นักวิชาการชำแหละ ทรัมป์บอกลา WHO ถอนข้อตกลงปารีส เปิดช่องจีนครองบทบาทผู้นำโลก
(24 ม.ค.68) หลังเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยสองเพียงไม่นาน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกคำสั่งถอนสหรัฐออกจากการเป็นสมาชิกใน 2 องค์กรระดับโลกคือ การถอนตัวออกจากสมาชิกองค์การอนามัยโลก และการถอนตัวสหรัฐออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งท่าทีทั้งสองดังกล่าว นักวิชาการจากสถาบันในรัฐแคลิฟอร์เนียมองว่า เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น
ศาสตราจารย์โรเดอริก เคียวเวียต (Roderick Kiewiet) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (Caltech) เผยต่อสำนักข่าวสปุตนิกว่า ในกรณีการถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ที่มีเป้าหมายในการจำกัดอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมนั้น มีลักษณะเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เพราะสหรัฐและประเทศอื่น ๆ แทบไม่มีทางบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ได้อยู่แล้ว
“การถอนตัวของสหรัฐเป็นเพียงการยืนยันว่าทั่วโลกยังคงใช้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในอัตราเดิมต่อไปอีกนาน” เคียวเวียตกล่าว ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับศาสตราจารย์คานิชกัน สถาสิวัม (Kanishkan Sathasivam) จากมหาวิทยาลัยเซเลมสเตต รัฐแมสซาชูเซตส์ เห็นด้วยว่าการถอนตัวครั้งนี้เป็นเพียง 'เชิงสัญลักษณ์' และคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว
“หลายสิ่งที่สหรัฐทำในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นดำเนินการผ่านกฎหมายในประเทศ ทั้งระดับรัฐบาลกลางและรัฐ ซึ่งแม้แต่ประธานาธิบดีก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยลำพัง” สถาสิวัมกล่าว
ด้าน ศาสตราจารย์ริชาร์ด เบนเซล (Richard Bensel) จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ กล่าวว่า การถอนตัวของสหรัฐจากข้อตกลงปารีสจะลดบทบาทของประเทศในเวทีโลก ขณะเดียวกัน จีนอาจใช้โอกาสนี้เพื่อเพิ่มบทบาทความเป็นผู้นำของตัวเอง “ผลกระทบหลักจากการถอนตัวครั้งนี้คือการสูญเสียอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐ ขณะที่จีนจะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่ทรัมป์ทิ้งไว้” เบนเซลกล่าว
ขณะที่กรณีทรัมป์สั่งถอนสหรัฐออกจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) สะท้อนว่าทรัมป์ละเลยความเป็นจริงของวิกฤตภูมิอากาศและผลกระทบในระดับโลก แกเร็ธ เจนกินส์ นักวิจัยอาวุโสอิสระจากโครงการศึกษาซิลค์โร้ดและศูนย์ตุรกีแห่งสถาบันนโยบายความมั่นคงและการพัฒนาในกรุงสตอกโฮล์มกล่าวว่า
"ทุกประเทศจำเป็นต้องดำเนินมาตรการ ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นสมาชิก เช่นเดียวกับที่เราทุกคนต้องรับผลกระทบ หากสหรัฐฯ ผลิตน้ำมันมากขึ้น ก็จะสร้างมลพิษมากขึ้น และเช่นเดียวกับที่การแพร่ระบาดของโควิดแสดงให้เห็นว่าโรคระบาดเป็นสิ่งที่ไร้พรมแดน แน่นอนว่า WHO จะทำงานได้อย่างแข็งแกร่งหากสหรัฐยังเป็นสมาชิกอยู่ ดังนั้นการถอนตัวจาก WHO จะจะยิ่งทำให้องค์กรนี้อ่อนแอลง" เจนกินส์กล่าว
อย่างไรก็ตาม เจนกินส์ เห็นพ้องกับนักวิชาการคนอื่นๆ ว่า การที่สหรัฐถอนตัวจาก WHO จะเป็นโอกาสทองที่จีนจะก้าวขึ้นมามีบทบาทในองค์กรด้านสาธารณสุขระดับโลกนี้มากขึ้น