ผู้บัญชาการทหารเรือ ตรวจเยี่ยมการฝึกยิงอาวุธทางยุทธวิธี ของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ในการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2568

(8 พ.ค.68) พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ เดินทางตรวจเยี่ยมการฝึกยิงอาวุธทางยุทธวิธี ของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง โดยมี พลเรือตรี เอตม์ ยุวนางกูร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ให้การรับรอง ณ สนามฝึกยิงอาวุธ เขาลำปี - ท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา

การฝึกยิงอาวุธทางยุทธวิธี ของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล (FTX) ในการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2568 ซึ่งเป็นการฝึกปฏิบัติจริงของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง เพื่อทดสอบความพร้อมขององค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธี ทดสอบความพร้อมและขีดความสามารถในการฝึกยิงอาวุธประจำหน่วย ในการป้องกันฝั่งและการป้องกันภัยทางอากาศ ของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งประจำที่ รวมถึง เป็นการฝึกยิงอาวุธทางยุทธวิธีด้วยปืนใหญ่รักษาฝั่ง ปืนต่อสู้อากาศยาน และ อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ IGLA -S สนับสนุนด้วยการตรวจการณ์จากอากาศยานไร้คนขับ (UAS) และการตรวจการทางเรือ ตลอดจนทดสอบขีดความสามารถในการติดตามภาพสถานการณ์ของหน่วยควบคุมบังคับ รวมถึงความพร้อมในการเตรียมการฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศระยะปานกลางแบบ FK - 3 สำหรับการโจมตีเป้าหมายทางอากาศ  ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามแผนป้องกันประเทศ โดยจำลองสถานการณ์ฝึก เป็นการรับมือ ป้องกัน และโจมตี ฝ่ายข้าศึกที่เข้ามารุกล้ำอธิปไตยของชาติทางทะเล และน่านฟ้า ผลการฝึกยิงอาวุธ เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้  

สำหรับยุทโธปกรณ์ที่นำมาใช้ในการฝึกยิงทางยุทธวิธีนี้ประกอบด้วย ปืนใหญ่กลางกระสุนวิธีราบ ขนาด 130 มิลลิเมตร ปืนใหญ่กลางกระสุนวิถีโค้ง ขนาด 155 มิลลิเมตร ปืนต่อสู้อากาศยาน ขนาด 37 มิลลิเมตร ปืนต่อสู้อากาศยาน ขนาด 40/70 มิลลิเมตร  อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ IGLA -S โดยทำการยิงจากรถ จำนวน 2 ลูก จากหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และปืนใหญ่กลางกระสุนวิถีโค้ง ขนาด 155 มิลลิเมตร ATMG จากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน

ในส่วนของอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ IGLA -S เป็นอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ มีหลักการจับเป้าหมายโดยอาศัยการตรวจจับ และรับรังสีอินฟราเรดที่แพร่ออกมาจากแหล่งความร้อนของตัวอากาศยาน อาวุธจะล็อคเป้าหมาย และพร้อมให้พลยิงปล่อยตัวจรวดออกมา เพื่อติดตามทำลายเป้าหมาย และเมื่อจรวดแล่นออกจากท่อยิง การทำงานจะเป็นไปในลักษณะ Fire and Forget  โดยเป้าที่ใช้ในการยิงอาวุธครั้งนี้เป็นเป้าฝึก Drone แบบปีกนิ่ง ที่พัฒนาโดยสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ

ด้าน อาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศระยะปานกลางแบบ FK-3   เป็นระบบอาวุธป้องกันภัยทางอากาศระยะปานกลาง-ไกล ที่สามารถทำงานได้ทุกสภาพอากาศทั้งกลางวัน และกลางคืน ถูกออกแบบมาให้สกัดกั้นเครื่องบินรบ, เครื่องบินปีกตรึง, อากาศยานปีกหมุน รวมถึงเฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธ, อากาศยานไร้คนขับ, จรวดร่อน, ขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ รวมไปถึงอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่พื้น สามารถทำงานเป็นระบบ Stand alone เข้าประจำการในหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง  

ทั้งนึ้การฝึกกองทัพเรือประจำปี ถือเป็นการฝึกที่มีความสำคัญสูงสุดของกองทัพเรือ โดยใช้แนวความคิดในการฝึกว่า “รบอย่างไร ฝึกอย่างนั้น” ซึ่งในปีนี้เป็นการฝึกป้องกันประเทศโดยกำหนดสถานการณ์ตั้งแต่ในขั้นปกติสถานการณ์วิกฤตไปถึงขั้นป้องกันประเทศซึ่งมีการทดสอบและสร้างความคุ้นเคยทางด้านแนวความคิดหลักการหลักนิยมไปจนถึงขีดความสามารถของกำลังรบในแต่ละประเภทโดยส่วนต่างๆของกองทัพเรือทั้งในกองอำนวยการฝึกและหน่วยรับการฝึกทุกหน่วยได้มีการเตรียมการ และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอย่างเต็มกำลังความสามารถโดยนำวัตถุประสงค์การฝึกและหัวข้อการทดสอบที่กองทัพเรือกำหนดไปกำหนดเป็นวัตถุประสงค์เฉพาะ ตามภารกิจของหน่วยและนำไปทดสอบในการฝึกปัญหาที่บังคับการ (CPX) และการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล (FTX) เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายคำสั่งและวัตถุประสงค์การฝึกที่ได้กำหนดไว้ โดยผลลัพธ์ที่จะได้รับจากการฝึกในครั้งนี้ นอกจากกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกจากหน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือ จะได้ใช้ยุทธวิธีหลักนิยมในการรบร่วม และทดสอบแนวทางการใช้กำลังของกองทัพเรือให้เป็นไปตามแผนป้องกันประเทศ เพื่อให้เกิดความรู้ความชำนาญเพิ่มขึ้นจากการฝึกจริงแล้ว ยังทำให้กองทัพเรือได้รับทราบถึงขีดความสามารถและข้อจำกัดของกำลังพลในปัจจุบัน รวมทั้งการปฏิบัติการร่วมกันกับหน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาขีดความสามารถสำหรับการปฏิบัติภารกิจ โดยเฉพาะในการป้องกันประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น