5 เหตุผลเรื่อง 'ความประหยัด' ที่ทำให้คนทัก มักถูกด่ากลับบ่อย ทั้งที่เป็น 'ก้าวแรก' ช่วยเปลี่ยนระดับฐานะของผู้ไม่มีเงินถุงเงินถัง

(23 พ.ค. 67) คุณเฉลิมพร ตันติกาญจนากุล ผู้ดำเนินรายการด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

การบอกให้คน 'ประหยัด' ดูจะไม่ใช่แนวทางที่ผู้คนในยุคนี้ชื่นชอบสักเท่าไร อ้าปากพูดออกไป ก็เตรียมตัวโดนด่า

ให้คิดเหตุผลแบบไว ๆ ก็น่าจะมีหลายข้อ ได้แก่...

1. ลัทธิบริโภคนิยมทำงานได้เป็นอย่างดีในโลกนี้ ทำให้ของที่ต้องมีและเงินที่ต้องจ่ายมันเพิ่มขึ้นหลายรายการ คนเราเริ่มแยกไม่ออกระหว่างความต้องการกับความจำเป็น

2. รายได้ของคนทั่วไปเพิ่มขึ้นน้อยกว่าเงินเฟ้อมาต่อเนื่องยาวนาน ทำให้การประหยัดในปัจจุบัน ยากและท้าทายขึ้นเรื่อย ๆ การหารายได้เพิ่มและรายได้หลายทาง ยังจำเป็นเสมอ

3. สิ่งที่ตรงข้ามกับประหยัดคือ 'ฟุ่มเฟือย' หลายคนไม่ได้คิดว่าตัวเองฟุ่มเฟือยด้วยซ้ำ แล้วจะให้ประหยัดอย่างไร ส่วนจะไม่ฟุ่มเฟือยเลยจริงไหมหรือแค่คิดไปเอง คงแล้วแต่คน ความจำเป็นของแต่ละคนต่างกัน การทำบัญชีรายรับรายจ่าย แล้วนั่งทบทวน น่าจะพอช่วยได้

4. ความเข้าใจเรื่องการเงินของคนไทยมีไม่มากพอ แค่เรื่องหนี้หลายก้อน ควรเลือกปิดอันไหนก่อน หลายคนก็อาจจะไม่รู้แล้ว

แต่เหตุหนึ่งที่สำคัญที่สุด และอาจเป็นจุดตายคือ 5. คนสมัยนี้ 'ไม่เชื่อ' ว่าการประหยัดจะทำให้รวยได้ จึงเลือกที่จะใช้เงินเพื่อหาความสุขในปัจจุบันมากกว่า

ความจริงการประหยัดก็ไม่เคยทำให้ใครรวย ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน แต่การประหยัดน่าจะเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนระดับฐานะ เมื่อประหยัดได้แล้ว หากไม่เอาเงินไปต่อยอด ก็อาจไม่ได้เกิดความแตกต่างอะไรนัก แต่ถ้าไม่มีก้าวแรก ก็คงยากที่จะมีก้าวต่อไป โดยเฉพาะถ้าเราไม่ได้โชคดีมีเงินถุงเงินถัง ที่พาเรากระโดดจาก 0 ไปก้าวที่ 3 ที่ 5 ได้เลยแต่แรก

แต่สุดท้าย ใครจะเลือกอย่างไรก็เป็นสิทธิส่วนตัว แค่ทุกคนมีหน้าที่รับ Consequences ที่ตามมาจากการตัดสินใจของเราเท่านั้นเอง