เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบแน่ เมื่อ ‘ทรัมป์’ คัมแบค ชี้!! หนัก - เบา อยู่ที่การสร้างสมดุล ‘ไทย - จีน – สหรัฐ’
สรุปสั้น ๆ จากนโยบายต่างประเทศและวิธีการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียของ ทรัมป์ในอดีต เมื่อทรัมป์ได้กลับเข้าสู่ทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 จะมีผลกระทบที่สำคัญกับประเทศไทยยังไงบ้างในด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ทางภูมิรัฐศาสตร์ พอสรุปได้กว้าง ๆ ในมิติสำคัญ ๆ ได้ประมาณนี้ครับ
1. ความสัมพันธ์ด้านการค้าและผลกระทบกับไทยด้านเศรษฐกิจการส่งออก:
ด้วยความที่ทรัมป์ชูนโยบาย 'America First' มาโดยตลอด ทำให้ดีลข้อตกลงการค้าขายกับประเทศต่างๆที่ผ่านมารวมถึงไทยด้วยนั้นคงจะโดนตรวจสอบใหม่ทั้งหมดโดยดีลไหนที่เห็นว่าทางอเมริกาเสียเปรียบหรือไม่ได้ประโยชน์ที่เหมาะสมในปัจจุบันก็คงต้องเจรจากันใหม่ ซึ่งภาคธุรกิจส่งออกไทยที่ส่งสินค้าเข้าไปขายในอเมริกาก็คงจะโดนผลกระทบเข้าไปเต็ม ๆ ซึ่งที่ผ่านมาการส่งออกไทยไปอเมริกาก็เติบโตเกินดุล (ไทยส่งออกไปอเมริกามากกว่านำเข้า) มาโดยตลอด ซึ่งก็อาจจะไปเตะตาและดึงความสนใจจากคณะทำงานของทรัมป์ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่านอกเหนือจากจีนที่ ทรัมป์มองว่าเป็นภัยคุกคามเบอร์หนึ่งแล้วทรัมป์จะมองว่าประเทศไหนที่มีความสำคัญที่จะต้องจัดการในอันดับรอง ๆ ลงมาอีก
2. ความร่วมมือทางด้านการทหารและความมั่นคง:
ที่ผ่านมาไทยกับอเมริกามีความร่วมมือทางการทหารมาอย่างยาวนานและแน่นแฟ้น ที่ทุกคนคุ้น ๆ กันคือการฝึก Cobra Gold ซึ่ง ณ ตอนนี้คงต้องรอดูท่าทีว่าทรัมป์จะเอายังไงต่อ จะเพิ่ม, จะลด หรือคงความร่วมมืออยู่ในระดับเดิมก็คิดว่าทรัมป์น่าจะรอดูท่าทีในระดับภูมิภาคโดยมีตัวแปรสำคัญคือท่าทีของเราว่าจะเอายังไงกับจีน อาจมีการพยายามดึงให้ไทยมาอยู่ฝั่งอเมริกาในกรณีที่ความสัมพันธ์ อเมริกา-จีนมีความตึงเครียด (ซึ่งมีแน่ ๆ เมื่อทรัมป์กลับมาสมัยที่ 2) สรุปก็คือในด้านการทหารและความมั่นคง อเมริกาจะเอายังไงกับไทย ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอายังไงกับจีนนั่นเอง (งูกินหางเลยทีเดียวเชียว ไม่งงเนอะ 😅)
3. การกดดันเรื่องความสัมพันธ์กับจีน:
ต่อเนื่องจากข้อ 2 ด้วยความทรัมป์ ลุงแกก็อาจมีการกดดันไทยให้ลดความสัมพันธ์และจำกัดความร่วมมือต่างๆจากจีน ไม่ว่าจะด้านเทคโนโลยี, โครงสร้างพื้นฐานต่างๆและ ความร่วมมือทางทหาร ซึ่งอันนี้ทางเราก็ต้องหาทางบาล้านซ์และหลบหลีกหลีกหนีให้ดีว่าระหว่างอเมริกากับจีนเราจะเลือกใคร (แต่ถ้าให้เดา ทางเราคงอยากเก็บเธอไว้ทั้งสองคน อันนี้ก็ต้องแล้วแต่ฝีมือของรัฐบาลเราครับ)
4. ผลกระทบกับไทยในฐานะสมาชิก ASEAN:
อันนี้ก็เหมือนกับข้อ 2,3 แต่ขยายขึ้นเป็นระดับทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ (ที่เน้นเรื่องการต่อต้านจีน) อาจจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมภายในชาติสมาชิกของ ASEAN ซึ่งอาจนำมาซึ่งการต้อง “เลือกข้าง” ว่าจะไปทางจีนหรืออเมริกาของแต่ละประเทศ รวมไปถึงการสร้างความสัมพันธ์แบบ “เฉพาะตัว” ของแต่ละประเทศกับอเมริกา ซึ่ง again อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลของประเทศเล็กๆ น้อยๆ ตะมุตะมิ ไม่ค่อยมีปากมีเสียงแต่ละประเทศแถวนี้ๆ ว่าสุดท้ายจะเอายังไงกันดี
5. ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน และ การปกครอง:
โดยทั่วไปทรัมป์ถือคติว่าจะ 'ไม่ยุ่ง' การเมืองภายในประเทศอื่นๆ แต่ก็ต้องขีดเส้นใต้หนัก ๆ ด้วยว่า “ที่ไม่ส่งผลเกี่ยวข้องกับอเมริกา” ซึ่งก็คงทำให้ไทยถูกจับตาน้อยลงในประเด็นเรื่อง ความเป็นประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชน และการคุกคามเสรีภาพของประชาชน ซึ่งต่างจากรัฐบาลของไบเดนที่ผ่านมา ซึ่งไทยก็โดนตรวจสอบ โดนเตือน โดนแซะจากทำเนียบขาวเป็นระยะๆ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่คงต้องรอดูผลกระทบในระยะยาวต่อไปครับ
6. ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว:
เมื่อทรัมป์กลับเข้าทำเนียบขาวได้สำเร็จ จะมีการปรับนโยบายการเดินทางเข้า-ออกประเทศ, การขอ Visa และเพิ่มข้อจำกัดต่างๆ (เพื่อจัดการกับคนเข้า-ออกอเมริกาอย่างผิดกฎหมาย) ซึ่งเรื่องเหล่านี้อาจส่งผลกระทบทางอ้อมกับธุรกิจท่องเที่ยวของไทยที่มีนักท่องเที่ยวอเมริกันเป็นหนึ่งในลูกค้าสำคัญด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นนโยบายเศรษฐกิจของ ทรัมป์ ก็อาจส่งผลถึงเม็ดเงินที่ลดลงจากนักท่องเที่ยวอเมริกันที่เดินทางมาเที่ยวในเมืองไทยด้วยในที่สุด
สรุปในสรุปอีกที ไทยจะได้รับผลกระทบยังไงถ้าทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง โดยหลักแล้วขึ้นอยู่กับท่าทีและปฏิสัมพันธ์ของเรากับจีนในเรื่องต่างๆและฝีมือของรัฐบาลในการบริหารจัดการแรงกดดันจากลุงทรัมป์กับลุงสี จิ้น ผิงโดยที่ต้องหาสมดุลของความสัมพันธ์ไทย-จีน และ ไทย-อเมริกาให้ได้เป็นที่น่าพอใจของทั้งสองลุงนั่นเองครับ
เรื่อง : กวิล นาวานุเคราะห์