'อ.สุวินัย' ชี้!! ก่อนเป็นนักยุทธศาสตร์ต้องเป็นนักรบแห่งธรรมก่อน 'อยู่-ตาย' และหายใจเข้าเป็นความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
(5 ก.ย. 67) รองศาสตราจารย์ ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กในหัวข้อ 'ทางเลือก' คืออำนาจเดียวที่เรามี ระบุว่า…
จงภูมิใจเถิดที่เกิดมาเป็นคนของบ้านเมืองนี้ บ้านเมืองของเราอยู่ที่นี่ ไม่ใช่เป็นของตระกูลใด ไม่ได้เป็นของใครแต่ผู้เดียว
ต่อให้บ้านเมืองของเราล่มสลายลงด้วยน้ำมือของใครหรือตระกูลใดก็ตาม มันเป็นหน้าที่ เป็นภารกิจและเป็นศักดิ์ศรีแห่งความเป็น ‘คนในชาติ’ ของแต่ละคนที่ต้องลุกขึ้นมากอบกู้บ้านเมืองและช่วยกันสร้างชาติของเราขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
ท่ามกลางยุคสมัยที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองเรา
คนเราแต่ละคนล้วนมี 'ทางเลือก' ว่าจะเป็นคนโฉด คนชั่ว คนอ่อนแอ คนขี้ขลาด คนเห็นแก่ตัว ซึ่งล้วนมีส่วนในการทำร้ายทำลายบ้านเมืองไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่มากก็น้อย
หรือจะเลือกเป็นผู้กล้า ผู้มีปัญญา ผู้หลุดพ้น ผู้รู้แจ้ง ผู้เสียสละ ผู้เข้มแข็งเพื่อประโยชน์สุขของบ้านเมืองก็ได้ทั้งสิ้น
ขณะนี้ มันเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าคนทั้งโลกล้วนอยู่ท่ามกลางยุคสมัยแห่งมิคสัญญี ...สงครามใหญ่กำลังนับถอยหลังรอวันระเบิด ดุจปราสาททรายที่จะล้มครืนลงมาเมื่อใดก็ไม่รู้
มีแต่ 'ทางเลือก' ที่ผู้นั้นเลือกเองเท่านั้นที่บ่งบอกถึง 'ตัวตน' ของผู้นั้นอย่างชัดแจ้ง
สำหรับเขา ทางเลือกของเขานั้นชัดเจนเสมอมา ไม่ว่าจะต้องเลือกกี่ครั้ง เขาก็ไม่เคยลังเลเลยที่จะเลือกแบบนั้น ...ซึ่งเป็น 'จริยผู้กล้า' ดังต่อไปนี้
"จอมยุทธ์ชุดรัดกุม ควบอาชาต้านไพรี
เหยียบย่ำทั่วปฐพี ทุกสิบก้าวฝ่ามารผจญ
หนทางไกลไม่เคยล้า ล้วนมุ่งหน้าปราบทุรชน
เสร็จเรื่องทุกแห่งหน ล้วนจากลาอย่างไร้นาม
สามจอกให้สัจจะ ยินดีสละแม้ชีวัน
ถ้อยคำคือคำมั่น ดุจบรรพตคู่ธรณี
บอกไว้เป็นสักขี ว่าตัวข้าหยัดยืนทะนง
ยามกู้สู้ยิบตา ใช้สองบ่าค้ำคีรี
ฝากชื่อในปฐพี แม้ตายไปโลกระบือ .... "
"บทกวีจริยผู้กล้า" รจนาโดยเซียนกวีหลี่ไป๋ (李白,ค.ศ.701-762)
● จงเป็นนักรบแห่งธรรม ●
ทะเลแผดเสียงหัวเราะคำราม กระแทกเซาะชายฝั่ง
ข้าเองยังถูกม้วนซัดไปกับเกลียวคลื่นของยุคสมัย
ฟ้ายิ้มเย้ยให้กับโลกอันวุ่นวาย
มีแต่ฟ้าเท่านั้นที่รู้ว่าใครผิดใครถูก
มีแต่พสุธาเท่านั้นที่รู้ว่าใครดีใครเลว
ขุนเขาคำรามรับเสียงหัวเราะจากฟากฟ้า
คลื่นลูกเก่าเริ่มโรยรา คลื่นลูกใหม่เข้ามาทดแทน
แต่โลกยังคงหมุนเวียนสืบไปไม่รู้จบสิ้น
พวกข้ายิ้มเย้ยกับสายลม และพายุที่โหมกระหน่ำ
ใส่เปลวเทียนแห่งธรรม ที่พวกข้าร่วมกันจุดขึ้นมา
พวกข้าของปกป้องเปลวเทียนนี้สุดชีวิต
จนกว่ามันจะกลายเป็นเปลวเพลิงใหญ่
ที่ขับไล่ความมืดมิดให้หมดไปจากสังคมนี้
ก่อนเป็นนักยุทธศาสตร์ต้องเป็นนักรบแห่งธรรมก่อน
หลักการนักรบของนักรบแห่งธรรม คือการมีชีวิตอยู่และตายไปโดยปราศจากความอาลัยและความสำนึกเสียใจ
แรกสุดของการฝึกจิตเพื่อเป็นนักรบแห่งธรรม คือการที่ผู้นั้นต้อง ‘ดูจิต’ ของตนให้เป็นอย่างทะลุปรุโปร่งว่าจิตของตนมีกระบวนการทำงานเยี่ยงไร
จากนั้นก็ทำการฝึกจิตของตนให้เชื่องด้วยวิธีการอันแยบยล จนกระทั่งจิตของตนมีความอ่อนเหมาะสมแก่การใช้งาน และทำให้ผู้นั้นเป็นนายแห่งจิตใจของตนเองได้
ต่อสู้กับการคดโกงปล้นชาติโดยไม่ยำเกรง แปรเปลี่ยนการต่อสู้เพื่อบ้านเมืองให้เป็นหนทางไปสู่การเจริญเติบโตของจิตใจตนเอง
นักรบแห่งธรรมจะเฝ้าดูอารมณ์ต่าง ๆ ที่ผุดขึ้นมาอย่างแจ่มชัดและรู้ทัน โดยไม่ปล่อยให้อุปทานมาครอบงำจิตใจ
นักรบแห่งธรรมจึงรู้ดีว่าตนเองควรมองอารมณ์ของตนเยี่ยงไร และควรจัดการกับอารมณ์แต่ละอารมณ์ของตนอย่างไรถึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์นั้น
นักรบแห่งธรรมจะบอกกับตนเองอยู่เสมอว่า ตนเองจะไม่หลบเลี่ยงไปจากความทุกข์ ความปวดร้าว แต่จะใช้มันอย่างดีที่สุดเพื่อที่ตัวเองจะได้มีจิตใจที่กรุณายิ่งขึ้น และสามารถช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่าเดิม
นักรบแห่งธรรมล้วนตระหนักดีว่า ปีติอันใดที่มีอยู่ในโลกล้วนเกิดจากความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข และความทุกข์ใดที่มีอยู่ในโลกล้วนเกิดจากความปรารถนาให้ตัวเองมีความสุข
ดังนั้นนักรบแห่งธรรมจึงได้ตั้งปณิธานอันยิ่งใหญ่ให้แก่ตัวเองว่า
"จงมอบความสำเร็จและชัยชนะให้แก่ปวงชน
และยินดีน้อมรับความเจ็บปวดทั้งปวงไว้กับตนเอง"
ด้วยปณิธานเช่นนี้นักรบแห่งธรรมย่อมเดินอยู่บนวิถีแห่งความไร้พ่าย ด้วยความไร้ตัวตนและไร้อัตตาอย่างถึงที่สุด
หลักการที่ค้ำจุน "วิถีไร้พ่าย" ของนักรบแห่งธรรม คือหลักแห่งอนัตตา หรือหลักการแห่งการไร้ตัวตนอย่างถึงที่สุดในทุก ๆ การกระทำเพื่อส่วนรวมของนักรบแห่งธรรม
เพราะในสงครามเพื่อปกป้องบ้านเมือง ปกป้องสถาบันหลัก ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของนักรบแห่งธรรมนั้น มิใช่ศัตรูภายนอก แต่คือศัตรูภายใน หรือความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาของตนเอง
ทุก ๆ เวลา และทุก ๆ สถานที่ที่มีโอกาสอำนวย นักรบแห่งธรรมจะนั่งกรรมฐานเงียบ ๆ ร่างตั้งตรงสงบนิ่ง สงบจิตใจรำงับ ปล่อยให้ความคิดและอารมณ์ผุดขึ้นมาเองโดยไม่เข้าไปแทรกแซงใด ๆ ทั้งสิ้น
ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนถูกปลดเปลื้อง ปล่อยออกไปให้เป็นอิสระภายใน ดุจปมเงื่อนที่คลายตัวเองออกมาในความว่างอันไพศาลดุจท้องฟ้า
ไม่ว่าจะกระทำสิ่งใด นักรบแห่งธรรมจักรไม่ยอมกีดกันความเจ็บปวดรวดร้าวออกไปจากใจ แต่นักรบแห่งธรรมจะน้อมรับ ยอมรับความทุกข์ใจเหล่านั้นด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง
เพราะความปวดร้าวคือพรจำแลง ที่เป็นโอกาสอันมีค่าให้นักรบแห่งธรรมสามารถค้นพบสิ่งที่ดำรงอยู่เบื้องหลังความทุกข์ทั้งปวง
นักรบแห่งธรรมจะหายใจเอาสิ่งเลวร้ายและพลาดผิดเข้าไป จากนั้นหายใจออกมาเป็นน้ำมิตรไมตรี
นักรบแห่งธรรมจะหายใจเข้าเป็นความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และหายใจออกเป็นการให้อภัย
นักรบแห่งธรรม คือผู้ที่ตระหนักดีว่าผู้ใดก็ตามที่ยังไม่ได้ค้นพบขุมทรัพย์แห่งอริยสมบัติในตน ผู้นั้นล้วนแต่เป็นผู้ยากไร้ทั้งสิ้น
ไม่ว่าผู้นั้นจะร่ำรวยมีทรัพย์สินเงินทองนอกกายมากแค่ไหนก็ตาม
อริยสมบัติที่ว่านี้คือ 'จิตเดิมแท้' นั่นเอง
จิตเดิมแท้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง คนเราสามารถเข้าถึงจิตเดิมแท้นี้ได้เสมอ เพราะมันดำรงอยู่ในตัวเราทุกคน และเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของคนเราทุกคน
นักรบแห่งธรรมเข้าถึงจิตเดิมแท้นี้ได้โดยมีสติที่ตั้งมั่นอยู่ใน ‘จิตปัจจุบัน’ อย่างสม่ำเสมอ
ความเข้มข้นของความทุกข์ของคนเรานั้นจึงขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงที่ผู้นั้นต่อต้านการเข้าถึงจิตปัจจุบัน
การฝึกจิตให้ว่าง จึงเป็นหนทางนำนักรบแห่งธรรมเข้าสู่จิตเดิมแท้
หลักการเข้าถึง ‘จิตว่าง’ ของนักรบแห่งธรรมนั้นมีอยู่ว่า
"จงอย่าจริงจังกับทุกสิ่งที่ใจคิด
เพราะตัวเรามิใช่ใจของเรา
ใจของเราก็เป็นอนัตตาเช่นกัน"
นักรบแห่งธรรมต้องสามารถมองทุกสิ่งที่ใจคิดอย่างเอ็นดู และอย่างมีอารมณ์ขันได้
หากทำได้เช่นนี้ นักรบแห่งธรรมก็จะไม่ตกเป็นทาสของความคิด และสามารถเป็นนายของความคิดได้
ด้วยจิตคารวะ
~ สุวินัย ภรณวลัย