเหนือจาก 3 กรอบนี้ได้" นายอนุชา กล่าว

‘รัฐบาล' ระบุ สธ.เตรียมแผน ฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติ ครอบคลุมแรงงานต่างด้าว

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี กรณีที่มีกระแสเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนให้กับชาวต่างชาติว่า ก่อนหน้านี้ กระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่าประเทศไทยจะฉีดวัคซีนให้กับทุกคนที่พำนักอยู่ในประเทศไทย ทั้งแรงงานต่างชาติ หรือผู้ที่ทำหน้าที่อยู่ในประเทศไทยในลักษณะของคณะทูต หรือองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการจัดทำรูปแบบการลงทะเบียนให้ชาวต่างชาติผ่านระบบต่างๆ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศว่าจะลงทะเบียนอย่างไร หากได้ข้อสรุปแล้วจะชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบโดยอีกครั้ง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top