19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงสาธิตการทดลองฝนหลวงให้ผู้แทนรัฐบาลสิงคโปร์

ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงควบคุมการทดลองปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อสาธิตให้ผู้แทนของรัฐบาลสิงคโปร์ชม ณ อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน 

โดยเหตุการณ์ในวันนั้น ได้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการค้นคว้าทดลองและปฏิบัติการทำฝน หวังผลให้ตกในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศสิงคโปร์ที่กำลังประสบภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับสภาวะแห้งแล้งในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ในขณะนั้น ขอส่งนักวิทยาศาสตร์มาสังเกตการณ์และขอรับถ่ายทอดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญใน การปฏิบัติการทำฝนหวังผลในประเทศไทย 

ในการนี้ทรงพระกรุณารับบัญชาการปฏิบัติการสาธิตด้วยพระองค์เอง ทรงกำหนดให้อ่างเก็บน้ำของเขื่อนแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีพื้นที่ผิวน้ำเพียง 46.5 ตารางกิโลเมตรหรือ 1,162.5 ไร่ เป็นพื้นที่เป้าหมายหวังผลในการปฏิบัติการทำฝนสาธิตครั้งนี้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เล็กที่สุดเท่าที่เคยปฏิบัติการค้นคว้าทดลองและปฏิบัติการทำฝนหวังผลที่ผ่านมา ทรงสามารถบังคับหรือชักนำฝนให้ตกลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานอย่างแม่นยำภายในเวลาประมาณ 5 ชั่วโมงนับจากเริ่มปฏิบัติการ เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาและเป็นที่น่าอัศจรรย์แก่นักวิทยาศาสตร์สิงคโปร์ และข้าราชบริพารที่เป็นข้าราชการและข้าราชบริพารระดับสูงที่เฝ้าฯ สังเกตการณ์อยู่ ณ ที่นั้น ต่างประทับใจในพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ 'โครงการพระราชดำริ ฝนหลวง' เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ปี 2495 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อน ทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรกรที่ขาด แคลนน้ำ อุปโภค บริโภค และการเกษตร จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทาน โครงการพระราชดำริฝนหลวง ให้กับ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ไปดำเนินการ ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นโครงการค้นคว้าทดลอง ปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงขึ้น 

ต่อมาปี 2512 โครงการฝนหลวงประสบความสำเร็จมากขึ้น จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง ในปี 2518 ต่อมาประเทศไทยได้จดทะเบียนกิจกรรมฝนหลวง กับองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก แห่งสหประชาชาติ เป็นครั้งแรกในปี 2525 และนำความรู้ด้านการสร้างฝนเทียมนี้เผยแพร่ไปยังต่างประเทศที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำฝน 

จากนั้นองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกจึงได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2540 ต่อมารัฐบาลไทยจึงมีมติเทิดพระเกียรติพระองค์ในฐานะ 'พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย' เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2543 และกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคม ของทุกปีเป็น 'วันเทคโนโลยีของไทย' เริ่มครั้งแรกในปี 2544