‘กูอัสมาดีซัม-กูอัสมาวีซัม’ สองพี่น้องผู้สร้างอนาคตจากทุน กสศ. พร้อมฝันใหญ่ สร้างสะพานแห่งโอกาส ส่งต่อสู่เด็กด้อยโอกาส

(27 ส.ค. 67) นายภัทระ คำพิทักษ์ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Pattara Khumphitak' ในหัวข้อ 'คนหนุ่มผู้กำลังจะสร้างสะพาน' ระบุว่า...

สองหนุ่มหล่อนี้คือ กูอัสมาดีซัม อัครเสณีย์ และ กูอัสมาวีซัม อัครเสณีย์ สองพี่น้องฝาแฝด ผู้สร้างอนาคตได้อย่างน่าทึ่ง

ทั้งสองคน ฝ่าฟันความยากไร้ โดยรับทุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อใช้เรียนในสายอาชีวะระดับปวช.และปวส. 

กสศ.ให้ทุนแก่นักศึกษาระดับปวช.และปวส.เดือนละ 7,500 บาทแก่เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสทั่วประเทศกว่า 13,000 คนมาแล้ว 5 ปี เพื่อให้พวกเขาได้ยังชีพและเล่าเรียนจนจบแบบให้เปล่า 

กูอัสมาดีซัม และ กูอัสมาวีซัม เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส โดยใช้ความอดทนในช่วงเวลาสามเดือนที่กว่าเงินทุนจาก กสศ.จะตกมาถึงในครั้งแรก โดยใช้เงินที่แม่ส่งมาให้อาทิตย์ละ 200 บาท ไปซื้อบะหมี่สำเร็จรูปมายังชีพ

พอ 12 สัปดาห์ ผ่านไป เงินทุนตกเบิกย้อนหลังรวมกันคูณสองค่อยเดินทางมาถึง แต่แทนที่จะใช้เงินนั้นไปทำอะไรที่ชดเชยความยากลำบาก พวกเขากลับเอาเงินที่ได้ไปซื้อวัวมาให้ที่บ้านเลี้ยง

จากวัวเล็กๆ มาเป็นวัวสมบูรณ์พร้อมขาย จากนั้นกระบวนการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนก็ขยายออกไปเป็นแพะ เป็ด ไก่ ฯลฯ 

สุดท้ายได้ยินว่า พวกเขาสามารถซื้อที่ดินผืนติดกันขยายบ้านออกไปอีก

แบบนี้จะไม่เรียกว่า สร้างอนาคตได้อย่างน่าทึ่งได้อย่างไร

“จุดเริ่มต้นของความเสมอภาคคือ การวางรากฐานของตนเอง 

"ผมเป็นเด็กสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมอยากทำความฝันของตัวเอง แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะครอบครัวไม่สามารถส่งผมเรียนได้ แต่ทุนของ กสศ.ได้มอบโอกาสให้ผมในวันนั้น จนถึงวันนี้ 

"ผมได้ใช้ทุนที่ได้รับ มาหมุนเวียนในชีวิต ซื้อวัว ซื้อแพะ เป็ด ไก่ ทำให้ผมอยากมอบโอกาสดีๆ แก่เด็กด้อยโอกาส เด็กไร้การศึกษา เด็กห่างจากการศึกษาโดยเปิดศูนย์การเรียน ให้เด็กเหล่านั้นมีรายได้ ได้ใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี" กูอัสมาดีซัม พูดบนเวทีเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

น้องใช้เวลาสั้นมาก ไม่น่าเกิน 5 นาทีบอกเล่า เรื่องราวในหนทางอับแสง มองไม่เห็นแหล่งที่จะไปในโลกของการจะสร้างตัวขึ้นมาด้วยการศึกษาเล่าเรียน การงมหาบันไดขั้นแรกในความมืด ไปจนถึงภาพฝันในอนาคต

ถ้อยคำสั้นๆ ที่เขาแบ่งปันภาพอนาคตต่อคนฟังในห้องโถงนั้น คนอื่นจะรู้สึกอย่างไรไม่ทราบ แต่ลำคอผมตีบตันไปชั่วขณะ

ถ้อยคำของน้อง น่าจะเป็นกำลังใจให้ผู้คนทั้งปวง คนใน กสศ.และคนรุ่นต่อๆ ไป แต่สำหรับคนที่มีส่วนร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมทำกันมาบนเส้นทางนี้ คงไม่ต่างอะไรกับการได้เห็นลูกหลานของตัวเองเติบใหญ่ เจริญรุ่งเรืองและบรรลุแล้วซึ่งเป้าหมายของการร่ำเรียน 

เป้าหมายของการศึกษาและการเรียนรู้จะมีอะไรสำคัญกว่า สามารถทำให้ตัวเราเองยืนตัวขึ้นได้ ค้นพบศักยภาพของตัวเอง นำศักยภาพนั้นมาช่วยตัวเองและครอบครัว แล้วไปช่วยชุมชนและสังคม พร้อมกันนั้นก็ขัดเกลาจิตใจตนเองให้สูงขึ้นเรื่อยๆ 

จนเป็นมนุษย์ที่เป็นไทยที่แท้จริง

ตอนนี้ ดี-กูอัสมาดีซัม และ วี-กูอัสมาวีซัม เพิ่งจะเข้าเรียนปีหนึ่งในระดับปริญญาตรี ที่เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช แต่ผมไม่กังขาเลยว่า วันหนึ่งพวกเขาจะทำความฝันสำเร็จหรือไม่ และจะมีคนได้เดินข้ามสะพานที่พวกเขาจะลงแรงปูมันขึ้นมาหรือไม่

ผมได้ยินเรื่องราวสองหนุ่มนี้มาก่อนโดยไม่เคยเจอตัวจริง เพิ่งมาเห็นตัวจริงเอาตอนเขาอยู่บนเวที ส่วนผมนั่งชื่นชมน้องอยู่แถวหลังห้อง ไม่ได้ไปอยู่แถวหน้าเพราะเกรงพิธีรีตอง แต่โชคดีหลังงานจบน้องทั้งสองเดินมา จะด้วยจังหวะ วิถีหรืออะไรไม่รู้ เราเดินเข้าทางกัน ยิ้มให้กัน และหยุดคุยกัน

น้องถามผมว่า ทำอะไรอยู่ที่ไหน จากนั้นเลยได้คุยกันยาว

“ผมมีความตั้งใจว่า วันหนึ่งเราจะตั้งศูนย์การเรียนเพื่อเป็นผู้ให้คนอื่นบ้าง เพราะเป็นผู้ได้รับมาแล้ว…” เขาบอกถึงเป้าหมายอันแจ่มชัดของเขากับผมอีกครั้งหนึ่ง

ผมดีใจจริงๆ ที่ได้รู้จักน้องทั้งสองคน แม้จะชื่นชมและให้กำลังใจแก่ทั้งสองคนที่คิดอะไรดีๆ แบบนั้นไปแล้ว แต่ก็ลืมขอบคุณที่พวกเขาที่ทำให้คนทำงานและบรรดาคนที่ช่วยเหลือขับเคลื่อนงานนี้ด้วยกันมาในหนทางต่างๆ ไม่ว่าผู้ออกแรงและเจ้าของมือไม้เหล่านั้นจะอยู่แห่งใดก็ตาม ผมเชื่อว่า ผู้คนเหล่านั้นคงมีความรู้สึกเช่นเดียวกันคือ น้องทำให้มีความสุขและมีความหวัง

การงานมันไม่ได้สำเร็จสวยงามไปเสียทุกเรื่อง เช่นเดียวกับเมล็ดหรือกล้าพันธุ์ ที่หว่านหรือลงแปลงไปใช่ว่า จะอยู่รอด เติบใหญ่ได้ทั้งหมด แค่มีบ้างอย่างนี้ ก็ชื่นใจและมีกำลังใจมากแล้ว

ขอบคุณ 'ดี-กูอัสมาดีซัม' และ 'วี-กูอัสมาวีซัม' มากๆ ครับ ขอให้เจริญๆ ครับ