ส่องโมเดล 'เต็นท์น้ำเงิน' ตำรวจสิงคโปร์ เคารพสิทธิผู้ตาย - รักษาจุดเกิดเหตุ
เมื่อไม่นานมานี้ที่สิงคโปร์มีข่าวนักปั่นจักรยานวัย 61 ประสบเหตุชนกับรถบัสในย่านจูรง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเจ้าหน้าที่ตำรวจสิงคโปร์มีการรักษาสภาพจุดเกิดเหตุด้วยกางเต็นท์น้ำเงิน เพื่อปกปิดศพไม่ให้สาธารณชนเห็น
การจัดการจุดเกิดเหตุในแต่ละประเทศมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน สำหรับที่สิงคโปร์มีระบบการจัดการแบบเฉพาะตัวเมื่อเกิดอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยฉุกเฉินในสิงคโปร์จะใช้เต็นท์สีน้ำเงินคลุมร่างผู้เสียชีวิตทันทีที่ถึงที่เกิดเหตุ
มาตรการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความเคารพต่อผู้เสียชีวิต, ปกป้องความเป็นส่วนตัวของครอบครัวผู้เสียชีวิต และลดผลกระทบทางจิตใจต่อผู้ที่อยู่ในพื้นที่นั้น
ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจสิงคโปร์ยังระบุว่า การใช้เต็นท์ยังช่วยรักษาความสมบูรณ์ของสถานที่เกิดเหตุสำหรับการสืบสวน เช่น ป้องกันหลักฐานจากการถูกทำลายหรือปนเปื้อนจากสภาพแวดล้อม โดยเต็นท์จะถูกตั้งไว้จนกว่าการเก็บข้อมูลจากที่เกิดเหตุจะเสร็จสมบูรณ์
การดำเนินการเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงการจัดการที่มีประสิทธิภาพของสิงคโปร์ พร้อมทั้งแสดงความเคารพต่อความรู้สึกของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ตามระเบียบของตำรวจสิงคโปร์ระบุว่า เต็นท์ที่ใช้ในการปฏิบัติการของตำรวจออกแบบมาเพื่อการใช้งานในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การสืบสวนเหตุการณ์อาชญากรรม อุบัติเหตุ หรือภารกิจเฉพาะ โดยสามารถให้ความเป็นส่วนตัวได้ เต็นท์บางรุ่นมีหลังคาที่โปร่งแสงและข้างเต็นท์ที่ป้องกันความเป็นส่วนตัว รวมถึงผ้าคลุมสีดำ
เหตุที่ต้องใช้สีน้ำเงินเนื่องจาก เป็นสีสัญลักษณ์ประจำของตำรวจสิงคโปร์ ซึ่งสีนี้ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 1969 การใช้ 'เต็นท์สีน้ำเงิน' เริ่มต้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990 หรือประมาณปี 2000 เป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงกระบวนการสอบสวนและการจัดการสถานที่เกิดเหตุให้มีความเป็นระเบียบและเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น
การตั้งเต็นท์สีน้ำเงินนอกจากยังช่วยป้องกันไม่ให้พื้นที่เกิดแล้ว ยังป้องกันการถูกแทรกแซงจากประชาชนและสื่อมวลชน ลดการรบกวนจากผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง และช่วยให้การสอบสวนของเจ้าหน้าที่ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและรักษาความลับของการสอบสวนด้วย นับว่าเป็นโมเดลที่ดีที่หากตำรวจไทยจะนำมาประยุกต์ใช้ก็น่าสนใจไม่น้อย
ภาพ: ตำรวจสิงคโปร์รักษาจุดเกิดเหตุชายกระโดดจากสะพานในย่าน Telok Blangah