'ก้าวไกล' เสนอแก้ ป.แพ่งและพาณิชย์ ห้ามผู้ปกครอง 'เฆี่ยนตีเด็ก' ยกผลวิจัยชี้การลงโทษรุนแรง 'เสียพัฒนาการเด็ก-สร้างปัญหาสังคม'
เมื่อวานนี้ (10 ก.ค. 67) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 (2) เกี่ยวกับการลงโทษเด็ก โดยแก้ไขจากการบัญญัติว่า “ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิทําโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน” เป็น “ผู้ใช้อํานาจปกครองมีสิทธิทําโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนตามสมควร แต่ต้องไม่เป็นการกระทําทารุณกรรม หรือทําร้ายร่างกายหรือจิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือทําโทษอื่นใดอันเป็นการด้อยค่า”
โดย ภัสริน รามวงศ์ สส.กรุงเทพฯ เขต 7 พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้อภิปรายเสนอหลักการและเหตุผล ระบุว่า ร่างกฎหมายนี้ต้องการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 (2) ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2519 เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีอยู่ และในกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) รอบที่ 2 (พ.ศ. 2559-2563) ประเทศไทยก็ได้ตอบรับให้คำมั่นสัญญาว่าจะปรับแก้กฎหมายและควบคุมบทลงโทษด้วยความรุนแรงต่อบุตร แต่การแก้ไขก็ไม่เคยเป็นรูปธรรมเสียที
ภัสริน กล่าวว่า คำว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” หรือคำว่า “ไม้เรียวสร้างคน” ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยอีกต่อไปแล้ว ความรักของผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องแสดงออกผ่านความรุนแรง และมีข้อพิสูจน์มากมายว่าการตีเด็กไม่ได้ทำให้เด็กได้ดี อีกทั้งยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อเด็กไปจนจวบสิ้นชีวิตได้
ผลการศึกษาจากงานวิจัยหลายชิ้นระบุตรงกันว่า การลงโทษเด็กด้วยการตีส่งผลกระทบเชิงลบต่อพัฒนาการของเด็ก รวมถึงกระบวนการสร้างคลื่นบริเวณเยื่อหุ้มสมองที่เป็นสัญญาณของการถูกคุกคามและหวาดกลัว การทำโทษบ่อยครั้งยังส่งผลต่อพัฒนาการของระบบประสาทในวัยรุ่น ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า งานวิจัยทั้งหมดแสดงให้เห็นตรงกันว่าการเฆี่ยนตีและทำร้ายเด็กไม่สามารถทำให้เด็กมีพัฒนาการได้อย่างสมควร และเด็กที่ถูกเลี้ยงมาในสภาพที่เต็มไปด้วยความรุนแรงในครอบครัว มักจบลงด้วยการแสดงออกที่ก้าวร้าวเสมอ
การลงโทษเด็กจนเสียชีวิตเกิดขึ้นบ่อยครั้งทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว โดยประเทศไทยยังคงมีช่องว่างเกี่ยวกับการลงโทษเด็ก ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ระบุให้ผู้ปกครองมีสิทธิลงโทษบุตรได้ตามสมควร, พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 61 ที่ระบุให้ผู้ปกครองลงโทษได้ตามสมควรเพื่อการอบรมสั่งสอน, กฎกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่าด้วยการลงโทษเด็ก พ.ศ.2548 ที่ระบุว่าหากจำเป็น ให้ผู้ปกครองลงโทษได้ตามสมควร
ภัสรินกล่าวต่อไปว่า จากรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ มีข้อกังวลหนึ่งที่คณะกรรมการสิทธิเด็กแสดงความกังวลต่อประเทศไทยมาโดยตลอด นั่นคือบทบัญญัติเรื่องการให้อำนาจผู้ปกครองตามมาตรา 1567 ประเทศสมาชิกหลายประเทศก็ให้ข้อเสนอแนะต่อประเทศไทยไม่ให้มีการลงโทษเด็กทุกรูปแบบและทุกสถานที่ ซึ่งรัฐบาลไทยก็ยอมรับมาโดยตลอดว่าต้องแก้ไขปัญหานี้ แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายใดๆ อย่างเป็นรูปธรรม
“เด็กที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง พวกเขารอไม่ได้อีกแล้ว การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ไม่ได้ห้ามการลงโทษ แต่สังคมต้องปรับวิธีคิดในการอบรมสั่งสอนลูก เราต้องสร้างนิสัยเชิงบวกให้ลูกโดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่อธิบายด้วยความรัก ความเข้าใจ และการอดทนอดกลั้น ขอให้มองว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นคือโอกาสที่พ่อ แม่ และลูกจะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน” ภัสรินกล่าว