‘ยุให้แตกแยกแล้วปกครอง’ กลยุทธ์เก่า!! ตั้งแต่สมัยอาณาจักรโรมัน ที่ยังใช้ได้ผลอยู่เสมอ ข้อมูลคือกระสุน ความระแวงคือเป้าหมาย และความสามัคคีคือ ‘เกราะสุดท้าย’ ของเรา

(22 ธ.ค. 67) การสร้างความแตกแยก : กลยุทธ์เก่าในสงครามใหม่ที่คมกริบ รับปี2025

ในยุคที่โลกหมุนไปตามข้อมูลและเทคโนโลยี การต่อสู้ที่เคยอาศัยกองทัพและสนามรบกลับแปรเปลี่ยนเป็นสงครามในพื้นที่สาธารณะเสมือนจริง บนจอโทรศัพท์ และผ่านข้อความไม่กี่บรรทัด หลักการ ‘สร้างความแตกแยก’ ซึ่งถูกใช้มาตั้งแต่อาณาจักรโรมัน กลับมาทรงพลังขึ้นในรูปแบบที่ซับซ้อนและยากจับต้องยิ่งขึ้น

นี่คือสงครามที่ศัตรูไม่ต้องใช้กำลัง แต่สร้างศัตรูในใจเราแทน พวกเขาใช้ข้อมูลเป็นกระสุน ปลุกปั่นความคิด ขยายความขัดแย้ง และสร้างความหวาดระแวงในสังคม หลายคนอาจมองไม่เห็นว่าอาวุธชนิดนี้อยู่ตรงหน้า เพราะมันไม่ได้แหลมคมเหมือนหอกดาบ แต่แฝงตัวในคำพูด การเล่าเรื่อง และการแบ่งแยกความคิดผ่านหน้าจอ

‘เมื่อสังคมแตกแยก ความสามัคคีที่เคยเป็นเกราะกำบังย่อมพังทลาย’ และนี่คือยุคของสงครามข้อมูลข่าวสาร หรือ Hybrid Warfare ที่ผสานการใช้เทคโนโลยี บิดเบือนข้อมูล และการบ่อนทำลายจิตใจ ด้วยการสร้างศัตรูในที่ที่ควรมีความไว้เนื้อเชื่อใจ บทความนี้จะพาคุณไปเจาะลึก 7 กลยุทธ์ที่สร้างความแตกแยกในยุคดิจิทัล และยกระดับเป็นเครื่องมือทางการเมืองและสงครามที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

จาก ‘การสร้างความไม่ไว้วางใจ’ ขยายความแตกต่างเป็นปัญหา สู่การปลุกปั่นผู้คนผ่าน ‘ไมโครอินฟลูเอนเซอร์’ ผู้ทำงานอยู่เงียบ ๆ แต่ทรงอิทธิพลเกินคาด คุณจะเห็นชัดว่า การแตกแยกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หากแต่เป็นกลยุทธ์ที่ถูกออกแบบมาอย่างแยบยลและเฉียบคม

ในโลกที่สงครามสนามรบถูกแทนที่ด้วยการต่อสู้ทางความคิดและข้อมูล ‘การรู้เท่าทัน’ คือเกราะป้องกันที่ดีที่สุด เพราะไม่ว่าจะยุคไหนก็ตาม ‘หากบ้านเราแตกแยกจากภายใน ประตูชัยย่อมเปิดกว้างให้ศัตรูภายนอกเสมอ’

บทความนี้จะพาคุณไปดูกลยุทธ์หลักที่ถูกขัดเกลาให้เหมาะกับยุคดิจิทัล ตั้งแต่การสร้างไมโครอินฟลูเอนเซอร์ผู้เงียบเชียบแต่ทรงอิทธิพล ไปจนถึงการบิดเบือนข้อมูลที่ใช้โจมตีสถาบันหลักในประเทศ ซึ่งไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ผลลัพธ์ก็คือ ‘ความแตกแยก’ ที่ฝังรากลึกอย่างไม่ทันตั้งตัว

• ความไม่ไว้วางใจที่ถูกหว่านลงผ่านข้อมูลเท็จ
ข้อมูลเท็จ ข่าวปลอม หรือการบิดเบือนความจริงถูกปล่อยออกไปอย่างมีเป้าหมาย เพื่อสร้างความสงสัยและระแวงในหมู่ประชาชน ทำให้ความเชื่อใจที่เคยมีต่อกันและสถาบันหลักถูกกัดกร่อนไปทีละน้อย จนในที่สุด ความไม่มั่นคงทางความคิดก็กลายเป็นความขัดแย้งในระดับสังคม

• ความแตกต่างเล็ก ๆ ที่ถูกขยายให้กลายเป็นขั้วความขัดแย้ง
ความแตกต่างทางความคิด ชนชั้น ศาสนา หรือภูมิภาค ที่เคยอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ ถูกหยิบยกขึ้นมาขยายความ ให้กลายเป็น ‘ประเด็นใหญ่’ จนประชาชนแบ่งฝ่าย และมองอีกฝ่ายเป็น ‘ศัตรู’ อย่างไม่รู้ตัว

• ผลประโยชน์ที่ถูกบิดเบือนให้เป็นเชื้อไฟของความไม่พอใจ
การจัดสรรผลประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียมถูกนำมาเป็นเครื่องมือปลุกปั่น โดยบิดเบือนให้เห็นว่า ‘มีใครบางคนได้มากกว่า’ หรือ ‘นี่คือความไม่ยุติธรรม’ ทำให้ฝ่ายหนึ่งรู้สึกถูกเอาเปรียบและเกิดความไม่พอใจ กลายเป็นเชื้อไฟที่พร้อมลุกลาม

• ตัวแทนปลอมที่ถูกส่งมาบ่อนทำลายจากภายใน
คนกลุ่มนี้มักถูกสร้างภาพให้ดูเหมือนเป็น ‘ผู้นำ’ หรือ ‘ตัวแทนของประชาชน’ แต่แท้จริงแล้วกลับทำหน้าที่ปลุกปั่นความขัดแย้ง บ่อนทำลายความสามัคคี และสร้างความวุ่นวายจากภายในสังคมทีละน้อย

• ไมโครอินฟลูเอนเซอร์: นักรบยุคใหม่ในสนามความคิค
อย่าคิดว่าใครจะต้องมีชื่อเสียงระดับประเทศถึงจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เพราะในสงครามยุคนี้ ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้มีอิทธิพลขนาดเล็ก ถูกสร้างขึ้นมาเป็นหัวหอกในการปลุกปั่นความคิด พวกเขาทำงานเงียบ ๆ แต่สร้างกระแสความแตกแยกได้อย่างทรงพลัง ด้วย 4 ขั้นตอนที่แยบยลสุดขีด

1. การสร้างผู้นำความคิดเห็นแบบแฝง ดูเหมือนเป็นกลาง แต่แท้จริงกำลังชี้นำสังคมให้เดินตามแผนที่ถูกวางไว้

2. ปลุกปั่นผ่านข่าวลือ ข่าวเท็จและข้อมูลบิดเบือนถูกแพร่กระจาย ราวกับโรคระบาดที่หยุดไม่อยู่

3. ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว ขุดคุ้ยเรื่องราวส่วนตัวมาขยายผล กลายเป็นเครื่องมือทำลายชื่อเสียงอย่างไร้ความปรานี

4. สร้างความหวาดระแวงและแบ่งขั้ว เมื่อคนเริ่มไม่เชื่อใจกันเอง สังคมก็ไม่ต่างจากเรือที่รั่วรอวันจม

‘แบ่งแยกแล้วปกครอง’ : ตำราที่ใช้ได้เสมอ

หากย้อนกลับไปในยุคโรมัน จักรวรรดิเคยทำให้ชนเผ่าต่าง ๆ แยกจากกันได้อย่างไร? 

คำตอบคือการบ่มเพาะความหวาดระแวงและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเล็ก ๆ ไม่ให้มีใครรวมพลังกันได้ นั่นคือ ‘Divide and Rule’ กลยุทธ์แสนคลาสสิกที่ยังคงถูกหยิบมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเวทีการเมืองโลก

หลายพันปีผ่านไป เครื่องมือในการแบ่งแยกอาจเปลี่ยนจากคำสั่งทหารเป็น ‘คำพูด’ และ ‘ข่าวสาร’ แต่เป้าหมายยังเหมือนเดิม คือทำให้ทุกคนลุกขึ้นมาตั้งแง่ระแวงซึ่งกันและกัน ขัดแย้งกันเองโดยไม่ต้องรบสักนัด ลองสังเกตดูสิว่า ทุกครั้งที่สังคมเกิดประเด็นร้อน ๆ ทำไมเราถึงรีบจัดฝ่าย จัดขั้ว ยืนอยู่ตรงข้ามกันอย่างรวดเร็วราวกับถูกวางหมากเอาไว้?
พวกเขาอาจสร้างศัตรูขึ้นมาสักคน สร้างปัญหาขึ้นมาสักอย่าง และชี้นิ้วว่า ‘นั่นแหละคือสาเหตุ’ เราเองก็หลงติดกับดัก ด่าทอกันจนลืมไปว่า ศัตรูที่แท้จริงอาจไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่เป็นคนที่คอยบงการอยู่เบื้องหลังอย่างแยบยล

ที่เจ็บปวดยิ่งกว่า คือการบิดเบือนประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นสายใยผูกพันให้สังคมมั่นคงกลับกลายเป็นเครื่องมือสร้าง ‘ความเกลียดชัง’ นำเรื่องเล่าผิด ๆ มาเติมเชื้อไฟจนผู้คนหันมารบราฆ่าฟันกันเอง ทั้งที่เราควรเรียนรู้จากอดีต แต่กลับถูกหลอกใช้ให้ทำลายอนาคตของตัวเอง

สงครามสมัยใหม่ : การต่อสู้ที่มองไม่เห็น
สงครามไฮบริดในปัจจุบันผสมผสานการบ่อนทำลายจากภายใน ผ่านจิตวิทยาและเทคโนโลยี ยกตัวอย่างเช่น สงครามยูเครน-รัสเซีย หรือกลยุทธ์แบบ Hun Sen Model ที่ใช้การควบคุมกองทัพและแทรกแซงสถาบันหลักในประเทศ คุณจะเห็นชัดว่า การแตกแยกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หากแต่เป็นกลยุทธ์ที่ถูกออกแบบมาอย่างแยบยลและเฉียบคม

นี่ไม่ใช่สงครามที่มีรถถังประจันหน้า หรือเสียงปืนดังสนั่น แต่มันคือสงครามที่เล่นกับความคิดของเราโดยไม่รู้ตัว เราไม่ได้กำลังต่อสู้กับทหารที่ยกพลมาหน้าประตูเมือง แต่กำลังเผชิญกับเกมจิตวิทยาผ่านข่าวปลอม โพสต์ที่ชวนขบคิด และการปลุกปั่นให้สังคมแตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ

สงครามไฮบริดในปัจจุบันคือการสอดแทรกความขัดแย้งในทุกมิติ จากเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงความเชื่อและวัฒนธรรม สิ่งที่เราเห็นไม่ใช่ควันปืน แต่คือความร้าวฉานที่แผ่กระจายไปทั่ว ราวกับไฟลามทุ่งที่ไม่มีใครหยุดได้

สิ่งที่น่ากลัวคือ เราทุกคนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามนี้อย่างไม่รู้ตัว เพียงแค่แชร์โพสต์ ปล่อยความเกลียดชังให้แพร่กระจาย หรือเลือกยืนขั้วใดขั้วหนึ่งโดยไม่ทันได้คิดว่า 

‘แล้วสุดท้ายใครได้ประโยชน์’

สิ่งที่พวกเขาต้องการไม่ใช่การชนะสงครามในสนามรบ แต่คือการเห็น ‘เราต่อสู้กันเองจนหมดแรง’ แล้วในวันที่ความสามัคคีของเราสูญสิ้น นั่นแหละคือ ‘วันที่พวกเขาชนะอย่างสมบูรณ์แบบ’

บทสรุป : แพ้หรือชนะขึ้นอยู่กับความตื่นรู้ของเราเอง
‘การแตกแยกจากภายใน’ เป็นจุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ หากประชาชนไม่ตระหนักรู้และร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิด การล่มสลายของชาติย่อมไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะในสงครามยุคนี้ ‘ข้อมูลคือกระสุน ความระแวงคือเป้าหมาย และความสามัคคีคือเกราะสุดท้ายของเรา’

ถ้าเรารู้เท่าทัน ตื่นตัว และไม่ปล่อยให้ใครมาปลุกปั่นความเกลียดชังได้ง่าย ๆ ความสามัคคีก็จะกลายเป็นเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งที่สุด


เรื่อง : ปราชญ์ สามสี