เมื่อ 'ซาอุฯ' ยกเลิกผูกขาดดอลลาร์ซื้อขายน้ำมัน ทิศทาง ‘ดอลลาร์-หยวน' เงินสกุลไหนจะได้ไปต่อ?

เป็นที่ทราบกันไปแล้ว ว่าสหรัฐอเมริกาและซาอุดีอาระเบีย ได้เห็นร่วมกันให้ข้อตกลงเปโตรดอลลาร์สิ้นสุดลงในวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา 

อะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้แอคชันในครั้งนี้ ก็คงยังมิทราบได้ แต่ที่คาดเดากันได้ในนาทีนี้ คือ น้ำมันจากแหล่งน้ำมันในซาอุดีอาระเบียน่าจะหมดไปภายในเวลาประมาณ 50 ปี หรือนานกว่านั้นเล็กน้อย ด้วยอัตราการสูบน้ำมันที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน  

อย่างไรก็ตาม ด้วยเวลาที่ผ่านไป พลังงานทางเลือกต่างๆ ปรากฏขึ้นพร้อมๆ กันกับ รถยนต์ EV ที่กำลังได้รับส่วนแบ่งทางการตลาดรถยนต์ที่มากขึ้นเรื่อยๆ 

ดังนั้นเมื่อคำนึงถึงสิ่งนี้ รายได้จากน้ำมันเชื้อเพลิงจะเริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2040 อันจะส่งผลให้น้ำมันเชื้อเพลิงค่อยๆ สูญเสียการควบคุมอย่างต่อเนื่องในฐานะแหล่งรายได้ที่เคยได้รับผลกำไรสูง 

นั่นจึงทำให้ ซาอุดีอาระเบีย พยายามที่จะเริ่มหาแหล่งพลังงานอื่นๆ มาทดแทนรายได้จากน้ำมัน โดยเฉพาะกับก๊าซธรรมชาติที่จะเป็นอีกแหล่งรายได้อีกทางหนึ่ง 

ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติคิดเป็น 4% ของปริมาณสำรองของทั้งโลก และเพียงพอสำหรับซาอุดีอาระเบียที่จะบริโภคภายในประเทศกว่า 88 ปี 

ด้วยหลายๆ สาเหตุ ที่ว่ามา ทำให้ ซาอุดีอาระเบีย เริ่มขาดแรงจูงใจต่อการขายน้ำมันในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จนกระทั่งขาดแรงกระตุ้นในการต่ออายุข้อตกลงดังกล่าวไปด้วยโดยปริยาย

ทั้งนี้ เดิมที ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ได้ลงนามในข้อตกลงกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดี Nixon เกี่ยวกับปิโตรดอลลาร์ เพื่อแลกเปลี่ยนกับหลักประกันด้านความมั่นคงทางทหาร ซึ่งรับประกันโดยสหรัฐอเมริกา 

ขณะเดียวกันสหรัฐฯ กำลังประสานงานกับซาอุดีอาระเบียเกี่ยวกับข้อตกลงที่จะให้หลักประกันด้านความมั่นคงทางทหารแก่ซาอุดีอาระเบีย เพื่อแทนที่ข้อตกลงเดิมซึ่งหมดอายุไปแล้ว เนื่องจากตะวันออกกลางมีความสำคัญเชิงกลยุทธ์มากสำหรับสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะกับ UAE ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งในตะวันออกกลางที่เพิ่งจะตีตัวออกห่างจากจีนเพื่อสนับสนุนสหรัฐฯ ในการพัฒนาไมโครชิป ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากความพยายามอย่างหนักของรัฐบาลสหรัฐฯ

ถึงกระนั้น ประเด็นสำคัญที่อยากชวนคิดตาม หากไม่มีข้อตกลงเปโตรดอลลาร์อีกแล้วนั้น คือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงหรือไม่ และยิ่งเมื่อมีการก่อตั้ง BRICS สำเร็จเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์แล้ว ก็ต้องดูว่าเงินสกุลหยวนของจีนจะสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะตั้งตัวเป็นสกุลเงินหลักของ BRICS ได้แค่ไหน? จะส่งผลทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนตัวได้เพียงใด? และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่? หรืออาจต้องใช้เวลาหลายเดือน หรือหลายปี กว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น? 

กล่าวโดยสรุป หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนแอลง โอกาสที่จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกลงก็มีความเป็นไปได้ โดยความอ่อนแอดังกล่าวก็จะสะท้อนออกมาผ่านกำลังซื้อของคนอเมริกันที่เริ่มลดลง และจะทำให้ประเทศต่างๆ ที่ส่งออกสินค้ามาที่นี่ ต้องหาตลาดใหม่ ซึ่งเดิม 60% ของผู้ซื้อในโลก อยู่ที่สหรัฐอเมริกา 

แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นตามมาว่า แล้วจีนพร้อมจะมาเป็น World buyer แทนที่สหรัฐฯ หรือไม่? คำตอบที่เป็นไปได้สูงก็คือ จีนยังไม่น่าจะพร้อม และไม่น่ายินดีที่จะพร้อม เพราะเศรษฐกิจจีนโตมาได้ทุกวันนี้เกิดจากการที่จีนได้เปรียบดุลการค้าประเทศต่างๆ ทั่วโลก และสิ่งที่จีนยังต้องปรับตัวเป็นอย่างมากด้วย ก็คือ หากความได้เปรียบดุลการค้าหายไปแล้ว เศรษฐกิจของจีนเองจะอยู่ได้หรือไม่? และอยู่อย่างไร?

ยิ่งในประเด็นของทองคำ ซึ่งตอนนี้เริ่มมีราคาสูงมากขึ้น แต่ก็อย่าลืมว่า ประเทศที่มีทองมากที่สุดในโลกก็ยังคงเป็น สหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น Gold deposits หรือ Gold reserves ก็ตาม

ดังนั้น BRICS เอง จึงยังไม่สามารถแข็งแกร่งได้ในเร็วๆ นี้ ด้วยยังคงขาด Infrastructure ที่จำเป็น เช่น Equivalent ของ Fed/IMF/World Bank แม้แต่เงินสกุลหยวน (CNY) เอง ก็ยังไม่พร้อมที่จะเป็น BRICS Currency ส่วนเงินรูเบิลรัสเซีย และเงินรูปีของอินเดีย ก็เลิกคิดไปได้เลย 

ถึงตรงนี้ หากหันมามองในมุมประเทศไทยเอง ก็คงไม่อยากให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ อ่อนแอ เนื่องจากไทยได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ ค่อนข้างมากติดต่อกันหลายสิบปีมาแล้ว 

แต่ทั้งนี้ หากวันหนึ่งโลกพลิก ประเด็นที่ควรพิจารณาที่สุดของรัฐบาลและภาคเอกชนของไทยในการรับมือ ก็คือ การสร้างนวัตกรรมให้แก่สินค้าและบริการใหม่ๆ / การมองหาตลาดส่งออกใหม่ๆ / การเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อรองรับรายได้ที่อาจจะหายไปจากตลาดสหรัฐฯ หนึ่งในเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มระบบและครบวงจร

คงต้องจับตาดูกันต่อไป


เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล