'ดร.อธิป' โชว์สถิติศักยภาพ ‘เชื้อเอเชีย’ ที่ไม่ได้ด้อยไปกว่า ‘มะกันชน’ อิงผลลัพธ์ 'อเมริกันเชื้อสายเอเชีย' ฉลาดกว่า-รายได้ดีกว่า จนถูกแบน

(11 ส.ค. 67) ‘ดร.อธิป อัศวานันท์’ ผู้บริหารของบริษัท ทรูคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) รองประธานกิจการไอซีทีหอการไทย นักเขียนชื่อดัง และอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้โพสต์คลิปเกี่ยวกับ 'การเลือกปฏิบัติเชิงลบ หรือมาตรการลดโอกาส กีดกัน ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย' โดยได้ระบุว่า ...

สําหรับผู้ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา ย่อมตระหนักดี ว่าประเทศนี้ไม่ได้ประกอบอยู่ด้วยเพียงแค่ชาวผิวขาวและชาวผิวดําเท่านั้น แต่ก็มีประชากรเชื้อสายเอเชียอยู่ถึง 6% ของประชากรทั้งหมด และสําหรับผู้ที่เคยศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกาย่อมต้องรู้ดีว่า 'ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย' มักจะมีผลการเรียนที่ยอดเยี่ยมระดับสติปัญญาที่สูง และรายได้ที่ดีเยี่ยมเมื่อเปรียบเทียบกับชาวอเมริกันกลุ่มอื่นๆ ซึ่งรวมไปถึงชาวผิวขาวด้วย

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เคยเติบโตในสหรัฐอเมริกา และได้เคยแข่งขันอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวอเมริกัน จึงไม่เคยคิดเลยว่าชาวเอเชียนั้นจะด้อยกว่าชาวตะวันตก เนื่องจากในแง่ของการศึกษา ระดับสติปัญญา และรายได้ชาวเอเชียนั้น มีความโดดเด่นกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้น การที่ประเทศตะวันตก มีความก้าวหน้าเหนือชาติตะวันออกในปัจจุบัน จึงดูเหมือนเป็นเพียงเรื่องราวของจังหวะและโอกาสทางประวัติศาสตร์ แต่ไม่ใช่เรื่องของความสามารถโดยธรรมชาติแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ ดร.อธิป ได้เผยต่อว่า แต่ถึงกระนั้น ด้วยความสามารถอันโดดเด่นของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ก็กลายมาเป็นอุปสรรคต่อตัวพวกเขาเอง ในแง่ของการถูกกีดกันในการสมัครเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนําของสหรัฐอเมริกาด้วยเหมือนกัน

โดย มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา จะมีนโยบายหนึ่งที่เรียกว่า ‘Affirmative Action’ ซึ่งอาจแปลได้ว่า การเลือกปฏิบัติเชิงบวก หรือมาตรการส่งเสริมโอกาส โดยนโยบายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ด้อยโอกาสทางสังคม ซึ่งในบริบทนี้หมายถึงชาวอเมริกันผิวดํา, ชาวอินเดียนแดงและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ให้สามารถเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนําได้ง่ายกว่าคนผิวขาว

อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียกลับต้องเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า ‘Reverse Affirmative Action’ ซึ่งแปลได้ว่า การเลือกปฏิบัติเชิงลบ หรือมาตรการลดโอกาส ส่งผลกลุ่มที่กล่าวไปก่อนหน้ามีโอกาสน้อยลงในการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนําเมื่อเทียบกับชาวผิวขาว เนื่องจากมองว่าพวกเขาเหล่านี้ มีผลการเรียนที่ดีกว่ามีระดับสติปัญญาที่สูงกว่าและมาจากครอบครัวที่มีรายได้สูงกว่าเมื่อเทียบกับชาวอเมริกันกลุ่มอื่นๆ ซึ่งรวมไปถึงคนผิวขาวด้วย

ตัวอย่าง...ลองจินตนาการถึงเด็กชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียคนหนึ่งที่ชื่อ ‘จอห์น’ เขาเป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยมได้เกรดเฉลี่ย 4.0 เป็นประธานชมรมคณิตศาสตร์ และก็ยังอุทิศตนเป็นอาสาสมัครในชุมชนทุกสุดสัปดาห์ ใครๆ ต่างก็คาดหวังว่าเขาจะได้เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยในฝันอย่างแน่นอน 

แต่เมื่อผลการคัดเลือกประกาศออกมา ‘จอห์น’ กลับถูกปฏิเสธจากมหาวิทยาลัยที่เขาใฝ่ฝัน ในขณะที่เพื่อนของเขา ซึ่งเป็นชาวผิวขาวและชาวผิวดําที่มีคุณสมบัติด้อยกว่าจอห์นในทุกด้านกลับได้รับการตอบรับให้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้น

นี่คือความรู้สึก 'ชอกช้ำ' ที่ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่เติบโตในสหรัฐอเมริกาจะต้องเผชิญ!!

ทว่า เพื่อให้เข้าใจในสถานการณ์ได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ดร.อธิป จึงเผยต่อว่า หากพิจารณาข้อมูลเชิงสถิติที่เกี่ยวข้องจากรายงานของศูนย์สถิติการศึกษาแห่งชาติของสหรัฐในปี 2019 จะพบว่า...

นักเรียนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียมีคะแนนสอบ SAT ซึ่งเป็นคะแนนสอบที่สําคัญในการวัดผลก่อนเข้ามหาวิทยาลัยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,223 คะแนน ขณะที่นักเรียนผิวขาวได้อยู่ที่ 1,114 ส่วนนักเรียนผิวดำได้อยู่ที่ 933 คะแนน 

>> ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างที่ชัดเจนระหว่างคะแนนสอบของนักเรียนเชื้อสายเอเชียกับกลุ่มอื่นๆ ในสหรัฐฯ 

นอกจากนี้ข้อมูลจากศูนย์วิจัยพิว หรือ Pew Research Center ได้แสดงให้เห็นว่า 54% ของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่มีอายุ 25 ปี มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งสูงกว่าหากเปรียบเทียบกับชาวอเมริกันผิวขาวซึ่งอยู่ที่ 33%และ 19% กับชาวอเมริกันผิวดํา 

>> ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างมีนัยสําคัญในระดับการศึกษาระหว่างกลุ่มเชื้อสายต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา

ในด้านของรายได้ครอบครัวชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียมีรายได้มัธยฐานที่สูงที่สุดในบรรดากลุ่มเชื้อชาติต่างๆ ในสหรัฐฯ โดยอยู่ที่ประมาณ 85,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ 61,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และของชาวผิวขาวที่ 70,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี 

>> ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างมีนัยสําคัญของรายได้ระหว่างกลุ่มเชื้อสายต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา

ในแง่ของระดับสติปัญญาชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียมีค่าเฉลี่ยของไอคิวที่ 108 ในขณะที่ชาวผิวขาวมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 103 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้กลับนํามาซึ่งความท้าทายที่ไม่คาดคิด แต่กลายเป็นปรากฏการณ์น่าคิด หลังนโยบายการเพิ่มความหลากหลายในสถาบันการศึกษา ส่งผลในด้านตรงกันข้ามกับชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ 'ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย' ซึ่งในกรณีนี้นักเรียนเชื้อสายเอเชียจำเป็นต้องมีคุณสมบัติที่สูงกว่าผู้สมัครจากกลุ่มอื่นๆ อย่างมีนัยสําคัญ เพื่อให้ได้รับการพิจารณาเข้าศึกษาในสถาบันชั้นนํา 

โดยผลกระทบของการเลือกปฏิบัติเชิงลบ หรือมาตรการลดโอกาสต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย มีหลายประการดังนี้...

1. อัตราการรับเข้าศึกษาที่ต่ำลง มหาวิทยาลัยชั้นนําหลายแห่งมีอัตราการรับนักศึกษาเชื้อสายเอเชียต่ำกว่าสัดส่วนของผู้สมัครอื่นอย่างมีนัยสําคัญ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีการฟ้องร้องมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ในปี 2018 ด้วยข้อกล่าวหาว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อผู้สมัครเชื้อสายเอเชีย โดยมีการอ้างว่าหากพิจารณาจากคุณสมบัติทางวิชาการอย่างเดียว สัดส่วนของนักศึกษาเชื้อสายเอเชียที่ถูกรับเข้าไปก็ควรจะสูงกว่านี้เป็นอย่างมาก ขณะที่อีกเคสมาจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันในปี 2009 พบว่านักเรียนเชื้อสายเอเชียจําเป็นที่ต้องมีคะแนน S ไอทีสูงกว่านักเรียนผิวขาวถึง 140 คะแนนและสูงกว่านักเรียนผิวดําถึง 450 คะแนน ถึงจะมีโอกาสได้รับการตอบรับ แน่นอนว่า แม้ว่าข้อมูลเหล่านี้จะไม่ใช่ปัจจุบัน แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมในกระบวนการรับสมัครที่ชัดเจน

2. มาตรฐานที่สูงขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม โดยนักเรียนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียจะต้องมีคะแนนสอบและผลการเรียนที่สูงกว่าอย่างมีนัยสําคัญเพื่อที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเท่าเทียมกับผู้สมัครในกลุ่มอื่นๆ แล้ว พวกเขายังอาจต้องมีกิจกรรมนอกหลักสูตรที่โดดเด่นมากขึ้น หรือมีคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ เพื่อที่จะทําให้ใบสมัครของพวกเขามีความน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก

ตัวอย่างเช่น นักเรียนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย อาจจะต้องเป็นนักกีฬาที่มีทักษะระดับสูง หรือมีความสามารถทางดนตรีหรือศิลปะที่โดดเด่น หรือมีผลงานที่สะท้อนประสบการณ์ หรือมีการทํางานด้านอาสาสมัครที่น่าประทับใจนอกเหนือจากมีการมีผลการเรียนที่ยอดเยี่ยม เพื่อให้มีโอกาสได้รับการพิจารณาเทียบเท่ากับผู้สมัครจากกลุ่มอื่นที่แม้จะมีผลการเรียนต่ำกว่า

อย่างไรก็ตาม มีมุมมองที่น่าสนใจว่า หากปราศจากนโยบายการเลือกปฏิบัติเชิงลบหรือมาตรการลดโอกาสต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียเหล่านี้ มหาวิทยาลัยชั้นนําบางแห่ง ก็อาจจะมีแนวโน้มที่จะมีนักศึกษาเชื้อสายเอเชียเป็นส่วนใหญ่และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของมหาลัยชั้นนําต่อไปนี้ ที่มีสัดส่วนของนักศึกษาชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่อยู่ในระดับสูงอย่างมีนัยสําคัญ...

- มหาวิทยาลัย Caltech มีสัดส่วนของนักศึกษาชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียอยู่ที่ 40 ถึง 45% 
- มหาวิทยาลัย UC Berkeley มีสัดส่วนของนักศึกษาชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียอยู่ที่ 35 ถึง 40% 
- มหาวิทยาลัย UCLA มีสัดส่วนของนักศึกษาชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียอยู่ที่ 30 ถึง 35% 
- มหาวิทยาลัย MIT มีสัดส่วนของนักศึกษาชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียอยู่ที่ 15 ถึง 30% 
- และมหาวิทยาลัย Standford มีสัดส่วนของนักศึกษาชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียอยู่ที่ 20 ถึง 25% 

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็มีคนดังในสังคมไม่เห็นด้วยอยู่มาก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ 'อีลอน มัสก์' ผู้ที่มีชื่อเสียงในวงการเทคโนโลยี โดยเขาได้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ การเลือกปฏิบัติเชิงลบ หรือมาตรการลดโอกาสหลายครั้งผ่านทวิตเตอร์ (X) บ่อยครั้ง

"เชื้อชาติและชาติพันธุ์ไม่ควรมีส่วนในการถูกนำมากำหนดในการรับเข้าเรียนหรือการจ้างงาน เราควรพิจารณาจากความสามารถเท่านั้น"

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 29 มิถุนายน 2023 ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ได้มีคําตัดสินที่สําคัญเกี่ยวข้องกับการใช้เชื้อชาติเป็นปัจจัยในการรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐฯ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ จําเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายในการรับนักศึกษาให้สอดคล้องกับคําตัดสินนี้ คำตัดสินที่ไม่ควรกดขี่ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคําตัดสินของศาลสูงสุดเพิ่งมีขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2023 ดังนั้นผลกระทบต่อนักเรียนเชื้อสายเอเชียในมหาวิทยาลัยชั้นนํา จึงยังปรากฏอยู่บ้างในขณะนี้

ท้ายที่สุด สิ่งที่ควรตระหนักและพิจารณาอย่างถ่องแท้ก็คือ เราไม่ควรจะสรุปหรือเชื่อว่าชาวเอเชียนั้น ด้อยกว่าชาวตะวันตกแต่อย่างใด เนื่องจากหลักฐานเชิงประจักษ์ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนจาก 'ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย' เหล่านี้ ว่า พวกเขามีผลการเรียนที่ยอดเยี่ยมมีระดับสติปัญญาที่สูงและมีรายได้ที่ดีมาก เมื่อเปรียบเทียบกับชาวอเมริกันเชื้อสายอื่น ๆ ซึ่งรวมไปถึงชาวผิวขาวด้วย 

มันยอดเยี่ยมจนกระทั่งนําไปสู่การเลือกปฏิบัติเชิงลบหรือมาตรการลดโอกาสต่อคนเชื้อสายเอเชีย ซึ่งได้ดําเนินอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ จนกระทั่งได้มาสิ้นสุดด้วยคําตัดสินของศาลสูงสุดเมื่อปีที่ผ่านมา