สมรสเท่าเทียม ดันท่องเที่ยวไทย GDPโตอีก 0.3%

(15 พ.ย. 67) งานวิจัยจาก อโกด้า แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการท่องเที่ยว ระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมในไทยจะช่วยเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ถึง 4 ล้านคนต่อปี และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายใน 2 ปีหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยส่งผลให้ GDP ของไทยเติบโตขึ้น 0.3%

งานวิจัยนี้ ซึ่งจัดทำโดย อโกด้าร่วมกับบริษัท Access Partnership ได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 22 มกราคม 2568 โดยไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการรับรองกฎหมายนี้ และเป็นประเทศที่สามในเอเชีย รองจากไต้หวันในปี 2562 และเนปาลในปีที่แล้ว กฎหมายดังกล่าวจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว LGBTQIA+ จากทั่วโลก ซึ่งมีมูลค่าตลาดกว่า 200 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

รายงานยังคาดการณ์ถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กระจายไปยังหลายภาคส่วน โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 4 ล้านคนต่อปีใน 2 ปี ซึ่งจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหลายด้าน เช่น

เพิ่มรายรับจากการท่องเที่ยวประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยกระจายไปยังหลายภาคส่วน เช่น การจองที่พัก 0.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ, การบริการอาหารและเครื่องดื่ม 0.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ, การจับจ่ายซื้อสินค้า 0.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ, การเดินทางภายในประเทศ 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอีก 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ความบันเทิงและการแพทย์

สนับสนุนการสร้างงานเพิ่มขึ้น 152,000 ตำแหน่ง โดย 76,000 ตำแหน่งจะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอีก 76,000 ตำแหน่งจะกระจายไปยังภาคส่วนอื่น ๆ ของเศรษฐกิจ ผลักดัน GDP ของไทยให้เติบโตขึ้น 0.3%

แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมระดับโลกอยู่แล้ว การออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมในครั้งนี้จะเพิ่มความน่าสนใจของไทยในสายตานักท่องเที่ยว LGBTQIA+ ที่มองหาจุดหมายที่เปิดกว้างและต้อนรับทุกคน โดยเฉพาะในยุคที่นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายและเปิดกว้างมากขึ้น

เนื่องจากไทยจะเป็นประเทศที่สามในเอเชียที่มีการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายนี้จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวสำหรับคู่รัก LGBTQIA+ จากประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการเฉลิมฉลองการแต่งงานในประเทศที่ยอมรับการสมรสเพศเดียวกัน หลายเมืองในไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับการแต่งงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านสถานที่สวยงามหรือความพร้อมในการบริการต่าง ๆ กฎหมายนี้จะกระตุ้นการเติบโตในอุตสาหกรรมงานแต่งงานและส่งผลดีต่อธุรกิจต่าง ๆ เช่น โรงแรม บริการจัดเลี้ยง และอุตสาหกรรมบันเทิง

ปิติโชค จุลภมรศรี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาดของอโกด้า และผู้สนับสนุนกลุ่ม Agoda Pride กล่าวว่า “อโกด้าสนับสนุนชาว LGBTQIA+ มาตลอดทั้งในหมู่พนักงานและผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มของเรา ปีนี้เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมมือและสนับสนุน Bangkok Pride Parade 2024 ด้วยงานวิจัยชิ้นนี้ เราต้องการเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของความหลากหลายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสะท้อนถึงคุณค่าที่เกิดจากการยอมรับความแตกต่างในสังคม”

จากการพูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมและผู้จัดงาน Bangkok Pride งานวิจัยเผยให้เห็นถึงโอกาสสำคัญที่กฎหมายจะนำมา เช่น งาน WorldPride ที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว LGBTQIA+ ได้มหาศาล

ปิติโชคกล่าวเสริมว่า “การประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมถือเป็นก้าวสำคัญของไทย ทั้งในด้านการส่งเสริมสิทธิที่เท่าเทียมและการตอกย้ำภาพลักษณ์ของไทยในฐานะจุดหมายปลายทางที่เปิดกว้างและปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวทุกคน” วาดดาว ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้งบางกอกนฤมิตรไพรด์ กล่าวเสริมว่า “การยอมรับความหลากหลายและการรับรองสิทธิในการสมรสของคู่รักทุกคู่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทผู้นำของไทยในการส่งเสริมความเท่าเทียมและศักดิ์ศรีของมนุษย์”