‘ชาวจีน’ ในกุ้ยหยาง ปลื้ม!! ‘อาหารไทย’ ยก ‘ต้มยำกุ้ง’ เมนูเด็ดสุด โต๊ะทั้งหมดถูกจองจนเต็มไม่ถึง 1 ชม. แม้เพิ่งเปิดร้านมา 2 เดือน
(9 ส.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ห้วงยามเย็นก่อนพลบค่ำ เหล่าลูกค้าทยอยต่อคิวที่ร้านอาหารไทยแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ย่านแลนด์มาร์กใหม่ในเมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยโต๊ะทั้งหมดถูกจับจองจนเต็มภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง และเกิดแถวรอคิวเป็นทางยาวอยู่หน้าจุดต้อนรับลูกค้า
ด้าน จ้าวหลินปิง เจ้าของร้านอาหารไทยแห่งนี้ ซึ่งเปิดทำการอย่างเป็นทางการเพียง 2 เดือนกว่า รู้สึกถึงการยอมรับและความนิยมชมชอบอาหารไทยของชาวเมืองกุ้ยหยาง ก่อให้เกิด ‘บทสนทนาเรื่องอาหาร’ ระหว่างจีนกับไทย โดยหนึ่งในเมนูยอดนิยมหนีไม่พ้น ‘ต้มยำกุ้ง’ ที่ถูกปากชาวเมืองกุ้ยหยางอย่างมาก
"รสเปรี้ยวของต้มยำกุ้งมาจากมะนาวเป็นหลัก ส่วนรสเปรี้ยวของซุปในกุ้ยโจวมาจากวัตถุดิบอย่างมะเขือเทศ" จ้าวกล่าว โดยไทยที่เป็นประเทศริมทะเลและกุ้ยโจวที่เป็นมณฑลภูเขาสูงต่างมีหลักการปรุงอาหารคล้ายกัน เช่น ปรับรสชาติเข้ากับท้องถิ่น ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ รักษารสชาติต้นตำรับ รวมถึงเก่งกาจเรื่องนึ่งและย่าง
นอกจากเมนูหลักที่เป็นอาหารไทยดั้งเดิม จ้าวและทีมงานยังทดลองใช้วัตถุดิบท้องถิ่นและวัฒนธรรมอาหารอันมีเอกลักษณ์ในกุ้ยโจวด้วย เช่น ไก่ย่างขอนแก่นที่เป็นเมนูยอดนิยมตามคำบอกของลูกค้า พวกเขาเสิร์ฟทั้งน้ำจิ้มแบบไทยและผงพริกสไตล์กุ้ยโจวที่มีคุณภาพสูงและเข้ากับไก่ย่างขอนแก่นได้ดี
ปัจจุบันร้านอาหารไทยแห่งนี้ยังคงรังสรรค์เมนูต่าง ๆ ที่ถูกปากชาวเมืองกุ้ยหยางเพิ่มเติม เพื่อเป็นที่ยอมรับของคนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นพร้อมกับรักษาความเป็นไทย โดยจ้าวและทีมงานเข้าใจเกี่ยวกับอาหารและวัฒนธรรมของอาเซียนอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะไทย และทดลองประสานอาหารไทยและจีนเพื่อสร้างรสชาติใหม่ตลอดสิบปีที่ผ่านมา
ณ เมืองคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ทีมงานของจ้าวสร้างสรรค์อาหารไทยที่สอดคล้องกับดอกไม้ตามฤดูกาล เพื่อตอบสนองความนิยมรับประทานดอกไม้ในท้องถิ่น โดยพวกเขายังคงความเปรี้ยวและความกลมกล่อมของอาหารไทย พร้อมผสมผสานกลิ่นหอมและความหวานของดอกไม้ที่ชาวเมืองคุนหมิงชื่นชอบ
ทุกวันนี้ทีมไท่ส่วงจินได้เปิดร้านอาหารไทย 5 แห่งแล้ว ซึ่งสาขาเมืองกุ้ยหยางเป็นสาขาแรกนอกเมืองคุนหมิง ตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้านิว ปรินติง 1950 ดิสคัฟเวอรี โปรเจค (New Printing 1950 DISCOVERY Project) ที่ดัดแปลงมาจากโรงพิมพ์เก่าโดยรัฐบาลกุ้ยหยางเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ช่วงลูกค้าแน่นร้านจะได้เห็นทั้งคนหนุ่มสาวและคนวัยกลางคนนั่งรับประทานอาหารกันอย่างคึกคักเป็นจำนวนมาก โดยกุ้ยเสี่ยวหมิ่น ซึ่งมารับประทานอาหารกับกลุ่มเพื่อน เผยว่าลูกของเขาแนะนำร้านอาหารไทยแห่งนี้เลยมาลองรับประทานดูและพบว่ารสชาติอร่อยตามต้นตำรับจริง ๆ
ด้าน พานจวิ้น ผู้จัดการร้านชาวไทยที่ทำงานร่วมกับทีมงานของจ้าวมานาน 11 ปี รู้สึกยินดีกับกระแสตอบรับ พร้อมเผยว่าวิธีปรุงอาหารของไทยกับจีนคล้ายกันมาก ขณะวัตถุดิบท้องถิ่นจากคุนหมิงและกุ้ยหยางมีความเฉพาะตัว การผสมผสานวัฒนธรรมและจุดเด่นของสองประเทศจึงมีนัยยะที่ดีไม่น้อย
ทั้งนี้ อาหารเปรียบดังสะพานที่ช่วยให้การแลกเปลี่ยนระหว่างไทยกับจีนใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น โดยทีมไท่ส่วงจินประเมินว่ามีร้านอาหารอาเซียนในคุนหมิงหลายพันแห่ง ส่วนในกุ้ยหยางมีร้านอาหารอาเซียนมากกว่า 20 แห่ง รวมถึงร้านอาหารไทย ขณะแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) สนับสนุนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการค้าระหว่างสองประเทศ
จ้าวมองว่าการเดินทางระหว่างจีนกับไทยสะดวกสบายยิ่งขึ้นด้วยอานิสงส์จากนโยบายยกเว้นวีซ่าและอำนวยความสะดวกทางการค้าต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้เขาเดินทางสำรวจกระแสในตลาดอาหารไทยได้บ่อยครั้ง และนำเข้าวัตถุดิบอาหารไทยที่สดใหม่ในราคาที่ดียิ่งขึ้นด้วย
"วัตถุดิบเกือบร้อยละ 80 ของร้านสาขาในกุ้ยหยางนำเข้าจากไทย โดยเฉพาะอาหารทะเลบางส่วนถูกขนส่งทางอากาศถึงคุนหมิงหรือกุ้ยหยางภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากสั่งซื้อตอนเช้า" จ้าวกล่าว พร้อมแสดงความหวังว่าจะมีการดำเนินนโยบายเพิ่มเติมเพื่อเกื้อหนุนการแลกเปลี่ยนระหว่างจีนกับไทย และสร้างพื้นที่ความร่วมมือเพื่อการค้าและการท่องเที่ยวท้องถิ่น
ที่มา : Xinhua / XinhuaThai