ชาวเนปาลนับหมื่น แห่รับ ‘สมเด็จพระราชาธิบดีชญาเนนทระ’ พร้อมเรียกร้องให้ฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์อีกครั้ง

กลุ่มสนับสนุนสถาบันกษัตริย์นับหมื่นรวมตัวกันที่สนามบินเพื่อมาต้อนรับสมเด็จพระราชาธิบดีชญาเนนทระ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งเนปาล อดีตกษัตริย์เนปาลที่ถูกโค่นอำนาจเมื่อปี 2008 ซึ่งได้เดินทางกลับกรุงกาฐมาณฑุ

พร้อมเรียกร้องให้คืนสถาบันกษัตริย์ที่ถูกโค่นอำนาจไป ท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชนต่อสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ

เมื่อวันอาทิตย์ ผู้สนับสนุนของสมเด็จพระราชาธิบดีชญาเนนทระ ประมาณ 10,000 คน รวมตัวกันใกล้ทางเข้าหลักของสนามบินนานาชาติตริภูวันในกรุงกาฐมาณฑุ ขณะพระองค์เสด็จกลับจากการเดินทางไปเนปาลตะวันตก

“ขอให้พระองค์ทรงกลับมาเถิด ทรงกลับมาเป็นกษัตริย์ มาช่วยประเทศชาติ กษัตริย์ที่รักของเรา จงทรงพระเจริญ เราต้องการสถาบันกษัตริย์” ประชาชนพากันตะโกน

สมเด็จพระราชาธิบดีชญาเนนทระ วัย 77 ปี ได้ขึ้นครองราชย์เมื่อปี 2001 หลังจากพี่ชายของเขา Birendra Bir Bikram Shah และครอบครัวของเขาถูกสังหารในเหตุการณ์สังหารหมู่ที่คร่าชีวิตสมาชิกราชวงศ์ไปเกือบหมด

พระองค์ทรงปกครองประเทศในฐานะประมุขแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีอำนาจบริหารหรืออำนาจทางการเมืองจนถึงปี 2005 เมื่อพระองค์ได้เข้ายึดอำนาจเบ็ดเสร็จโดยกล่าวว่าเพื่อปราบกบฏเหมาอิสต์ที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์

พระองค์สั่งยุบรัฐบาลและรัฐสภา จำคุกนักการเมืองและนักข่าว และตัดการติดต่อสื่อสาร ประกาศภาวะฉุกเฉิน และใช้กองทัพปกครองประเทศ

การเคลื่อนไหวดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดการประท้วงบนท้องถนนครั้งใหญ่ จนในปี 2006 สมเด็จพระราชาธิบดีชญาเนนทระ ต้องส่งมอบอำนาจให้กับรัฐบาลหลายพรรค

รัฐบาลดังกล่าวได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มเหมาอิสต์ ซึ่งยุติสงครามกลางเมืองยาวนานกว่าทศวรรษที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน

ในปี 2008 พระองค์ได้ลงจากบัลลังก์หลังจากรัฐสภาลงมติให้ยกเลิกระบอบกษัตริย์ฮินดูที่ปกครองมายาวนาน 240 ปีของเนปาล ทำให้ประเทศกลายเป็นสาธารณรัฐฆราวาส

แต่ตั้งแต่นั้นมา เนปาลมีรัฐบาล 13 ชุด และหลายคนในประเทศ เริ่มรู้สึกหงุดหงิดกับสาธารณรัฐนี้ พวกเขาบอกว่าเนปาลไม่สามารถสร้างเสถียรภาพทางการเมืองได้ และโทษว่าเป็นต้นเหตุของเศรษฐกิจที่ตกต่ำและการทุจริตคอร์รัปชันที่แพร่หลาย

'ความไร้ความสามารถของนักการเมือง’ ผู้เข้าร่วมการชุมนุมกล่าวว่าพวกเขาหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองเพื่อหยุดยั้งประเทศไม่ให้เสื่อมถอยต่อไป Thir Bahadur Bhandari วัย 72 ปี กล่าวกับสำนักข่าว Associated Press ว่า "เราอยู่ที่นี่เพื่อสนับสนุนกษัตริย์อย่างเต็มที่และรวมตัวสนับสนุนพระองค์เพื่อให้พระองค์ได้ขึ้นครองบัลลังก์อีกครั้ง" 

ในบรรดาคนนับหมื่นที่มาครั้งนี้ มีช่างไม้วัย 50 ปีชื่อ Kulraj Shrestha ซึ่งเคยเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านกษัตริย์เมื่อปี 2006 แต่เปลี่ยนใจแล้วและตอนนี้กลับมาสนับสนุนสถาบันกษัตริย์

“สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นกับประเทศคือการทุจริตคอร์รัปชันครั้งใหญ่ และนักการเมืองที่อยู่ในอำนาจทุกคนไม่ได้ทำอะไรเพื่อประเทศเลย” Kulraj Shrestha ให้สัมภาษณ์กับ AP “ผมเข้าร่วมการประท้วงที่ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ด้วยความหวังว่ามันจะช่วยประเทศได้ แต่ผมคิดผิด และประเทศชาติยิ่งตกต่ำลง ผมจึงเปลี่ยนใจ”

สมเด็จพระราชาธิบดีชญาเนนทระ ไม่ได้แสดงความคิดเห็นต่อข้อเรียกร้องให้คืนสถาบันกษัตริย์ แม้จะมีการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น แต่โอกาสที่พระองค์จะกลับคืนสู่อำนาจนั้นริบหรี่

Lok Raj Baral นักวิเคราะห์การเมือง กล่าวกับสำนักข่าว AFP ว่าเขาไม่เห็นความเป็นไปได้ที่สถาบันกษัตริย์จะฟื้นคืนมา เพราะสถาบันกษัตริย์เป็น “แหล่งที่มาของความไม่มั่นคง”

“สำหรับกลุ่มที่ไม่พอใจบางกลุ่ม การกระทำดังกล่าวได้กลายเป็นการส่งสัญญาณถอดใจ เนื่องจากความไร้ความสามารถของนักการเมืองที่กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวมากขึ้น ความหงุดหงิดดังกล่าวได้แสดงออกมาผ่านการชุมนุมและการเดินขบวนดังกล่าว” เขากล่าว