เปิดเรื่องราว ‘ทหารเด็ก’ เครื่องมือจักรกลสงคราม ของพวกไร้จิตสำนึก ‘บังคับ-หลอกใช้’ ให้กระทำความผิด ไม่คำนึงผลที่จะตามมาในอนาคต

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก นอกจากการใช้นักรบวัยฉกรรจ์กระทั่งวัยชราแล้ว ยังมีพวกชั่วช้าสามานย์บังคับใช้เด็กให้มาเป็นนักรบอีกด้วย วันนี้จึงขอนำเรื่องของการใช้เด็กเป็นทหารมาเล่าให้ฟัง…

การนำเด็กมากระทำความผิดเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานมาก แม้แต่ในบ้านเรามีการบังคับเด็กให้เป็นขอทาน หลอกล่อเด็กให้กระทำความผิดต่าง ๆ ปล้น ชิง วิ่งราว ล้วงกระเป๋า ขายของ กระทั่งขนและขายยาเสพติด ตลอดจนสิ่งผิดกฎหมายอื่น ๆ ฯลฯ โดยไม่สนใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม หรือลักษณะนิสัยที่เปลี่ยนไป ผลกระทบด้านจิตใจ ตลอดจนการถูกดำเนินคดี ซึ่งเด็ก ๆ และครอบครัวต้องเผชิญชะตากรรมที่ถูกล่อลวงให้กระทำความผิดตามลำพัง และโดดเดี่ยว ผู้ที่หลอกลวงและอยู่เบื้องหลังจึงเป็นพวกที่เลวและชั่วช้ามาก ๆ เช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

การบังคับเด็กมาเป็นทหารก็เฉกเช่นเดียวกัน ทหารเด็กนับเอาเด็กในกองกำลังติดอาวุธที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา 

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child : CRC) ห้ามการใช้เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าร่วมในปัญหาซึ่งมีความขัดแย้งกันและมีการใช้กำลังอาวุธ นอกจากนั้นการใช้เด็กต่ำกว่า 15 ปีเป็นทหารถือเป็นการก่ออาชญากรรมสงครามอีกด้วย โดยประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้ต่างเห็นด้วยกับการห้ามใช้ทหารเด็กทั้งที่อยู่ในกองกำลังฝ่ายรัฐบาล หรือของกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ 

น้อยคนในโลกนี้ที่จะทราบว่า นักรบที่ได้รับการกล่าวขานว่ามีความเหี้ยมโหดที่สุดในโลกกลุ่มหนึ่งเป็น ‘ทหารเด็ก’ ซึ่งเป็นเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 7-18 ปี หรืออาจจะน้อยกว่านั้น ที่มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกนับแสนคน ทั้งนี้เพราะ ‘ทหารเด็ก’ หรือ ‘นักฆ่ารุ่นเยาว์’ เหล่านี้ ได้รับการวิเคราะห์จากโลกตะวันตกแล้วว่า เป็นนักฆ่าที่สามารถสังหารผู้คนได้เพียงเพราะต้องการฆ่า หรือเพียงเพราะได้รับคำสั่งให้ฆ่า เป็นการฆ่าด้วยจิตใต้สำนึก ไม่ใช่การฆ่าด้วยอุดมการณ์ เป็นการฆ่าที่ปราศจากความยั้งคิดใด ๆ ทั้งสิ้น อันเนื่องมาจากความด้อยประสบการณ์ ความไร้เดียงสา และการขาดความรู้ที่เพียงพอ ‘ทหารเด็ก’ บางคนเริ่มสังหารผู้คนตั้งแต่ยังไม่สามารถจำอายุของตนได้เลย 

ทั้งนี้ ‘Mike Wessells’ นิตยสาร The Atomic Scientists ของสหรัฐฯ ได้วิเคราะห์ถึงการใช้ ‘ทหารเด็ก’ เป็นเครื่องมือ ‘จักรกลสงคราม’ ในการทำสงครามกลางเมืองของประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในทวีปแอฟริกา เช่น ประเทศเซียร่า ลีโอน, ชาด, บุรุนดี, โซมาเลีย, เอธิโอเปีย เป็นต้น และในทวีปเอเชีย เช่น พม่า, จีน ในอเมริกากลาง เช่น ชิลี, เอล ซัลวาดอร์, ปารากวัย เป็นต้น หรือแม้กระทั่งในยุโรป เช่น เซอร์เบีย และบอสเนีย เป็นต้น

โดย Wessells ระบุว่า เหล่านักรบรุ่นเยาว์เหล่านี้บางคนก้าวเข้าสู่สงครามตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ทั้ง ๆ ที่ในช่วงอายุดังกล่าวควรเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาควรได้รับโอกาสทางการ ‘ศึกษา’ มากกว่าได้รับโอกาสในการ ‘เข่นฆ่าประหัตประหาร’ สงครามที่เหล่านักรบรุ่นเยาว์เข้าไปมีส่วนด้วย มักเป็นสงครามที่มีความขัดแย้งทางเชื้อชาติ และเป็นสงครามกลางเมืองที่มีรูปแบบของการรบแบบกองโจรเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่สงครามตามแบบแผนที่มีแนวรบแน่นอนตายตัวเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

เด็ก ๆ เหล่านี้เริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ช่วยในครัวสนาม เป็นยามรักษาการณ์ เป็นหน่วยสอดแนม เป็นสายลับในการรวบรวมข่าวสาร แล้วได้รับการพัฒนาขึ้นมาเป็นกลุ่มที่คอยก่อการจลาจล ด้วยการขว้างปาก้อนหิน เผาอาคารสถานที่ ลักลอบส่งอาวุธให้กับกลุ่มทหารของตน จนถึงขั้นสุดท้ายของการพัฒนาคือ เข้าสวมเครื่องแบบ จับอาวุธสงคราม มีการฝึกฝนการใช้อาวุธประจำกายและยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ

โดย UNICEF ได้มีการเปิดเผยว่า กองทัพฝ่ายรัฐบาลที่เกณฑ์ทหารเด็กแบบใช้กำลังบังคับ อาทิ เอล ซัลวาดอร์ เอธิโอเปีย กัวเตมาลา และพม่า ส่วนกลุ่มติดอาวุธอื่นที่บังคับเด็กมาเป็นทหาร เช่น แองโกลา โมซัมบิก ศรีลังกา และซูดาน ส่วนที่พบว่าส่วนใหญ่เด็กสมัครใจมาเอง ได้แก่ ไลบีเรีย 

นอกจากนั้น องค์การนิรโทษกรรมสากล ยังระบุด้วยว่า ทหารเด็กส่วนใหญ่ถูกฆ่า หากรอดชีวิตก็มีที่พิการ เป็นเหยื่อของการถูกข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศอื่น ๆ มีบาดแผลในด้านจิตใจติดตัวไปจนตลอดชีวิต

การเคลื่อนไหวเพื่อยุติการใช้ทหารเด็ก การใช้ทหารเด็กเป็นเรื่องปกติตลอดประวัติศาสตร์ ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมามีการปฏิบัติตามคำวิจารณ์ที่มีข้อมูล และความพยายามร่วมกันเพื่อยุติปัญหานี้ ความคืบหน้าเป็นไปอย่างเชื่องช้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีกองกำลังติดอาวุธจำนวนมากต้องพึ่งพาเด็ก ๆ เพื่อเติมเต็มจำนวนทหารของพวกเขา และส่วนหนึ่งเป็นเพราะพฤติกรรมของกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาลนั้นยากที่จะตรวจสอบและจัดการ

ช่วงทศวรรษ 1970-1980 มีความพยายามระหว่างประเทศในการจำกัดการมีส่วนร่วมของเด็ก ๆ ในความขัดแย้งด้วยอาวุธเริ่มต้นจากพิธีสารเพิ่มเติมของอนุสัญญาเจนีวาปี 1949 ซึ่งรับรองในปี 1977 (มาตรา 77.2) พิธีสารใหม่ห้ามการเกณฑ์ทหารจากเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี แต่ยังคงอนุญาตให้กองกำลังของรัฐและกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐรับสมัครเด็กตั้งแต่อายุ 15 ปี และใช้ในการทำสงคราม มีความพยายามในระหว่างการเจรจาเกี่ยวกับการต่ออายุอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) เมื่อองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ต่าง ๆ รณรงค์ให้สนธิสัญญาฉบับใหม่ว่าด้วยการจัดหาเด็กผิดกฎหมายโดยสิ้นเชิง ในบางประเทศซึ่งมีกองกำลังด้วยอาศัยการเกณฑ์ทหารที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ได้ต่อต้านเรื่องนี้ ดังนั้นข้อความสนธิสัญญาฉบับสุดท้ายของปี 1989 จึงสะท้อนให้เห็นเพียงมาตรฐานทางกฎหมายที่มีอยู่เท่านั้น : การห้ามไม่ให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้ามีส่วนร่วมในการรบโดยตรงในสงคราม 

ในช่วงทศวรรษ 1990 องค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ ได้จัดตั้งแนวร่วมเพื่อหยุดการใช้ทหารเด็ก (ปัจจุบันคือ Child Soldiers International) เพื่อทำงานร่วมกับรัฐบาลที่เข้าใจและเห็นด้วยในการรณรงค์เพื่อทำสนธิสัญญาฉบับใหม่สำหรับแก้ไขข้อบกพร่องที่พบเห็นใน CRC หลังจากการรณรงค์ทั่วโลกเป็นเวลาหกปีสนธิสัญญาดังกล่าวก็ได้รับการรับรองในปี 2000 เป็นพิธีสารเลือกรับว่าด้วยการมีส่วนร่วมของเด็กในความขัดแย้ง (OPAC) สนธิสัญญาห้ามการเกณฑ์เด็ก ตรวจสอบให้แน่ใจว่าการเกณฑ์ทหารต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี และห้ามใช้การเกณฑ์เด็กเข้าร่วมในการสู้รบ สนธิสัญญาดังกล่าวยังห้ามไม่ให้กลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐจัดหาบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีเพื่อวัตถุประสงค์ใด ๆ แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ที่ร่วมเจรจากับ OPAC จะสนับสนุนการห้ามคัดเลือกเด็กเพื่อเป็นทหาร แต่บางประเทศนำโดยสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับสหราชอาณาจักรคัดค้านเรื่องนี้ ด้วยเหตุนี้สนธิสัญญาจึงไม่ห้ามการจัดหาเด็กอายุ 16 หรือ 17 ปี แม้ว่าจะอนุญาตให้ชาติต่าง ๆ ผูกมัดตัวเองกับมาตรฐานที่สูงกว่าที่กำหนดในกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ยุค 2000 - ปัจจุบัน ‘Red Hand Day’ ซึ่งเป็นวันต่อต้านการใช้ทหารเด็กสากล มีเครื่องหมายแสดงรอยมือสีแดง

หลังจากการรับรองพิธีสารเลือกรับว่าด้วยการมีส่วนร่วมของเด็กในความขัดแย้ง การรณรงค์เพื่อการให้สัตยาบันทั่วโลกได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ในปี 2018 OPAC ได้รับการรับรองสัตยาบันโดย 167 ประเทศ การรณรงค์ดังกล่าวยังสนับสนุนให้หลาย ๆ ประเทศไม่รับสมัครเด็กเป็นทหารเลย ในปี 2001 มี 83 ประเทศเกณฑ์ทหารเฉพาะผู้ใหญ่ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) เท่านั้น ภายในปี 2016 จำนวนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 126 ประเทศซึ่งเป็น 71% ของประเทศที่มีกองกำลังติดอาวุธ กลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐประมาณ 60 กลุ่มได้ทำข้อตกลงเพื่อหยุดยั้ง หรือลดขนาดการใช้ประโยชน์จากเด็ก ซึ่งมักจะดำเนินการโดย UN หรือองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น Geneva Call

Child Soldiers International รายงานว่าความสำเร็จของสนธิสัญญา OPAC บวกกับการลดลงทีละน้อยในการเกณฑ์เด็กโดยกองกำลังของรัฐบาล ทำให้เด็กในกองกำลังทางทหารทั่วโลกลดลง ในปี 2018 การเกณฑ์และการใช้ทหารเด็กยังคงมีอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ISIS และ Boko Haram ตลอดจนกลุ่มติดอาวุธที่ยังคงต่อสู้อยู่ ซึ่งใช้นักรบเด็กอย่างมากมาย นอกจากนี้สามประเทศที่มีประชากรมากที่สุด ได้แก่ จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ยังอนุญาตให้กองกำลังติดอาวุธเกณฑ์เด็กอายุ 16 หรือ 17 ปี เช่นเดียวกับห้าประเทศในกลุ่ม G-7 : แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักรและ สหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันมีถึง 195 ประเทศในโลกที่ลงนามร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งมีการประกาศใช้ในปี 1989 และมีผลบังคับใช้เมื่อปี 1990 ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกตั้งแต่ปี 1992 และยังเข้าเป็นภาคีสมาชิกพิธีสารต่อท้ายอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอีก 3 ฉบับ คือ พิธีสารเลือกรับฯ เรื่องการขายเด็ก การค้าประเวณี และสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็ก (Optional Protocol to the Convention on the Rights of the Child on the sale of children, child prostitution and child pornography) พิธีสารเลือกรับฯ เรื่องความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ (Optional Protocol to the Convention on the Rights of the Child on the involvement of children in armed conflict) ซึ่ง 2 ฉบับดังกล่าว ไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อปี 2006 และฉบับที่ 3 เป็นพิธีสารเลือกรับฯ เรื่องกระบวนการติดต่อร้องเรียน (Optional Protocol to the Convention on the Rights of the Child on a communications procedure) ไทยเข้าเป็นภาคีเป็นประเทศแรกในโลกเมื่อ 25 กันยายน 2012

หลักการสำคัญของสิทธิเด็กที่ต้องเข้าใจก่อน คือ สิทธิของเด็ก ไม่ใช่เรื่องที่รัฐหรือใครให้กับเด็ก แต่เป็นสิทธิของเด็กทุกคนที่มีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด โดยไม่มีผู้ใดสามารถไปตัดทอน หรือจำกัดการใช้สิทธิอันชอบธรรมของเด็ก หรือละเมิดสิทธิของเด็กได้ และการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวกับเด็ก ต้องคำนึงถึงสิทธิเด็ก และยึดถือหลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก อนุสัญญานี้ยังกำหนดสิทธิเด็กขั้นพื้นฐานไว้ 4 ด้าน ดังนี้

1. สิทธิในชีวิตและการอยู่รอด : สิทธิมีชีวิตและความต้องการขั้นพื้นฐานที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ ได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน และมีความปลอดภัย

2. สิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครอง : ให้รอดพ้นจากการทำร้าย การล่วงละเมิด การละเลย การนำไปขาย การใช้แรงงานเด็ก การเลือกปฏิบัติ และการแสวงประโยชน์โดยมิชอบในรูปแบบอื่น ๆ 

3. สิทธิในการพัฒนา : สิ่งที่เด็กต้องการเพื่อจะไปถึงศักยภาพอย่างสมบูรณ์ การพัฒนาทางด้านจิตใจ สิทธิที่จะได้เล่นและพักผ่อน และอื่น ๆ 

4. สิทธิในการมีส่วนร่วม : เปิดโอกาสให้เด็กมีสิทธิแสดงความคิดเห็น แสดงออก มีผู้รับฟัง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบต่อตนเอง

หลังจากได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกในปี 1992 บ้านเราโดยกระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการในตามภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก การรับสมัครบุคคลเพื่อบรรจุเป็นหน่วยรบมีการกำหนดชัดเจนโดยจำกัดอายุขั้นต่ำในการสมัครเข้าโรงเรียนทหาร โดยให้มีความสัมพันธ์ในเรื่องของอายุถูกต้องเมื่อจบการฝึกฝนอบรม และประจำการด้วยอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ส่วนการเกณฑ์ทหารกำหนดที่ 21 ปีตลอดมาตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกับนักศึกษาวิชาทหารจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นกำลังสำรองเมื่ออายุครบ 18 ปีเช่นกัน บ้านเราจึงไม่มีปัญหาในเรื่องของทหารเด็ก เว้นแต่ในคราวที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในหลาย ๆ จุด โดยสมรภูมิที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและชุมพร มียุวชนทหารจำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมกับทหารและตำรวจในการรบกับกองทัพญี่ปุ่นเพื่อปกป้องชาติบ้านเมืองอย่างกล้าหาญ และได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ (เอเชียบูรพา) อย่างสมเกียรติ

การบังคับหรือล่อลวงเด็กให้กระทำผิดนั้น เป็นเรื่องที่เหี้ยมโหดและชั่วช้าสามานย์ยิ่ง มีแต่คนที่อุบาทว์ชาติชั่วเลวทรามจริง ๆ เท่านั้นถึงทำได้ เพราะเด็ก ๆ ทั้งไร้เดียงสา ขาดความเข้าใจ จึงไม่มีวุฒิภาวะพอ เมื่อถูกหลอกลวงด้วยคำพูด ถ้อยคำ โฆษณาชวนเชื่อ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจึงหลงเชื่อ แต่เมื่อได้กระทำการจนกลายเป็นความผิดสำเร็จไปแล้ว จึงต้องรับโทษตามกฎหมายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่นเดียวกับการเกณฑ์และบังคับใช้ทหารเด็ก ซึ่งสมควรต้องประนามหยามเหยียดคนเหล่านี้อย่างเต็มที่จนถึงที่สุด


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล