เบิกเนตร!! ประวัติศาสตร์ 2475 เริ่มกระจ่าง ก่อการเพื่อ 'คณะราษฎร' หรือ 'คนไทย'

ปีนี้เป็นปีที่ 92 หลังจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย พ.ศ. 2475 จากระบอบ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ เป็นระบอบ ‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข’ 

ขออธิบายสั้น ๆ สำหรับผู้ที่อาจไม่เข้าใจในระบอบ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’

ระบอบ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ (Absolute Monarchy) เป็นระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ปกครองและทรงมีสิทธิ์ขาดในการบริหารประเทศ 

ปัจจุบันทุกวันนี้ยังมีประเทศที่ปกครองด้วยระบอบ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ อันได้แก่ 

(1) Negara Brunei Darussalam
(2) Kingdom of Eswatini (Swaziland เดิม)
(3) Kingdom of Saudi Arabia
(4) Sultanate of Oman
(5) Vatican City State 
และ (6) United Arab United Arab Emirates (ประกอบด้วย 7 รัฐ Emirates ซึ่งทั้ง 7 รัฐปกครองด้วยระบอบ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ ทั้งสิ้น) 

โดยคุณภาพชีวิตของประชาชนพลเมืองทั้ง 6 ประเทศนี้จัดว่า ‘ดีมาก’ แม้แต่ Kingdom of Eswatini ซึ่งอยู่ในทวีปแอฟริกา สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนก็ยังอยู่ในอันดับปานกลางค่อนข้างดีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน

คราวนี้มาถึงเรื่องของไทยเรา ... หลังจากมีการนำเสนอ 2475 Dawn of Revolution ภาพยนตร์ Animation ที่บอกเล่าเรื่องราวอันเป็นข้อเท็จจริงของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

แอนิเมชันเรื่องนี้ได้ขยายความจริงบางประการให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับทราบถึงข้อเท็จจริง ความเป็นมา รายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งอันที่จริงแล้วมีการเตรียมการ (ประชาธิปไตย) มาตั้งแต่รัชสมัยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 เริ่มจากการจัดตั้งการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกในรูปแบบสุขาภิบาลที่ท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2441 แล้ว

ต่อมาในรัชสมัยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาขึ้นมา 2 สภา ได้แก่ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และสภาที่ปรึกษาในพระองค์ในปี พ.ศ. 2417 อีกทั้งทรงสร้างความเท่าเทียมเสมอภาคของประชาชนด้วยการเลิกทาสในปี พ.ศ. 2448 รวมถึงยังทรงออกประกาศให้มีการนับถือศาสนาโดยอิสระในราชอาณาจักรสยาม ขณะเดียวกันก็ทรงใช้ระบบเขตการปกครองใหม่ เช่น มณฑลเทศาภิบาล จังหวัด และอำเภอ และทรงประกาศตั้งกระทรวงขึ้นอย่างเป็นทางการจำนวน 12 กระทรวง เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 อีกด้วย

พอครั้นถึงรัชสมัยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ก็ได้ทรงตั้งดุสิตธานีเมืองจำลองขึ้นในปี พ.ศ. 2461 เพื่อเป็นแบบทดลอง 'นครตัวอย่าง' ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีลักษณะเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบของเทศบาลที่ดัดแปลงมาจากประเทศอังกฤษ 

ในรัชกาลต่อมา ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้น 2 ฉบับ คือ Outline of Preliminary Draft ของพระยากัลยาณไมตรี (Francis B. Sayre) และ An Outline of Changes in the Form of the Government ของนาย Raymond B. Stevens และพระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) ... แต่ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวซึ่งจะพระราชทานในวันที่ 6 เมษายน 2475 ถูกคัดค้านจากอภิรัฐมนตรีสภา (คณะที่ปรึกษาชั้นสูงสุด) ด้วยเหตุผลสำคัญว่า ยังไม่ถึงเวลาอันสมควร อันเนื่องจากราษฎรยังมีการศึกษาไม่ดีพอ จึงเกรงว่าเมื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาติบ้านเมืองในภายหลัง

เมื่อคณะราษฎรทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ทรงประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ก็ไม่ได้ทรงต่อต้านขัดขวางการกระทำของคณะราษฎรแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่ยังทรงมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการบังคับบัญชาหน่วยทหารทั้งหมดที่อยู่นอกพระนคร รวมทั้งกองทัพเรือซึ่งไม่ได้เข้าร่วมในการก่อการกับคณะราษฎร 

ไม่เพียงเท่านี้ ยังทรงยินยอมเสด็จนิวัตพระนครตามคำกราบบังคมทูลเชิญ (แกมบังคับ) ของคณะราษฎร และทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่คนไทยตามที่คณะราษฎรผู้ก่อการปฏิวัติต้องการ ด้วยแท้ที่จริงแล้ว ได้ทรงตั้งพระทัยที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนอยู่แล้ว เพราะได้ทรงให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญจนเสร็จสิ้นแล้วนั้นเอง

ต่อมาได้เกิดการคัดค้านการพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนของอภิรัฐมนตรีสภา ด้วยเกรงว่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ชาติบ้านเมืองในภายหลัง และได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริงในเวลาต่อมาเมื่อ 25 ปีหลังการปฏิวัติ 2475 อำนาจในการปกครองบริหารบ้านเมืองถูกแย่งชิงในมือของสมาชิกคณะราษฎร จนถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารตัดวงจรอำนาจทางเมืองของคณะราษฎรในปี พ.ศ. 2500 

ถือเป็น 25 ปีที่คณะราษฎรไม่เคยสนใจหรือใส่ใจในการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้กับชาวบ้านประชาชนเลย จึงกลายเป็นผลกระทบในด้านลบทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยมาจนทุกวันนี้ เพราะการขับเคลื่อนการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะมีความเข้มแข็ง และยั่งยืน สิ่งแรกที่ประชาชนจำเป็นจะต้องมีก็คือ ‘วุฒิภาวะทางการเมือง’ 

‘วุฒิภาวะทางการเมือง’ (Political maturity) เริ่มต้นจากการทำหน้าที่พลเมืองที่ดีของประชาชน อาทิ เคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย ทำหน้าที่พลเมืองอย่างถูกต้องและครบถ้วน เคารพสิทธิและเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น เคารพบรรทัดฐานเดิมของสังคมในเรื่องที่ถือว่ามีคุณค่าหลักร่วมกันของสังคม การเคารพคุณค่าและความเห็นต่างของผู้อื่นด้วยการไม่เหยียดหยามด้อยค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ฯลฯ เห็นประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ของส่วนตน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้อง ‘รู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองและพรรคการเมือง’ 

เพราะ 92 ปีของประเทศ ภายใต้ระบอบ ‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข’ สิ่งที่บ้านเมืองของเรามีปัญหาและเสียโอกาสมากที่สุดเกิดจากการ ‘ทุจริตประพฤติมิชอบ’ ของนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ประชาชนคนไทยส่วนไม่รู้เท่าทันจนทำให้เกิดเป็น ‘วงจรอุบาทว์’ เช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยมีวงรอบของ ‘วงจรอุบาทว์’  คือ...

'เลือกตั้ง -> จัดตั้งรัฐบาล -> เกิดวิกฤตการณ์จาก ‘การทุจริตประพฤติมิชอบ’ ของนักการเมือง -> เกิดการรัฐประหาร  -> ยกเลิกรัฐธรรมนูญ -> ร่างรัฐธรรมนูญ -> กลับมาเลือกตั้งอีก'

ดังนั้นหากไม่สามารถที่จะหยุดยั้งการ ‘ทุจริตประพฤติมิชอบ’ ของนักการเมืองและพรรคการเมืองได้ก็จะมีเหตุทำให้เกิด ‘วงจรอุบาทว์’ อยู่ร่ำไป 

นอกจากความ ‘ไม่รู้เท่าทันจนตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองและพรรคการเมือง’ จากการ ‘ทุจริตประพฤติมิชอบ’ แล้ว ขณะนี้ยังเกิดการเซาะกร่อนบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ ตลอดจนทำให้ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเกิดความกินแหนงแคลงใจ ซ้ำร้ายนักการเมืองและพรรคการเมืองฟากฝ่ายที่เป็นปฏิกษัตริย์นิยม ยังไม่ยอมรับความสำคัญในสถาบันหลักของชาติบ้านเมือง (จากใบสั่งจากชาติมหาอำนาจตะวันตก) ด้วยความ ‘ไม่รู้เท่าทัน จนตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองและพรรคการเมือง’

ยิ่งไปกว่านั้น พี่น้องประชาชนคนไทยส่วนหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มคนที่ฉลาด มีความสามารถ และจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป กลับหลงเชื่อจนตกเป็นเหยื่อและกลายเป็นสาวกให้กลุ่มคนที่ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมืองเหล่านี้ ให้พยายามยึดโยงเอ่ยอ้างว่า ‘ภารกิจ 2475 ยังไม่แล้วเสร็จ’ เพราะเจตนาอันเป็นที่สุด เป็นหมุดหมาย และปลายทางของคนเหล่านี้คือ การใช้ความพยายามอย่างที่สุดเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยจาก ‘ราชอาณาจักร’ ให้เป็น ‘สาธารณรัฐ’ นั้นเอง 

ดังนั้น เรื่องราวของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หากได้ศึกษาพิจารณาด้วยปัญญาโดยมีสติกำกับอย่างถ่องแท้แล้ว ที่สุดจะพบกับความจริงว่า 'การก่อการครั้งนั้น คณะผู้ก่อการทำเพื่อใครกันแน่ ใครที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากการก่อการระหว่างบรรดาสมาชิกคณะราษฎรหรือพี่น้องประชาชนคนไทย'


เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES