‘ชิเงรุ อิชิบะ’ ชนะเลือกตั้งหัวหน้าพรรคฯ เตรียมรับตำแหน่งนายกฯ คนใหม่ของญี่ปุ่น
(27 ก.ย.67) เอเอฟพีรายงานว่า พรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ได้เปิดลงคะแนนเสียงเลือกหัวหน้าพรรคฯคนใหม่แทนการวางมือของนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ และผลปรากฏว่าตัวเต็งอย่าง ‘ชิเงรุ อิชิบะ’ อดีตรัฐมนตรีกลาโหม สามารถเบียดเอาชนะคู่แข่งสำคัญไปได้ในการโหวตสองรอบ
หลังจากการประกาศชัยชนะที่สำนักงานใหญ่ของพรรคฯ ในกรุงโตเกียว อิชิบะร่ำไห้และโค้งคำนับซ้ำแล้วซ้ำเล่าท่ามกลางความยินดีของบรรดาสมาชิก
“ผมจะทำอย่างสุดความสามารถ เพื่อให้ประชาชนกลับมาเชื่อมั่น ด้วยการพูดความจริงอย่างกล้าหาญและจริงใจ เพื่อทำให้ประเทศนี้เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับทุกคนที่จะใช้ชีวิตด้วยรอยยิ้มบนใบหน้าได้อีกครั้ง” อิชิบะ กล่าวในสุนทรพจน์สั้นๆ
อิชิบะ เคยเกือบได้ตำแหน่งสูงสุดมาแล้วหลายครั้ง รวมถึงในปี 2555 เมื่อเขาแพ้ให้กับ ชินโซ อาเบะ ผู้นำญี่ปุ่นที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดและเสียชีวิตจากการลอบสังหารเมื่อ 2 ปีก่อน
อดีตหัวเรือใหญ่ทางทหารผู้นี้กล่าวว่า ประสบการณ์ในการจัดการกับปัญหาสังคมที่ยากลำบาก เช่น การปฏิรูปการเกษตร ทำให้เขาเหมาะสมกับตำแหน่งนี้
ทั้งนี้ อิชิบะ วัย 67 ปี สามารถเอาชนะ ซานาเอะ ทาคาอิจิ รัฐมนตรีความมั่นคงเศรษฐกิจสายอนุรักษนิยม วัย 63 ปีไปได้ ทำให้เป็นการดับฝันของนักการเมืองชาตินิยมสุดโต่งในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำหญิงคนแรกของประเทศ
โดยในการลงคะแนนเสียงรอบแรก อิชิบะ และ ทาคาอิจิ มีคะแนนนำเป็นสองอันดับแรก แต่ยังไม่มีผู้ใดได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง เพราะคะแนนเสียงกระจายไปตามผู้สมัครคนอื่นๆ อีก 7 คน ทำให้ต้องมีการลงคะแนนเสียงรอบสองระหว่าง อิชิบะ และ ทาคาอิจิ ซึ่ง อิชิบะ เอาชนะไปได้ในที่สุด
สำหรับพรรคอนุรักษนิยมได้ปกครองประเทศมาอย่างยาวนานและแทบจะไม่มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลเป็นเวลาหลายทศวรรษ ด้วยการครองเสียงข้างมากในปัจจุบันทำให้ อิชิบะ จะได้รับโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยรัฐสภาในวันที่ 1 ตุลาคม ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในฐานะนายกรัฐมนตรี เขาจะต้องเผชิญกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงในภูมิภาค ทั้งจีนที่แข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับรัสเซีย ไปจนถึงการทดสอบขีปนาวุธต้องห้ามของเกาหลีเหนือ
ด้านกิจการภายใน อิชิบะจะได้รับมอบหมายให้ฟื้นคืนชีพเศรษฐกิจและแก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น ในขณะที่ธนาคารกลางกำลังจะกลับมาเข้มงวดทางการเงินอีกครั้งในรอบหลายทศวรรษเพื่อแก้ปัญหาค่าเงินเยนที่อ่อนลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประเด็นความเชื่อมั่นของพรรคฯ ที่สูญเสียไปจากเรื่องอื้อฉาวมากมายในสมัยของ ฟูมิโอะ คิชิดะ
ที่มา: Thaipost